สรุปงาน “ Libra ก้าวที่กล้าของเฟซบุ๊ก : ก้าวสู่โลกใหม่ไร้พรมแดน” จากทาง ก.ล.ต. (10 นาที)

TonHor
KULAPofficial
Published in
2 min readJul 8, 2019

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2562 @ สำนักงานใหญ่ ก.ล.ต.

ภาพถ่ายวิทยากร

คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวเปิดงาน และบอกว่าหัวข้อนี้น่าสนใจที่สุดตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่ใน ก.ล.ต.

ผู้ร่วมอภิปรายมีดังนี้ ดร. ภูมิ ภูมิรัตน (ที่ปรึกษา ก.ล.ต.), คุณฐากร ปิยะพันธ์ (ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์),ดร. ณรัน โพธิ์พัฒนชัย (นักกฎหมาย) , ดร. สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์ (นักกฎหมาย), คุณพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ (Zipmex), คุณจิรายุ ทรัพย์ศรีโสภา (Bitkub) และวิทยากรดำเนินรายการคือ คุณอาจารีย์ ศุภพิโรจน์ หรือพี่นาโอที่เรารู้จักกันดี

เริ่มที่ ดร. ภูมิ ภูมิรัตน มาเล่าว่า Libra คือสกุลเงินดิจิตัลตัวใหม่ โดยองค์กรที่จับมือกันเริ่มต้นที่ 28 บริษัท มีชื่อว่า Libra association โดยมี Facebook เป็นตัวตั้งตัวตี ซึ่งทางองค์กรนี้ได้สร้างเหรียญขึ้นมา 2 เหรียญ คือ

  1. Libra (Stable Coin) คนทั่วไปจะได้ใช้เหรียญนี้เนื่องจากเป็นเหรียญที่ค่าเงินคงที่ (ผันผวนต่ำ) โดยเหรียญนี้จะออกมาจากการค้ำของสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ
  2. Libra Investment Token ตัวนี้ยังไม่มีรายละเอียดเท่าไหร่ แต่คุณสมบัติคล้ายหลักทรัพย์ ออกมาให้กับกลุ่มบริษัทที่เป็นสมาชิก

คุณฐากร ปิยะพันธ์ พูดถึงเรื่องผลกระทบที่ว่าประชากรทั้งโลกมี 8 พันล้านคน เป็นคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต 4 พันล้านคน และเป็นผู้ใช้งาน Facebook ถึง 2 พันล้านคน ประเทศที่ส่งเงินออกนอกประเทศมากที่สุดคือ สหรัฐ และประเทศที่รับเงินมากที่สุดคือ อินเดีย ซึ่งกระบวนการโอนเงินข้ามประเทศมีประมาณ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ต้นทุน 6% ถ้า Libra เข้ามาอาจเป็น reserve pool ที่ใหญ่ที่สุดก็ได้ เพราะฉะนั้นการมาของ Libra มีโอกาสที่จะกระทบการเงินในวงกว้าง

คุณจิรายุ ทรัพย์ศรีโสภา บอกว่าอันนี้คือโอกาสใหม่ในการหา The next billion user ก็คือว่ามีคนที่มีมือถือและเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้กว่า 4 พันล้านคน แต่กลับมีคนที่ไม่สามารถเข้าถึงธนาคารได้มากกว่า 1 พันล้านคน อย่างเช่นประเทศในแอฟริกา และการโอนเงินในอนาคตจะไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกต่อไป คุณจิรายุทิ้งท้ายว่าการมาของ Libra คือโอกาสใหม่สำหรับแบงค์ เนื่องจากแบงค์มีทรัพยากร มี innovation ที่สามารถสร้างอะไรขึ้นบน Libra ได้

📝 Libra จะกระทบกับตลาด Crypto Currency ยังไง?

คุณจิรายุ ทรัพย์ศรีโสภา ตอบว่าอยากให้ทุกคนจดจำช่วงเวลานี้ไว้ว่าถ้า Libra มาเมื่อไหร่ ตลาด Crypto Currency จะเกิด Mass adoption

คุณพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ตอบว่า Libra มาจะไม่เป็นแค่เทรน แต่จะเป็นเทคโนโลยีที่จะมาอยู่กับเราในอนาคต

พี่นาโอเสริมตอนหลังด้วยประโยคของผู้ว่าการอังกฤษว่า “เรา open mind แต่ไม่ open door”

📝 ความคิดเห็นทางฝั่งกฎหมาย

ดร. สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์ บอกว่าถ้าตีตาม พ.ร.บ เงินตรา Libra ไม่ใช่ “เงิน” แน่นอน แต่ก็ต้องยอมรับว่ากฎหมายก็ยังเป็นฉบับที่เก่า ในอนาคตก็ต้องรอดูว่าจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างไร ดร. สุมาพร ทิ้งท้ายว่าในทางภาษีต้องคิดใหม่ ไม่สามารถคิดภาษีการแลกเปลี่ยนได้ ถ้าการใช้จ่ายไปอยู่บน Libra Platform ทางสรรพากรจะคิดภาษีไม่ได้

ดร. ณรัน โพธิ์พัฒนชัย บอกว่าถ้าสกุลเงินดิจิตอล Libra จะมาเสนอขายในประเทศไทย ก็ทำตามกฎหมายของประเทศที่มีอยู่ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ทาง ดร. ณรัน ทิ้งท้ายฝากให้ทาง ก.ล.ต. ว่าเหรียญ Libra เปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ได้ไหมชื่อว่า ABC : Asset Backed Cryptocurrency

📝 Q: Libra จะถูกกำกับโดยแบงค์ชาติด้วยไหม? (จากผู้ฟัง)

A: เนื่องจากวันนี้ไม่มีแบงค์ชาติมาด้วย แต่ถ้าตอบในมุมกฎหมายทาง ดร. สุมาพร บอกว่าตอนนี้จะให้ไปกำกับเลยก็คงยังไม่ได้ ต้องรอรายละเอียดมากกว่านี้ก่อน ทาง ดร.ภูมิ ภูมิรัตน เสริมว่า ด้วยกฎหมายปัจจุบันทางแบงค์ชาติเรายังไม่สามารถกำกับอะไรได้เลย ในขณะที่ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลกำกับได้ที่ตอนแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทเท่านั้น

📝 ผลกระทบการมาของ Libra ในเชิงโอกาส

คุณพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ บอกว่าประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศเยอะ และนักท่องเที่ยวเหล่านี้ต้องแลกเปลี่ยนเงินตรา ถ้านักท่องเที่ยวสะดวกขึ้นในการแลกเปลี่ยน ก็อาจมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นด้วย ประเทศแรกที่คาดว่าจะเปิดรับ Libra น่าจะเป็นอินโดนีเชีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากรเยอะ และคนของเขาก็ทำงานในต่างประเทศเยอะ ถ้าได้ Platform มาทำให้การส่งเงินกลับประเทศสะดวก และต้นทุนต่ำ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

คุณจิรายุ ทรัพย์ศรีโสภา บอกว่าจะมีโอกาสมหาศาล เช่น ก่อนหน้าที่ยังไม่มี Cryptocurrency พวกธุรกรรมขนาดเล็ก (micro payment)ไม่มีทางเกิด เนื่องจากแบงค์คิดค่าธรรมเนียมที่สูงในการโอนเงินระหว่างประเทศ ต่อไปใครก็สามารถโอนเงิน 1 บาท 2 บาท ข้ามประเทศได้ และเปิดโอกาสให้คนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการเงิน หรือธนาคารอีกกว่า 1.7 พันล้านคน ใช้ในการส่งเงินข้ามประเทศ

ดร. สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์ บอกว่าในอนาคตเราอาจได้เห็น CBDC : Central Bank Digital Currency คือธนาคารกลางที่ออกเหรียญดิจิตอลเอง ถึงจะไม่ได้ง่ายที่จะออกเหรียญเอง แต่ก็เป็นไอเดียหนึ่งที่ดี

📝แนะนำภาครัฐว่าควรดำเนินการอย่างไร

คุณจิรายุ ทรัพย์ศรีโสภา บอกว่า Libra คือถนนเส้นใหม่บนเส้นทางการเงิน อยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสเทคโนโลยีใหม่นี้ อย่าปิดกั้นผู้ประกอบการ ถ้าย้อนกลับไปเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตสมัยก่อนก็มีหลายประเทศปิดกั้น และบอกว่าอินเตอร์เป็นเครื่องมืออันตราย เข้าถึงข้อมูลผิดกฎหมาย แต่ปัจจุบันบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตทั้งนั้น เพราะฉะนั้นก็ไม่อยากให้ประเทศไทยเสียโอกาสใหม่ครั้งนี้

คุณฐากร ปิยะพันธ์ แนะนำว่าในเมื่อรู้อยู่แล้วว่ามันจะมาก็กำกับให้ประเทศได้ประโยชน์มากที่สุด และทำไมเราไม่สร้างอะไรที่เป็นของเราเอง หลังจากนั้นคุณฐากรก็ส่งให้ทาง ดร. ภูมิ พูดต่อ ซึ่งทาง ดร. ภูมิ ก็แนะนำภาครัฐหลาย ๆ ฝ่ายว่าเราสามารถทำเองได้ ทาง ดร. ภูมิ บอกว่า “ประเทศไทยเรามี ก.ล.ต. และแบงค์ชาติ ที่เข้าใจเรื่อง Cryptocurrency ดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก” โดยบอกว่าคำพูดนี้ผมไม่ได้พูดเองนะ หยิบเอาคำพูดของ Vitalik Buterin มาพูด

📝เรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

คุณพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ บอกว่าเราไว้ใจเรื่องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของ Facebook ไม่ได้ ซึ่งทาง ดร. ภูมิ ก็เห็นด้วยในประเด็นนี้

สุดท้ายอยากฝาก: ในระหว่างเสวนาทางวิทยากรหลายท่านแสดงความกังวลเรื่องการหลอกลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งตรงนี้ทาง ก.ล.ต. ก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อปกป้องประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่

ความคิดเห็นของผมในฐานะผู้ร่วมงาน

เป็นงานที่สนุกมาก วิทยากรมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน มาเสวนากันเลยทำให้เนื้อหามีความสนุก และมีมุมมองหลายด้าน ใครที่อยากดูแบบเต็ม ๆ แนะนำดูได้ที่ Live ในเพจของ สำนักงาน ก.ล.ต.

ปล. ใครอยากลองเล่น Libra Wallet ก่อนใคร สามารถไปลองกันได้ที่ https://dev.kulap.io/libra/ (ระบบ Testnet)

หมายเหตุ: หากมีอะไรเพิ่มเติมสามารถแจ้งมาได้เลยนะครับ

--

--