Developer Life in KBTG — ทำความรู้จักกับงาน Developer ที่ KBTG

Tinnapat Chaipanich
KBTG Life
Published in
5 min readJan 18, 2022

ผมได้รับคำถามจากคนภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้สมัครที่เข้ามาสัมภาษณ์งานกับทาง KBTG อยู่บ่อยครั้งว่างานของ Developer ที่นี่เป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีความรู้อะไรบ้าง มี Career Path อย่างไร มีรูปแบบการทำงาน รวมถึงมีแนวทางสนับสนุนการเรียนรู้และการพัฒนาสกิลของ Developer อย่างไรบ้าง วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังกันครับ

ก่อนอื่นเพื่อไม่ให้สับสน ขออธิบายก่อนว่าชื่อตำแหน่งงานของ KBTG ณ ปัจจุบัน เราไม่มีตำแหน่งชื่อ Developer นะครับ เราจะมีเพียงตำแหน่งที่ชื่อ Software Engineer เท่านั้น โดย Developer ถือเป็น Role หรือบทบาทหนึ่งของ Software Engineer ที่อยู่ในแต่ละ Project Team

ทีนี้ Software Engineer มี Role อะไรบ้างล่ะ ก็ขอเรียงลำดับดั้งแต่ Role ที่ต้องการความรู้และประสบการณ์น้อย ไปจนถึง Role ที่ต้องการมากขึ้นไปเรื่อยๆ นะครับ

  • Developer: อันนี้น่าจะเป็น Role หลักของน้องๆ ที่จบใหม่ หรือยังไม่มีประสบการณ์มากนัก หน้าที่หลักก็คือเขียนโค้ดตามงานที่ได้รับมอบหมายนั่นเอง โดยโค้ดที่เขียนขึ้นมานั้นต้องทำงานได้ตรงตาม Requirement มีคุณภาพ และไม่มีบั๊ก รวมถึงมีการทดสอบว่าทำงานได้อย่างถูกต้องด้วย
  • Developer Lead: หลังจากที่เรามีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว ก็สามารถขยับขึ้นมาเป็น Lead คือนอกจากเขียนโค้ดผลิตงานของตัวเองแล้ว ยังต้องช่วยแบ่งงานและดูแลการทำงานของน้อง ๆ Developer ในทีมรวมถึงช่วยรีวิวโค้ดและเป็นที่ปรึกษาเวลาที่น้อง ๆ มีปัญหาเกี่ยวกับการเขียนโค้ด
  • Technical Lead (TL): ถัดขึ้นไปเป็นผู้ที่ดูแลด้าน Technical ของแต่ละแอปพลิเคชัน ทั้งการออกแบบ Architecture การเลือกใช้ Technology Stack การวางโครงสร้างของ Source Codes และ Frameworks จนไปถึงระดับ Repositories ที่ใช้งาน ตลอดจนการกำหนด Standard ในการเขียนโค้ดของทีม เป็นต้น
  • Solution Architect (SolAr): แทนที่เราจะมองแต่ละแอปพลิเคชันแยกกัน ในตำแหน่งนี้เราต้องออกแบบโซลูชันในภาพใหญ่ของทั้งโครงการที่อาจจะมีแอปพลิเคชันหลายอันที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทำงาน หน้าที่ของ Solution Architect ก็จะต้องออกแบบโซลูชันแบบ End-to-End ให้แต่ละแอปสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ (อ่านเพิ่มเติมที่ Solution Architect: ทำไมซอฟต์แวร์ดีๆ หลายตัวมาทำงานร่วมกันแล้วกลายเป็นโซลูชันที่แย่?)

Role เหล่านี้จะจัดตามโปรเจคหรือแอปพลิเคชันที่เราดูแล ดังนั้น Software Engineer คนหนึ่งอาจจะทำหน้าที่คนละ Role ในคนละโปรเจคก็เป็นได้ เช่น คนนี้ อาจจะเป็น Technical Lead สำหรับโปรเจคหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็น Solution Architect สำหรับอีกโปรเจคหนึ่ง ส่วนการที่ Software Engineer คนไหนจะได้ทำงานใน Role ไหนก็จะเป็นการพูดคุยและมอบหมายงานกันภายในทีม สมมุติว่าถ้าเราต้องการเรียนรู้หรือทดลองงานของ Role ที่ต้องการประสบการณ์สูงขึ้น เช่น วันนี้เราเป็น Developer อยากเรียนรู้งาน Technical Lead จะยกมือขอเป็นลูกมือของ Technical Lead หรืออยากจะทดลองทำดู ก็สามารถพูดคุยกับพี่ๆ หัวหน้าที่ดูแลทีมได้เลย

สำหรับเนื้อหาในบทความนี้ จะมุ่งเน้นสำหรับบทบาท Developer ก่อนนะครับ เพื่อให้กระชับผมจะขอใช้คำสั้นๆ ว่า Dev แทนครับ

เป็น Dev ต้องมีความรู้เรื่องอะไรบ้าง

แน่นอนว่าชื่อตำแหน่งของพวกเราคือ Software Engineer ซึ่งเป็นการบอกว่างานหลักของเราคือการสร้างซอฟต์แวร์ขึ้นมานั่นเอง ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการเขียนโค้ด ดังนั้น Dev ต้องรู้และเชี่ยวชาญในภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม รวมถึงเฟรมเวิร์คและเครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ ยกตัวอย่างเช่น มีความรู้ภาษา Java ถ้าจะนำไป Implement Backend API ก็มีเฟรมเวิร์คที่สำคัญ เช่น Spring Boot, Quarkus ฯลฯ ส่วนเครื่องมือที่ช่วยในการเขียนโค้ด ก็เช่น IntelliJ, Eclipse เป็นต้น แค่นี้ยังไม่พอ เราต้องรู้เทคนิคของภาษาที่เราเขียนด้วย มีวิธีการหรือหลักการอย่างไร ในการเขียนโค้ดให้มีประสิทธิภาพสูง ไม่มีช่องโหว่เรื่องความปลอดภัย สามารถเพิ่มฟีเจอร์หรือ Maintain ต่อไปได้ง่ายในอนาคต

Skill Set ของ Dev จะแบ่งตามประเภทของแอปพลิเคชันหรือ Component ที่เราต้องสร้าง แบ่งหลักๆ ออกได้เป็น

  • Back-end: หลักๆ จะแบ่งเป็น งาน Online และงาน Batch งาน Online ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้าง API และเขียน Business Logic Code ความรู้ที่จำเป็นคือการสร้างและออกแบบ API ให้ Component หรือแอปอื่นๆ มาเชื่อมต่อ มีตัวเลือกอะไรบ้าง Restful API คืออะไร GraphQL คืออะไร Database ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล SQL / NoSQL คืออะไร การเลือกใช้ Database ให้เหมาะสมกับงาน เทคนิคหรือวิธีต่างๆ ในการ Integrate ระบบของเรากับระบบอื่นๆ มีอะไรบ้าง สำหรับภาษาที่ใช้เขียน Back-end ใน KBTG ก็มีความหลากหลาย เช่น Go, Java, .NET เป็นต้น
  • Front-end Web: เฟรมเวิร์คสำหรับทำ Web Front-end ที่เป็นที่นิยม เช่น React, AngularJS เป็นต้น
  • Front-end Mobile: มีทั้งแบบที่ใช้ภาษา Native คือ Java/Kotlin, Swift และ Cross Platform เช่น Flutter

ส่วนใหญ่แล้ว Developer ของ KBTG จะมีความชำนาญในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น คนที่ถนัด Back-end ก็จะโฟกัสงาน Back-end เป็นหลัก แล้วไปเชื่อมต่อทำงานร่วมกับโปรแกรม Front-end ที่เพื่อนอีกคนเขียน แต่ก็มี Developer อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความชำนาญในการเขียนโปรแกรมให้สามารถทำงานได้ตั้งแต่ต้นจนจบตั้งแต่ Front-end ไปจนถึง Back-end แบบนี้เราจะเรียกว่า Full Stack Developer แต่จะมีไม่ค่อยมาก ถ้ามีก็จะอยู่กับระบบที่ Front-end และ Back-end เขียนด้วยภาษาเดียวกัน เช่น Java เป็นต้น

แต่แน่นอนว่าในการทำงานของเราไม่ใช่แค่เขียนโค้ดเสร็จแล้วจบเลย ที่ KBTG เราเน้นในเรื่องของการเขียน Unit Test ประกอบด้วย เพื่อทดสอบว่าโค้ดที่เราเขียนทำงานถูกต้องตามที่เราคิดหรือไม่ การเขียน Unit Test ช่วยให้เราสามารถทดสอบโค้ดที่เราเขียนได้อย่างรวดเร็วและบ่อยเท่าที่ต้องการ โดยแต่ละภาษาในการเขียนโปรแกรมก็จะมีเครื่องมือหรือเฟรมเวิร์คสำหรับเขียน Unit Test ที่แตกต่างกันออกไป

จากนั้นต้องมีการ Compile หรือ Build และนำแอปพลิเคชันไป Deploy บน Environment ต่างๆ เพื่อทำการทดสอบอีกหลายขั้นตอน ซึ่งจะต้องผ่านเครื่องมืออีกหลายชิ้นที่ช่วยในการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของโค้ดที่เราเขียนขึ้น เช่น การทำ Code Vulnerability Scan, Image Scan, Automatic Penetration Test กระบวนการที่มีหลายขั้นตอนเหล่านี้ทำงานประกอบกันแบบอัตโนมัติหรือ Automated เป็นสิ่งที่เรียกว่า DevSecOps หรือ CI/CD นั่นเอง

ในส่วนของการ Deployment เราต้องคำนึงถึงการเข้าใช้งานของผู้ใช้ เราจะ Deploy บน Container หรือไม่ ถ้าใช่ จะมีการใช้เครื่องมือที่เป็น Container Orchestration เพื่อช่วยในการจัดการ Container อย่างไร หรือแอปของเรา จำเป็นต้องรันบนซอฟต์แวร์ที่เป็น Application Server อีกทีหรือไม่ ยกตัวอย่างซอฟต์แวร์ในด้านนี้ที่เราต้องมีความรู้ เช่น Docker, Kubernetes, OpenShift, WebSphere, JBoss เป็นต้น

หลังจากแอปพลิเคชันของเราถูกใช้งานบน Production แล้วเกิดมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมทำงานไม่ถูกต้อง ทำงานช้า หรืออะไรก็ตาม เราจะต้องสามารถสืบเสาะปัญหาและระบุสาเหตุได้อย่างรวดเร็วและสะดวก ความสามารถในการเห็นความเป็นไปในการทำงาน รวมถึงความเชื่อมโยงของแต่ละชิ้นส่วนภายในแอปพลิเคชันได้ในทุกขั้นตอนนี้เรียกว่า Observability ซึ่งประกอบไปด้วย Logging, Metrics, และ Tracing ถือเป็นสิ่งที่ Dev ต้องรู้วิธีการ เครื่องมือ หรือเฟรมเวิร์คที่จะมาช่วยเรื่องพวกนี้

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคีย์เวิร์ดของเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่ Dev น่าจะต้องได้พบเจอในการทำงาน ถ้ามีตัวไหนที่อยากรู้จักไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต ก็สามารถนำคำไปค้นหาในกูเกิลดูได้ครับ ไว้ถ้ามีโอกาส จะขอมาเล่าเรื่อง Tech Stack และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ใน KBTG แบบลงลึกอีกครั้งนะครับ (อ่านเพิ่มเติม: KBTG Life - Technology)

เป็น Dev ต้องทำงานกับใครบ้าง

ที่ KBTG เรามีแอปพลิเคชันที่อยู่ในการดูแลหลายร้อยตัว เราจึงมีการแบ่งหรือจัดทีมตามแอป ขอเรียกว่า Application Team ก็แล้วกัน ในแต่ละ Application Team นอกจากจะมี Software Engineer ที่ทำงานอยู่ใน Roles ที่แตกต่างกัน นอกจากที่กล่าวถึงไปด้านบนแล้ว ก็จะประกอบไป Role อื่น ๆ เช่น

  • DM (Delivery Manager): เป็นผู้จัดการดูแลโครงการต่างๆ ที่เข้ามาหา Application Team ทั้งในเรื่อง Timeline, Budget, และ Resources รวมถึงดูแลสารทุกข์สุกดิบของทุกคนในทีม
  • BA (Business Analyst): ทำหน้าที่เก็บ Requirement จาก Business User มาถ่ายทอดให้กับ Development Team ให้ครบถ้วนชัดเจน
  • Test Engineer / Tester: ออกแบบและทำการทดสอบแอปพลิเคชันให้ทำงานได้ตรงตาม Requirement

สมาชิกภายใน Application Team ก็จะทำงานใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นพิเศษ แบบเจอกันคุยกันทุกวัน แต่นอกเหนือจากนั้นก็อาจจะต้องมีการทำงานร่วมกันทีมอื่นๆ เช่น ทีม EA (Enterprise Architect), Security, Infrastructure, DevOps/DevX อีกด้วย อันนี้แล้วแต่งานที่ได้รับมอบหมายเป็นกรณีไป

รูปแบบการทำงาน

ขอเล่าถึงเรื่องทั่วไปก่อน เนื่องจากงานของเราเป็นงานเขียนโค้ดเป็นหลัก ในการทำงานเราจะไม่ได้มีการตอกบัตรลงเวลาเข้างานเลิกงาน โดยในการทำงานเราจะมีการวางแผนแบ่งงานกัน ก่อนที่จะให้ Dev ไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเราจะเน้นไปที่ Commitment และ Result มากกว่าเวลาเข้างานหรือเลิกงาน กล่าวคือเราสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จตามกำหนดและมีคุณภาพที่ดีหรือไม่

ในส่วนของสถานที่ในการทำงาน ตั้งแต่ช่วงโควิดเป็นต้นมาเราได้ปรับการทำงานเป็น Work from Home กัน 100% ดังนั้นเรื่องสถานที่เราสามารถทำงานกันจากที่ไหนก็ได้ เรามีเพื่อนพนักงานทำงานอยู่ในหลากหลายจังหวัดหรือแม้กระทั่งอยู่ต่างประเทศ กรณีที่มีความจำเป็นหรือต้องการเข้าไปพบปะกันก็สามารถเลือกเข้าไปที่ออฟฟิศของเราได้ ซึ่งมีอยู่ 2 ที่คือที่อาคาร KBTG ในเมืองทองธานี และอาคาร K+ ที่อยู่บริเวณสามย่าน

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับกระบวนการทำงาน ทางเราก็พยายามนำกระบวนการทำงานแบบ Agile มาใช้ให้มากที่สุด แต่ก็เป็นการเลือกให้เหมาะสมกับ Application Team ด้วย อย่างที่กล่าวมาตอนต้น ว่าแอปที่ทาง KBTG ดูแลนั้นมีอยู่หลายร้อยตัว บางตัวเป็นแอปพลิเคชันสมัยเก่าที่มีการพัฒนามานานแล้ว การแก้ไขมีความซับซ้อนต้องใช้เวลานาน ก็อาจจะไม่ได้ใช้รูปแบบ Agile เป็นต้น ดังนั้นรูปแบบการทำงานจะขึ้นอยู่กับแต่ละทีมเป็นหลัก

กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้

การขวนขวายหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอเป็นคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับพวกเราสาย Dev เนื่องจากมีทั้งภาษา เครื่องมือ เฟรมเวิร์ค และเทคนิคใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน

ที่ KBTG เราจะมีทีม KBTG Academy ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ของพนักงานทั้งในด้าน Technical Skill และ Soft Skill โดยน้อง ๆ Dev ที่เข้ามาเริ่มงานใหม่ทุกคนจะได้รับการเทรนด้าน Technical ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ก่อนที่จะให้น้องๆ ไปลุยงานจริงกับ On-the-Job Training แต่ไม่ต้องกลัวว่าถ้าทำงานไปแล้วติดขัดหรือมีปัญหาจะไม่มีคนดูแล ที่นี่เรามี Buddy Program ที่จะมอบหมายเพื่อนร่วมทีมที่มีประสบการณ์เป็น Buddy ให้กับน้องใหม่ทุกคน คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ ตลอดช่วงการทดลองงาน นอกจากนี้พนักงานยังสามารถพูดคุยปัญหาข้อติดขัดในการทำงานกับทีม People Experience หรือพี่ๆ ผู้ดูแลทีมในทุกระดับได้โดยตรงอีกด้วย

ส่วนหนึ่งของคอร์สที่ทาง KBTG Academy จัดมาให้เรียนกันตลอดทั้งปี

เครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ทีนี้นอกจากพวกคอร์สเรียนต่างๆ ที่จัดกันเป็นประจำแล้ว ถ้าเราอยากเรียนรู้ด้วยตนเองบ้างล่ะ มีช่องทางใดบ้าง

พวกเราสาย Dev น่าจะรู้จัก Udemy แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ยอดนิยมที่มีคอร์สด้านไอทีวางจำหน่ายสารพัด บางครั้งเราอาจจะมีคอร์สที่สนใจและอยากเรียนหลายคอร์ส ซึ่งแม้ว่าแต่ละคอร์สจะไม่แพงเท่าไหร่ แต่พอซื้อรวมๆ กันก็แพงอยู่ดี ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทาง KBTG เราทุ่มสุดตัว จัดสรรบัญชี Udemy ให้พนักงานทุกคนสามารถเรียนฟรีได้ไม่จำกัดตลอด 24 ชั่วโมง! (บอกเลยว่าคุ้มมาก)​ มาเป็น Dev ที่นี่ไม่ต้องรอซื้อคอร์สตอน Udemy ลดราคาอีกต่อไป

นอกจาก Udemy ที่เรามีบัญชีให้ใช้งานฟรีแล้ว เรายังมีบัญชี SkillLane ฟรีอีกด้วย โดยสำหรับ SkillLane นั้นเป็นเว็บไซต์ของไทย บทเรียนส่วนใหญ่จะเป็นภาษาไทย นอกจากจะมีคอร์สเรียนด้านไอทีแล้ว ยังมีคอร์สด้าน Soft Skill ที่น่าสนใจอยู่มากมาย

ที่นี่เรามีบัญชี Udemy / SkillLane ให้ทุกคนใช้ฟรี

ยังไม่พอครับ สำหรับใครที่รู้จัก Ookbee โปรแกรมสำหรับซื้อหนังสือในรูปแบบอีบุ๊ก ที่นี่เรามีบัญชี Ookbee แบบบุฟเฟต์​ ให้พนักงานสามารถเลือกอ่านหนังสือตามความสนใจได้อย่างไม่อั้นอีกด้วย

สำหรับสกิลที่มี Professional Certificate และเกี่ยวข้องการการทำงาน เช่น ด้าน Coding, Cloud หรือ Security ทางบริษัทก็มีการสนับสนุนให้พนักงานสอบ Certificate เพื่อเป็นการ Upskill และเป็น Credential ติดตัวพนักงานไปตลอด โดย กรณีพนักงานสอบ Certificate ผ่านจะสามารถนำค่าใช้จ่ายมาเบิกกับทางบริษัทได้ ย้ำว่าต้องสอบผ่านนะ

นอกจากนี้แล้ว เรามีการจัด Internal Meetup เป็นประจำทุกสัปดาห์ เป็น Session สั้นๆ ให้ความรู้ในหลากหลายเรื่องราว ไม่น่าจะเป็นเรื่อง Technical Skill หรือ Soft Skill หรือถ้าเพื่อนๆ คนไหนสนใจจะแชร์ความรู้เรื่องอะไรก็สามารถขอทางทีม Academy จัดได้เลย

กิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้

ทำงานไปเรี่อยๆ ดันติดปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวกับการเขียนโค้ด ทำไงดี หันไปหาเพื่อนๆ ในทีมก็บังเอิญว่าใหม่ด้วยกันหมด หรือพูดคุยกันเองในทีมแล้วก็ยังหาตัวช่วยไม่ได้ เพื่อนๆ ที่อยู่ทีมอื่นเราก็ไม่รู้จักว่ามีใครเขียนโปรแกรมแบบเดียวกับที่เราทำอยู่บ้าง ที่นี่เรามีกิลด์ (Guild) เป็นที่รวมตัวของพนักงานที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันแบบข้ามทีมด้วยกันหลากหลายกิลด์ ทั้ง Java Guild, Go Guild, Front-end Guild, Mobile Guild หรือ BA เป็นต้น

เหมือนกับในเกมออนไลน์เลยครับ กิลด์จะเป็นที่รวมตัวของเหล่าผู้กล้ามาพบปะและร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคุยกันเรื่อยเปื่อยชิลๆ (สร้างความสัมพันธ์ในหมู่ Dev ระหว่างทีม) การพาผู้เล่นใหม่เก็บเลเวลในสาย Dev (แลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิคในการ Dev) หรือนัดกันเพื่อทำ Challenge ลง Raid ตี Boss (Technical Problem Solving ช่วยกันแก้ปัญหาเรื่อง Dev)

กิจกรรมผ่อนคลาย

ทุกวันศุกร์บ่าย เป็นอันรู้กันว่า เราจะไม่นัดประชุมกันเรื่องงาน เนื่องจากช่วงเวลานี้คือ Thank God It's Friyay Meeting Free เป็นช่วงเวลาทองของชาว KBTG ให้พนักงานทุกคนได้มีเวลาเป็นของตัวเองโดยไม่มีการประชุมรบกวน และในช่วงเวลานี้ ก็จะยังมีกิจกรรมหลากหลายให้ผ่อนคลายจากการทำงาน มีทั้ง Mini Concert และงานอดิเรกต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ เป็นต้น เราสามารถเลือกเข้าร่วมตามความสนใจได้เลย

หลากหลายกิจกรรม Thank God It’s Friyay

สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้เพื่อนๆ ผู้อ่านได้เห็นภาพเกี่ยวกับงาน Developer ที่ KBTG มากขึ้นบ้าง หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว ถ้าเพื่อนๆ มีความสนใจร่วมงานกับ KBTG สามารถดูตำแหน่งงานที่ว่าง และยื่นใบสมัครได้ที่ https://www.kbtg.tech/career

และที่พิเศษสุดๆ ตอนนี้เรามีการรับสมัครหลักสูตร Java Software Engineering Bootcamp เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Tech Kampus ClassNest ที่จะมาช่วย Upskill/Reskill ภาษา Java ให้กับชาว Dev ในประเทศไทย โดย KBTG ยินดีสนับสนุนค่าใช้จ่ายมากถึง 20,000 บาท! แถมยังสามารถนำคะแนน Post-Test มายื่นประกอบการสมัครงานกับ KBTG ได้อีกด้วย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://kbtgclassnest.skooldio.com ได้เลย โดยสามารถยื่นใบสมัครได้ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2022 เท่านั้น ถ้ามีใจรักด้านนี้ ต้องบอกว่าห้ามพลาดครับ

--

--

Tinnapat Chaipanich
KBTG Life

DEVelopment eXcellence engineer — DEVX@KBTG / Console Gamer