Corporate Innovation Spin-off — Ep.1 คืออะไร? เหมือนหรือต่างจาก Startup อย่างไร?

Pak A.
KBTG Life
Published in
3 min readMar 25, 2021

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นข่าวไปแล้วถึงการจัดตั้ง บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด (Kubix) ซึ่งเป็น Corporate Innovation Spin-off (หลังจากนี้จะขอเรียกสั้นๆ ว่า Corporate Spin-off) น้องใหม่ของกลุ่มกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เพื่อประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือ ICO Portal เชื่อว่าเป็นข่าวที่สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ลงทุนไม่น้อย

พออ่านข้างต้นจบ สงสัยกันมั้ยครับว่า Corporate Spin-off คืออะไร? ทำไม Kubix ถึงตกอยู่ในหมวดนี้? ผมขออนุญาตหยิบรายละเอียดต่างๆ (ก่อนจะลืม) มาแชร์ให้กับทุกคนลองอ่านตามเป็นซีรีย์ Corporate Spin-off เริ่มจากการปูพื้นฐาน ก่อนจะไปต่อกับการจัดตั้ง Kubix ขึ้นมาจากศูนย์ และปิดท้ายไตรภาคด้วยการลงรายละเอียดถึงการทำ Corporate Spin-off ในโลกธุรกิจการเงินที่มีความซับซ้อนและมีกฎระเบียบมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่งก็ว่าได้ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพตรงกัน ผมจำเป็นต้องเกริ่นถึงธุรกิจ ICO Portal ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้ง Kubix (ใครที่เข้าใจ ICO Portal อยู่แล้ว ข้ามย่อหน้าถัดไปได้เลยครับ)

“Kubix, Digital Token for Everyone”

ICO Portal หรือ Initial Coin Offering Portal เป็นธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ก.ล.ต. โดยบริษัท ICO Portal มีหน้าที่คัดเลือก วิเคราะห์ ออกแบบ และเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อนักลงทุน ถือว่าเป็นการลงทุนรูปแบบใหม่ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยให้การเข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ สะดวกขึ้น มีความยืดหยุ่นมากขึ้นทั้งในแง่ของการลงทุนและผลตอบแทนที่จะได้รับ ช่วยให้การลงทุนและการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของนักลงทุนใกล้กันมากขึ้น

หน้าที่ของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal)

เข้าเรื่องกันดีกว่า.. Corporate Innovation Spin-off คืออะไร

Corporate Spin-off หมายถึงบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ภายใต้กลุ่มองค์กรเดิมเพื่อดำเนินธุรกิจใหม่ โดยการแยกออกมาเป็นบริษัทใหม่นั้นจะต้องสามารถเดินธุรกิจได้ด้วยตัวเอง มีหน่วยงานต่างๆ ครบทุกฟังก์ชัน มีเงินทุนเป็นของตัวเอง มีทีมบริหารและคณะกรรมการบริษัทแยกออกมาอีกชุดนึงจากองค์กรใหญ่ อาจเรียกได้ว่าเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้าง New S-Curve ให้กับองค์กร นอกเหนือจากการตั้ง Corporate Spin-off แล้ว เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องของการเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ (Corporate Venture Capital: CVC) การควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition: M&A) หรือการทำ Innovation Labs ภายใต้องค์กรใหญ่ ซึ่งแต่ละแนวทางก็มีวัตถุประสงค์ ขั้นตอน กระบวนการ ทรัพยากรที่ต้องใช้ รวมถึงความเหมาะสมในเชิงวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกัน เรื่องนี้ถ้าจะลงรายละเอียดคงคุยกันได้อีกยาว ขอเก็บไว้ในครั้งถัดๆ ไปนะครับ

Source: https://www.rocketsource.co/blog/s-curve-of-business/

ในกรณีของ Kubix เราตัดสินใจตั้งเป็นบริษัทใหม่ภายใต้ KASIKORN X บริษัทในกลุ่ม KBTG เพื่อลุยอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง มีอัตราการเติบโตก้าวกระโดด แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งจากก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงยังต้องมีองค์ความรู้ใหม่ทั้งในเชิงธุรกิจและเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษอีกด้วย สาเหตุหลักที่เราตัดสินใจเลือกโมเดล Corporate Spin-off จึงสรุปได้ดังนี้

  1. อุตสาหกรรมมีการเติบโตสูง มีศักยภาพเป็น New S-Curve ขององค์กร
  2. ธุรกิจมีความเสี่ยงสูง มีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่เหมาะกับองค์กรใหญ่เข้ามาทำธุรกิจเอง
  3. มีการอาศัยองค์ความรู้ใหม่ทั้งในแง่ธุรกิจและเทคโนโลยี จำเป็นต้องมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ
Corporate Spin-off เปรียบเสมือนการปล่อยเครื่องบินกระดาษออกบินด้วยตัวเอง

จะเรียกว่าเป็นสตาร์ทอัพภายใต้ Corporate ก็คงไม่ผิด

ด้วยเป้าหมายในการสร้างธุรกิจใหม่ที่จะเป็น New S-Curve ในอนาคต เราคงเห็นภาพได้ไม่ยากว่าจริงๆ Corporate Spin-off คือสตาร์ทอัพ (Startup) ดีๆ นี่เอง ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจใหม่ที่สามารถสเกลได้ การลุยเข้าไปในดินแดนที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน พร้อมกับโมเดลทางธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยพิสูจน์ ไม่ต่างจากที่หลายๆ คนชอบเปรียบว่าเป็นเรือสปีดโบ๊ทที่ถูกส่งออกไปสำรวจน่านน้ำใหม่ๆ หรือเป็นการกระโดดจากหน้าผาพร้อมประกอบเครื่องบินไปด้วย สำหรับประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการสร้าง Corporate Spin-off คร่าวๆ จะเป็นตามนี้

Startup Spirit + Product + Team (รูป: Startup Parody by KBTG)

จิตวิญญาณและแนวคิดแบบสตาร์ทอัพ

เป็นสิ่งที่ Corporate Spin-off มีแทบจะไม่ต่างจากสตาร์ทอัพ คือเราต้องดำเนินงานด้วยจิตวิญญาญ (Spirit) และแนวคิด (Mentality) ในแบบเดียวกับสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นการทำเรื่องที่คนในองค์กรมองว่าเป็นไปได้ยาก มีอะไรต้องทำก็ต้องทำโดยไม่เกี่ยงตำแหน่งหน้าที่ในองค์กร การเดินหน้าแบบมีหลักการยึดมั่นในความเชื่อของทีม และที่สำคัญที่สุดคงเป็นการทำงานหนัก เช้า ดึก เสาร์ อาทิตย์ เสมือนว่าเรากำลังทำสตาร์ทอัพของตัวเอง หากขาดสิ่งเหล่านี้ไป ความเป็นสตาร์ทอัพใน Corporate Spin-off คงหายไปมากพอสมควร

การพัฒนา Product ให้ดีที่สุด

ในขณะที่การทำงานแบบองค์กรทั่วไปอาจมีขั้นตอน คณะกรรมการต่างๆ มากมาย ทั้งการอนุมัติแนวทางของโปรเจค และงบประมาณต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ Corporate Spin-off ควรให้ความสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นคือการทำ Product ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะ Digital Product ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะระหว่าง Corporate Spin-off ด้วยกันเอง หรือกับสตาร์ทอัพอื่นๆ การจะทำ Product ให้ดีที่สุดนั้นต้องผ่านการต่อสู้ ขอความร่วมมือ หรือชักชวนคนในองค์กรให้มีความเชื่อร่วมกับเรา แม้จะยากแต่ก็ต้องทำ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็น Product ที่สุดท้ายออกมาแบบครึ่งๆ กลางๆ และไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงจุด

ทีมงาน: น้อย แต่รอบด้านและเชื่อใจกันและกัน

เหมือนที่สตาร์ทอัพมักจะเริ่มต้นด้วยคนไม่กี่คน Corporate Spin-off ก็คงจะต้องทำคล้ายๆ กัน ถึงแม้ว่าเราจะมีคนจากฝั่งองค์กรคอยสนับสนุนเราในทุกๆ ด้าน แต่อย่าลืมว่าเรากำลังทำในสิ่งใหม่ สิ่งที่ได้รับเลือกแล้วว่าแยกออกมาทำในอีกบริษัทนึงจะดีกว่า เราจึงต้องเลือกความเห็นของแต่ละคนมาปรับใช้อย่างเหมาะสม เพราะต้องไม่ลืมว่าเราและทีม Corporate Spin-off คือกลุ่มคนที่อยู่ใกล้กับลูกค้าและธุรกิจมากที่สุด ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ฟังคนอื่นเลย กลับกัน เราต้องรู้ตัวเองว่าเรารู้เรื่องไหน ไม่รู้เรื่องไหน และควรจะฟังใครในเรื่องไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของ Corporate Spin-off ที่มักจะแข่งกับเวลาภายใต้ทรัพยากรจำกัด ดังนั้นการแบ่งงาน การเชื่อใจกัน และการตัดสินใจเพื่อไปต่อเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก หากทำได้ไม่ดี ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จได้

ข้อได้เปรียบและเสียเปรียบของ Corporate Spin-off เทียบกับสตาร์ทอัพ

ถึงแม้ว่า Corporate Spin-off จะคล้ายกับสตาร์ทอัพมาก แต่ด้วยความที่เป็นบริษัทลูกภายใต้องค์กรใหญ่ เราจะยังมีความได้เปรียบในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวทางและยุทธศาสตร์ของแต่ละบริษัทที่จะต้องออกแบบและเลือกเส้นทางการทำงานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตัว Corporate Spin-off ให้อยู่ใกล้หรือไกลจากองค์กรใหญ่ การเข้าสู่ตลาดโดยคาดหวังให้ลูกค้ารู้หรือไม่ว่าเป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกัน หรือการบริหารจัดการ การแบ่งปันทรัพยากรระหว่างกัน รวมถึงอิสระของกลยุทธ์ในการทำธุรกิจจากองค์กรใหญ่ ผมขอแยกข้อได้เปรียบและเสียเปรียบของ Corporate Spin-off เมื่อเทียบกับสตาร์ทอัพตามนี้ครับ

Corporate Spin-off กับการเป็นลูกผสมของทั้งสองอย่าง

ทรัพยากรและการสนับสนุน

การทำธุรกิจประเภทใดๆ ก็ตามต่างต้องใช้ทรัพยากรบุคคลและระบบงานในหลายด้านประกอบกัน ทั้งหน่วยงานที่ดูแลธุรกิจหลัก หรือหน่วยงานสนับสนุนอย่างการเงินและบัญชี หน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานบริหารความเสี่ยง หรือฝ่ายบุคคล การอยู่ภายใต้องค์กรใหญ่ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทีมทำงานสามารถโฟกัสอยู่ที่ธุรกิจหลักได้โดยไม่ต้องลงไปเดินเรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเองมากนัก

การหาพาร์ทเนอร์ (Partners) และความร่วมมือทางธุรกิจ

ด้วยความที่เราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรใหญ่ ซึ่งมีการทำธุรกิจในด้านอื่นๆ ร่วมกับคู่ค้าและพาร์ทเนอร์อยู่แล้ว ถือว่าเป็นอีกส่วนที่สร้างความได้เปรียบให้กับ Corporate Spin-off อย่างมาก เนื่องจากเราสามารถเข้าถึงบริษัทที่เราอยากทำงานด้วยได้ง่าย เพียงแค่ยกหูหาทีมที่ดูแลติดต่อลูกค้าอยู่ เราก็สามารถนัดเข้าไปเสนองานได้ทันที รวมไปถึงความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ช่วยให้เราข้ามผ่านขั้นตอนการสร้างความไว้ใจ ไปพูดคุยกันที่ปัญหาและการตอบโจทย์ลูกค้าของเราได้เร็วขึ้น

ความเป็นขั้นเป็นตอนขององค์กร

ทั้งนี้ความเป็นองค์กรก็อาจสร้างความเสียดทานในการทำงานของเราได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการยึดติดกับกระบวนการทำงานแบบเดิมๆ แนวความคิดแบบเดิมๆ หรือความกล้าได้กล้าเสียขององค์กรใหญ่ที่ถึงแม้ว่าในช่วงปีหลังจะมีการปรับตัวอย่างมาก แต่ก็ต้องบอกว่ายังต่างกับสตาร์ทอัพ หรือ Venture Capital ในฐานะนักลงทุนอยู่พอสมควร ซึ่งจุดนี้เองการทำความเข้าใจกันภายในถึงเป้าหมายเดียวกันของ Corporate Spin-off การได้ความไว้วางใจจากผู้ใหญ่และผู้เกี่ยวข้อง (ทั้งจากที่ได้มาแต่เริ่มและทยอยสร้างเองระหว่างการทำงาน) ล้วนเป็นทางออกให้การทำงานของ Corporate Spin-off ใกล้กับสตาร์ทอัพมากขึ้น

ความเสี่ยงด้านชื่อเสี่ยงขององค์กรใหญ่

นอกจากนี้ในหลายๆ ครั้ง การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มองค์กรใหญ่อาจทำให้การทำธุรกิจของ Corporate Spin-off ส่งผลกระทบถึงบริษัทอื่นในกลุ่มด้วย โดยเฉพาะในด้านของชื่อเสียง ยิ่งถ้าเป็นโลกของการเงินการธนาคารที่ธุรกิจสร้างอยู่บนความน่าเชื่อถือ ตรงนี้เองอาจทำให้กิจกรรมของบริษัทถูกจำกัดอยู่ในกรอบที่จะต้องไม่หวือหวาจนเกินไป หรือมีความเสี่ยงมากเกินไป แม้ว่าการหา New S-Curve จะสำคัญมากเพียงใด แต่ก็ไม่ได้สำคัญไปกว่าธุรกิจขององค์กรของกลุ่มในปัจจุบันและลูกค้าทุกคนที่เรารองรับ

คงเป็นการยากที่จะฟันธงว่าระหว่าง Corporate Spin-off กับสตาร์ทอัพ แบบไหนดีกว่ากันอย่างไร หรือว่าบริษัทแบบไหนจะชนะหรือแพ้ เพราะความเหมาะสมในการแข่งขันแต่ละรูปแบบจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และอุตสาหกรรมที่แต่ละบริษัททำธุรกิจอยู่ วันนี้ก็ถือว่าเป็นการเปิดซีรีย์ของ Corporate Spin-off กันแบบพอหอมปากหอมคอ แล้วกลับมาพบกันในอีพีถัดไปที่จะมาแชร์ถึงสิ่งที่เราเจอมาในการจัดตั้ง Kubix บริษัทลูกที่จะมาดำเนินธุรกิจในอุตสหากรรมสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้กลุ่ม KBTG

ขอฝาก Kubix ไว้ในใจผู้อ่านทุกท่านด้วยครับ

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--

KBTG Life
KBTG Life

Published in KBTG Life

At KBTG, we never cease to develop and innovate financial technologies on top of our “Customer First” mindset. We are the driving force behind KBank’s success as well as their navigator exploring the digital world beyond Thailand.

Pak A.
Pak A.

Written by Pak A.

Innovation Product Manager, Kasikorn Business-Technology Group (KBTG)