New Trade Finance: โปรเจคใหญ่ที่ให้ทั้งประสบการณ์และครอบครัว

Kris B
KBTG Life
Published in
3 min readAug 24, 2021

หลังจากที่พาไปรู้จักกับทีมที่อยู่เบื้องหลังโปรเจคความร่วมมือระหว่าง KBank กับพาร์ทเนอร์มา 2 ทีมแล้ว คราวนี้เป็นคิวของทีมที่ทำระบบหลังบ้านเน้นๆ ให้กับทาง KBank อย่าง New Trade Finance กันบ้าง บางคนเห็นคำว่า Trade Finance แล้วอาจจะงงๆ ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ถ้าใครที่คลุกคลีในวงการนำเข้าส่งออกก็น่าจะพอคุ้นเคย ในบทความนี้อยากชวนทุกคนมาเรียนรู้เกี่ยวกับ Trade Finance แบบเข้าใจง่ายๆ เส้นทางการทำระบบใหม่ ไปจนถึงบรรยากาศการทำงานแสนอบอุ่นของทีมที่กำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่ 9 (ถ้าเทียบกับการเลี้ยงลูก ก็เหมือนน้องกำลังจะขึ้นป.3) ให้ พี่จันทร์ Senior Project Manager และ พี่ฝน Senior Business Analyst เล่าให้ฟังกันค่ะ

source: kasikornbank.com

Trade Finance คืออะไร

พี่จันทร์: Trade Finance เป็นบริการธุรกิจนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศค่ะ ไม่ว่าเราจะสั่งสินค้าจากต่างประเทศมาขายในไทย หรือส่งออกผลิตภัณฑ์จากไทยไปขายต่างประเทศ เมื่อเลือกใช้บริการ Trade Finance ธนาคารจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวกลางทำสัญญาระหว่างทางผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่าจะได้รับเงินเมื่อของๆ เราไปถึงหรือได้รับสินค้าเมื่อถึงวันที่เราจ่ายเงิน นี่คือบริการ Trade Finance หลักๆ ที่ทางธนาคารทำ ซึ่งจะพ่วงกับอีกบริการนึงคือบริการโอนเงินข้ามประเทศที่เรียกว่า Remittance

พี่ฝน: ถ้าถามว่าธนาคารเป็นตัวกลางในการทำอะไรบ้าง อย่างแรกคือการชำระเงิน หรือการโอนเงินอย่างที่พี่จันทร์บอก สองคือการออกเอกสารการนำเข้าหรือส่งออก (Trade Documents) จำพวกการเปิด Letter of Credit ไปต่างประเทศ บริการชำระเงินโดยตั๋วเรียกเก็บ (Bill for Collection) การออกหนังสือค้ำประกันเพื่อรับประกันสินค้า (Bond and Guarantee) และสินเชื่อเพื่อการส่งออก (Trust Receipt) สำหรับเวลานำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แทนที่ลูกค้าจะต้องจ่ายเงินทันที ลูกค้าสามารถนำสินค้าไปขายก่อน แล้วค่อยนำเงินมาจ่ายธนาคารทีหลัง หรืออาจจะเป็นการขอกู้เงินด้วยการนำ Invoice จากที่ทางเมืองนอกสั่งซื้อมายืนยันกับทางธนาคารว่าจะได้เงินก้อนนี้แน่นอน เพื่อให้สามารถส่งออกได้ตามระยะเวลาที่ระบุในสัญญา

แล้วโครงการ New Trade Finance เกี่ยวกับอะไรคะ

พี่จันทร์: จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากระบบแอปพลิเคชันหลักของ Trade Finance ซอฟต์แวร์ที่ล้าหลังและหมดอายุขัย ทางทีม BU (Business Unit) จึงต้องการหาแอปใหม่มาทดแทนแอปเก่า และนั่นคือโจทย์หลักที่ได้รับเมื่อปี 2013 ค่ะ ทั้งนี้เขามองว่าไหนๆ จะทำใหม่ทั้งที ก็อยากได้ฟีเจอร์ที่ให้บริการลูกค้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นระบบหลักๆ ที่ทาง KBTG พัฒนาจะมีแอปพลิเคชันสำหรับพนักงานในการบันทึกรายการ ซึ่งโดยปกติแล้วเอกสารพวกนี้จะเป็นแบบ Hard Copy เราจะมีระบบสแกนเก็บข้อมูลเข้าไปบรรจุในรายการธุรกรรม เช่น ลูกค้าคนนี้มาลงทะเบียนกับเราเมื่อไหร่ พนักงานต้องส่งข้อมูลไปให้ลูกค้าเมื่อใด เป็นต้น อีกทั้งมีการยิงโนติหรืออีเมลให้ลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้เรายังดูแลแอปที่ธนาคารใช้คุยกันเองที่เรียกว่า Swift อีกด้วย

ล่าสุดเมื่อปี 2019 เราเพิ่งปิดฉากเฟส 1 ที่เกี่ยวกับการทำ Trade Document และ Trade Credit ไป ตอนนี้จึงอยู่ในระหว่างเฟส 2 โอนเงินข้ามประเทศ และเฟส 3 การทำ Frontend ให้ลูกค้าสามารถกรอกแบบฟอร์มใช้บริการผ่านทางหน้าเว็บไซต์จากที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่สาขาเหมือนแต่ก่อน โดยเรากำลังทำ 2 เฟสนี้ควบคู่กันไปค่ะ

พี่ฝนกับพี่จันทร์รับผิดชอบในส่วนไหนบ้าง

พี่ฝน: พี่เป็น Business Analyst ค่ะ แรกสุดจะรับ Requirement มาจากทาง BU จากนั้นนำมาวิเคราะห์ว่าเราสามารถนำมาใช้ร่วมกับซอฟต์แวร์ของเราได้อย่างไร ถ้าทำไม่ได้ เราอาจจะต้องพัฒนาเพิ่ม หลังจากที่ Implement ทุกอย่างเรียบร้อย พี่จะดูในส่วนของการเทสเพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพตอบโจทย์สิ่งที่เราได้รับมา ก่อนที่จะส่งมอบให้กับผู้ใช้งานทดสอบอีกรอบก่อนนำไปใช้งานจริงค่ะ ซึ่งไม่ได้มีเพียงเรื่องฟังก์ชันอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงเส้น Interface ต่างๆ ที่พี่ต้องเช็คด้วยว่าเมื่อทำฟังก์ชันนี้ เรายังสามารถตัดบัญชีได้ตามปกติ ยังสามารถส่งเอกสารให้ลูกค้าได้ ยังสามารถส่ง Swift ไปให้เมืองนอกได้และข้อมูลทุกส่วนถูกต้อง เป็นต้น

พี่จันทร์: ส่วนพี่จะดูในเชิงภาพรวมของโครงการ เริ่มตั้งแต่ตอนโครงการนี้ยังเป็นวุ้นอยู่เลยค่ะ โดยพี่จะดูว่าสโคปที่ต้องทำมีอะไรบ้าง ให้ทางไอทีประเมินงบประมาณมาเพื่อไปทำเรื่องของบดังกล่าว จากนั้นมากำหนดแผนงานกับทางทีมว่าในแต่ละ Life Cycle จะต้องใช้เวลาในการ Implement อย่างไรบ้าง เสร็จแล้วไปคุยกับ Vendor ต่อจนได้เป็นแพลนออกมา ระหว่างทางพี่ก็จะคอยมอนิเตอร์ว่ามีตรงไหนสะดุดมั้ย มีความเสี่ยงตรงไหนที่อันตรายรึเปล่า ตอนเทสมี Defects เกิดขึ้นมั้ย ใช้ระยะเวลาในการแก้ไขนานเท่าไหร่ พี่ต้องประสานงานกับหลากหลายส่วนเพื่อให้จบ Cycle และขึ้นระบบงานได้ตามเวลาที่กำหนด หากส่งมอบงานไปแล้วเกิดปัญหาขึ้น พี่ก็ยังต้องคอยดูแลต่อค่ะ

จากประสบการณ์ทำโปรเจคที่มีสมาชิกมากกว่า 100 คน พี่ๆ มีเคล็ดลับในการทำงานอย่างไรบ้างคะ

พี่จันทร์: อันดับหนึ่งคือต้องรับฟังให้มากที่สุด โดยที่ต้องไม่ปิดกั้นทางความคิด ฟัง BU ก่อนแล้วนำ Requirement เหล่านั้นกลับมาคุย Solution กับฝั่งไอที ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ พี่จะนำไปปรึกษาพี่ๆ ทีม Management บางครั้งเขาจะให้คำแนะนำดีๆ กลับมา บางครั้งเขาอาจจะเห็นด้วยกับเราและไปช่วยพูดกับทาง BU ให้ในมุมธุรกิจ เราพยายามที่จะเข้าใจซึ่งกันและกัน พร้อมหาวิธีลดแรงเสียดทานให้ได้มากที่สุดค่ะ

พี่ฝน: พี่ๆ Management ของเราน่ารักมากค่ะ ค่อยให้ความช่วยเหลือพวกเราตลอด บางทีเรานำ Requirement หรือ Solution ไปคุย ทางพี่ๆ ก็จะแชร์หลายๆ มุมมองกับเรา ไม่ให้เราตีกรอบแคบๆ ใส่ตัวเอง แต่ช่วยยกเราให้ขึ้นมามองจากกรอบกว้าง แล้วค่อยลงไปในรายละเอียดอีกที

ได้รับอะไรจากโครงการนี้ที่เหนือความคาดหมายบ้าง

พี่ฝน: มุมมองของพี่ๆ Management ในการแก้ปัญหาแต่ละจุดค่ะ ด้วยความที่พี่เข้ามา Trade Finance ใหม่ๆ พี่อาจจะไม่ได้มีสกิลวิเคราะห์ลึกซึ้งขนาดนั้น พอมาทำงานกับพี่ๆ ที่มีประสบการณ์มากกว่า ทำให้พี่ได้พัฒนาศักยภาพในการวิเคราะห์ของตนเองและมองปัญหาให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากตอนแรกที่พี่ไม่มั่นใจว่าจะทำได้รึเปล่า พอมาทำจริงๆ กลายเป็นว่าเราได้เรียนรู้การทำงานตรงนี้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปได้เยอะมากๆ เลย จนทำให้พี่มองภาพใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น เป็นแบบ End-to-End มากขึ้นค่ะ

พี่จันทร์: สำหรับพี่คือทีมค่ะ ทีมที่เราอยู่ด้วยกันมา 8 ปีแล้ว สนิทกันมากจนเป็นพี่น้อง รู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยความที่เป็น Project Manager พี่ค่อนข้างจะห่างจากทีม Dev แต่กลายเป็นว่าเราทำงานโปรเจคนี้จนสนิทกันมาก คุยกันได้แทบทุกเรื่อง แทบจะเป็นหนึ่งครอบครัวใหญ่ๆ ของพี่เลย ไม่ว่าจะเป็น BA, SE หรือ Test Team หรือจะเป็นพี่ๆ Management เอง เรารู้สึกว่าสามารถคุยกับเขาได้หมดทุกเรื่อง แม้จะไม่ใช่โปรเจคที่เขาดูแลก็ปรึกษาได้ ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่พี่ไม่ได้คาดคิดว่าจะได้รับ และพี่รู้สึกแฮปปี้มากๆ ที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้ค่ะ

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--