ICO คืออะไร?

เหรียญอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะยั้วเยี้ยไปหมด

Chatri Tung
Kiptopotamus
2 min readSep 24, 2017

--

ภาพจาก https://www.coindesk.com

ICO ย่อมาจาก Initial Coin Offering แปลตรงตัวก็คือการเสนอขายเหรียญครั้งแรก โดยที่เหรียญในที่นี้ไม่ใช่เหรียญบาท หรือเหรียญโอลิมปิกแต่อย่างใด แต่เป็นเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้เสนอขาย ทั้งนี้ผู้ขายอาจจะเสนอขายเหรียญโดยตั้งมูลค่าเริ่มต้นเป็นสกุลเงินหลักอย่าง US Dollar หรืออาจจะตั้งเป็นสกุลเงินดิจิตอลอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum ก็ทำได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้เสนอขายก็จะรองรับทั้งสามสกุลเงินหลัก (USD, Bitcoin, Ethereum) รวมถึงสกุลย่อยๆ อื่นๆ ที่เป็นที่นิยมในขณะนั้น (Litecoin, Ethereum Classic, Bitcoin Cash, เป็นต้น)

ทำไมต้อง ICO?

ICO จริงๆ แล้วก็คือการระดมทุนรูปแบบหนึ่ง โดยปกติแล้วผู้ระดมทุนก็จะต้องชี้แจงว่าต้องการเงินทุนไปทำอะไร เช่นทำโครงการเพื่อการกุศล, สร้างผลิตภัณฑ์เพื่อทำให้ชีวิตผู้คนสะดวกสบายขึ้น, ทำโปรเจ็คปฏิวัติวงการสื่อสำหรับผู้ใหญ่ หรือจะเอาไปใช้เพื่อยึดครองโลก อันนี้ก็ตามแต่ผู้ระดมทุนจะชี้แจง ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ผู้ระดมทุนก็จะเผยแพร่เอกสารชิ้นนึงเรียกว่า white paper เพื่ออธิบายว่าจะระดมทุนไปใช้ทำอะไร หรือผลิตภัณฑ์ของพวกเค้าสร้างผลกระทบอะไรให้กับชาวโลก

แล้วมันต่างกับการระดมทุนที่ทำๆ กันอยู่แล้วตรงไหน?

ความแตกต่างมีทั้งข้อดีและข้อด้อย

ข้อดี

  • ไม่มีพรมแดน — เพราะสกุลเงินดิจิตอลไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศไหนเลย ถ้าเรามีเงินดิจิตอลอยู่แล้วเราสามารถโอนเงินของเราเข้าไปในบัญชีของผู้เสนอขายได้ทันทีและสามารถใช้เป็นหลักฐานในการอ้างกรรมสิทธ์ได้ทันที ซึ่งถ้าเป็นสกุลปกติก็จะมีกำแพงเรื่องการโอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งใช้เวลาหลายวันกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการ แต่สำหรับ ICO นั้นผลลัพธ์ของการซื้อขายใช้เวลานานที่สุดก็เป็นหลักชั่วโมง (ส่วนใหญ่จะเป็นระดับนาที)
  • รวดเร็วและโปร่งใส — เพราะการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดิจิตอลนั้นจะถูกประมวลผลโดยเครือข่ายอิสระ และจัดเก็บข้อมูลในระบบ Blockchain ทำให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบได้ว่าบัญชีที่เราโอนไปเป็นบัญชีจริง และระดมทุนไปได้เป็นจำนวนเท่าไหร่ ในขณะเดียวกันกันผู้ขายก็สามารถใช้เลขที่บัญชีหรือ Address ของผู้โอนในการแจกจ่ายสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ด้วย
  • เสมอภาคมากกว่า — ในการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นโดยปกติเราจะได้ยินกันอยู่เสมอว่าคนวงในก็มักจะได้ข้อเสนอที่ดีกว่า สำหรับ ICO ก็ไม่ต่างกัน แต่ด้วยความที่เป็นสกุลเงินที่อยู่บนเครือข่าย internet โดยกำเนิด ทำให้ผู้เสนอขายมีโอกาสที่จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ซื้อได้มากกว่า ด้วยการเปิดการเสนอขายให้กับทุกคนในเวลาเดียวกัน และด้วยความเป็นระบบแบบกระจายศูนย์แต่แรก เราจึงไม่มีทางเจอปัญหาระบบล่มระหว่างระดมทุน เว็บไซต์ที่เปิดให้ดูข้อมูลอาจจะล่ม (เพราะเป็นระบบที่มีเครื่องแม่ข่าย หรือ server) แต่การโอนเงินสามารถทำได้ตลอด เพราะทำผ่านเครือข่ายนั่นเอง
  • ผู้ระดมทุนมีเครื่องมือทุกอย่างตามอย่างที่ตลาดหุ้นมี — เจ้าของกิจการหรือผู้ระดมทุน สามารถที่จะเก็บเหรียญเอาไว้ส่วนนึงเหมือนเป็นส่วนที่บริษัทถือหุ้น และเมื่อมูลค่าของกิจการสูงขึ้นจะนำมาขายในราคาตลาดในภายหลังก็ได้ หรือถ้าอยากจะตอบแทนนักลงทุนหรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เจ้าของกิจการก็สามารถทำ buy back program คือรับซื้อคืนได้เช่นกัน การปันผลก็สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงทุก Address ที่อยู่ Blockchain ได้อยู่แล้ว เจ้าของกิจการสามารถแจกจ่ายเงินปันผลเข้าไปใน Address ที่มีเหรียญสกุลของตนเองได้ เสมือนกับการจ่ายเงินปันผลในตลาดหุ้นเป๊ะเลย
  • ต้นทุนต่ำกว่าการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น — การจะนำกิจการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นได้นั้นจำเป็นต้องทำเอกสารมากมาย ทั้งตอนเสนอซื้อ และทุกๆ ไตรมาสก็ต้องเปิดเผยผลการดำเนินงาน และนำส่งให้กับองค์กรกลาง ซึ่งบางอย่างก็สูญเปล่าเพราะไม่มีใครอ่าน ในขณะที่บริษัทที่ทำ ICO จะทำเอกสารก็เพื่อสื่อสารโดยตรงกับนักลงทุนจริง และไม่มีใครมาบังคับว่าต้องทำอะไร เรียกว่าถ้าจะทำก็สามารถตอบสนองความต้องการของนักลงทุนได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีคนกลางมากำกับให้เกิดความยุ่งยากโดยไม่จำเป็น

ข้อเสีย

  • ความเสี่ยงสูง งองูห้าตัว — ตอนนี้ข้อเสียที่พอจะนึกออกสำหรับเจ้าของกิจการนั้นไม่มีเลย แต่สำหรับนักลงทุนนั้นก็เป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมาจากความเสี่ยงในตลาดหุ้น คือเสี่ยงที่ราคาของเหรียญที่ซื้อจะตก เหมือนหุ้นตก และก็เสี่ยงว่าบริษัทเจ้าของเหรียญจะเจ๊ง ซึ่งก็เหมือนบริษัทในตลาดหุ้นล้มละลาย แต่เสี่ยงที่เพิ่มคือบริษัทที่ระดมทุนเป็นพวกนักต้มตุ๋น ซึ่งอันนี้ไม่เกิดในตลาดหุ้นปัจจุบันแน่นอน ซึ่งจุดนี้รัฐบาลหลายๆ ประเทศก็เริ่มที่จะเตือนประชาชนของตัวเองให้ระวังการระดมทุนแบบ ICO ตอนที่เขียนบทความนี้ประเทศจีนก็เลือกที่จะแบน ICO ไปก่อน คือถือว่าเป็นธุรกรรมที่ผิดกฎหมายไปเลย ส่วนประเทศอเมริกา และสิงค์โปร์ก็เลือกที่จะไม่รับรองการทำ ICO เช่นกัน ทำให้หลายๆ โปรเจ็คเลือกที่จะให้ผู้ซื้อกรอกยืนยันว่าผู้ซื้อไม่ใช่คนสัญชาตินั้นๆ เพื่อที่จะเลี่ยงข้อกฎหมายของประเทศที่ไม่รับรองการระดมทุนในรูปแบบนี้นั่นเอง

แล้วคนซื้อจะได้อะไร?

สั้นๆ เลยคือกำไร(หรือขาดทุน) จากราคาซื้อขายของเหรียญ ยกตัวอย่างเช่นมานีซื้อเหรียญ ABC ที่มานะเสนอขายเริ่มต้นที่เหรียญละ 1 บาท ผ่านไป 1 เดือนให้หลังเมื่อมานะปิดการระดมทุน ปิติเกิดต้องการอยากได้เหรียญ ABC บ้าง ก็อาจจะเสนอซื้อจากมานีในราคา 5 บาท มานีก็จะได้กำไร 4 บาท ทั้งนี้ราคาก็อาจจะต่ำลงได้เช่นกันไม่จำเป็นต้นเพิ่มสูงขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว

กำไรอาจจะมาจากสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้เช่นกันนอกเหนือจากราคา เช่นส่วนลดในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ จากบริษัทของผู้เสนอขายเอง หรือจากเครือข่ายของผู้เสนอขาย

ทำไมเราจึงต้องสนใจเรื่อง ICO?

  • ผลตอบแทนสูง งองูห้าตัว — การลงทุนผ่านการซื้อเหรียญคริปโต (crypto currency) หรือบางทีก็เรียกกันว่า Token ให้ผลกำไรสูงมากในปีนี้ (2017) เหรียญจากบริษัทร่วมทุนไทย ญี่ปุ่น อย่าง Omise Go มีราคาสูงขึ้นกว่าตอนเสนอขายครั้งแรกถึง 30 เท่าภายในเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น (จาก 9.06 บาทเป็น 270 กว่าบาทต่อเหรียญ)
  • ในฐานะเจ้าของกิจการ ต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าตลาดหุ้นเยอะ — ในการเตรียมตัวนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้ได้นั้น บริษัทจะต้องจัดเตรียมเอกสารมากมาย ยังไม่รวมหลักทรัพย์ค้ำประกันต่างๆ ที่จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทยจะจดทะเบียนในบริษัทที่มีการระดมทุนในตลาดได้อย่างน้อยๆ บริษัทต้องมีทุนที่ชำระแล้ว 50 ล้านบาท อ้างอิงจาก เอกสารของทางตลาดหลักทรัพย์ แต่การทำ ICO นั้นในทางเทคนิคไม่ได้ยากเย็นอะไร ขอแค่โปรเจ็คของคุณมีดี ยิ่งเคยดำเนินงานมาแล้ว มีกำไรอยู่แล้ว ยิ่งแตกต่างจาก ICO ส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่เน้นขายฝัน หรือถ้ามีเงินทุนเยอะหน่อยก็ไปทุ่มกับเรื่องการตลาดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องวุ่นวายเรื่องเอกสารให้เสียเวลา

สรุป

ICO คือการระดมทุนโดยการเสนอขายหน่วยลงทุนของกิจการใดๆ โดยที่เรียกหน่วยลงทุนนั้นว่า Token (เหรียญ) และสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนในอนาคตไม่ว่าจะเป็นส่วนต่างของราคา เงินปันผล หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่นส่วนลดในการซื้อสินค้าและบริการ โดยผู้ลงทุนสามารถที่จะลงทุนได้ผ่านการโอนเงินทั้งเงินสกุลหลักอย่าง US Dollar หรือ สกุลดิจิตอลอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum โดยในปี 2017 นี้ ICO ได้สร้างผลกำไรให้กับนักลงทุนอย่างงาม รวมถึงเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้ Startup สามารถดำเนินกิจการได้ตามฝัน แต่ในทางกลับกันก็เกิดโปรเจ็คระดมทุนขายฝันที่ดูไม่มีทางเป็นจริง หรือไม่จำเป็นต้องระดมทุนขึ้นมากมายจนหลายคนกังวลว่าจะเกิดเป็นภาวะฟองสบู่และลุกลามเป็นหายนะทางการเงินเหมือนหลายๆ ครั้งในอดีตที่ผ่านมา

--

--

Chatri Tung
Kiptopotamus

Ex Drivehub CTO, Startup Therapist, Facilitator, and Scrum Servant