รุ่งหรือร่วง? ลงทุนผ่าน Wealth PLUS 10 เดือน

Moo Suppachai
KBTG Life
Published in
2 min readApr 10, 2021

หลายคนอาจจะเคยใช้งานแอป Mobile Banking อันดับ 1 ของประเทศไทย อย่าง K PLUS แต่อาจจะยังไม่รู้จัก Wealth PLUS ฟีเจอร์ในแอปที่สามารถช่วยทำให้คนที่ไม่เคยลงทุน เริ่มต้นลงทุนได้อย่างไม่มั่ว มีการคัดเลือกกองทุนเด่นจากการคำนวณผลดำเนินการย้อนหลัง ดีกว่าที่จะไปสุ่มเลือกกองทุนด้วยตัวเอง

ซึ่งขอบอกไว้ก่อนว่าผมเองเป็น UX designer ที่ออกแบบฟีเจอร์นี้ แต่ในวันนี้ไม่ได้อยากมารีวิว UX/UI แต่อยากมาแชร์ประสบการณ์ใช้งานจริง ลงทุนจริง ผ่าน Wealth PLUS ที่ลงเงินไว้ตั้งแต่ เม.ย. 63

พอร์ต Wealth PLUS (ได้ผลตอบแทน +3.67%)

ถามว่าทำไมถึงอยากลงทุนผ่าน Wealth PLUS? ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้วคือเราอยากทดลองดูว่า “มันจะได้กำไรมั้ย? และเราจะเชื่อใจให้แอปจัดการพอร์ตการลงทุนของเราในระยะยาวได้รึเปล่า?” พอผ่านมาแล้ว 10 เดือน คำตอบเร็วๆ คือ

  1. กำไรในระดับที่พอใจ (อาจจะไม่ได้มากที่สุด แต่ก็ดีกว่าที่คาดไว้)
  2. ในระยะยาวมีการดูแลพอร์ต แนะนำปรับกองทุนทุกๆ 6 เดือน ช่วยให้กองทุนของเราได้รับการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ก็มีข้อเสียว่าบางกองทุนที่เราชอบ เคยเห็นว่าขึ้นเยอะ ถือมาเป็นปี อาจถูกขายออกไป เปลี่ยนไปเป็นตัวอื่นที่เราไม่รู้จักแทน

สรุปรวมๆ พอใจกับการลงทุนผ่าน Wealth PLUS เริ่มไว้ใจ และก็ได้เริ่มลงทุนเพิ่มในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

การเลือกซื้อกองทุนบน Wealth PLUS

ในจังหวะที่เริ่มลงทุน เราจะต้องทำแบบประเมินความเสี่ยง ผลประเมินออกมาได้ระดับ 7 (เสี่ยงต่ำสุด 1 สูงสุด 8) แต่ย้อนไปตอนที่ซื้อครั้งแรก เราต้องการให้พอร์ตทำหน้าที่คล้ายกับเงินฝากที่ได้ผลตอบแทนไม่ต้องมาก (1–5% ต่อปี) ก็เลยเลือกความเสี่ยงของพอร์ตให้ต่ำลง (ระดับ 3) ซึ่งช่วยให้เรารู้สึกสบายใจด้วยว่าถ้าเกิดขาดทุนขึ้นมา เงินต้นจะหายไปไม่มาก

สัดส่วนการลงทุนในหุ้นแค่ 13% ได้ลุ้นนิดๆ ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง

ระหว่างที่ถือกองทุน

การลงทุนก็เหมือนเป็นการเดินทางไกล มีทั้งทางด่วน ถนนเรียบ ทางชนบท เป็นหลุมเป็นบ่อ มีฝนตก พายุเข้า ซึ่งเราจะต้องพบเจอระหว่างที่เราถือหน่วยลงทุน

ต้องถือว่าตอนที่เข้าซื้อกองทุนเป็นจังหวะดี ทำให้ที่ผ่านมาตลอด 10 เดือน พอร์ตไม่เคยลงไปติดลบ (ขาดทุน) โดยขึ้นไปสูงสุดที่ +4.7% (ก.พ. 64) และตกลงมาในช่วงที่หุ้นร่วงหนักๆ +3.6% (มี.ค. 64)

ผลตอบแทนย้อนหลังของพอร์ต

สำหรับพอร์ตความเสี่ยง 3 นับว่าผลตอบแทนที่ได้ 3–4% เป็นตัวเลขที่น่าพอใจทีเดียว และแผนก็ไม่ผันผวนมาก (ตกลงมา ~1% จากมูลค่าสูงสุด)

การปรับพอร์ต

Wealth PLUS จะทำการปรับพอร์ตทุกๆ 6 เดือน (ม.ค. / ก.ค.) พอถึงรอบ ระบบจะสับเปลี่ยนกองทุนให้เราโดยอัตโนมัติ โดยอาจขายบางกองทุนและซื้อกองทุนใหม่ สำหรับแผนลงทุนแรกนี้ ไม่เกิดการสับเปลี่ยนขึ้น

ทั้งนี้แผนลงทุนอีกอันหนึ่งที่ซื้อเมื่อเดือน ธ.ค. 63 เป็นแผนความเสี่ยง 5 เกิดการปรับสัดส่วน โดยขายกองทุน K-USXNDQ-A ออกไป (กองนี้รู้สึกชอบเพราะเป็นหุ้นเทคโนโลยี) และเปลี่ยนไปซื้อ K-USA-A ซึ่งลงทุนคล้ายๆ กับตัวเดิม แต่เก็บค่าธรรมเนียมการดูแลแพงกว่า แม้เราจะไม่ได้อยากสับเปลี่ยนกองทุน ก็ต้องยอม เพราะถ้าจะให้ Wealth PLUS ดูแลให้ ก็ต้องทำตามแผนที่แนะนำ

(ซ้าย-ขวา) สัดส่วนใหม่ — สัดส่วนเดิม

อีกประเด็นที่อยากพูดถึงคือกองทุนที่เพิ่งซื้อมาได้ไม่ถึง 10 วันถูกสับเปลี่ยน ในตอนนั้นรู้สึกกังวลเรื่องค่าธรรมเนียม จึงติดต่อสอบถามทาง Call Center ได้ข้อมูลมาว่าการปรับพอร์ตจะถูกเก็บค่าธรรมเนียมสับเปลี่ยนตามปกติ ส่วนตัวรู้สึกไม่พอใจกับค่าธรรมเนียมนี้ เหมือนโดนกินไปฟรีๆ ถ้ามีการยกเว้นได้น่าจะดี

จากเหตุการณ์ที่ได้โทรหา Call Center จึงได้ทดสอบการบริการไปในตัว วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ทางผู้รับสายได้ติดต่อให้ผู้เชี่ยวชาญโทรกลับหาเราภายในวันเลย (ภายใน 1 ชม.) อันนี้รู้สึกประทับใจในบริการมาก

ผลตอบแทน

จากที่เล่ามา หลายคนอาจจะสงสัยว่าสำหรับแผนการลงทุนที่เสี่ยงสูงขึ้น ได้ผลตอบแทนดีเหมือนกันมั้ย ก็ขอเปิดตัวเลขจริงจากอีก 3 แผนการลงทุนที่สร้างเมื่อปลายปีที่ผ่านมาให้ดูกัน

แผนความเสี่ยง 3 ระยะเวลาลงทุน 14 ธ.ค. 63–11 มี.ค.64 ผลการลงทุน ขึ้นไปสูงสุด +0.9% ลงไปต่ำสุด -0.6%

แผนความเสี่ยง 5 ระยะเวลาลงทุน 14 ธ.ค.​63–11 มี.ค.​64 ผลการลงทุน ขึ้นไปสูงสุด +2.0%, ลงไปต่ำสุด -2.0%

แผนความเสี่ยง 7 ระยะเวลาลงทุน 13 ม.ค.64–11 มี.ค.64 ผลการลงทุน ขึ้นไปสูงสุด +2.9% ลงไปต่ำสุด -5.3%

เห็นตัวเลขกันแล้ว ถ้าใครที่กำลังมองหาแผนความเสี่ยงสูง ก็อย่าลืมว่านอกจากกำไรจะสูงขึ้นแล้ว การขาดทุนก็อาจมากขึ้นเหมือนกัน

ใช้ Wealth PLUS ดีมั้ย

รวมๆ แล้ว Wealth PLUS เป็นตัวช่วยจัดการการลงทุนที่ช่วยคัดเลือกปรับกองทุนให้เรา ผลตอบแทนที่ได้จะขึ้นอยู่กับสภาวะของตลาดและการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ที่เราไปลงทุนเป็นหลัก ถ้าเราไม่ได้มีความรู้ในการคัดเลือก ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจมาก Wealth PLUS อาจจะเป็นตัวช่วยที่เหมาะสม หรือถ้าเคยเลือกลงทุนด้วยตัวเองแล้วไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง Wealth PLUS จะช่วยคัดเลือกกองทุนให้ดีขึ้น แต่สำหรับคนที่มีกองทุนที่ชอบ อยากได้อยู่แล้ว Wealth PLUS อาจะไม่ค่อยตอบโจทย์ เพราะไม่ได้เลือกลงตามที่เราชอบ ดังนั้นถ้าคุณรู้สึกว่าต้องการมีผู้ช่วยเลือกกองทุน ลองใช้ Wealth PLUS กันดูครับ

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--