เรามีเวลาให้กับความปลอดภัยเสมอ: บทเรียนจาก Deepwater Horizon

Tonrice
KBTG Life
Published in
2 min readJul 8, 2021

คำเตือน: บทความนี้มีการสปอยเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ Deepwater Horizon

Deepwater Horizon เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงจากเหตุการณ์ระเบิดบนแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าว Mexico ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากการระเบิด 11 คน ทั้งยังก่อให้เกิดการรั่วไหลของน้ำมันจำนวนกว่า 4 ล้านบาร์เรล (632 ล้านลิตร) ตลอดระยะเวลา 87 วัน ต้องใช้เวลามากถึง 152 วันจึงจะสามารถหยุดการรั่วไหลของน้ำมันได้อย่างถาวร

น้ำมันที่ปนเปื้อนและครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 170,000 ตารางกิโลเมตรทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลล้มตายไปมากกว่า 500,000 ตัว และต้องใช้เวลานานอีกหลายปีกว่าระบบนิเวศน์จะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้อย่างสมบูรณ์

ที่มาของระเบิดดังกล่าว คือ ความประมาทอันเนื่องมาจากแรงกดดันจากผู้บริหารที่ต้องการเร่งรัดการขุดเจาะ ทำให้รีบดำเนินการโดยมองข้ามมาตรการความปลอดภัยในการดำเนินงาน เช่น สัญญาณรอยรั่วภายในหลุมขุดเจาะ ปัญหาแรงดันอากาศสูงในหลุมขุดเจาะ อุปกรณ์ขาดการบำรุงรักษา ความประมาทนี้ถือเป็นบทเรียนราคาแพงอย่างยิ่งที่ทางบริษัทต้องรับผิดชอบความเสียหายและค่าปรับมากกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์

เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่ลุกลามบานปลายจากการตัดสินใจโดยไม่ระมัดระวังและการพยายามเร่งรีบทำงานโดยมองข้ามมาตรการความปลอดภัยไป จากสัญญาณรอยรั่วเล็กๆ ไปจนถึงปัญหาเรื่องแรงดันอากาศในหลุมขุดเจาะ สุดท้ายจบด้วยการระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมัน หากมีการตรวจสอบสัญญาณรอยรั่วหรือปัญหาเรื่องแรงดันอากาศภายในหลุมขุดเจาะตั้งแต่แรก เหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ มากมายคงไม่เกิดขึ้น สิ่งมีชีวิตในทะเลจำนวนมากคงไม่ตาย สภาพแวดล้อมในทะเลคงไม่ย่ำแย่ขนาดนี้ น้ำทะเลสีดำ กลิ่นน้ำมันดิบลอยไปทั่ว ทรัพยากรธรรมชาติสูญเสียไปอย่างประเมินค่าไม่ได้

Workers clean up oil balls from the Deepwater Horizon oil spill as the surf brings more onto a beach in Waveland, Mississippi July 7, 2010. Reuters/Lee Celano

จากเรื่องราวเล็กๆ จากรายละเอียดน้อยๆ หากเราตัดสินใจปล่อยทิ้งไว้ อาจกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตและมีผลกระทบกับการชีวิตต่างๆ มากมาย

“ Every bad news is good news if communicate early ”

ทุกๆ ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นคือข่าวดี ถ้าเรารีบบอก รีบแก้ไข รีบหาทางป้องกัน ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายจนยากที่จะแก้ไขและควบคุม

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นว่าการที่เราละเลยเรื่องเล็กน้อยที่เราคิดเอาเองว่าไม่น่าใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ผลลัพธ์อาจออกมาตรงข้ามกับที่เราคิดไว้อย่างมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะเรายังขาดประสบการณ์ หรือไม่เชี่ยวชาญในงานสาขาด้านนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราขาดประสบการณ์หรือขาดความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ และผู้เขียนเองก็ไม่ได้ต้องการให้ผู้อ่านกลายผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากการอ่านบทความนี้ เพราะนั่นคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านมองโลกให้กว้างขึ้น เปลี่ยนมุมมองของโลก มองโลกในมุมอื่นๆ ที่ต่างออกไป

เรากลับมาที่การทำงาน บางครั้งขั้นตอนการทำงานเป็นเรื่องน่าเบื่อและยุ่งยากที่จะนำไปปฏิบัติ แต่ทุกขั้นตอนล้วนมีเหตุผลในตัวเอง

หันมามองอีกมุม บริษัททุกบริษัทย่อมต้องการกำไรเพื่อให้อยู่ได้ นำไปจ่ายเงินเดือนพนักงาน และปันผลให้ผู้ถือหุ้น การที่ผู้บริหารยอมเสียเวลา เลือกที่จะเพิ่มขั้นตอนการดำเนินการมากขึ้น เพิ่มขั้นตอนการปฏิบัติงานมากขึ้น ทั้งๆ ที่รู้อย่างแน่ชัดว่าขั้นตอนนั้นทำให้งานเสร็จช้าลงและอาจไม่ทันตามความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่การแข่งขันและความเร็วในการเข้าถึงลูกค้ามีผลอย่างมาก นี่แหละคือการเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติ แม้ว่าขั้นตอนนั้นๆ จะทำให้งานออกมาช้ากว่าที่เราต้องการ แต่หากไม่ดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว ผลของอุบัติเหตุที่ตามมาอาจจะยิ่งใหญ่และลุกลามบานปลายเกินกว่าที่เราคาดคิด

  • บริษัทรถยนต์ยอมเสียเวลา QC ตรวจสอบคุณภาพมากมายเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้า
  • บริษัทน้ำประปาทำการกรอง ฆ่าเชื้อและวัดคุณภาพน้ำเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้น้ำ
  • บริษัทมีการตรวจสอบบุคคลภายนอก มีการแลกบัตรและยืนยันตัวตนเพื่อความปลอดภัยของบุคคลที่ใช้สถานที่นั้นๆ
  • การใช้งานหรือโอนเงินผ่าน Mobile Banking ต้องมีการยืนยันมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานเอง
  • การขอทำ Change Request และ Deploy Production ที่ต้องมี Playbook Document เพื่อให้แน่ใจว่าทุกขั้นตอนที่ต้องดำเนินการได้มีวางแผนการปฎิบัติและตรวจสอบอย่างครบถ้วน

เรามามองย้อนดูการใช้ชีวิตทั่วไปของเราบ้าง ตอนเด็กๆ เราสามารถวิ่งออกไปกลางแดด ไปเที่ยวป่าเที่ยวเขาโดยไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังมาก ตอนเช้าเราสามารถไปเดินป่าพร้อมกับน้ำ 1 ขวดและข้าวกล่อง 1 กล่อง ไม่ต้องกังวลถึงอันตราย และอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น เราใช้ชีวิตอย่างง่ายๆ ไร้ความวิตกกังวล

เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความคิดความอ่านเปลี่ยนไป เราผ่านโลกมามากขึ้น ลองผิดลองถูกมาก็เยอะ เจอสิ่งต่างๆ มามากมาย ตอนนี้ถ้าให้เราเดินเข้าไปเที่ยวป่าแบบสมัยตอนที่ยังเป็นเด็ก รับรองว่าจะไม่ได้มีแค่น้ำและข้าวกล่องแน่นอน อย่างน้อยสิ่งที่เพิ่มมาจะมียาแก้แพ้ พลาสเตอร์ยา นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ (แม้ว่าอาจจะไม่มีสัญญาณในป่าก็ตาม) ซึ่งแน่นอนว่าเราคงยอมเสียเวลาคิดพิจารณาในการจัดเตรียมของมากขึ้น เพื่อแลกกับความปลอดภัยในการเข้าป่า บางคนอาจจะมีมีดพก เชือก ไฟแช็ค ไฟฉาย และอื่นๆ อีกเพียบ

มองดูเรื่องใกล้ตัวในปัจจุบันกันบ้าง ในยุคโควิด-19 สิ่งที่ติดตัวเรานอกจากปัจจัย 4 และโทรศัพท์มือถือ คือหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ เราใช้เวลาล้างมือนานขึ้น เราใส่ใจความสะอาดมากขึ้น เพราะหากเราติดเชื้อโควิด-19 การรักษานั้นยากและใช้เวลายาวนานกว่า

เปรียบเทียบกับตัวผู้เขียน เมื่อสังเกตให้ดี ในวัยเด็กผู้เขียนแทบไม่สนใจสิ่งต่างๆ ที่จะเป็นอันตรายเลย แต่เมื่อวุฒิภาวะเปลี่ยนไป การเติบโตทำให้มีความคิดความอ่านมากขึ้น มีความระมัดระวัง มีความรอบคอบมากขึ้น ถ้าวันนี้ทำงานและใช้ชีวิตโดยไม่มีความปลอดภัยใดๆ ไม่มีอุปกรณ์ที่สามารถช่วยเหลือหรือทำใหสบายใจได้ นั่นคงเป็นการใช้ชีวิตแบบยากลำบากมากแน่ๆ

หลายคนอาจคิดในใจว่าชีวิตคนเราก็ต้องลองทำอะไรที่เสี่ยงหรือท้าทายดูบ้างสิ ซึ่งเป็นความคิดที่ดีแหละ เราควรออกจาก Comfort Zone ทดลองสิ่งใหม่ๆ ทดสอบสิ่งยากๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ชีวิต เรียนรู้และพัฒนา แต่เชื่อเถอะว่าคงไม่มีใครกระโดดบันจี้จัมพ์สูง 80 เมตรด้วยเชือกที่รุ่งริ่งสภาพเหมือนใกล้จะขาดแน่ๆ

ท้ายที่สุดนี้ มีประโยคหนึ่งที่ผู้เขียนอยากฝากไว้ให้ผู้อ่านทุก ๆ คน

“เรามีเวลาให้กับความปลอดภัยเสมอ ”

เพราะถ้าเราไม่มีเวลาให้กับความปลอดภัย ความอันตรายจะเข้ามาเบียดเบียนเวลาของเราแทน

Ref

https://www.govinfo.gov/content/pkg/GPO-OILCOMMISSION/pdf/GPO-OILCOMMISSION.pdf

https://www.eng.chula.ac.th/wp-content/uploads/2017/06/deepwater_horizon_khwaamcchringthiimaakkwaaainphaaphyntr_0.pdf

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--