Cybersecurity เรื่องใกล้ตัวที่เราหลงลืม

Tonrice
KBTG Life
Published in
Mar 16, 2021

เนื่องจากยุคโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ น้อยลง เราจึงต้องพึ่งพาโลกออนไลน์ในการทำธุรกรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าผ่านร้านค้าออนไลน์ การโอนเงินผ่าน Internet Banking การชำระค่าสาธารณูปโภคผ่าน Smart Phone ซึ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานเป็นอย่างยิ่ง

พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้หลักการ Cybersecurity แฝงตัวเข้ามาอยู่ชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานโดยที่ไม่รู้ตัว ทั้งการตั้งรหัสผ่านที่เราตระหนักดีว่าควรมีตัวใหญ่ ตัวเล็ก ตัวเลข และ อักขระพิเศษ เพื่อให้ยากต่อการคาดเดา การใช้งาน Two-Factor Authentication หรือ One-Time-Password การเข้าเว็บไซต์ผ่าน HTTPS เพื่อความปลอดภัย และการสแกน Antivirus เพื่อดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ฯลฯ

แต่ต่อให้มั่นใจว่าเป็นยอดฝีมือ Cybersecurity แค่ไหน ก็อาจจะมีภัยบางประเภทที่ผู้ใช้งานเช่นเราอาจหลงลืมไป หรือบางการกระทำที่เผลอไผล ไม่ทันได้ฉุกคิด

  • รหัสผ่านไม่ควรแชร์หรือแบ่งปันให้ผู้อื่น
  • เมื่อเจอ Phishing ควรทำอย่างไร
  • Antivirus ไม่สามารถป้องกันไวรัสได้ทุกประเภท
  • การเช็คอินสถานที่ต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ไม่หวังดีทราบข้อมูลการเดินทาง
  • การเข้าเว็บไซต์ที่ใช้งาน HTTPS ยังเสี่ยงต่อการถูกขโมยข้อมูลหรือติดไวรัสได้

คำถาม จะระวังภัยได้อย่างไร เมื่อชีวิตประจำวันของเราหลีกเลี่ยงบางเหตุการณ์ไม่ได้

คำตอบ “มีสติ

สมมุติว่าโลกไซเบอร์เป็นโลกเสมือนที่จับต้องไม่ได้ เรานำมาเทียบกับโลกที่เราจับต้องได้หรือโลกที่เราอาศัยอยู่ เมื่อใช้สติ ไตร่ตรองสิ่งที่เกิดขึ้นจะพบความจริงที่ว่า…

  • รหัสผ่าน เปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ใช้งาน และในโลกที่เราอาศัยอยู่นั้น ถ้ามีใครมาขอบัตรประชาชนของเรา เราคงไม่ให้แน่นอน
  • Phishing คือการหลอกขโมยข้อมูลในโลกไซเบอร์ ลองจินตนาการว่าถ้ามีใครมาขอข้อมูลเลขบัญชีธนาคาร ทะเบียนบ้าน เบอร์โทรศัพท์ หรือเลขบัตรเครดิตเพื่อร่วมลุ้นของรางวัล เราคงไม่ให้เช่นกัน
  • ถ้าเราไม่เข้าใจว่าการใช้งาน Free-WiFi นั้นอันตรายแค่ไหน ถ้าเปรียบกับการที่จู่ๆ มีใครยื่นของให้เราฟรีๆ เราคงลังเลที่จะรับไว้
  • การใช้งาน HTTPS ที่คิดว่าปลอดภัย ถ้าจะบอกว่าในโลกที่เราอาศัยไม่มีคนเลวอยู่ คงเป็นเรื่องที่แปลกมากๆ

เมื่อใช้สติไตร่ตรองสิ่งที่เกิดขึ้น จะพบความจริงว่าโลกไซเบอร์นั้นไม่ได้ยุ่งยากหรือซับซ้อนเกินกว่าจะทำความเข้าใจ ทั้งนี้พอเกิดปัญหาในโลกไซเบอร์หลายครั้งเข้า ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเพราะอะไรถึงไม่มีใครมาดูแลเรื่องความปลอดภัย ทำไมถึงไม่มีคนคอยเฝ้าระวังเรื่อง Cybersecurity ให้เรา ทำไมเราต้องคอยเฝ้าระวังด้วยตนเอง

มาใช้ “สติ “เปรียบเทียบกับโลกที่เราอาศัยอยู่อีกครั้ง

รถยนต์ทุกคันมีเข็มขัดนิรภัย (Safety Belt) ซึ่งติดตั้งมาจากโรงงานผลิตรถยนต์ แต่โรงงานผลิตรถยนต์ไม่สามารถบังคับให้ผู้โดยสารทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัยได้ หรือการใส่เสื้อชูชีพเมื่อขึ้นเรือเพื่อป้องกันกรณีเรือล่มหรือพลัดตกน้ำ แต่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ไม่ยอมเสียเวลาใส่เสื้อชูชีพด้วยความคิดที่ว่าใส่แป๊ปเดียว เดี๋ยวก็ถอด

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอย้ำตรงนี้เลยว่าสติคือเครื่องมือ Cybersecurity ป้องกันภัยที่ดีที่สุด ตราบใดที่เรามีสิ่งนี้ มิจฉาชีพจะไม่สามารถฉกฉวยข้อมูลเราได้ ในทางกลับกัน ต่อให้มีปราการแน่นหนา แต่ถ้าเราพลั้งเผลอไปแม้แต่ครั้งเดียวก็อาจทำให้เราเปิดช่องทางตกเป็นเหยื่อได้ ดังนั้นเราต้องใช้สติกับสิ่งที่พบเจอ ลองเปรียบเทียบระหว่างโลกไซเบอร์กับโลกที่เราอาศัยอยู่ให้ดี

เพราะเรื่องบางเรื่อง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ ไม่ว่าจะเป็นโลกใบไหนก็ตาม

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--