The Standard Economic Forum 2022: ประสบการณ์ความมืดมิด สู่แสงสว่างของโปรแกรมเมอร์ผู้พิการทางสายตา

Kampu KP
KBTG Life
Published in
3 min readDec 18, 2022

ในงาน The Standard Economic Forum 2022 มี Speaker ระดับโลกและระดับประเทศมากมาย ทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตำแหน่งราชการ อาจารย์ นักธุรกิจ เรียกได้ว่ารวมสุดยอดผู้เชี่ยวชาญจากทุกวงการในเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง แต่มี Speaker ท่านหนึ่งที่แค่อ่านชื่อและหัวข้อบรรยาย ก็ทำให้ไม่สามารถเลื่อนผ่านไปได้ ต้องเข้าร่วมฟังใน Session นั้น และเมื่อฟังจบก็อดไม่ได้ที่จะเขียนเล่าประสบการณ์ความมืดมิดสู่แสงสว่างของโปรแกรมเมอร์ผู้พิการทางสายตาให้ทุกท่านได้อ่านกัน

CODING THE FUTURE เขียนโปรแกรมอนาคตประเทศไทย

โดย ปุณพจน์ เอื้อพลิศาน์

ทำความรู้จักคุณวิน ปุณพจน์ เอื้อพลิศาน์

ปัจจุบัน คุณวินเป็น Backend Software Developer ที่ Vulcan Coalition (วัลแคน โคอะลิชั่น) ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) สร้าง AI ด้วยฝีมือคนพิการ คุณวินเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติทางสายตาบางอย่างที่ทำให้มองเห็นเพียงเล็กน้อย เขาเริ่มต้นชีวิตวัยเด็กด้วยความฝันที่อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ ถึงขนาดซื้อหนังสือทำเกมมาอ่านทั้งๆ ที่มองไม่ค่อยเห็น จนกระทั่งอายุ 12 ปี คุณวินได้เข้ารับการผ่าตัด เพื่อหวังให้มองเห็นได้มากขึ้น แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น คุณวินกลายเป็นคนตาบอดสนิทและเคว้งคว้างอยู่ 2 ปีเต็มกับความมืดมิด จนกระทั่งได้ฟังรายการวิทยุที่พูดถึงโปรแกรมอ่านหน้าจอ ซึ่งจะทำให้คนตาบอดใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ที่ทำให้คุณวินกลับมามีความฝันอีกครั้ง

แต่ในระบบการศึกษากลับไม่ได้มีแสงสว่างให้กับคุณวินและเพื่อนผู้พิการ ความพร้อม การอำนวยความสะดวก ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกเท่าเทียมเลยแม้แต่น้อย ตลอดช่วงการศึกษาคุณวินต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากกว่าคนอื่นๆ และต้องเสียเวลาไปกับการเดินเรื่อง ประสานงาน ส่งเอกสาร เพื่อให้ตนเองได้สอบวัดผลและสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แบบคนทั่วไป แต่ในที่สุด คุณวินก็ทำได้สำเร็จ สามารถสอบเข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียนจบออกมาเป็นโปรแกรมเมอร์ได้อย่างที่ฝัน

ความฝันไม่ได้จบแค่ตัวเอง แต่ฝันของคุณวินยิ่งใหญ่กว่านั้น วันนี้จึงได้เห็นคุณวินลุกขึ้นมาพูดเพื่อใครอีกหลายคน ทั้งผู้พิการ คนชายขอบ คนชาติพันธุ์ และผู้ด้อยโอกาส

ประเทศไทย คนตาบอดที่อยู่ใกล้ตัว

คุณวินพาเราไปเข้าใจปัญหามากขึ้นด้วยการชี้ Root Cause ของปัญหา นั่นคือการไม่เห็นปัญหา

ทั้งโลกนี้มีผู้พิการทางสายตากว่า 39 ล้านคน เป็นคนไทย 200,000 คน นั่นหมายความว่าคนไทยทุกๆ 350 คน จะมีผู้พิการทางสายตา 1 คน ด้วยจำนวนคนมากขนาดนี้ แต่เรากลับมองไม่เห็นหรือทำเป็นมองไม่เห็นพวกเขาในสังคมไทย ทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันอยู่ข้างๆ เรา เพราะฉะนั้นในความคิดของคุณวิน ประเทศไทยจึงไม่ต่างอะไรกับคนตาบอด

นโยบายจากสายตาของคนที่ไม่เคยมองเห็น

  • หวยออนไลน์: แม้แต่อาชีพที่นโยบายเคยจำกัดให้ทำได้อย่างการขายล็อตเตอรี่ก็ถูกพรากไปจากผู้พิการทางสายตา
  • การเยียวยาช่วงโควิด: กระบวนการที่ไม่ได้คิดถึงคนทุกกลุ่ม ทำให้ผู้พิการต้องรอการเยียวยานานถึง 5 เดือน

ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศนี้ไม่มีผู้พิการอยู่ในสายตา การวางแผนและคิดนโยบายไม่ได้ออกแบบให้รองรับกับคนทุกภาคส่วนไว้ตั้งแต่แรก ผลที่ตามมาคือความเดือดร้อนและความลำบากที่ถูกสร้างให้คนบางกลุ่มมากขึ้นกว่าเดิม

Accessible Design — หลักการออกแบบที่เข้าถึงได้

หัวใจสำคัญคือการออกแบบโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันโดยคำนึงถึงความต้องการของคนทุกกลุ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและพัฒนาโปรแกรม เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม

คุณวินเล่าว่าก่อนที่จะใช้หลักการ Accessible Design เมื่อมีคนใช้งานโปรแกรมมากขึ้น ก็จะต้องย้อนกลับมาแก้ไขโปรแกรมเพื่อให้ผู้ใช้งานใหม่ใช้งานได้ ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าการออกแบบให้รองรับตั้งแต่แรก เช่นเดียวกับนโยบายที่คิดถึงผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ไม่ได้ออกแบบสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมแต่แรก กว่าจะรู้ตัวและกลับมาแก้ไข ก็อาจจะสายเกินไปสำหรับใครบางคนที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ระดับรายได้ สุขภาพ หรือถึงขั้นชีวิตที่รอให้กลับมาแก้ไขไม่ได้

สำหรับคุณวินเองแล้ว ช่วงเวลาที่เขามองไม่เห็นมันนานพอที่จะยอมรับว่าจะไม่สามารถเห็นแสงสว่างได้อีก แต่ความหวังเดียวที่เหลืออยู่ของคุณวินคือการที่ประเทศไทยออกแบบนโยบายโดย…

  • มองเห็นว่าชีวิตของทุกคนมีค่า
  • รับรู้ว่าเสียงของทุกคนมีความหมาย
  • เปิดรับความต้องการที่หลากหลายของประชาชน

และไม่ต้องหันกลับมาแก้ให้กับคนที่เผลอหลงลืมไป เป็นประเทศไทยที่ผ่าตัดดวงตาได้สำเร็จและกลับมามองเห็นทุกคนได้อย่างชัดเจนอีกครั้ง ไม่ต้องเป็นคนตาบอดอีกต่อไป

ตัวอย่างบุคลากรคนสำคัญ

คุณวินเชื่อว่าหากแสงสว่างส่องมาอย่างทั่วถึง จะเห็นว่ามีคนอีกมากพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของเรา

ด็อกเตอร์ สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง (Stephen Hawking)

ผู้ป่วยโรคอะไมโอโทรฟิก แลเทอรัล สเกลอโรซิส (ALS) อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง จนต้องสื่อสารโดยใช้อุปกรณ์สังเคราะห์เสียงพูด ควบคุมผ่านกล้ามเนื้อมัดเดียวในแก้ม แต่สามารถเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี นักจักรวาลวิทยา นักเขียน และศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แม้กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงลง แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งศักยภาพของเขาในการไขความลับของจักรวาลและคิดค้นทฤษฎีมากมายให้โลกใบนี้

สตีวี วันเดอร์ (Stevie Wonder)

สตีวีไม่สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่กำเนิด แต่เขาเป็นนักร้องชาวอเมริกัน นักประพันธ์เพลง และโปรดิวเซอร์ดนตรีที่มียอดขายแผ่นเสียงสูงสุดตลอดกาลกว่า 100 ล้านชุด แม้จะไม่เคยเห็นความงดงามของโลกใบนี้ แต่เขากลับสามารถมอบความสวยงามทางดนตรีได้อย่างน่ามหัศจรรย์

ทรอย เคราเซอร์ (Troy Kotsur)

ผู้พิการทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิด ผู้คว้ารางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง CODA (2021) ที่สะท้อนให้สังคมเห็นและเข้าใจผู้พิการทางการได้ยินผ่านภาพยนตร์ รางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการนี้เป็นเครื่องการันตีว่าความสามารถของคนไม่ได้ถูกจำกัดที่ความพิการเลยแม้แต่น้อย หากมีโอกาสให้ พวกเขาก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

โยชิมิ โฮริอุจิ

ผู้พิการทางสายตาที่หลงรักการอ่าน ผู้ก่อตั้งคาราวานหนอนหนังสือ — Always Reading Caravan เพื่อนำโอกาสในการอ่านและการศึกษาไปให้เด็กๆ บนดอย หาทุน ทำโครงการ สร้างเครือข่ายมามากกว่า 10 ปี

ประเทศไทย คนตาบอดที่รักษาได้

คุณวินทำให้พวกเราเข้าใจความเป็นจริงปัจจุบันที่ผู้พิการ คนยากจน คนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์และคนด้อยโอกาสในประเทศนี้กำลังเผชิญอยู่ได้อย่างชัดเจน ทำให้พวกเราและประเทศไทยที่ตามืดบอดเห็นความเป็นจริงขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้พวกเราเชื่อในศักยภาพของพวกเขาหากมีแสงสว่างไปถึงผ่านตัวอย่างเรื่องราวของคนมากมาย พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าคนทั่วไป ขอแค่ความเท่าเทียมที่ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาเท่ากับคนอื่นๆ ให้เพราะเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนพึงมี ไม่ใช่ให้เพราะความสงสาร

ความฝันเดียวที่คุณวินมีนั้นเป็นจริงได้ แค่ประเทศนี้เลือกที่จะผ่าตัดและรักษาดวงตามืดบอด โอกาสที่จะมองเห็นอย่างชัดเจนยังเป็นไปได้ ในขณะที่คนในประเทศจำนวนไม่น้อยไม่มีทางเลือกนั้น

“นี่คือช่วงเวลาที่พวกเราทุกคนจะร่วมสร้างยุคสมัยแห่งความฝันไปด้วยกัน” — วิน ปุณพจน์ เอื้อพลิศาน์

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--