One SQM กับ 2 ปีที่ KBTG ของพี่เมย์ เมสินี

Kris B
KBTG Life
Published in
4 min readMar 7, 2023

วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่ทั่วโลกต่างมีการฉลอง International Women’s Day ทางผู้เขียนเองก็อยากจะถือโอกาสนี้เขียนบทความบอกเล่าเรื่องของผู้หญิงเก่งใน KBTG เหมือนกัน ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลายคนมากนะ แต่ที่ตัดสินใจดึงพี่คนนี้มาร่วมพูดคุยด้วย เพราะผู้เขียนเคยเห็นพี่เขาแอบขายของให้ KBTG บ่อยๆ ทางเฟสบุ๊ก เลยอยากจะพามาช่วยกันขายตรงเลย 🤣 ซึ่งความบังเอิญคือเมื่อเล่าถึงเหตุผลเบื้องหลังการเขียนบทความนี้ พี่เขาบอกว่าจริงๆ แล้วแผนกเขามีสมาชิกผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 65% เลยนะ ยิ่งไปกว่านั้น พี่ๆ Head of ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิงด้วย โป๊ะเชะ ตรงกับธีมบทความนี้ของเราเลย งั้นอย่ารอช้า มาทำความรู้จักกับพี่เมย์ เมสินี นาคมณี Assistant Managing Director และแผนก Software Quality Management ของเขากันเลยค่ะ

ก่อนอื่นพี่เมย์ช่วยแนะนำตัวและทีมให้หน่อยได้มั้ยคะ

สวัสดีค่ะ พี่เมย์ทำงานเป็น Assistant Managing Director ที่ KBTG ค่ะ เข้ามาช่วยดูทีม Software Quality Management หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า SQM ได้ประมาณ 2 ปีนิดๆ แล้ว งานของพี่จะไม่ได้เป็น Routine ตายตัว แต่เป็นการวาง Strategy ในการบริหารทีม SQM เพื่อพยายาม Transform ทีมให้สามารถควบคุมการส่งมอบคุณภาพของซอฟต์แวร์ให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มตั้งแต่ภาพรวมพื้นฐานว่าทีมของเรามีคนเพียงพอมั้ย Capacity ของทีมเป็นอย่างไรเป็นยังไง ควรจะพัฒนาความสามารถหรือ Build Capability น้องๆ ในทางไหน ไปจนถึงการจัดตั้งทีมใหม่ ถือเป็นความสนุกและความท้าทายของงานพี่เลยค่ะ

สำหรับทีม SQM หัวใจหลักคือคำที่อยู่ตรงกลาง ว่าจะทำยังไงให้ซอฟต์แวร์ที่เราผลิตออกไปมีคุณภาพ ถ้าฟังเผินๆ คนอาจจะคิดว่าเราเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นค่คนทดสอบระบบหรือ Tester แต่จริงๆ แล้วมันมีมากกว่านั้น โดยในบ้าน SQM จะแบ่งออกมาเป็น 5 Areas ด้วยกัน

  1. Test Management ทำตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน ไปจนถึงการจัดการการทดสอบหรือเทสในแต่ละโครงการ โดยรับผิดชอบหลักในการดูแลการทดสอบ SIT (System Integration Test) และ UAT (User Acceptance Test) โดยนอกจากเราจะมีการผสมผสานรูปแบบการทำเทสระหว่าง Manual และ Automation เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเทสแอปพลิเคชันนั้นๆ ทีมยังจะต้องช่วยทำหน้าที่บริหารจัดการติดต่อประสานงาน กับทั้ง Developer และ User หลากหลายฝ่ายที่เข้ามาร่วมในการทดสอบ
  2. Test Automation หรือในอีกชื่อนึงคือ Core Automation Team ทำหน้าที่เป็นโค้ชเพื่อให้คนทั้งทีมสามารถ Transform จากการทำ Manual Testing เพียวๆ มาเป็น Automation ได้ รวมถึงวาง Framework และ Standard ในการทำ Test Automation เป็นมาตรฐานกลางสำหรับใช้ทั้ง KBTG ทีมนี้ยังรับหน้าที่ในการทำ Research สำหรับแนวทางในการนำ Tool ใหม่ ๆ มาใช้ช่วยในการทดสอบอีกด้วย
  3. Test Quality Assurance หน่วยงานน้องใหม่ เพิ่งตั้งได้แค่ปีกว่าๆ ช่วยกำกับดูแล Standard, Framework หรือ Process ในการทำเทสให้เป็นขั้นตอนชัดเจน พร้อมคอยคุมแนวทางให้ทีมกว่า 200 คน รวมถึง Outsource ที่เรามี เดินไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้หน่วยงานนี้ทำหน้าที่ในการประสานงานกับทั้ง IT Governance รวมถึง Internal Audit และ Operational Risk ของธนาคาร เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน
  4. Performance Test จะเห็นได้ว่าหลายๆ แอปพลิเคชันของ KBank ยืนหนึ่งเรื่อง Performance และล่มน้อยมากๆ เพราะคุณภาพไม่ใช่แค่ Function ที่ดี และต้องมีประสิทธิภาพที่ดีด้วย ในการทำการทดสอบ Performance ถือเป็นความท้าท้ายเพราะทีมนอกจากจะต้องเข้าใจทั้งวิธีในการทดสอบ Performance ซึ่งเป็นศาสตร์เฉพาะแล้ว ยังจะต้องเข้าใจใน Architecture ของระบบ, Infrastructure ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึง Performance Requirements และต้องทั้งทดสอบและวิเคราะห์ผลเพื่อให้เราประเมินความพร้อมในเชิงประสิทธิภาพของระบบได้
  5. Test Environment ดูแลหลังบ้านของ SQM ทั้งหมด เป็นผู้ที่คอยจัดสรร Environment ที่ใช้ในการทดสอบให้ใกล้เคียงกับ Production มากที่สุด รวมถึงการดู Data ที่นำใช้มาทดสอบ ให้เหมาะสม รวมไปถึงการจัดการในการทำ Data Wash เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการนำข้อมูลลูกค้ามาใช้ในการทดสอบ โดยในการจัดการ Environment ในปัจจุบัน ทีมมีการนำเทคโนโลยีใหม่ เช่น Service Virtualization มาใช้จัดการร่วมด้วย

จะเห็นได้ว่าการเทสไม่ได้มีแค่เรื่อง Manual Testing เพียงอย่างเดียว แต่มีหลายๆ องค์ประกอบรวมร่างกันอยู่ภายในค่ะ

วิวัฒนาการของทีม SQM สู่ “One SQM”

สิ่งนึงที่สัมผัสได้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาคือทีมของเรามีความชัดเจนมากขึ้นในการสร้าง Culture ที่เรียกว่า One Team หรือ One SQM เราได้เห็นความเป็นทีมเวิร์คของน้องๆ โดยเฉพาะการจัด Event ข้างใน ไม่ว่าจะเป็น SQM Governance หรือ Knowledge Sharing ที่เรามีทำเป็นหลาย 10 Sessions เลย นอกจากนี้สมาชิกทีมเรายังมีความหลากหลาย (Diversity) มีตั้งแต่น้องๆ ที่เพิ่งจบจากโครงการ Tech Kamp ไปจนถึงพี่ๆ ที่โตกว่าพี่เมย์ถึง 10 ปี ซึ่งแต่ละคนมีความถนัดต่างกันออกไป ในทีมเราจึงได้มีการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาโชว์ความสามารถอย่างสนุกสนาน จนพี่ต้อม (วรนุช เดชะไกศยะ, Executive Chairman) แอบแซวว่าเราเป็นทีมกิจกรรมดีเด่น เพราะไม่ว่า KBTG จะมีจัดกิจกรรมใดๆ ก็จะมีคนจาก SQM ลงแข่งทุกประเภท ทั้งร้องเพลง ประกวดชุดฮัลโลวีน ไปจนถึงงาน Hackathon อย่าง K+ Innovation ตามคอนเซ็ปต์เลย We Work Hard, Play Harder และที่สำคัญ We Always Win กวาดรางวัลมาทุกเวที

SQM Masterchef งาน All Hands ที่ไม่ธรรมดา

ไอเดียตั้งต้นมาจากการที่พี่กระทิง (เรืองโรจน์ พูนผล, Group Chairman) ชอบเรียกแก๊งค์พี่ว่าสามแม่ครัว เราเลยมองว่าไหนๆ เป็นแม่ครัวแล้ว วัตถุดิบ (ทีม) ที่ดีก็มีแล้ว แต่ถ้าวัตถุดิบเหล่านั้นไม่ได้ผ่านการปรุงที่ดี ต่อให้อยู่ด้วยกันก็ไม่มีทางเวิร์ค ดังนั้นเราอยากจะจัดกิจกรรมบางอย่างที่ชูความหลากหลายของคน SQM รวมถึงช่วยกระชับความสัมพันธ์ภายในทีม เพราะในบ้าน SQM เรามีพี่ๆ Head of จากหลาย Area มาก ซึ่งน้องที่อยู่ทีมนึงอาจจะไม่เคยได้มีโอกาสทำความรู้จักกับพี่ที่คุมอีกทีม หรืออาจจะแค่เคยเห็นหน้าผ่านๆ เราจึงอยากให้เขาเกิดความรู้สึกว่าพี่ทุกคนเป็นพี่ของเขา และในทางกลับกันเราเชื่อมั่นในพี่ Head of และอย่างให้เค้ามั่นใจใน Leadership ที่จะนำพาน้องๆ ไปได้แม้ว่าไม่ใช่น้องที่คุ้นเคย

และด้วยคอนเซ็ปต์นี้ เราก็ได้จัดกิจกรรม SQM Masterchef ขึ้น เริ่มจากการแบ่งทีมที่เราจับพี่และน้องจากต่าง Area มาอยู่ในทีมเดียวกัน ประเดิมช่วงเช้าด้วยการการแข่งขันทำอาหาร ซึ่งความโหดคือกว่าเขาจะรู้โจทย์ก็เช้าวันนั้นเลย แต่ละทีมมีงบ 488 บาทและเวลา 1 ชั่วโมงในการซื้อของที่ซุปเปอร์และประกอบอาหาร แต่ละทีมต้องคิดวางแผนกันว่าจะทำเมนูอะไร แบ่งหน้าที่กันยังไง และตอนทำอาหารใครจะทำส่วนไหน เพราะเรากำหนดให้แต่ละทีมมีตัวแทนทำอาหารได้แค่ทีละ 3 คนเท่านั้น และต้องเวียนคิวช่วยกันทั้งทีม ซึ่งพี่ก็ได้เห็นทุกทีมช่วยกันคนละไม้คนละมือ พอหมดเวลา ก็เป็นช่วงของการชิมฝีมือ จะบอกว่าอาหารบางจานอร่อยเกินความคาดหมายมาก บางทีมไอเดียจัดเต็มมาเลย ทั้งๆ ที่มีเวลาแค่ 1 ชั่วโมง มีหลังจากประกาศผู้ชนะปิดการแข่งขัน ช่วงบ่ายก็เป็นเวลาของ Strategic Workshop ทีนี้แต่ละทีมจะต้องมาช่วยกันทำงานและระดมสมอง นำ Strategy ของเราในปีนี้ทำออกมาเป็น Action Plan ที่อยากได้กัน

วันที่พี่เมย์รู้สึกดีที่สุด

เดิมทีพี่มีความกังวลหลายอย่างเหมือนกันในการจัดงาน SQM Masterchef อย่างแรกคือการจับคนที่อยู่ต่าง Area มาอยู่ด้วยกัน พี่ไม่รู้ว่ามันจะเวิร์คจริงๆ มั้ย แต่ตลอดทั้งวันเราก็ได้เห็นพี่ๆ น้องๆ ทุกทีมทำงานร่วมกันอย่างทุ่มเท จนสามารถผลิตผลงานออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันในความเป็น One SQM ของเราได้อย่างดี

อีกสิ่งนึงที่เราเลือกทำใน All Hands ครั้งนี้คือการขอให้ Strategic Team จัด Session เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับน้องๆ ในการ Go Regional ซึ่งตอนที่แจกโจทย์ไป พี่ๆ หลายคนกังวลมาก เพราะบางคนไม่ชำนาญการใช้ภาษา บางคนไม่เคยขึ้นเวทีมาก่อนด้วยซ้ำ ตอนซ้อมมีพี่ Head of คนนึงถึงกับสั่นและหยุดนิ่งไปนานมาก จนพี่แทบจะหยุดหายใจตามไปด้วย แต่พอวันจริงมาถึง ปรากฏว่าพี่เขาทำได้ดีมาก พูดแบบไม่มีติดขัดราวกับเป็นคนละคน แม้ว่าเขาจะไม่ได้พูดคล่องมากเหมือนเจ้าของภาษา แต่เขาก็ได้แสดงให้น้องๆ เห็นว่า ขอแค่กล้าและลุกขึ้นมาทำ ทุกอย่างก็เป็นไปได้ จนมีคนยกมือถามว่าเคล็ดลับคืออะไร เขาตอบคำเดียวเลยว่า “Practice และ Practice” ซึ่งคำตอบของเขาทำให้พี่รู้สึกดีมากๆ จากที่เรารู้สึกว่าเรามีหน้าที่ Coach เค้า พอเค้าขึ้นเวทีแล้วทำได้ เหมือนเค้าได้กลับมา Coach เราคืน ให้เรายังมั่นใจให้เชื่อมั่นในทีมว่าเค้าจะทำได้ วันนั้นสำหรับพี่ทุกคนทำได้ดีมาก ๆ บนเวที ถึงแม้ว่าระหว่างทางจะมีความกังวลมากมาย แต่ไม่มีใคร (กล้า) บอกพี่ว่าเลิกเถอะ เราทำภาษาไทยกันไหม นี่เป็นความทรงจำที่ทำให้พี่มีกำลังใจเดินต่อเวลาที่มีปัญหา เพราะเราเห็นแล้วว่าคนที่เราเดินไปด้วย เขาจะสามารถเติบโตได้ ขอให้เรายังเชื่อมั่นและเชื่อใจในแนวทางที่เดินไปด้วยกัน มันเหมือน Keeping the Faith ในวันยาก ๆ

อยากฝากอะไรถึงทีม SQM มั้ยคะ

พี่ยังชอบวันที่พี่ไปเจอพี่เปิ้ล ขัตติยา และพรีเซ็นต์เกี่ยวกับ SQM Transformation ครั้งแรก พี่เปิ้ลบอกกับพี่ว่า “ขอเป็นกำลังใจให้ทีม SQM เพราะพี่รู้ว่าการจะทำหน้าที่นี้ให้ดีได้ เราจะต้อง Stand Firm” คำนี้ยังคงติดอยู่ในใจพี่ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ พี่จึงอยากฝากน้องๆ ว่าเราเป็นหน้าด่านสุดท้ายก่อนจะนำ Quality ส่งให้ลูกค้า ดังนั้นถ้าเรายึดมั่นในหลักการ มี Framework ที่ดี และยืนหยัดในสิ่งที่ทำ เราก็จะสามารถส่งมอบของที่มี Quality ออกไปสู่ลูกค้าได้ พี่เองก็พร้อมส่วนหนึ่งที่จะคอยซัพพอร์ตน้องๆ และทำให้ทีมแข็งแกร่งในการเป็น Quality Gate ของธนาคารด้วยพลังของ One SQM ค่ะ

--

--