Matrix Algebra for Data Science

Paul
KBTG Life
Published in
3 min readJan 10, 2023

เมทริกซ์ (Matrix) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาเกี่ยวกับ Data Science ไม่ว่าจะเป็นวิธีการในการแสดงข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์และจัดการด้วย Machine Learning หรือ Algorithm การวิเคราะห์อื่นๆ หรือการใช้เมทริกซ์ในการหา Solution ของสมการต่างๆ เราสามารถแบ่งประโยชน์ของเมทริกซ์ใน Data Science Field ออกเป็น 2 หัวข้อหลักๆ

  1. การจัดเก็บข้อมูลแบบตาราง (Tabular Data) ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากเมทริกซ์อย่างหนึ่ง เพื่อให้การใช้งาน Data นั้นสะดวกมากยิ่งขึ้น
  2. เมทริกซ์เป็นรากฐานของ Linear Algebra ซึ่งถือว่าอยู่เบื้องหลังของ Machine Learning และ Algorithm การวิเคราะห์ส่วนใหญ่

ดังนั้นจะดีมากๆ เลยใช่ไหมคะ ถ้าเรามีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเมทริกซ์และการดำเนินการของเมทริกซ์เป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา งั้นเรามาเริ่มกันเลยดีกว่า…

Overview

เมทริกซ์ (Matrix) เป็นการเขียนเรียงแถวลำดับในรูปแบบสี่เหลี่ยมมุมฉากภายในเครื่องหมาย [] โดยจำนวนในเมทริกซ์จะเรียกว่า สมาชิก (Entries) ของเมทริกซ์

ปกติเราจะเขียนแทนเมทริกซ์ด้วยอักษรตัวใหญ่ เช่น A, B, C ดังตัวอย่างต่อไปนี้

รูปที่ 1: ตัวอย่างของเมทริกซ์

จะเห็นว่าเมทริกซ์มีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับจำนวนแนวนอน (Row) และแนวตั้ง (Column) เช่น A มี 2 แนวนอน 3 แนวตั้ง เมทริกซ์ใดๆ ที่มี m แนวนอน n แนวตั้ง จะเป็นเมทริกซ์ที่มีขนาด (Size) mxn จากตัวอย่างข้างต้น เมทริกซ์ A, B และ C มีขนาด 2x3, 2x2 และ 3x1 ตามลำดับ เมทริกซ์ที่มีขนาด 1xn จะเรียกว่า ‘เมทริกซ์แนวนอน’ ในขณะที่เมทริกซ์ที่มีขนาด mx1 จะเรียกว่า ‘เมทริกซ์แนวตั้ง’

เมทริกซ์ A มีขนาด mxn สามารถเขียนรูปทั่วไปได้ดังนี้

รูปที่ 2: รูปทั่วไปของเมทริกซ์

สมาชิกแต่ละตัวของเมทริกซ์สามารถระบุตำแหน่งในเมทริกซ์ได้ดังนี้ สมาชิกที่ (i,j) คือสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งแนวนอนที่ i แนวตั้งที่ j เช่น เมทริกซ์ B ในรูปที่ 1 ตำแหน่งที่ (2,1) หรือ a21 คือ 3

Note:

1. เมทริกซ์ที่มีขนาด nxn เรียกว่าเมทริกซ์จัตุรัส โดยสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่ง a11, a22, …, ann จะอยู่บนแนวทแยงหลัก (Main Diagonal)

2. เมทริกซ์ A และ B จะเท่ากัน (เขียนแทนด้วย A = B) ก็ต่อเมื่อทั้งสองเมทริกซ์มีขนาดเท่ากัน และสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันมีค่าเท่ากัน

การบวกและการคูณเมทริกซ์ด้วยสเกลาร์ (Scalar)

ถ้า A และ B มีขนาดเท่ากัน ผลบวกของ A และ B คือเมทริกซ์ที่ได้จากการบวกสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน เช่น ถ้า A = [aij], B = [bij] เพราะฉะนั้น A+B = [aij + bij]

รูปที่ 3: การบวกเมทริกซ์

ถ้า A เป็นเมทริกซ์ใดๆ k เป็นสเกลาร์ ผลคูณเมทริกซ์ด้วยสเกลาร์ kA คือเมทริกซ์ที่ได้จากการคูณแต่ละสมาชิกของ A ด้วย k ถ้า A = [aij] เพราะฉะนั้น kA = [kaij]

*สเกลาร์ในที่นี้เป็นจำนวนจริงใดๆ

รูปที่ 4: การคูณเมทริกซ์ด้วยสเกลาร์

คุณสมบัติของเมทริกซ์ 1

ให้ A, B และ C เป็นเมทริกซ์ใดๆ ที่มีขนาด mxn และให้ k และ p แทนจำนวนจริงใดๆ จะได้ว่า…

  1. A + B = B + A (คุณสมบัติการสลับที่)
  2. A + (B + C) = (A + B) + C (คุณสมบัติการจัดหมู่)
  3. มีเมทริกซ์ 0 ขนาด mxn ซึ่ง 0 + A = A สำหรับแต่ละ A
  4. สำหรับแต่ละ A มีเมทริกซ์ -A ขนาด mxn ซึ่ง A + (-A) = 0
  5. k(A + B) = kA + kB
  6. (k + p)A = kA + pA
  7. (kp)A = k(pA)
  8. 1A = A

การสลับเปลี่ยน (Transpose)

ถ้า A เป็นเมทริกซ์ขนาด mxn การสลับเปลี่ยนของ A แทนด้วย A^T เป็นเมทริกซ์ขนาด nxm ที่สมาชิกในตำแหน่งที่ (i,j) เท่ากับสมาชิกในตำแหน่งที่ (j,i) ของ A

รูปที่ 5: การสลับเปลี่ยนของเมทริกซ์

หรือถ้ามองง่ายๆ Transpose ก็คือการเปลี่ยนแถวเป็นหลักนั่นเอง

คุณสมบัติของเมทริกซ์ 2

รูปที่ 6: คุณสมบัติของเมทริกซ์ 2

การคูณเมทริกซ์

ถ้า A เป็นเมทริกซ์ขนาด mxn และ B เป็นเมทริกซ์ขนาด nxk ผลคูณของ A และ B จะเป็นเมทริกซ์ขนาด mxk ซึ่งสมาชิกที่ (i,j) หาได้ด้วยการคูณสมาชิกที่อยู่ในลำดับเดียวกันตามแนวนอนที่ i ของ A กับแนวตั้งที่ j ของ B และนำมาบวกกัน ซึ่งเรียกว่า ผลคูณเชิงสเกลาร์ (Dot Product) ของแนวนอนที่ i ของ A กับแนวตั้งที่ j ของ B

กฎการคูณ: สมมติ A และ B มีขนาด mxn และ kxp ตามลำดับ ผลคูณของ A และ B จะหาได้ก็ต่อเมื่อ n=k และ AB มีจะขนาด mxp

รูปที่ 7: การคูณเมทริกซ์

หรือถ้ามองง่ายๆ การคูณเมทริกซ์ AB ก็คือการนำแถวของเมทริกซ์ A มาคูณหลักของเมทริกซ์ B

เมทริกซ์เอกลักษณ์ (Identity Matrix) เป็นเมทริกซ์จัตุรัสที่มีสมาชิกบนแนวทแยงมุมหลักเป็น 1 และสมาชิกในตำแหน่งอื่นๆ เป็นศูนย์ทั้งหมด แทนด้วย I

รูปที่ 8: เมทริกซ์เอกลักษณ์

คุณสมบัติของเมทริกซ์ 3

รูปที่ 9: คุณสมบัติของเมทริกซ์ 3

เป็นอย่างไรกันบ้างคะทุกคน เห็นไหมคะว่าเมทริกซ์ (Matrix) ไม่ได้ยากอย่างที่คิด แถมยังเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนใช้ Data อย่างพวกเรามากๆ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน หากมีข้อติชมหรือคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อนๆ สามารถคอมเม้นต์กันมาได้เลยนะคะ ^^

References

สำหรับใครที่สนใจเรื่องราวดีๆ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ จากชาว KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--