The Standard Economic Forum 2022: Generation Hope จากเกมส์ Monopoly สู่ Lego
ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยความหวังและความฝัน…
สำหรับ Session สุดท้ายในงาน The Standard Economic Forum 2022 คือ Session ว่าด้วยเรื่อง “Generation Hope อนาคตประเทศไทยในมือคนรุ่นใหม่”ที่ได้รับเกียรติจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนประเทศทั้ง 4 ท่าน อย่างคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ คุณคมสันต์ ลี และคุณแอนนา เสืองามเอี่ยม
จากช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา มี 2 ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นสำหรับ New Generation บ้านเรา คือ
การย้ายประเทศ
วัยแรงงานหนุ่มสาวบ้านเราที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ หมดหวังกับประเทศบ้านเกิดตัวเองแล้วหรือ? นี่เป็นคำถามใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงโควิด นอกจากจะเป็นยุคเฟื่องฟูของ Marketplace บน Facebook แบ่งย่อยตามสถาบันการศึกษาแล้ว ยังมีอีก 1 กลุ่มออนไลน์ที่มาแรงและมีจำนวนสมาชิกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นคือ ‘กลุ่มย้ายประเทศ’
วัยแรงงานบ้านเรารู้สึกหมดหวังกับประเทศ ประกอบกับความเหลื่อมล้ำต่างๆ ที่พบเจอ ทำให้รู้สึกว่าทั้งค่าแรงและคุณภาพชีวิตประเทศนี้ไม่สมกับ Effort ที่พวกเขาต้องแลกไปรึป่าว? จากผลสำรวจของ World Economic Forum ถ้าเปรียบเทียบเยาวชนในอาเซียนที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอยู่อันดับ 2 รองจากฟิลิปปินส์ที่มีประมาณ 52% (ถือว่าเกินครึ่ง) ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลให้ประเทศเราขาดแคลนแรงงานคุณภาพในอนาคต ถ้าเทียบกับประเทศสิงคโปร์แล้ว แม้ว่าเขาจะเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติของตัวเองเลย ทุกอย่างในประเทศถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์แม้กระทั่งพื้นดิน แต่เขากลับมีทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด คือ “มนุษย์” จากผลสำรวจระบุว่าเยาวชนในประเทศสิงคโปร์ต้องการทำงานที่บ้านเกิดถึงร้อยละ 66% นี่เป็นสิ่งที่ชวนคิดว่าปัจจัยอะไรทำให้เยาวชนสิงคโปร์อยากทำงานที่บ้านเกิดแทนการย้ายไปทำงานในต่างประเทศ
เด็กเกิดใหม่มีจำนวนน้อยลงอย่างมาก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วัยแรงงานปัจจุบันมีความกังวลว่าลูกที่เกิดมาจะมีคุณภาพชีวิตอย่างไรในประเทศนี้ พูดง่ายๆ คือเขารู้สึกไม่มั่นใจกับประเทศนั่นเอง จึงไม่อยากให้ลูกต้องมาเผชิญในสิ่งเดียวกัน รวมถึงสถาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ยิ่งเพิ่มปัจจัยสนับสนุนในการไม่อยากมีบุตร เพราะแค่เลี้ยงตัวเองคนเดียวในฐานะชนชั้นกลางในกรุงเทพก็ยากแล้ว ถ้ามีลูกขึ้นมาอีก ก็จะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูกที่ตามมาอีกมากมาย หากครอบครัวไหนที่ไปต่อไม่ไหว เด็กๆ เหล่านั้นอาจจะต้องถูกส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือกลุ่มอาสาสมัครในการดูแลต่อไป
ทั้ง 2 ปรากฏการณ์ที่กล่าวมานี้จะส่งผลเสีย 2 ข้อ ได้แก่
- ความหลากหลายในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากแรงงานไทยเองยังต้องการที่จะย้ายออก แรงงานจากต่างประเทศที่มีคุณภาพก็ไม่ได้ต้องการย้ายเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทำให้เราไม่มีความหลากหลายทางนวัตกรรมและไม่เกิด Innovation ใหม่ๆ หรือไอเดียจากคนรุ่นใหม่
- สังคมสูงวัย สัดส่วนคนในวัยทำงานกำลังลดลงเรื่อยๆ เมื่อกลุ่มคนที่เป็นผู้เสียภาษีซึ่งเป็นรายได้ให้กับประเทศลดลง สวนทางกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มากขึ้น นอกจากจะขาดแรงงานในการพัฒนาประเทศแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น กองทุนประกันสังคมในอนาคตที่ไม่แน่ใจว่ายังจะสามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ได้ไปอีกนานแค่ไหน…
ซึ่งในระหว่าง Session นี้ก็มีข้อคิดจากคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ฝากถึงกัน
บันได 4 ขั้น ฝากถึงคนรุ่นเก่า
- รับฟังคนรุ่นใหม่ มีเวทีให้เปิดรับการแสดงออกทางความคิดได้โดยเสรีภาพ
- ฟังแล้วต้องได้ยิน คือการฟังอย่างตั้งใจเสมือนว่าเราเป็นตัวเขาที่กำลังเผชิญกับเหตุการณ์นั้นๆ เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนในสิ่งที่พวกเขาเสนอ
- ปฏิบัติกับคนในฐานะเท่าเทียม จากความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่มีอภิสิทธิ์ชน ทำให้ทุกคนไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างเช่น ระบบสาธารณสุขการรักษาพยาบาลที่เห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อเทียบระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับโรงพยาบาลเอกชน
- สร้างสังคมที่ดีกับเขาไม่ใช่สร้างให้เขา เพราะเขาอาจจะไม่ได้ต้องการสิ่งที่เราสร้างให้
5 คำแนะนำถึงคนรุ่นใหม่
- ใจเย็นลงนิดนึง ถ้าเราไม่อยากเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหน ก็อย่าทำแบบผู้ใหญ่คนนั้น
- ปรับความเข้าใจระหว่างกัน ระหว่างมุมมองของเขาและมุมมองของเรา ถ้าเราอธิบายมุมมองของเราให้เขาเห็นและเข้าใจ เชื่อว่าเขาจะเปิดใจรับมุมมองของเราได้ง่ายขึ้น
- ไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว อย่าคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ตัวเองแน่แล้ว เพราะคนแต่ละยุคก็มีความเชี่ยวชาญที่ต่างกันไป เราอาจจะเก่งในยุคเรา และเขาอาจจะเก่งในยุคเขาก็ไม่ผิด
- พิสูจน์ตัวเองจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ
- ไม่ชะล่าใจ แต่ต้องลงมือทำด้วย
จากนั้นก็จะมาถึงบทสรุปส่งท้ายจากทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่ายุคปัจจุบันเปรียบเสมือนเกมส์ Monopoly ที่บีบให้มีผู้ชนะเพียงไม่กี่คน เป็นระบบผูกขาดปลาใหญ่กินปลาเล็ก ยิ่งมั่งคั่งเยอะ ยิ่งมีโอกาสชนะง่าย เปลี่ยนผ่านสู่ยุคตัวต่อ Lego ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน สามารถออกแบบความฝันหรือเส้นทางของตัวเองได้ ซึ่งระหว่างทางเมื่อเราเดินทางตามความฝันของเราไป แล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา ก็ยังสามารถแกะ Lego ออกมาต่อในรูปแบบใหม่ได้เสมอโดยไม่มีการจำกัดขอบเขตว่าต้องมีทรัพยากรมากสุดถึงจะชนะอย่างเกมส์ Monopoly นี่คืออิสระที่แต่ละคนจะสามารถออกแบบเป้าหมายความฝันของตัวเองได้โดยไม่มีบรรทัดฐานของสังคมแบบเดิมจำกัดไว้ดังเช่นปัจจุบัน
“คนรุ่นใหม่ไม่ได้หมดหวังกับประเทศไทยเสียทีเดียว แต่กำลังเปลี่ยนที่ของปลายทางความหวังมากกว่า… รึเปล่า?”
สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech