UX Review — FINNOMENA เปิดบัญชีกองทุนง่ายขึ้น 10 เท่าจริงหรือไม่?

Moo Suppachai
KBTG Life
Published in
5 min readMar 19, 2020

สำหรับคนที่เคยทำ UX/UI สำหรับธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์จะค่อนข้างรู้ดี ว่าการสมัครบริการทางการเงินอะไรสักอย่างผ่านแอป เป็นอะไรที่ยืดยาวมาก… ต้องกรอกข้อมูลซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีเงื่อนไขที่ต้องกดยอมรับเต็มไปหมด แต่วันนี้ FINNOMENA มีบริการใหม่ ให้เปิดบัญชีกองทุนได้ผ่านแอปตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ต้องเซ็นเอกสารเลยสักแผ่น FINNOMENA ถึงกับเคลมว่ากระบวนการมันง่ายขึ้น 10 เท่า แต่จะง่ายจริงๆมั้ยนั้น ในฐานะตัวแทนนักลงทุนที่มีประสบการณ์ ผมจะมาลองเปิดบัญชีผ่านแอปนี้และรีวิวในมุมของ UX ให้ทุกคนฟังกัน โดยจะมีอีกหนึ่งมุมมองจากน้องอาร์ทที่เป็นมือใหม่หัดลงทุนเสริมเป็นบางช่วงด้วยครับ

FINNOMENA คืออะไร

ขออธิบายสั้นๆเกี่ยวกับแอปนี้ครับ ถ้าใครรู้จักแล้วก็ข้ามไปด้านล่างได้เลย แอป FINNOMENA ทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำการลงทุน คอยคัดเลือกกองทุนต่างๆจากหลายเจ้ามารวมไว้ที่เดียว ถ้าเราชอบแผนการลงทุนที่จัดมาให้ ก็สามารถกดซื้อผ่านแอปได้เลยง่ายๆ

เริ่มใช้งาน FINNOMENA

หน้าสมัครสมาชิก

ตามธรรมเนียมครับ เปิดแอปมาก็ต้องสมัครสมาชิกกันก่อน ซึ่งสามารถสมัครโดยใช้บัญชี Line และ Facebook ได้ด้วย เหมาะกับคนขี้เกียจกรอกอย่างเรามาก 😁 กดสมัครผ่าน Facebook ปุ๊บ ก็รอแป๊บเพื่อเข้าสู่หน้าหลักครับ

Feed หน้าหลัก

เปิดบัญชีตรงไหน?

เห็นโฆษณาว่าเปิดบัญชีง่ายแต่เข้ามาในหน้าหลักก็ไม่เห็นเจอปุ่ม “เปิดบัญชี” แม้แต่เงา เปิดหน้าอื่นก็หาไม่มี งงเลยสิ 🤔 ที่เห็นจะใกล้เคียงสุดคือปุ่ม “เริ่มใช้งาน” สีเหลือง ใหญ่ๆอยู่ในหน้า Port

ลองกดปุ่ม “เริ่มใช้งาน” กัน
หน้าถัดไป เจอแล้ว! ปุ่ม “เปิดบัญชี” สบายใจละ กดเข้าไปเล้ย

ข้อเสนอแนะ: ควรตั้งชื่อปุ่มให้ตรงกับคำที่ผู้ใข้งานต้องการค้นหา ในเคสนี้ควรจะเป็นคำว่า “เปิดบัญชี” เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานคาดหวังตั้งแต่โฆษณาก่อนเข้าแอปจนเข้ามาสู่หน้าแรก

ด่านแรกก่อนเปิดบัญชี…

สร้าง FINNOMENA ID

เมื่อกดปุ่ม “เปิดบัญชี” ก็จะเจอหน้าที่ให้กรอกข้อมูลสมัคร FINNOMENA ID แต่เดี๋ยวนะ เราไม่ได้สมัครผ่าน Facebook ไปก่อนหน้านี้แล้วเหรอ 🤔 ไม่เป็นไร ใส่ชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ และเงินที่ต้องการลงทุน ซึ่งลงไป 5,000 บาท แต่ก็เกิดคำถามขึ้นว่าการกรอกตัวเลขนี้จะทำให้แอปตัดเงินโดยทันทีรึเปล่า ไม่เห็นมีบอกว่าจะนำข้อมูลไปทำอะไร

ข้อเสนอแนะ: ถ้าอยากให้กรอกข้อมูล ควรมีคำอธิบายด้วยว่าจะนำไปใช้ทำอะไร เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งาน

บันทึกแผนเรียบร้อย??

เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จสิ้น เราก็จะเจอกับหน้านี้ บอกว่า “บันทึกแผนเรียบร้อย” เอ๊ะ แต่ไม่แน่ใจว่าไปสร้างแผนไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่? ก่อนหน้านี้เป็นเพียงขั้นตอนสร้าง ID เข้าใช้งานเองไม่ใช่เหรอ ส่วนปุ่มข้างล่าง “เปิดบัญชี…” เอ๊ะอีกที เรากดเปิดบัญชีไปแล้วรอบนึงหนิ ไม่เป็นไร กดอีกรอบก็ได้

เปิดบัญชี…ในที่สุด!

“พร้อมลงทุนใน 1 วัน” แปลว่าสมัครวันนี้ได้วันนี้เลยใช่มั้ย ไม่ต้องส่งเอกสารอะไรด้วย เยี่ยมไปเลย มาดูกันครับว่าจะเหมือนที่วาดภาพไว้มั้ย

ได้เวลาเปิดบัญชีด้วย 4 ขั้นตอนง่ายๆที่ FINNOMENA เอ้า เริ่มกันเลย

Part 1: ข้อมูลเปิดบัญชี

หน้าแรก: ประวัติทั่วไป กรอกข้อมูลเพลินๆจนไปเจอตรงที่ขอวันหมดอายุบัตรประชาชนและเลขหลังบัตรประชาชน เป็นข้อมูลที่คงไม่มีใครจำได้และต้องหยิบบัตรประชาชนขึ้นมาดูอย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่มีบัตรประชาชนติดตัวอยู่ขณะนั้นจะทำยังไง เหลือบไปเห็นปุ่ม “บันทึกและปิด” ที่มุมขวาบน บอกเลยว่าช่วยชีวิตมากๆ ทำให้ไม่ต้องมานั่งกรอกข้อมูลใหม่ทั้งหมด เอา Like ไปเลย 😁

หน้า 2: ที่อยู่-อาชีพ จำนวนช่องที่ต้องกรอกเยอะพอสมควร ต้องกรอกข้อมูลเอง ไม่มีตัวช่วยดึงข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ คิดถึง Autofill บน Safari กับ Chrome จัง 😩

ถัดมาด้านล่างให้เลือกอาชีพ แอปแสดงตัวเลือกเอาใจพนักงานบริษัท เจ้าของกิจการ และข้าราชการเป็นสามตัวเลือกแรก นอกนั้นตัวเลือกดูเหมือนจะมีการจัดเรียงที่ไม่เป็นระบบเท่าไหร่ ทำให้ต้องไล่ดูอาชีพทีละรายการ ซึ่งค่อนข้างใช้เวลา

ข้อเสนอแนะ: ถัดจาก 3 ตัวเลือกหลัก อาจเรียงชื่ออาชีพตามตัวอักษรให้ผู้ใช้สามารถคาดเดาได้ง่ายกว่าว่าอาชีพของตัวเองควรจะอยู่ตรงไหนในรายการตัวเลือก

หน้า 3: KYC (Know Your Customer) แอบแปลกใจนะ ที่เอาชื่อนี้มาเป็นหัวข้อ เพราะถ้าไม่ได้ทำงานด้านการเงินคงไม่รู้ว่าคืออะไร อาจทำให้รู้สึกว่าแอปเข้าใจยาก แต่ยังดีที่ข้างใต้ KYC มีคำแปลว่าเป็นการยืนยันตัวตน เลื่อนมาด้านล่างเป็นคำถามใช่ ไม่ใช่ และมีการเลือก Default เป็นไม่ใช่ทั้ง 3 ข้อเอาไว้แล้ว ตรงนี้ดีมากเพราะเป็นการบอกใบ้ว่าควรจะเลือกอะไร ไม่ต้องเสียเวลาตัดสินใจเลือกคำตอบนาน 😁

หน้า 4: ความรู้ ใกล้จะเสร็จแล้วครับ 😏 หน้านี้จะให้ตอบคำถามเกี่ยวกับประสบการณ์การลงทุน ซึ่งผมก็มาสะดุดตรงคำถามที่ 4

Hedge Fund, Structured Notes, Perpetual Bond ฯลฯ ตัวเลือกเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย แถมไม่มีคำอธิบายด้วย 😵 อ่านยังไงก็ไม่เข้าใจ เหมือนไม่ได้ตั้งใจสร้างมาให้เราอ่าน ขนาดผมที่เคยมีประสบการณ์การลงทุนและทำงานในสายการเงินยังไม่รู้จักหลายๆตัวที่ว่านี้ ตรงนี้น้องอาร์ทตัวแทนนักลงทุนมือใหม่นั่งมึนอยู่ประมาณนาทีนึง 😱 แล้วก็ตัดสินใจข้ามไปเลย ฮ่าๆ

ข้อเสนอแนะ: อาจหาวิธีบอกใบ้ว่าตัวเลือกที่ให้มาไม่เหมาะกับมือใหม่ เช่น “ในกรณีที่คุณเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน คุณเคยมีประสบการณ์การลงทุนในผลิตภัณฑ์ใดต่อไปนี้”

มาถึงหน้านี้รู้สึก…ช็อก 😱 นึกว่าจะเสร็จแล้ว หารู้ไม่ว่าที่ทำมาทั้งหมดคือแค่ขั้นตอนที่ 1! ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ถ้าต้องทำเหมือนเดิมอีกสามข้อ 45 นาที คงเหนื่อยน่าดู น้องอาร์ทมือใหม่หัดลงทุนทำมาถึงตรงนี้ถึงกับพูดว่า “ทำทั้งหมดเมื่อกี้เพิ่งข้อเดียวเองเหรอ” แต่ด้วยสายเลือดนักรีวิว คงต้องฮึดสู้กันอีกนิด ว่าแล้วก็ไปต่อขั้นตอนที่ 2

ข้อเสนอแนะ: การทำขั้นตอนย่อยๆเสร็จ เป็นโอกาสดีที่จะให้รางวัล หรือแสดงความยินดี เพื่อทำให้คนใช้รู้สึกดีกับแอปไปด้วย

Part 2: ประเมินความเสี่ยง

หน้าแบบประเมินความเสี่ยงเป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มาก เริ่มจากหน้าแรกที่ให้เลือกระดับความเสี่ยงการลงทุนของเรา จากนั้นต่อหน้าที่ 2 ก็ตอบคำถามไปได้ข้อนึง จากนั้น เฮ้ย นี่มันกรอกให้หมดแล้วนี่หว่า เราไม่ต้องเลือกเองก็ได้ 😏 ด้วยความที่เคยทำแบบประเมินความเสี่ยงมาก่อนหลายรอบแล้ว ขึ้เกียจตอบมาก (มีทั้งหมด 12 ข้อ) ว่าแล้วก็เลื่อนไปล่างสุดของหน้า กดปุ่มต่อไป และเป็นอย่างที่คิดไว้จริงๆ คือความเสี่ยงที่เลือกไว้ในหน้าแรก กลายมาเป็นผลลัพธ์ในหน้าสุดท้าย

ในส่วนนี้น้องอาร์ททำต่างจากผม คือหลังจากเห็นว่าคำตอบในแต่ละข้อถูกเลือกให้แล้ว ก็ยังอ่านคำถามอย่างละเอียดและไล่ตอบด้วยตัวเองทีละข้อจนครบ ซึ่งจากทั้งหมด 12 ข้อ มีการเปลี่ยนคำตอบทั้งหมด 8 ข้อ! 😯 ตรงนี้อาจบอกได้ว่าสิ่งที่เลือกมาให้ไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าไหร่นัก อีกทั้งยังมีผลทำให้ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูงที่เลือกเอาไว้ในหน้าแรก กลายเป็นความเสี่ยงสูงในหน้าหลัง และรู้สึกไม่เข้าใจว่าทำไมมันเปลี่ยนไป มาถึงตรงนี้น้องอาร์ทแอบบ่นว่าเริ่มขี้เกียจ เพราะต้องใช้พลังสมองเยอะ 😩

อีกอย่างที่ยังสงสัยคือ ระดับเสี่ยงสูงที่ได้นี่มันจะมีผลยังไงกับเรา ซึ่งในแอปก็มีอธิบายเพิ่มเติมเป็นเอกสาร A4 ไม่ได้จัดทำมาให้รูปแบบเข้ากับ mobile อันนี้สังเกตได้ว่าแอปอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอธิบายความเสี่ยงของการลงทุนเท่าไหร่นัก

Part 3: ถ่ายภาพบัตรประชาชน

เสร็จไปครึ่งทางแล้ว ถัดไปเป็นขั้นตอนการถ่ายภาพบัตรประชาชน มีตัวอย่างภาพให้ดู เข้าใจง่ายดี 😀 แต่แอบกังวลตรงที่ให้ถ่ายบนกระดาษขาว ไม่มีกระดาษอยู่ใกล้ๆด้วยสิ ลองถ่ายกับโต๊ะไปก่อนละกัน 🤔

และถ่ายรูปบัตรด้านหลัง ชอบที่มีเขียน สำเนาถูกต้องสำหรับใช้เพื่อเปิดบัญชีกับ FINNOMENA เท่านั้น ทับรูปบัตร อันนี้ทำให้มั่นใจว่าไม่สามารถเอารูปภาพไปใช้ต่อที่อื่นได้ 😁 ซึ่งยังไม่เคยเห็นที่ไหนทำ ต้องปรบมือให้เลย 👏

“ถ่ายเซลฟี่” ชอบชื่อนี้นะ ฟังดูเข้าใจง่ายและไม่น่ากลัว เปิดดูตัวอย่างรูปถ่ายซะหน่อย ไม่มีอะไรมาก หยิบบัตรมาโชว์ใกล้ๆหน้าเราก็เสร็จ จังหวะนี้ต้องขอบคุณน้องอาร์ท นายแบบเฉพาะกิจของเราด้วยครับ

Part 4: กรอกข้อมูลเพิ่ม(อีกรอบ)

ข้อ 4 น่าจะข้อสุดท้ายของจริงแล้ว รีบกรอกให้จบดีกว่า ขอข้อมูลสถานที่ทำงาน และที่อยู่ทำงาน มาถึงจุดนี้ต้องบอกว่าเหนื่อยพอสมควร เริ่มจะกรอกไม่ไหว 😩 ใส่ข้อมูลที่ทำงานเป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้านไปเลยละกัน ไม่ต้องกรอกเพิ่ม เขาคงไม่ได้เอาไปใช้อะไรอยู่แล้ว

ย้อนกลับมาดูขั้นตอนนี้ทีหลัง เห็นข้อความสีเทาเล็กๆใต้ขั้นตอนที่ 4 ว่ายังไม่จำเป็นต้องกรอกตอนนี้ก็ได้ อันนี้คนที่เหนื่อยแบบผม จะเก็บไว้กรอกทีหลังได้ ดีมากๆ แต่ติดที่มองไม่เห็นข้อความ และ UI ของขั้นตอนที่ 4 ก็ดูไม่ต่างจากขั้นตอนอื่นๆ ทำให้ไม่รู้ว่าเป็น Optional

ข้อเสนอแนะ: อาจเปลี่ยนชื่อขั้นตอนที่ 4 เป็น “ข้อมูลอื่นๆ (เพิ่มเติมทีหลังได้)” จะทำให้เห็นชัดมากขึ้น หรือ อาจจะไม่แสดงขั้นตอนที่ 4 เลย ค่อยไปแสดงหลังเปิดบัญชีเสร็จทีเดียว

ถึงตรงนี้ดีใจสุดๆ 😀 เสร็จสักที

ก่อนจะเสร็จ

ข้อตกลงมาเป็นภาษากฎหมาย อ่านไม่เข้าใจ คนละฟอนต์กับหน้าอื่นด้วย คงไม่ได้กะให้อ่าน กดยอมรับไปเลยละกัน

ข้อเสนอแนะ: อาจจะสรุปใจความในแต่ละท่อน เป็นประโยคสั้นๆ ให้คนใช้อ่านเข้าใจง่าย (Too Long: Didn’t Read) ดูตัวอย่างของ Apple Website https://tldrlegal.com/license/apple-terms-of-service

ให้เซ็นลายเซ็น อันนี้เจ๋งอะ ชอบๆ วาดด้วยนิ้วได้เลย แต่กว่าจะออกมาเหมือนเขียนก็ต้องเซ็นใหม่หลายรอบอยู่

เย้! จบซักที

เปิดเสร็จแล้ว โดยรวมใช้เวลาประมาณ 25 นาที ไม่รวมที่ต้องหาข้อมูลเลขบัญชีหรือเลขบัตรประชาชน รู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน แต่ก็ยังสะดวกกว่าการไปเปิดที่สาขาธนาคาร ขั้นตอนต่อไปคือต้องรอ 1 วันทำการและจะมีการแจ้งกลับมา อ่าว นึกว่าที่ตอนแรกบอก 1 วันคือสมัครวันนี้เสร็จวันนี้ อันนี้ข้อมูลอาจจะไม่ค่อยเคลียร์เท่าไหร่ครับ

หลังจากนั้นรอ 2 วันทำการ มีแจ้งเตือนกลับมาว่าเปิดบัญชีเสร็จแล้ว ช้ากว่าที่บอกไว้ แต่ก็ยังรู้สึกเร็วอยู่ดีครับ 😁

ตกลง FINNOMENA ง่ายจริงมั้ย?

รวมๆถือว่าทำได้ดีเลยทีเดียว ถึงกระบวนการเปิดบัญชีจะต้องกรอกข้อมูลหลายๆส่วน และต้องถ่ายรูปบัตรประชาชนประกอบด้วย แต่ก็รู้สึกเลยว่าแอปใส่ใจ พยายามช่วยเราตอบคำถาม เปิดโอกาสให้เราบันทึกข้อมูลไว้ก่อน ค่อยกลับมาทำต่อทีหลังก็ได้ ถ้าให้เปรียบเทียบกับการเปิดบัญชีแบบเก่าที่มีคนส่งเอกสารปึกหนามาที่บ้าน ต้องมีคนอยู่รับเอกสาร และรอส่งเอกสารกลับ เปิดออนไลน์ไปเลย ทั้งสั้นและเร็วกว่ามาก

สิ่งที่ชอบ

  • การตั้ง Default ในคำถามประเมินความเสี่ยงช่วยให้เลือกคำตอบที่เหมาะสมกับเราได้ง่ายขึ้น
  • การถ่ายรูปบัตรประชาชนผ่านแอปทำได้ง่ายกว่าที่คิด มีตัวอย่างชัดเจน และมีลายน้ำเพื่อป้องกันการนำไปใช้ที่อื่น
  • บันทึกลายเซ็นบนแอปได้ทันที สะดวกมาก
  • เปิดให้บันทึกข้อมูลไว้ก่อน และกรอกเพิ่มได้ทีหลัง
  • แบ่งการสมัครเป็น 4 ขั้นตอนใหญ่ๆ ทำให้ไม่รู้สึกว่ามีหลายขั้นตอนจนเกินไป
  • เปิดบัญชีผ่านแอปได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

สิ่งที่ปรับปรุงได้

  • ปุ่มเปิดบัญชีซ่อนอยู่หลังปุ่มเริ่มใช้งาน
  • ไม่ได้บอกระยะเวลาที่ต้องใช้กรอกข้อมูล ไม่ได้เตรียมใจใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง ทำให้รู้สึกว่าไม่จบสักที
  • ขอข้อมูลที่รู้สึกไม่จำเป็นสำหรับการเปิดบัญชี เช่น เงินที่ต้องการลงทุนเริ่มต้น การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่อยู่สถานที่ทำงาน
  • ข้อตกลงในการใช้งานเป็นภาษากฎหมายเข้าใจยาก ไม่มีสรุปสั้นๆให้อ่านได้รวดเร็ว
  • UI ของขั้นตอนใหญ่และขั้นตอนย่อยใช้สีเดียวกัน ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นขั้นตอนเดียวกัน
  • การเลือกระดับความเสี่ยงกับผลการประเมินได้ระดับความเสี่ยงไม่ตรงกัน ทำให้ผู้ใช้สับสน

ถ้าใครชอบรีวิวนี้ ก็อย่าลืมกด Clap หรืออยากให้รีวิวแอปไหน ก็บอกกันมาในคอมเมนท์ได้เลยครับ แล้วเจอกันบทความหน้าครับ

--

--