ร้านอาหารเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ที่รัฐได้ประกาศให้มีการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ร้านอาหารน้อยใหญ่จำต้องงดการเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มภายในร้าน ไม่สามารถต้อนรับลูกค้าเข้ามานั่งทานได้ดั่งเดิมอีกต่อไป ช่องทางที่เหลืออยู่จึงเหลือเพียงการเปิดให้คนแวะมาซื้อแบบ Takeout รับกลับไปทานที่บ้าน บางร้านเปิดให้คนสั่งเมนูล่วงหน้าได้ผ่านทางไลน์หรือ Inbox มาทาง Facebook ในขณะเดียวกันโควิด-19 ก็เป็นตัวเปิดโอกาสให้กับอีกธุรกิจหนึ่ง นั่นคือฟู้ดเดลิเวอรี (Food Delivery Service) ที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกร้านที่จะสามารถพึ่งพาตัวเลือกนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารและร้านกาแฟเจ้าเล็กๆ เนื่องจากค่าเปอร์เซ็นต์ GP (Gross Profit) ที่ทางผู้ให้บริการตั้งไว้ค่อนข้างสูง หากจะเลือกใช้เพื่อจุนเจือรายได้ที่สูญหายไปก็คงจะไม่คุ้มสักเท่าไหร่ ดูๆ ไปกำไรที่ตกมาถึงพวกเขาอาจจะเหลือเพียงแค่หยิบมือ แต่บางร้านก็อาจจะกัดฟันยอมเสียค่า GP ไป เพราะนี่คือตัวเลือกเดียวของพวกเขาในการเอาตัวรอด
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่รัฐได้ทำการผ่อนปรนการคลายล็อกมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ที่เรากำลังจะเข้าสู่เฟส 5 ผู้คนต่างเริ่มตบเท้ากลับเข้าไปทานในร้านอาหารอีกครั้ง ถึงกระนั้นหลายคนก็ยังแอบกังวลกับเรื่องของโควิดอยู่ลึกๆ จึงอาจจะยังไม่สะดวกใจที่จะกลับเข้าไปทานที่ร้าน 100% และยังคงเลือกพึ่งพาบริการสั่งกลับบ้านและเดลิเวอรีต่อไป กลายมาเป็นโจทย์ใหม่ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องเก็บไปคิดว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้ลูกค้าสามารถเดินผ่านประตูกลับมาทานที่ร้านได้อย่างสบายใจ พร้อมเพิ่มบริการเพื่อรับมือกับชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ที่คนต่างก็หันมาสั่งอาหารทานกันที่บ้านแทน
ทางบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG เล็งเห็น Pain Point ดังกล่าวนี้ จึงได้มีการพัฒนา “Eatable” แพลตฟอร์มบริการสั่งอาหารรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การสั่งอาหารเพื่อทานที่บ้านเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการสั่งทานในร้านอีกด้วย Eatable เป็นเหมือนพนักงานที่พร้อมให้บริการไม่ว่าลูกค้าจะนั่งอยู่ที่ไหน ทั้งยังช่วยชี้นำผู้ประกอบการในการพาร้านของตนก้าวสู่ยุค 4.0 เสิร์ฟทั้งความอร่อย ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย ครบจบในแพลตฟอร์มเดียว และกำลังพัฒนาต่อยอดไปถึง Payment เลยทีเดียว
ในงานแถลงข่าวเปิดตัว Eatable เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา พี่กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน KBTG ได้เผยว่าเนื่องด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ร้านกาแฟและร้านอาหารจำต้องหาวิธีปรับตัวอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ ดังจะเห็นได้ชัดสุดคือความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งหลายในวงการ ยกตัวอย่างเช่น ร้านกาแฟ Starbucks ที่มีการปิดสาขาลงมากกว่า 400 สาขาทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยหันมาเพิ่มช่องทางในการซื้อเครื่องดื่มและอาหารกลับบ้าน ทั้งนี้การปรับตัวอาจจะเป็นอะไรที่ไม่ต้องคิดมากสำหรับเหล่านายทุน แต่กลับเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่งสำหรับเจ้าของธุรกิจรายย่อยที่มีรายได้อยู่แบบเดือนต่อเดือน ทาง KBTG จึงอยากให้ Eatable เป็นสิ่งที่เพิ่มอำนาจให้กับผู้ประกอบการตัวเล็กๆเหล่านี้ โดยจุดเด่นคือระบบจัดการแบบเรียลไทม์ที่แสนง่ายดาย สามารถใช้งานได้ผ่านอุปกรณ์ Smart Devices ทุกประเภทที่มีติดร้านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ ไม่ต้องหาซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม และไม่ต้องมีการโหลดแอปมาใส่เพิ่มในเครื่องให้เปลืองเมมฯเครื่องของทั้งผู้ประกอบการและลูกค้า เพราะ Eatable เป็นแพลตฟอร์มแบบ Web Based จึงสามารถเปิดใช้งานผ่านบราวเซอร์ในเครื่องได้เลยทันที
ซึ่งภายในงาน นอกจากจะมีพี่กระทิงมาพูดเปิดแล้ว ยังมีผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาแพลตฟอร์ม Eatable อย่างพี่ต้น ดร.สุรศักดิ์ จันทศิริโชติ Advanced Partnership Engineer และ พี่บอย ดร.เจริญชัย บวรธรรมรัตน์ Senior Principal Visionary Architect ขึ้นเวทีมาเล่าถึงฟีเจอร์ต่างๆ ที่น่าสนใจของ Eatable รวมทั้งได้มีการต้อนรับผู้ประกอบการกลุ่ม Pilot ที่มีการนำ Product นี้ไปใช้จริงแล้วมาร่วมแชร์ประสบการณ์ให้ฟังกัน ซึ่งผู้เขียนขอรวบรวมข้อดีของ Eatable ที่น่าจะเป็นที่ดึงดูดสำหรับเจ้าของร้านอาหารและเครื่องดื่มหลายคน ดังนี้
New Normal: เมื่อผู้ทานและพนักงานต้องปลอดภัย
ความปลอดภัยถือเป็นปัจจัยต้นๆที่คนยุค New Normal คำนึงถึงไม่ว่าจะไปที่ไหน การนั่งทานเครื่องดื่มหรืออาหารที่ร้านก็เช่นกัน ตั้งแต่มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น เชื่อว่าลูกค้าทุกคนต่างก็ตั้งตารอที่จะได้กลับไปทานที่ร้าน สังสรรค์พร้อมหน้ากับเพื่อนฝูงและครอบครัวกันอีกครั้ง เพราะแม้จะมีบริการเดลิเวอรีส่งถึงบ้านที่สะดวกสบาย แต่ก็ไม่สามารถทดแทนบรรยากาศการนั่งทานที่ร้านอาหารได้จริงๆ เพื่อบรรเทาความกังวลของลูกค้า ธุรกิจร้านทั้งหลายจึงต้องมีการปรับตัวใหม่ ให้ลูกค้าสามารถกลับมานั่งทานอาหารได้อย่างสบายใจอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนนี้ Eatable ได้สร้างฟีเจอร์การสั่งอาหารผ่าน QR Code เพื่อรองรับนโยบายการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) และกระบวนการแบบไร้สัมผัส (Contactless) ทั้งระหว่างตัวลูกค้ากับพนักงานเอง หรือแม้กระทั่งระหว่างลูกค้ากับสิ่งของที่เลี่ยงการจับต้องได้อย่างเมนูอาหาร ซึ่งคุณอิ๋ง นันทิดา อติเศรษฐ์ รองประธานบริหารฝ่ายการขายและการตลาด เครือกะตะธานี มองว่าเป็นจุดที่สำคัญมากๆ จึงได้มีการนำ Eatable ไปทดลองติดตั้งตามจุดต่างๆ ของโรงแรมในเครือ ให้ลูกค้าสามารถสั่งเครื่องดื่มและอาหารผ่านทางโทรศัพท์มือถือตนเองได้เลย ไม่ว่าจะเป็นในโซนห้องอาหารหรือรูมเซอร์วิส เมื่อสแกนเสร็จสิ้นก็จะได้พบกับภาพอาหารสวยงามน่าทานผ่านเมนูออนไลน์ที่จัดสรรขึ้นเอง เสริมความมั่นใจ สะดวกสบายและปลอดภัยทั้งกับลูกค้าและพนักงานของตน
Old Normal: รวดเร็วทันใจ ออเดอร์ได้ทันทีที่นั่งลง
ประโยชน์ของการสั่งอาหารผ่านการสแกน QR Code ของ Eatable ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น สืบเนื่องจากที่ทาง KBTG ได้ริเริ่มการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มนี้มาตั้งแต่ก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด-19 ทางทีมผู้พัฒนาจึงไม่เพียงมุ่งที่จะตอบโจทย์ร้านอาหารในยุค New Normal แต่ได้มีการคำนึงถึง Pain Point อื่นๆ ที่ถือว่าเป็น Old Normal สำหรับผู้ประกอบการทุกคน เช่น พนักงานทำงานไม่รวดเร็วพอ ปล่อยให้ลูกค้านั่งรอเป็นเวลานานกว่าจะได้สั่งอาหาร หรือแม้แต่การเขียนออเดอร์ผิดๆ โดยคุณโอ๊ต พงศ์ธรรช เลิศธนพันธุ์ Business Development Manager ร้านเรือนเพชรสุกี้ ได้กล่าวว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ร้านของตนพบบ่อยๆ บางทีทางร้านก็อาจจะมีพนักงานเสิร์ฟไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้พนักงานต้องวิ่งวุ่นให้บริการทั่วพื้นที่ภายในร้าน จนบางครั้งเกิดการผิดพลาดในการรับออเดอร์ เช่นฟังที่ลูกค้าสั่งผิด เขียนบิลไม่ชัดเจน หรือออเดอร์ตกหล่น เมื่อครัวทำมาเสิร์ฟไม่ถูกต้อง ลูกค้าก็จะเกิดอาการไม่พึงพอใจ ทำให้รู้สึกไม่ประทับใจกับบริการและไม่อยากกลับมาอีกแม้อาหารจะอร่อยสักเพียงใด แต่พอมี Eatable เข้ามา คุณโอ๊ตก็พบปัญหาเหล่านี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ลูกค้าสามารถใช้โทรศัพท์มือถือสแกน QR Code ที่วางไว้บนโต๊ะเพื่อสั่งอาหารได้เองเลย ต่างคนต่างสั่งก็ได้ ออเดอร์ทั้งหมดก็จะถูกส่งตรงมาที่เคาน์เตอร์ และเนื่องจากลูกค้าเป็นคนคีย์ข้อมูลเองกับมือ ออเดอร์ที่ได้รับจึงถูกต้องแม่นยำ พนักงานก็ไม่จำเป็นต้องวิ่งวุ่นให้อ่อนล้าอีกต่อไป มีเวลาเหลือเฟือในการดูแลสอดส่องให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง
Pick up & Delivery: สั่งกลับบ้านหรือส่งถึงบ้าน ก็ได้ในแพลตฟอร์มเดียว
มาถึงอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารยุค New Normal นั่นคือการให้บริการอาหารนอกร้าน เมื่อสถานการณ์ล็อกดาวน์ทำให้ร้านอาหารและร้านกาแฟทั่วประเทศไม่สามารถเปิดให้ทานที่ร้านได้ ทางร้านจึงได้มีการเสาะหาทางเลือกใหม่ๆ ในการหารายได้เข้าร้าน นำมาสู่ความนิยมในการสั่งออนไลน์แบบมารับกลับบ้านและการสั่งเดลิเวอรี Eatable ก็มีฟีเจอร์ที่ทำขึ้นมารองรับในสองส่วนนี้ด้วยเช่นกัน โดยทางร้านอาหารสามารถส่งลิงก์เฉพาะที่สร้างขึ้นให้กับลูกค้าได้ทุกช่องทาง เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปิดเมนูออนไลน์กดสั่งได้ทันที คุณมิ้นท์ เอสรา สดุดีวงศ์ เจ้าของร้านเบอร์เกอร์ Beast & Butter บอกว่าเป็นฟีเจอร์ที่สะดวกมาก เพราะด้วยความที่เมนูของร้านมีรายละเอียดยิบย่อย การปิดการขายบางครั้งจึงใช้เวลานาน แต่เมื่อมี Eatable เข้ามาช่วย ลูกค้าก็สามารถสั่งอาหารผ่านทางแพลตฟอร์มพร้อมระบุรายละเอียดทั้งหมดได้เสร็จสรรพ ไม่จำเป็นต้องกดพิมพ์เองให้ยุ่งยากอีกต่อไป ทั้งสามารถกำหนดเวลามารับอาหารล่วงหน้า หรือหากเป็นการส่งเดลิเวอรี ทางร้านก็สามารถใช้ตัวเลือกบริการเดลิเวอรีที่มีอยู่ในท้องตลาดอยู่แล้ว โดยสามารถกด Copy Address ไปวางในแอปนั้นๆได้เลย หรืออาจจะเลือกให้คนของเราไปส่งเอง ระบบจะช่วยคำนวณค่าส่งที่ผู้สั่งเองก็รู้สึกว่าคุ้มค่า แถมยังสามารถเซ็ตภาษาได้ถึง 3 ภาษาด้วยกัน คือไทย อังกฤษ จีน ซึ่งช่วยลดความผิดพลาดในการสื่อสารลงได้อย่างมาก
เนื่องจากตอนนี้ Eatable ยังอยู่ในช่วงของ Beta Launch ฟีเจอร์ที่เปิดให้บริการจึงมีแค่ในส่วนของการสั่งอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ทางผู้พัฒนาก็จะมีความตั้งใจที่จะปล่อยฟีเจอร์การชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มให้ทางร้านใช้งานได้อย่างครบวงจรภายในช่วงเดือนกันยายน 2563 นอกจากนี้จะมีการเพิ่มตัวเลือกภาษาอื่นๆ ในอนาคต พร้อมกับการเปิดตัว “เตี่ยนไช่” (Kai Tai Dian Cai) มินิแอป Eatable บน WeChat สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะปล่อยออกมาภายในปีนี้ให้ทันช่วง Travel Bubble อีกด้วย จากข้อดีทั้งหมดนี้ บางคนอาจจะสงสัยว่าทางผู้ประกอบการจะต้องเสียเงินเท่าไหร่จึงจะใช้บริการได้? ซึ่งทางพี่กระทิงและทีมผู้พัฒนาได้ประกาศก้องว่าเราไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น! เพราะ KBTG และธนาคารกสิกรไทยมีความปรารถนาที่จะยื่นมือช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กด้วยใจจริง เพื่อให้เราทุกคนผ่านพ้นไปด้วยกัน สมกับที่เจ้าของธุรกิจ SME ให้ความไว้วางใจเสมอมา ดั่งวิสัยทัศน์ของธนาคารกสิกรไทยที่ว่า “To Empower Every Customer’s Life and Business”
สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารท่านใดที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการ Beta Launch ได้ที่ https://eatable.kasikornbank.com