Cyber Security 101 — DDoS การโจมตีสุดอันตราย

Engiblog
KBTG Life
Published in
2 min readDec 12, 2023

ขอแนะนำซีรีย์ 101 by Engiblog ที่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคำศัพท์เบสิกในโลกเทคโนโลยีที่คุณอาจจะรู้อยู่แล้วหรือไม่เคยรู้มาก่อน เรามาเรียนรู้กันไปด้วยกันใน 2 นาทีครับ

Photo by Phillip Flores on Unsplash

บทความนี้จะขอเล่าถึงเทคนิคการโจมตีรูปแบบหนึ่งที่มิจฉาชีพหรือผู้ปองร้ายนิยมมากๆ เนื่องจากโจมตีได้ไม่ยาก แต่ช้าก่อน! เราไม่ได้มาสอนให้โจมตี ชี้โพรงให้กระรอกนะ แต่เราจะมาทำความรู้จัก DDoS และวิธีการป้องกันกันครับ

DDoS (Distributed Denial of Service)

เทคนิคการโจมตีแบบ DDoS (Distributed Denial of Service) เป็นการโจมตีทางไซเบอร์รูปแบบหนึ่งที่มุ่งเป้าไปที่การทำงานของระบบ ทำอย่างไรก็ได้ให้ทรัพยากรระบบหรือเครือข่ายไม่สามารถใช้งานหรือให้บริการต่อไปได้ ซึ่งอาจจะใช้วิธีที่ทำให้เซิร์ฟเวอร์ทำงานหนักโดยการเรียกใช้ถี่ๆ (Request) จนทำให้เซิร์ฟเวอร์ทำงานช้าลงหรือหยุดทำงานโดยสิ้นเชิง ทำให้เครือข่าย (Network) ล่มด้วยปริมาณการจราจร (Traffic) ที่มากเกินไปจน Bandwidth เต็ม หรือใช้จุดอ่อน/ช่องโหว่ของซอฟต์แวร์เพื่อควบคุมระบบหรือเครือข่ายให้หยุดทำงาน

การโจมตีแบบ DDoS มีหลากหลายประเภทด้วยกัน เช่น

  1. การโจมตีแบบเชิงปริมาณ (Volumetric Attack) เป็นการทำให้เซิร์ฟเวอร์หรือเครือข่ายล่มด้วยปริมาณการจราจร (Traffic Bandwidth) ที่มากเกินไป จนเซิร์ฟเวอร์หรือเครือข่ายไม่สามารถให้บริการต่อได้ ซึ่งการโจมตีประเภทนี้มักใช้วิธีการต่างๆ เช่น การโจมตี SYN Flood การโจมตี UDP Flood และการโจมตี Ping Flood
  2. SYN Flood Attacks คือการสร้างการเชื่อมต่อ SYN จำนวนมากมายจนเต็มพื้นที่ในตารางการเชื่อมต่อของเครื่องแม่ข่ายเป้าหมาย โดยไม่ดำเนินการเชื่อมต่อให้สมบูรณ์ ทำให้ระบบถูกยับยั้งและไม่สามารถรับคำขอเชื่อมต่อจากผู้ใช้งานทั่วไปได้
  3. UDP Flood Attacks เน้นที่การส่งแพ็คเกจข้อมูล UDP (User Datagram Protocol) มาเครื่องแม่ข่ายหรือเซิร์ฟเวอร์เป้าหมาย เพื่อทำให้ระบบทำงานช้าลงหรือหยุดทำงาน โดยการส่งแพ็คเกจข้อมูล UDP นั้น จะไม่มีสถานะของการเชื่อมต่อเพื่อใช้ในการตรวจจับและแก้ไขข้อผิดพลาดจึงทำให้ยากต่อการป้องกัน
  4. ICMP Flood Attacks เป็นการส่งข้อความ ICMP Echo Request มาที่เครื่องแม่ข่ายหรือเซิร์ฟเวอร์เป้าหมาย ให้เกิดการเรียกคืนข้อความ Echo Reply จำนวนมากมาย จนระบบต้องใช้ทรัพยากรในการตอบสนองตลอดเวลา
  5. HTTP Flood Attacks เน้นที่การส่งคำขอ HTTP มาเว็บไซต์หรือเซิร์ฟเวอร์เป้าหมายด้วยจำนวนมาก ทำให้ทรัพยากรของระบบถูกบุกรุกและใช้หมดลง ผู้ใช้งานทั่วไปจึงไม่สามารถเข้าถึงบริการได้
  6. Application Layer Attacks เน้นการโจมตีที่ระดับแอปพลิเคชัน เช่น HTTP POST หรือ GET Requests จำนวนมากที่ส่งมาเว็บแอปพลิเคชันเป้าหมาย ทำให้เว็บไม่สามารถทำงานได้
  7. DNS Amplification Attacks เป็นการส่งคำขอ DNS Resolver มา DNS Server เป้าหมาย โดยปลอมแปลง IP Source Address ของผู้โจมตี เมื่อ DNS Resolver ตอบกลับ ก็จะตรงไปที่ IP Source Address ที่ถูกปลอมแทน
Image by storyset on Freepik

วิธีการการป้องกันการโจมตีแบบ DDoS

ที่นิยมใช้ก็จะมีด้วยกัน 3 วิธี ดังนี้

  • การใช้ Firewall เพื่อทำการกรองหรือบล็อก Traffic ขาเข้าจากการโจมตี
  • ควรมีระบบเซิร์ฟเวอร์หรือเครือข่ายสำรอง เมื่อระบบหลักโดนโจมตีด้วย DDoS เราสามารถย้ายไปใช้งานระบบเซิร์ฟเวอร์หรือเครือข่ายสำรองทำงานแทนก่อนได้
  • ใช้บริการ DDoS Protection กับบริการที่มีความสำคัญเพื่อให้สามารถบริการได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ใช้บริการ DDoS Protection ของทาง Cloudflare สำหรับ Web Server ของเว็บไซต์ที่เราต้องการป้องกันการโจมตีด้วยเทคนิค DDoS เนื่องจาก Cloudflare มีบริการป้องกัน DDoS ที่ช่วยป้องกัน (Block) Request ที่เรียกเว็บไซต์ไปยัง Web Server ได้

DDoS Attack เป็นการโจมตีทางไซเบอร์ที่เราประมาทไม่ได้เลย ดังนั้นผู้พัฒนาควรมีการออกแบบโครงสร้างของระบบให้มีการป้องกันการโจมตี DDoS ตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะทางเซิร์ฟเวอร์และเครือข่าย เพราะถ้าไม่มีการออกแบบตั้งแต่แรก เมื่อเกิดการโจมตีขึ้น นอกจากจะส่งผลต่อการใช้งานแล้ว ยังกระทบความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงขององค์กรด้วย โดยเฉพาะในกรณีของบริการที่มีความสำคัญหรือมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก

สำหรับใครที่ชื่นชอบบทความนี้ อย่าลืมกดติดตาม Medium: KBTG Life เรามีสาระความรู้และเรื่องราวดีๆ จากชาว KBTG พร้อมเสิร์ฟให้ที่นี่ที่แรก

--

--