Trending Online Payment in Thailand
Online Payment เป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นไม้คุ้นมือและคุ้นชินกันอยู่แล้ว แต่ถ้าใครยังมึนๆ งงๆ อึนๆ และมีคำถามในหัวว่า “Online Payment คืออะไรนะ?” บางคนอาจจะไม่รู้สึกคุ้นเคยกับคำๆ นี้ แต่ถ้าถามว่า “รู้จัก K PLUS ไหม?” ทุกคนแทบจะตอบประสานเสียงพร้อมกันว่า “รู้จัก” เพราะ K PLUS เป็นแอปพลิเคชัน Mobile Banking ของธนาคารกสิกรไทย ซึ่ง Mobile Banking ก็ถือเป็น Online Payment รูปแบบหนึ่งที่มีปริมาณการใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจาก Mobile Banking แล้ว Online Payment ยังรวมถึง Internet Banking อีกด้วย แล้วแต่ละอันคืออะไร? ในประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้งาน Online Payment ไปในทิศทางไหน? สดใสเหมือนท้องฟ้าในฤดูหนาวหรือไม่? มาร่วมหาคำตอบในบทความนี้ไปพร้อมกันค่ะ
เรามาเริ่มกันที่ Internet Banking ในภาษาไทยอาจจะเรียกว่า “ธนาคารออนไลน์” หรือ “ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์” เป็นระบบที่ทางธนาคารพัฒนาขึ้นเพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมการเงินได้ด้วนตนเองผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคาร ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมีชื่อเรียก Internet Banking แตกต่างกันออกไป
ตัวอย่างบริการธนาคารที่พบได้ใน Internet Banking
- ตรวจสอบยอดเงิน และดูรายการเคลื่อนไหวในบัญชี
- ดูรายการเดินบัญชีย้อนหลัง และพิมพ์ Statement
- โอนเงินทั้งในและต่างประเทศ
- ชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงเติมเงินมือถือ
- ตรวจสอบรายการบัตรเครดิต ทั้งยอดที่ใช้ไปและวันครบกำหนดชำระ
- ซื้อ — ขายสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน
- ซื้อบริการต่างๆ ของธนาคาร
- บริการอื่นๆ ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร
ตัวอย่างชื่อ Internet Banking ของแต่ละธนาคาร
- ธนาคารกสิกรไทย: K-Cyber
- ธนาคารไทยพาณิชย์: SCB Easy Net
- ธนาคารกรุงเทพ: Bualuang iBanking
- ธนาคารกรุงไทย: KTB netbank
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา: Krungsri Online
การที่ธนาคารมีบริการหลากหลายบน Internet Banking ช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินเป็นเรื่องง่ายสำหรับลูกค้า สะดวกสบาย ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ตามแต่ใจเราต้องการ จึงส่งผลให้ Internet Banking ในประเทศไทยมียอดการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2543 ที่มีการให้บริการ Internet Banking เป็นครั้งแรก ส่วนในปี 2563 ที่ผ่านมา Internet Banking มีแนวโน้มเป็นอย่างไรบ้าง อยากให้ทุกคนลองดูภาพด้านล่างนี้ ข้อมูลจะเป็นตัวสะท้อนบอกเราเองค่ะ
ภาพรวมของจำนวนผู้ใช้งาน Internet Banking ถ้าเทียบระหว่างไตรมาส (QoQ = Quarter on Quarter) เหมือนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าเทียบระหว่างปีโดยดูจากไตรมาสที่ 3/2563 กับไตรมาสที่ 3/2562 (YoY = Year on Year) จะพบว่ามีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น 13% ถือว่าเป็นตัวเลขที่แสดงแนวโน้มการเติบโตได้ค่อนข้างดี ทั้งนี้อย่าลืมว่าตัวเลขที่เราเห็นอาจไม่ใช่ตัวเลขที่แสดงจำนวนผู้ใช้สุทธิจริงๆ เนื่องจากผู้ใช้ 1 คนสามารถมีบัญชีการใช้งาน Internet Banking ได้หลายธนาคาร
ต่อไปเรามาดูภาพรวมของปริมาณการใช้งาน Internet Banking ของปี 2563 ในรูปด้านล่างค่ะ
หลายคนเห็นข้อมูลภาพรวมปริมาณการใช้งาน Internet Banking แล้วถึงกับตกใจ พร้อมกับเอามือทาบอก เมื่อเทียบระหว่างไตรมาสยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสำหรับ 2 ไตรมาสแรกของปี 2563 แต่ในไตรมาสที่ 3 กลับมีปริมาณลดลงอย่างน่าใจหาย นอกจากนี้ถ้าเทียบระหว่างปีโดยดูจากไตรมาสที่ 3/2563 กับไตรมาสที่ 3/2562 มีปริมาณการใช้งานที่ลดลงถึง 16.4%
ปัจจัยที่คิดว่ามีผลต่อปริมาณการใช้งานที่ลดลง
- ช่วงต้นปี 2563 เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal จากที่เคยต้องไปทำธุรกรรมการเงินที่ธนาคาร ก็เปลี่ยนมาทำผ่านช่องทางออนไลน์ หรือไปธนาคารเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ข้อมูลที่เทียบระหว่างไตรมาสของ 2 ไตรมาสแรกของปี 2563 จึงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
- หลังจากไตรมาสที่ 2/2563 สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกติ แต่ยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกไปในที่สาธารณะ บางคนจึงกลับมาทำธุรกรรมที่ธนาคารอย่างเดิม หรือลดการทำธุรกรรมผ่าน Internet Banking ลง
- Internet Banking อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกหลักสำหรับผู้ใช้งานเมื่อต้องการทำธุรกรรมการเงินแบบออนไลน์แล้ว อาจจะมีช่องทางอื่นที่สะดวกสบายกว่า รวดเร็วกว่า หรือเข้าถึงการใช้งานง่ายกว่า จนทำให้ผู้ใช้งานเปลี่ยนใจไปใช้งานช่องทางอื่นในการทำธุรกรรมการเงินแทนการใช้งาน Internet Banking
จบในส่วนของ Internet Banking แล้ว เรามาต่อในส่วนของ Mobile Banking กันเลยค่ะ
Mobile Banking ถือว่ามีความคล้ายคลึงกับ Internet Banking เป็นอย่างมาก ซึ่งในส่วนของฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ แทบจะทำเหมือนกันได้หมด ต่างกันที่สำหรับ Mobile Banking ผู้ใช้งานจะใช้บริการผ่านแอปของธนาคาร โดยสามารถทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ผ่านแอปบนโทรศัพท์มือถือได้เลย นับว่าตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันที่โทรศัพท์มือถือเป็นเหมือนกับสิ่งที่ทุกคนขาดไม่ได้ ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะมีชื่อเรียก Mobile Banking ที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน
ตัวอย่างชื่อ Mobile Banking ของแต่ละธนาคาร
- ธนาคารกสิกรไทย: K PLUS
- ธนาคารไทยพาณิชย์: SCB Easy
- ธนาคารกรุงเทพ: Bualuang mBanking
- ธนาคารกรุงไทย: Krungthai NEXT
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา: KMA (Krungsri Mobile App)
ในปี 2563 Mobile Banking ในประเทศไทยมีแนวโน้มเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งในมุมของจำนวนบัญชีที่ใช้บริการ และปริมาณการใช้งาน Mobile Banking รายละเอียดตามรูปด้านล่างเลยค่ะ
ภาพรวมของจำนวนผู้ใช้งาน Mobile Banking ถ้าเทียบระหว่างไตรมาส จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าเทียบระหว่างปีโดยดูจากไตรมาสที่ 3/2563 กับไตรมาสที่ 3/2562 มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น 14.6% เป็นตัวเลขอีกตัวที่แสดงแนวโน้มการเติบโตที่ดี ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวจะเหมือนกับของ Internet Banking ที่ไม่ได้สะท้อนจำนวนผู้ใช้สุทธิจริงเสียทีเดียว เนื่องจากผู้ใช้ 1 คนก็อาจจะมีแอป Mobile Banking ได้หลายธนาคารเหมือนกัน
มาถึงภาพรวมของปริมาณการใช้งาน Mobile Banking ของปี 2563 เชื่อว่าหลายคนต้องตาโต ร้อง “โอ้โห” ตัวเลขช่างทิ้งห่างจากปริมาณการใช้งาน Internet Banking หลายเท่าตัว เมื่อเทียบระหว่างไตรมาสยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ถ้าเทียบระหว่างปีโดยดูจากไตรมาสที่ 3/2563 กับไตรมาสที่ 3/2562 มีปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นมากถึง 45.2% ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เราเห็นความนิยมและการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของ Mobile Banking ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา
ปัจจัยที่คิดว่ามีผลต่อปริมาณการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น
- สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมการเงินเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผู้ใช้บางคนที่ไม่เคยคิดจะมาทำธุรกรรมการเงินแบบ Online Payment เมื่อเจอสถานการณ์โควิดบีบบังคับ จำต้องหันมาทำธุรกรรมการเงินผ่าน Mobile Banking เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้านและไม่ต้องพาตัวเองไปเสี่ยงในที่ๆ มีผู้คนแออัด
- เพราะโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาซื้อของออนไลน์กันเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อมีการซื้อของออนไลน์ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการชำระเงินค่าสินค้า โดยคนส่วนใหญ่จะเลือกใช้งาน Mobile Banking สำหรับการโอนเงินหรือชำระเงินค่าสินค้าและบริการ
- จากข้อมูลของ กสทช. ปี 2562 ประเทศไทยมีมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจำนวน 50.08 ล้านคนหรือราวๆ 75% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งข้อมูลก็สอดคล้องกับปริมาณการใช้งาน Mobile Banking ที่มีตัวเลขสูงขึ้น
- Mobile Banking เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้ในการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ มีความคล่องตัวในการใช้งาน เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาอะไร เช้า เย็น หรือดึก ผู้ใช้งานก็ยังสามารถทำธุรกรรมการเงินได้ ถือว่าตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก
จากข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้น แนวโน้ม Online Payment ในประเทศไทยถือว่ามีความสดใส ทั้งในด้านจำนวนผู้ใช้งานและปริมาณการใช้งานที่เติบโตมากขึ้นอยู่ตลอด โดยเฉพาะ Mobile Banking ที่เป็นรูปแบบ Online Payment มาแรงมากสำหรับปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนไป Cashless Society อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินฝัน และกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อวันนั้นมาถึง ทุกคนอาจจะลืมไปเลยก็ได้ว่าการไปกดบัตรคิวเพื่อรอทำธุรกรรมการเงินที่สาขาเป็นอย่างไร
บทความนี้ถือเป็น Knowledge Sharing หากข้อมูลหรือความคิดเห็นที่นำเสนอออกไปมีความผิดพลาดสามารถท้วงติงได้ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ 😊
ติดตามเรื่องราวดีๆ แบบนี้ รวมไปถึงอัพเดตข่าวสารเทคโนโลยีและผลงานใหม่ๆ ของชาว KBTG ได้ที่ www.kbtg.tech