Team Building ด้วยเกม Two Rooms and a Boom

Sisada Ransibrahmanakul
KBTG Life
Published in
2 min readFeb 3, 2023
Mind Game on K+ Building ‘s Rooftop

หนึ่งในความยากของการทำ Ice Breaking ระหว่างเพื่อนร่วมงานก็คงจะเป็นการเริ่มให้การพูดคุยกัน โดยหนึ่งในวิธีการนั้นคือจับเอาเพื่อนร่วมงานมาหากิจกรรมทำร่วมกัน แต่ใช่ว่าทุกคนจะอยากทำกิจกรรมออกแรงกันนะ

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสนำเกมไปให้เพื่อนๆ ในทีม MAKE by KBank, ขุนทอง และ ทักทาย ลองเล่นตอนไป Team Outing ด้วย ซึ่งในทีมชอบกันมากจนถึงกับเอาไปเล่นกันอีกรอบบนดาดฟ้าตึก K+ ในวันที่ทีมมารวมตัวกันอีกรอบในช่วง All Hands เลยทีเดียว (เราลาก MD มาเล่นกับเราได้ด้วยนะ) พอจบเกม หลายคนก็มีเรื่องราวมาเล่า รวมถึง ‘ฉายา’ ที่เป็นบทจากในเกมมีต่อท้ายชื่อเรียกกัน

มาเริ่มกันที่เกมพื้นฐานอย่าง ‘มนุษย์หมาป่า’ กันก่อน

หนึ่งในเกมที่หลายคนมีความสุขและสนุกกับการใส่ร้ายเพื่อน มันโอเคที่เราจะสนุกกับมัน ถึงอย่างนั้นในมุมมองของเกมสมัยใหม่ ถือเป็นเกมที่ออกแบบมาได้แย่มาก เพราะมันทิ้งผู้เล่นให้ออกจากเกม

โดยพื้นฐานแล้วเกม Two Rooms and a Boom จะคล้ายกับเกมนึงที่หลายคนน่าจะรู้จักกันอยู่แล้ว คือ มนุษย์หมาป่า (หรือ มาเฟีย) ซึ่งเกมนี้เป็นเกมแนว Social Deduction ที่ย้อนวิธีเล่นไปได้ถึงปี 1987 เลยทีเดียว ไอเดียก็ไม่ยุ่งยากอะไร เริ่มจากการแจกบทลับให้กับผู้เล่นทุกคน ผู้เล่นจำนวนไม่กี่คนจะเป็น ‘มนุษย์หมาป่า’ ในขณะที่เหลือจะได้รับบทเป็น ‘ชาวบ้าน’ (และแน่นอนว่าต้องมีคนเสียสละทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินเกมหนึ่งคน)

ผู้เล่นทุกคนจะถูกสมมุติว่าอยู่ในหมู่บ้านยุคกลางแห่งหนึ่ง ในหนึ่งวันของเกมจะต้องมีผู้เล่น 1 คนที่คาดว่าเป็นมนุษย์หมาป่าถูกแขวนคอช่วงกลางวัน โดยผู้เล่นทุกคนในหมู่บ้านจะมาร่วมกันโหวตว่าคนๆ นั้นเป็นใคร (เพราะไม่มีใครรู้การ์ดบทลับของคนอื่น) สลับกับช่วงกลางคืนที่เหล่าหมาป่าจะทำการเลือกกินชาวบ้านที่ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลยไป 1 คน เล่นวนแบบนี้ไปจนทีมใดทีมหนึ่งถูกกำจัดหมดไป

จากตรงนี้จะเห็นว่าทีมมนุษย์หมาป่าจะได้เปรียบมาก เพราะไม่มีใครรู้ตัวตนของกันและกัน (แต่ทีมมนุษย์หมาป่าจะมีจังหวะให้ทำความรู้จักกันในช่วงที่ชาวบ้านปิดตา) ดังนั้นในทีมชาวบ้านก็จะมีบทพิเศษอย่าง ‘ผู้รู้’ ที่สามารถถามผู้ดำเนินเกมในตอนกลางคืนได้ว่าคนที่ชี้นั้นเป็นฝ่ายไหน หรือบทอย่าง ‘บอดี้การ์ด’ ที่สามารถช่วยปกป้องชาวบ้านอย่างลับๆ ได้ 1 คน (เกมนี้ยังมีบทบาทลับอีกหลายสิบแบบ ตามแต่คนจะคิดกันขึ้นมาอีกด้วย ช่วยให้ทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ต้องเดินตามเค้าว่าไปเสียหมด)

พอมีตรงนี้เพิ่มเข้ามา ฝ่ายชาวบ้านก็พอจะมีข้อมูลอยู่บ้าง ทำให้เกิดการพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แต่กระนั้นด้วยความที่ทุกคนไม่สามารถเปิดเผยการ์ดบทบาทของตัวเองได้ ฝ่ายมนุษย์หมาป่าจึงสามารถใช้ช่องว่างตรงนี้ในการเล่นเกมจิตวิทยาและปั่นประสาทผู้เล่นในวงได้เช่นกัน ส่วนชาวบ้านก็ต้องทำการโหวตฆ่าคนในกลุ่มที่เขาสันนิษฐานว่าเป็นหมาป่าไปเรื่อยๆ จากข้อมูลน้อยนิดแถมเชื่อถือได้ยาก

สำหรับคนที่ไม่เคยเล่นเกมแนวนี้มาก่อนก็จะตื่นเต้นกันมาก แต่ปัญหาของเกมจำพวกนี้คือมันออกแบบมาได้แย่และน่าเบื่อหากอยู่กับวงที่มีจำนวนผู้เล่นเยอะ เพราะคนที่ตายในรอบแรกๆ นั้นจะไม่ได้ทำอะไรเลยกลายเป็นผีนั่งดูเพื่อนๆ เล่นกัน

นั่นหมายความว่าในแง่การทำ Team Building นั้นอาจจะไม่เหมาะนัก เพราะคนที่ตายก่อนก็ไม่รู้จะคุยอะไร จะพูดจริงพูดโกหกก็ไม่มีหลักฐานหรือหลักการอะไรรองรับ ทำให้เป็นพื้นที่ของคนที่รู้จักกันอยู่แล้วมารวมหัวกันโหวตเสียมากกว่า

เรามาเล่นเกม “สองห้องและลูกระเบิด” กันดีกว่า

เกม Two Rooms and a Boom หรือ “สองห้องและลูกระเบิด” ตรงตัวตามชื่อเลย เราจะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ทีมผ่านการแจกการ์ดบทบาทลับ แต่คราวนี้ผู้เล่นทั้งสองทีมจะมีจำนวนเท่าๆ กัน ตัวเอกของทีมสีฟ้าคือประธานาธิบดี ในขณะที่ตัวเอกของทีมสีแดงคือมือระเบิดพลีชีพ

ส่วนแตกต่างสำคัญของเกมนี้คือผู้เล่นทุกคนจะอยู่ในเกมจนจบ และไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนก็จะมีส่วนช่วย Contribute ต่อทีมของตัวเองในทางใดทางหนึ่งเสมอ สมกับความเป็น One Team, One Goal

หลังจากสุ่มบทบาทแล้ว เราจะสุ่มคละผู้เล่นให้เท่ากัน แล้วแบ่งผู้เล่นออกไปอยู่ 2 ห้อง (หรือคนละฝั่งของพื้นที่กว้างก็ได้) ในแต่ละห้องผู้เล่นสามารถพูดคุยได้อย่างอิสระ เพื่อสอบถามข้อมูลสมาชิกจากคนอื่นๆ ในห้อง โดยสามารถ…

  • หลบไปคุยกันหนึ่งต่อหนึ่ง เสนอให้เปิดการ์ดบทสีของแต่ละคนมาแลกกันดู
  • หลบไปคุยกันหนึ่งต่อหนึ่ง เสนอให้เปิดบทบาทของแต่ละคนมาแลกกันดู
  • ป่าวประกาศถึงการ์ดบทบาทของตัวอย่างอย่างเปิดเผย

โดยทั่วไปแล้วผู้เล่นในห้องก็จะมีข้อมูลที่ไขว้กันไปมาประมาณหนึ่ง แต่ละรอบจะให้เวลาอิสระกับผู้เล่น 1–5 นาที (ขึ้นอยู่กับจำนวนรอบที่เกมดำเนินไปกับจำนวนผู้เล่น) เมื่อเวลาหมดลง ทุกคนในห้องจะต้องทำการโหวตเสียงข้างมากเพื่อหาหัวหน้าห้อง และจากนั้นหัวหน้าของทั้งสองห้องจะเลือกตัวประกันจำนวนหนึ่งเพื่อแลกเปลี่ยนกัน โดยทั้งสองห้องต้องไม่รู้ว่าใครเป็นตัวประกันของอีกห้องหนึ่ง

ตัวอย่างการ์ดบทบาทในเกม ผู้เล่นจะได้รับแจกสิ่งนี้คนละหนึ่งใบ

ทำซ้ำแบบนี้ทั้งหมด 5 รอบ เมื่อจบเกม ผู้เล่นที่ถือบทบาทมือระเบิดจะทำการพลีชีพตัวเอง ทำให้ผู้เล่นทุกคนในห้องสุดท้ายที่ตัวเองอยู่ตายหมด ซึ่งทีมผู้ก่อการร้ายจะชนะต่อเมื่อประธานาธิบดีอยู่ในห้องนั้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายของอีกฝ่ายคือการส่งประธานาธิบดีไปอยู่คนละห้องนั่นเอง

เช่นเดียวกับเกมมนุษย์หมาป่า นอกจากบทบาทตัวเด่นและตัวพื้นฐานแล้ว เกมยังมีบทบาทพิเศษที่ช่วยเพิ่มมิติให้กับการแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น บท ‘สายลับ’ ที่แม้จะการ์ดสีหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วอยู่อีกทีม (เอาไว้คุยแลกเปิดกัน ดูแค่สี), บท ‘คนถือปืน’ ที่สามารถบังคับดูบทของใครก็ได้หนึ่งครั้งโดยไม่ต้องได้รับความยินยอม หรือกระทั่งบทบาทใน ‘ทีมที่สาม’ ที่มีเงื่อนไขการชนะเป็นของตัวเองเลยอย่าง ‘สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง’ vs ‘อนุภรรยา’ ทั้งสองคนไม่สนว่าใครจะตาย แต่ขอให้อยู่ห้องเดียวกับประธานาธิบดีก็พอ ทว่าต้องไม่มีผู้หญิงอีกคนอยู่ด้วยนะ!

ข้อดีของเกมนี้คือกติกาไม่ซับซ้อนและทุกคนมีส่วนร่วมในเกมหมด แต่ยังมีกลยุทธ์ในการคุยและวางแผน เพราะถ้าสีของเราเป็นเสียงส่วนใหญ่ในห้องนี้ ก็แปลได้ทันทีว่าอีกห้องเป็นตรงกันข้าม การแลกเปลี่ยนตัวประกันจะทำให้สมดุลตรงนี้เปลี่ยนไปไหม? อีกห้องจะรู้ข้อมูลระดับเดียวกับเราหรือไม่? และข้อมูลจากตัวประกันที่เราส่งไปหรือได้มามีผลอย่างไรบ้าง ทีมของเราจะระบุ Key Person ของอีกฝ่ายได้หรือยัง? ด้วยความที่การสื่อสารมีการหน่วงเวลา ก็ทำให้ตัวเกมมีมิติในการที่ทุกคนจะต้องมาร่วมแก้ปัญหาและวางแผนร่วมกัน

เนื่องจากเกมนี้จะค่อนข้างสมดุลกัน บทพิเศษมากมายจากทีมสีเทา (ทีมที่สาม) จะช่วยให้การหาข้อมูลมีมิติขึ้นไปอีก อย่างบท ‘โรมิโอ & จูเลียต’ ที่คู่นี้อยากจะตายด้วยกัน ซี่งนอกจากจะพยายามตามหากันจนเจอแล้ว ก็ยังต้องแลกข้อมูลเพื่อหามือระเบิดและยังต้องปั่นการแลกเปลี่ยนตัวประกันเพื่อให้มือระเบิดอยู่ห้องเดียวกับตัวเองให้ได้

หรือกระทั่งบทสนุกๆ อย่างบท ‘เผือกร้อน’ ที่การันตีเลยว่าใครถือบทนี้ตอนจบเกมจะตายและแพ้ทันที ทว่าหากใครมาแลกข้อมูลกับคนที่ถือบทนี้ก็จะต้องทำการแลกการ์ดบทบาทกันทันที! ทำให้ข้อมูลไม่นิ่งและต้องระมัดระวังให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

สิ่งที่ดีมากสำหรับเกมนี้คือการกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อมีผู้เล่นจากอีกห้องย้ายเข้ามา ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข่าวสาร รวมถึงการพูดคุยวางแผนในทีมและการโหวตประชุมกันก็จะมีเหตุผลในการโน้มน้าวที่เป็นเหตุผลและมีกลยุทธ์ประกอบเสมอ ช่วยแง้มมุมมองและตัวตนบางส่วนให้กับเพื่อนๆ ด้วย

แต่ตัวเกมนี้ก็มีข้อจำกัดว่าหากผู้เล่นนั้นไม่ชอบการพูดคุยหรือไม่สนใจในเกม แล้วดันได้รับบทสำคัญ ก็อาจจะทำให้เกมกร่อยได้อยู่เหมือนกัน

สำหรับใครที่สนใจหามาเล่น ตัวเกมสามารถหาซื้อได้จากร้านบอร์ดเกมทั่วไปเลยครับ หรือจะโหลดฉบับ Print and Play มาใช้ได้ฟรีๆ จากเว็บไซต์ของผู้ผลิตโดยตรงก็ได้

ถ้านึกกิจกรรมอะไรไม่ออก ลองหยิบ Two Rooms and a Boom ไปเล่นกันดูนะครับ

Happy “Work Hard and Play Harder” with Your Team!

สำหรับใครที่สนใจเรื่องราวดีๆ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ จากชาว KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--

Sisada Ransibrahmanakul
KBTG Life

From 14 years of game development into a noob of the mobile app world. Heavy love of playing Board games to having blog about them at BoardNBon (fb)