Keep Burning, Not Burnout — ทำงานอย่างไรไม่ให้ Burnout

Arom:D
KBTG Life
Published in
3 min readNov 1, 2022

ในเช้าการทำงานวันแรกของสัปดาห์ อาจจะมีใครบางคนที่มีอารมณ์ขี้เกียจ เบื่อ ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน ซึ่งต่างกับวันศุกร์ที่แสนสดใส ทั้งนี้สำหรับบางคน ความรู้สึกที่ว่าอาจจะไม่ได้จำกัดแค่วันจันทร์ แต่เป็นแบบนั้นทุกวัน หมดพลัง หมดไฟ ไม่อยากตื่นไปทำงาน ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการ Burnout หรือภาวะหมดไฟนั่นเอง

Photo by Lacie Slezak on Unsplash

Burnout คือภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ซึ่งภาวะนี้ยังไม่ถึงขั้นนับเป็นโรค แต่จะเหมือนกับอาการเครียดที่เราสามารถหายกลับสู่ภาวะปกติได้ด้วยการทำกิจกรรมผ่อนคลาย อย่างไรก็ตามหากเราปล่อยให้ภาวะเครียดนี้ดำเนินไปนานๆ โดยไม่หาวิธีจัดการ ก็มีสิทธิ์พัฒนากลายเป็นอาการโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลได้

จากผลสำรวจของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับอาการ Burnout พบว่ากลุ่มคนวัยทำงานในกรุงเทพฯ จำนวน 4 ล้านคนนั้น มีภาวะ Burnout ทั้งสิ้น 12% (เท่ากับ 4 แสนคน) และคนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะ Burnout อีก 57% ในขณะที่คนมีไฟในการทำงานมีเพียง 31% เท่านั้น

จำนวนกลุ่มคนที่มีอาการ Burnout ตามช่วงอายุต่างๆ

  1. กลุ่ม Generation Z ต่ำกว่า 22 ปี เป็นช่วงวัยนักศึกษา ตัวเลขสูงถึง 17%
  2. กลุ่ม Generation Y ช่วงวัย 23–38 ปี เป็นช่วงวัยทำงาน อยู่ที่ 13%
  3. กลุ่ม Baby Boom ช่วงวัย 55–73 ปี มีอาการ Burnout เพียงแค่ 7%

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนที่อยู่ในภาวะ Burnout เป็น Gen Y-Z รวมกันมากถึง 30% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง นั่นหมายความว่าไม่ใช่เฉพาะเรื่องงานที่เป็นสาเหตุหลัก แต่ยังมีปัจจัยด้านอื่นๆ อีก ดังนั้นเราควรมาทำความเข้าใจกับภาวะ Burnout อย่างถ่องแท้ เพื่อที่เราจะสามารถรับมือและจัดการได้อย่างถูกวิธีกัน

สาเหตุ

ภาวะ Burnout เกิดขึ้นได้จากสาเหตุทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ลองมาพิจารณางานที่เราทำอยู่ปัจจุบันกัน

  • งานนั้นส่งเสริมคุณค่าอะไรให้กับเรา
  • ความคุ้มของค่าตอบแทนหรือค่าจ้าง บางครั้งทำงานแทบตาย หัวหน้าตาม ลูกค้าตาม ไม่มีเวลาพัก เงินเดือนเท่าเด็กจบใหม่
  • บางคนมีผลตอบแทนในเรื่องของเวลา ผลตอบแทนที่ไม่สมดุล ไม่คุ้มค่า
  • บางคนเป็น Perfectionist ไม่ยืดหยุ่น ก็เสี่ยง Burnout
  • คนที่ขาดระบบซัพพอร์ต ไม่มีครอบครัว เพื่อนฝูง หรือกัลยาณมิตรที่พร้อมรับฟัง
  • คนที่ไม่รู้วิธีการจัดการความเครียดหรือไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเครียดอยู่
  • พนักงานที่รู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญ พูดไปก็ไม่มีคนฟัง รู้สึกไม่มีตัวตน บางองค์กรไม่สร้างความปลอดภัยทางจิตใจ หรือการทำงานกับหัวหน้าที่ให้คุณค่าไม่เหมือนกัน
  • งานที่ต้องการความละเอียด ความถูกต้อง มีผลกระทบกับผู้คนจำนวนมากหรือมูลค่ามหาศาล

นอกจากเรื่องงาน ก็ยังมีเรื่องอื่นอีก เช่น แม่ที่เลี้ยงลูกอยู่บ้านตลอดเวลา 3 เดือน หรือวัยรุ่นที่เรียนหนักเกินไป ก็สามารถส่งผลให้เกิดภาวะ Burnout ได้เช่นกัน

Photo by Green Chameleon on Unsplash

5 ระยะของภาวะ Burnout

  1. ระยะฮันนีมูน (The Honeymoon) เข้าทำงานใหม่ อะไรก็ดูตื่นเต้น น่าสนใจ อยากเป็นส่วนหนึ่งของทีม
  2. ระยะรู้สึกตัว (The Awakening) งานที่ทำอยู่เหมือนกับตอนแรก เรายังชอบอยู่มั้ยนะ
  3. ระยะไฟตก (Brownout) สัญญาณเตือน เหนื่อยล้าเรื้อรัง หงุดหงิด ชวนไปไหนไม่ไป นอนไม่สนิท
  4. ระยะหมดไฟเต็มที่ (Full Scale of Burnout) จิตใจและร่างกายเริ่มออกอาการ กินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ โกรธตัวเอง โกรธทุกคน ช่วงนี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข จะไม่ออกจาก Burnout
  5. ระยะฟื้นตัว (The Phoenix Phenomenon) ถ้า Burnout ได้รับการจัดการ แก้ไข และช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ก็จะเริ่มปรับเข้าสมดุล

จะรู้ได้อย่างไรว่าเรา Burnout

  1. อาการทางร่างกาย รู้สึกปวดตามที่ต่างๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ Office Syndrome ปวดศีรษะเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ทานอาหารไม่อร่อย
  2. อาการทางอารมณ์ อารมณ์เศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิด หดหู่ ไม่สนุกกับกิจกรรมที่เคยชอบ ไม่พอใจในผลงานที่ทำ
  3. อาการทางความคิด มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถของตนเอง มองคนอื่นในแง่ร้าย วิ่งหนีปัญหา ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพตนเอง
  4. อาการทางพฤติกรรม ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ขาดความกระตือรือร้น บริหารจัดการเวลาไม่ได้ ไม่มีสมาธิหรือความสุขในการทำงาน
Photo by S Migaj on Unsplash

หลายคนพอ Burnout สิ่งแรกที่คิดคืออยากออกจากงาน ซึ่งจริงๆ แล้วนั่นอาจเป็นการแก้ปัญหาเพียงส่วนเดียวและไม่ยั่งยืน เพราะหากเราไม่แก้ไขที่ต้นเหตุจริงๆ เราอาจจะกลับมา Burnout อีกก็เป็นได้ ถ้าตอนนี้เรารู้สึกเบื่อหรือกำลังฝืนทนทำในสิ่งที่ไม่ชอบ เบื้องต้นผู้เขียนแนะนำให้ลองทำสิ่งเหล่านี้ดูค่ะ

  1. พักผ่อนร่างกายและจิตใจ นั่นหมายถึงออกห่างจากงาน ลาพักร้อนไปเที่ยวในสถานที่ใหม่ๆ เพื่อเยียวยาร่างกายและจิตใจ รวมถึงเติมไฟตอนที่ใจเรา Burnout ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเอง การได้ออกกำลังกาย ทานอาหารที่ดี ออกกำลังกาย ฟังเพลง เล่นกับน้องหมา อยู่กับธรรมชาติ พูดคุย แม้กระทั่งเม้ามอยกับคนที่เราไว้ใจก็สามารถช่วยลดความเครียดได้
  2. การลดเงื่อนไขในใจและย้อนกลับไปมองที่เป้าหมายของเรา ลองทบทวนว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้เพื่ออะไร เรายังอยู่กับเป้าหมายเรารึเปล่า ลองคุยกับหัวหน้าเพื่อหาทางแก้ไข หากรู้สึกว่าบาร์ที่เราตั้งสูงเกินเอื้อมถึง ลองลดความคาดหวังลง ลดเงื่อนไขในการมีความสุข เช่น ต้องมีหรือต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งจึงจะมีความสุข หากเราทำหน้าที่ให้เต็มที่ก็มีความสุขได้ ส่วนชื่อเสียงเงินทองหรือสิ่งที่ได้มาเป็นผลพลอยได้ ขอเพียงแค่รู้ว่าทำเพื่ออะไร ไฟในตัวก็จะลุกโชติช่วง
  3. ลดการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เพราะถ้าเรายังหมกมุ่นเรื่องแบบนี้ เราจะทุกข์และตกอยู่ในวังวนแห่งความคิดแบบนี้ตลอด ให้คิดว่ามนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างและมีความพิเศษอยู่ในตัวเอง แค่ต้องหาให้เจอและพัฒนาต่อไป เพราะทุกวันนี้ความแตกต่างเฉพาะตัวนี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้โลกพัฒนาและขับเคลื่อนได้
  4. ตั้งรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานของตัวเอง เพราะถ้ามีรางวัล เราก็จะมีกำลังใจ อาจจะเป็นวิธีง่ายๆ เช่น เที่ยวที่เราชอบ ไปคาเฟ่แมว เที่ยวทะเล กินของอร่อย แม้เป็นรางวัลเล็กๆ แต่มีพลังมหาศาล

สำหรับคนที่ประสบภาวะ Burnout อย่ารู้สึกว่าเราแย่หรือเราไม่เอาไหน เพราะภาวะแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย แค่เราต้องมีสติ เมื่อรู้ว่าไฟกำลังจะมอด ต้องรีบหาทางแก้ไขหมั่นเติมไฟเติมเชื้อเพลิง หากไม่ไหวจริงๆ เพื่อนๆ สามารถปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 อย่างที่ KBTG เอง ทางองค์กรก็มีการจัดเตรียมบริการพูดคุยกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านแอป Ooca ถ้าพนักงานคนไหนตกอยู่ในภาวะ Burnout ที่แก้ไม่ตก ก็สามารถใช้บริการได้ฟรีค่ะ

ขอทิ้งท้ายเรื่องของตัวผู้เขียนเอง บ่อยครั้งที่ล้าและท้อ และเป็นธรรมดาที่บางครั้งก็มีการเปรียบเทียบ แต่สุดท้ายจะตั้งต้นใช้สติ ใช้ความคิด บอกกับตัวเองว่าไม่มีใครดีพร้อมหรือเก่งทุกด้าน วันนี้สิ่งที่เราทำได้และง่ายที่สุดคือการเปลี่ยนตัวเอง เราสามารถสร้างความสำเร็จเล็กๆ ให้ตัวเองภูมิใจ และค่อยๆ ทำก้าวเล็กๆ ให้เป็นก้าวที่ใหญ่ขึ้น อาจจะช้าในตอนแรก แต่จะดียิ่งขึ้นในวันต่อๆ ไป

ผู้เขียนมีความเชื่อว่าถ้าเราได้ลงมือทำก็สำเร็จแล้วค่ะ จากความคิดที่ดี สู่การลงมือทำ ความสำเร็จเล็กๆ ก็สามารถสร้างความสุข ความภูมิใจ และความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ เพียงเท่านี้เราก็สามารถทำงานอย่างมีความสุขและไม่ Burnout ค่ะ

มาร่วมหมั่นดูแลและรักษาดวงใจกันนะคะ

Reference

[PODCAST] Re-Mind | EP.8 — วิธีจัดการกับ Burnout ในวัยทำงาน | Mahidol Channel

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--