KBTG กับการพัฒนาแอป K PLUS Vietnam ที่ไม่ได้หยุดแค่ที่เวียดนาม

Kris B
KBTG Life
Published in
3 min readJun 9, 2022

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว หลายคนอาจจะได้เห็นบทความนึงของ Mango Zero ที่พาไปเจาะลึกทีมงาน KBank World Business Group (WBG) กับการพาชื่อ K PLUS และบริการ Mobile Banking ชั้นหนึ่งของเราไปสู่ระดับ Regional จนออกมาเป็น K PLUS Vietnam ที่เปิดให้ชาวเวียดนามดาวน์โหลดเป็นที่เรียบร้อย

สำหรับใครที่ยังไม่เห็นบทความนั้น (หรือเพิ่งรู้เกี่ยวกับ K PLUS Vietnam ตอนนี้เลย) และอยากอ่านเสริมเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูที่ลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลย เป็น Optional Reading สำหรับคนที่สนใจ

ในบทความนี้ ผู้เขียนขอมาโฟกัสที่ Working Team ในฝั่ง KBTG แบบเต็มๆ กันบ้าง โดยได้ชวนพี่ๆ จากทีม K PLUS Vietnam มาเล่า Journey การออกแบบแอปว่าเป็นอย่างไร ต้องเจอกับความท้าทายแบบไหน ไปจนถึงกระบวนการพัฒนาที่ไม่เพียงต้องคำนึงถึงเวียดนามเท่านั้น แต่ต้องคิดครอบคลุมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย ทำไมกันนะ… เรามาฟังจากพี่ทิพ Head of Delivery Management พี่แม็ค Senior Software Engineer พี่แจ็ค Senior Business Analyst และ พี่ปุ๊ก PMO Supervisor เลยค่ะ

source: kasikornbank.com.vn

จุดเริ่มต้นของโปรเจค K PLUS Vietnam

ทิพ: เมื่อ KBank มีแผนจะไปตั้งสาขาที่เวียดนาม เราได้ทำการสำรวจตลาดและกลุ่มผู้ใช้งาน ซึ่งพบว่าคนเวียดนามมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทาง Digital Banking หรือ Mobile Banking ค่อนข้างเยอะทีเดียว ประกอบกับที่ KBank มีสาขาน้อยในเวียดนาม จึงมองว่าช่องทางการให้บริการของเราที่น่าจะเข้าถึงและตอบโจทย์ลูกค้ารายบุคคลได้มากสุดคือ Mobile Banking นั่นเอง ทาง KBank และ KBTG ได้มีการปรึกษาหารือร่วมกันทั้งในส่วนของ Application, Architecture, Security และ Infrastructure โดยนอกจากจะ Implement ในเวียดนามแล้ว ยังต้องสามารถต่อยอดไปให้บริการประเทศที่ 2 และอื่นๆ ที่ตามมาในระดับภูมิภาคได้อีกด้วย

หลังจากที่ทำการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย และได้ข้อสรุปว่าจะพัฒนาเป็นแอป K PLUS Vietnam แยกจากของไทย เราก็เริ่มทำการฟอร์มทีม ซึ่งสมาชิกหลักๆ ในตอนต้นส่วนหนึ่งจะเป็นสมาชิกจากทีมผู้พัฒนา K PLUS ไทย ที่รับ Requirement เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางโครงสร้างโค้ดที่จะต้องกำหนดขอบเขต ระหว่างทางเราก็มีการร่วมมือกับอีกหลายทีมในบ้าน KBTG ไม่ว่าจะเป็นทีม Beacon Interface ที่รับหน้าที่ออกแบบ UX/UI, ทีม Cyber Security ที่ช่วยดูเรื่องความปลอดภัยในระดับ AEC, ทีม Infrastructure ที่ดูแลโครงสร้าง และทีม SQM เพื่อดูแนวทางการทดสอบและอุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบ ไปจนถึงทีมที่ดูแลระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบ e-KYC, Core Banking, Integration และ Payment Hub, UCenter, CVRS, Corporate Gateway เป็นต้น

ความแตกต่างระหว่าง K PLUS ที่เราคุ้นเคย และ K PLUS Vietnam

แจ็ค: ฟังก์ชันเบื้องต้นของ K PLUS Vietnam จะยึดโครงของบ้านไทยมาครับ แต่เราจะเน้นฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้งานที่เวียดนามโดยเฉพาะ ตั้งแต่การทำธุรกรรมพื้นฐานอย่างการโอนเงิน การจ่ายบิล การเติมเงิน การดูยอดเงิน ไปจนถึงการขอ Statement ผ่านมือถือ (ที่ปัจจุบันมีธนาคารเพียงไม่กี่เจ้าที่ให้บริการในส่วนนี้) การใช้ Touch ID หรือ Face ID ในการเข้าใช้งาน และการกำหนดวงเงินธุรกรรมในการทำรายการ ซึ่งในอนาคตเราก็จะมีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ มากขึ้น อย่างการขอสินเชื่อ หรือการโอนเงินผ่านการสแกน QR Code ครับ

แม็ค: อีกส่วนนึงที่ต่างจะเป็นขั้นตอนการทำ e-KYC ครับ KBank ไม่ได้มีสาขาเยอะที่เวียดนามเหมือนที่ไทย เราจึงออกแบบกระบวนการ Onboard ให้เป็นแบบ Mobile First คือสามารถทำได้ผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องไปที่สาขาเลย ซึ่งเราต้อง Implement ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด อย่างการยืนยันบัตรประชาชน เราก็ต้องออกแบบโครงสร้างระบบใหม่ให้สามารถรองรับบัตรประชาชนได้มากกว่า 1 แบบ เพราะที่เวียดนามเขามีถึง 4 แบบเลยครับ

ทิพ: ในขณะที่ K PLUS ไทยของเรามีฟีเจอร์ที่ครบครัน และมีผู้ใช้งานกว่า 18 ล้านคนแล้วนั้น ในตลาดเวียดนาม K PLUS ยังถือเป็นน้องใหม่อยู่ในจุดเริ่มต้นที่กำลังค่อยๆ เติบโต เราจึงคัดเลือกเฉพาะฟังก์ชันที่มีความจำเป็นเพื่อให้เหมาะสมกับลูกค้าเวียดนามก่อน ฟังก์ชันที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน รวมถึงที่สามารถปล่อยได้เร็ว เพื่อที่เราจะได้มาศึกษาเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า เก็บข้อมูล วิเคราะห์ และขยายบริการอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคตค่ะ อีกส่วนคือระบบที่ให้บริการ K PLUS Vietnam จะต้องมีการพัฒนาที่อยู่ภายใต้กรอบของการกำกับดูแลของ State Bank of Vietnam เช่น การทำธุรกรรมทางการเงินจะต้องมีวิธีการตรวจสอบธุรกรรมออนไลน์ เป็นต้น

Summary of Tech Stack: K PLUS Vietnam

การทำแอปที่ไม่ง่ายเหมือน Copy/Paste

แม็ค: K PLUS Vietnam ยากตรงที่เราต้องมีการอัพเดต Architecture ให้ยืดหยุ่นและทันสมัยมากขึ้น พร้อมกับเพิ่ม Flexibility ในการเขียนโค้ด และ Reusability เพื่อให้ซัพพอร์ตการขยายบริการไปยังประเทศอื่นๆ โดยเราใช้ K PLUS ไทยเป็นเบส นอกจากนี้ Solution ต่างๆ จะต้องตอบโจทย์ในเรื่อง Security และ Compliance ทั้งของบ้านเราและเวียดนามด้วย ดังนั้นเราต้องแยก Module ที่เฉพาะเจาะจงเป็นเวียดนามออกมา ในกรณีที่ K PLUS มีทำเวอร์ชันประเทศอื่นเพิ่มเติม เราก็จะสามารถ Implement ส่วนที่เป็นข้อบังคับของประเทศนั้นๆ แยกออกไปได้ทันที โดยที่ไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับส่วนที่เป็นของเวียดนาม โปรเจคนี้ถือเป็น Proof of Concept เลยก็ว่าได้ เมื่อใดที่ทางธนาคารมีแผนขยายการให้บริการ K PLUS ไปยังประเทศที่ 2 ไม่ว่าทีมไหนที่ได้รับมอบหมาย หรือทีมจากประเทศใดก็ตาม ก็สามารถยกโครงสร้างที่เราวางไว้ไปใช้ต่อได้เลยครับ

แจ็ค: แม้ว่าหน้าตา K PLUS Vietnam จะคล้ายกับของไทย แต่ในรายละเอียดและเรื่องของ Business Flow นั้นมีจุดที่ต่างกันครับ ดังนั้นความท้าทายคือการทำงานแข่งกับเวลา เราต้องทำความเข้าใจข้อกำหนดต่างๆ ของเวียดนามให้เร็วที่สุด เราจะได้รีบดูการวางโครงสร้างในการพัฒนาแอปและการกำหนดเงื่อนไขของแอปให้สอดคล้องกับที่เวียดนามมี ทักษะที่สำคัญอันนึงเลยคือการจัดลำดับความสำคัญของ Requirement อันไหนจำเป็นต้องทำและหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องคัดอันนั้นขึ้นมาทำก่อน อันไหนมี Workaround หรือรอได้ พี่ก็จะไปหารือกับทาง Business User (BU) พร้อมแนะนำ Option ที่ช่วยให้โปรเจคสามารถเสร็จสิ้นตามไทม์ไลน์ที่กำหนด

ทิพ: ความยากอีกส่วนนึงคือเรื่องของ Integration ค่ะ เพราะ K PLUS Vietnam จะต้องเชื่อมต่อกับแอปใหม่ของบ้าน AEC ซึ่งเป็นคนละตัวกับบ้านไทย อย่าง Core Banking เองก็เป็นคนละระบบกัน ฉะนั้นการรองรับจะต่างกันค่ะ อีกส่วนนึงคือ Infrastructure ที่ต้องมีการติดตั้งใหม่หมด และต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ Security หรือกระบวนการในปัจจุบัน เราก็ต้องหาวิธีปรับให้ยังคงอยู่บนฐานของความปลอดภัยค่ะ

ปุ๊ก: ความแตกต่างที่พี่เจอในมุมของ PMO จะเป็นในเชิงกระบวนการค่ะ เมื่อเราพัฒนาเป็น K PLUS Vietnam นั่นแปลว่าเราจะต้องยกทรัพย์สินตัวนี้ให้กับทางสาขาเวียดนามที่เพิ่งเปิดตัวไป และเขาก็จะต้องเป็นคนที่จ่ายเงินให้กับ Vendor เจ้าต่างๆ ที่เราดีลไว้ ดังนั้นก่อนที่ Vendor จะเริ่มทำงานให้เราได้ เราต้องให้เขาทำ Contract ตรงกับสาขาเวียดนามเสียก่อน มันก็จะมีกระบวนการทำ Contract ใหม่ขึ้นมา ฝ่ายกฎหมายจะต้องรีวิวว่าในส่วนของงบประมาณที่ได้มานั้นมีการแบ่งให้ Vendor เท่าไหร่ ซึ่งไม่เหมือนกับกระบวนการในบ้านเราที่สำนักงานใหญ่ธนาคารจ่ายให้หมด อันนี้เราต้องโอนไปทางฝั่งเวียดนามแทน จึงมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมาที่ Vendor ต้องตกลงและทำให้เรียบร้อยค่ะ

การทำงานร่วมกับทีมเวียดนาม

พี่แม็ค: เรามีพนักงานที่เป็น Dev เวียดนามมาช่วยในการพัฒนาแอปนี้ โดยทำงานร่วมกับทีม Dev ของไทยเลย เราปรับให้ประชุมที่มีทีมเวียดนามอยู่ด้วยต้องเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด รวมถึงเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องและ Issue Ticket ก็ต้องเป็นภาษาอังกฤษ ทีมต้องมีการปรับตัวนิดหน่อย แต่ Dev เวียดนามโดยพื้นฐานจะขยันทำงานและมีความรับผิดชอบอยู่แล้ว ทีมเราเลยสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีครับ

แจ็ค: ตอนแรกๆ จะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารอย่างที่แม็คบอกเลยครับ แต่พอคุยกันมากขึ้นเรื่อยๆ มีการเปิดใจกัน เราก็เริ่มทำงานเข้ากันได้ดี จริงๆการที่มี Dev ที่เป็น Local ถือเป็นโชคดีครับ เพราะระหว่างที่เราพัฒนานั้น บางทีทาง Dev เวียดนามจะเล็งเห็นบางจุดที่สามารถปรับปรุงได้และมานำเสนอกับเรา พี่ก็จะเป็นตัวกลางนำไปปรึกษา BU ซึ่งมีหลายๆ ไอเดียที่ทาง BU ก็เห็นด้วย เลยทำให้การประสานงานเป็นไปได้ด้วยดีครับ ฝั่ง Dev เวียดนามเองก็รู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแอปด้วย

ปุ๊ก: ของพี่ส่วนใหญ่จะเป็นคุยกับทางสาขาเวียดนามที่ดูแลเรื่องการเงินค่ะ เนื่องจากเขาอยู่ต่างประเทศ เวลาที่เราจะไปวางบิลให้ Vendor เขาก็ต้องการตรวจสอบให้มั่นใจว่า BU รับทราบและอนุมัติการจ่ายนี้แล้ว ทุกครั้งจึงต้องมีเอกสารและอีเมลอนุมัติเพื่อยืนยันว่า BU ฝั่งไทยและ Lead ฝั่งเวียดนามรับทราบแล้วถึงดำเนินการจ่ายได้ โดยช่วงที่พี่จะต้องคุยกับทางเวียดนามเยอะๆ จะเป็นตามรอบจ่ายและรอบตั้งเบิกงบค่ะ

ทิพ: การทำโปรเจค K PLUS Vietnam นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ Working Team ได้ทำงานร่วมกับทางทีมเวียดนามเลยค่ะ แม้ว่าจะเป็นการทำงานของเราจะแบบ Cross-Culture แต่เราร่วมแรงร่วมใจกันทำงานโดยมีเป้าหมายเดียวกัน แม้อยู่กันคนละประเทศ เราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถทำงานกันได้แบบ One Team จริงๆ ค่ะ

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--