Uniswap ปฐมบทโลกเสรีการเงินที่ทุกคนต้องจับตา

Nattapon Nimakul
KULAPofficial
Published in
8 min readSep 21, 2020

บทความนี้ผมตั้งใจที่จะเขียนมาได้สักพักแล้ว แต่เนื่องด้วยการทำงานใน KULAP ที่เข้มข้นทำให้ยังไม่มีเวลาลงมือเขียนสักที แต่เนื่องจาก 2 วันที่ผ่านมีมีปรากฎการณ์ครั้งสำคัญเกิดขึ้นกับ Uniswap เลยถือโอกาสเขียนบทความนี้ตามที่ได้ตั้งใจไว้สักที (พอมีอะไรมา trigger งานมันก็จะเสร็จนั้นแหละ 555)

ขายของ: สนใจเขียนโปรแกรมภาษา Solidity สามารถติดตาม Course ของทาง KULAP Skill ได้ที่นี้ครับ https://www.kulapskill.com/

Uniswap คืออะไร

Uniswap เป็นหนึ่งในโปรเจคชื่อดังในโลก DeFi (Decentralized Finance) Uniswap คือระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแบบไร้ศูนย์กลาง ไร้คนควบคุม ไร้องค์กรควบคุม ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนจากสกุลหนึ่งไปอีกสกุลหนึ่งได้เสรี ทุกคนสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่เข้ามา List ในระบบได้อย่างเสรี ทุกคนสามารถเป็นผู้ให้สภาพคล่อง (Liquidity provider) ได้อย่างเสรี และระบบสามารถปันผลได้อัตโนมัติ ทั้งหมดที่ว่ามานี้ไม่มีคนจัดการเลยทั้งระบบ แต่เป็น “Source code” หรือ DApp ที่ทำงานบนระบบ Blockchain แบบไร้ศูนย์กลางอีกที

Uniswap เป็นระบบ Decentralized Exchange (DEX) ประเภท Instance exchange กล่าวคือ เป็นระบบซื้อขายเหรียญดิจิทัลแบบทันที คล้ายกับเวลาเราซื้อขายทองคำ ที่จะมีราคารับซื้อ / ขาย ให้ตลอดเวลา โดยผู้ใช้งานจำเป็นต้องมีกระเป๋าเงินดิจิทัล (Crypto wallet) เช่น Metamask / Ledger / Trezor เพื่อใช้ในการส่งคำสั่งซื้อขาย โดยคำสั่งซื้อขายจะประมวลผลโดยตรงไปที่ Smart contract (App) ที่ทำงานอยู่บน Blockchain โดย “ไม่ผ่านตัวกลาง” ตรงนี้เราเทียบเคียงว่า Smart contract คล้ายแอพช้อปปิ้งออนไลน์ และ Blockchain คล้าย App Store / Play store ก็ได้

DeFi คือระบบการเงินบนโลกเสรี ที่ทำงานด้วยหุ่นยนต์ (Automation) ทั้งระบบ ให้นึกภาพเหมือนโรงงานผลิตรถยนต์ที่เต็มไปด้วยหุนยนต์ แล้วตัดภาพมาธนาคารที่ไม่มีคนทั้งในสาขาธนาคาร และสำนักงานใหญ่

Blockchain คือระบบฐานข้อมูลแบบไร้ศูนย์กลาง ที่สามารถเก็บข้อมูลทางการเงินได้ทั้งระบบ ทั้งบัญชีผู้ใช้ รายการธุรกรรม และฟังก์ชั่นการใช้งาน (Application) โดยคอมพิวเตอร์ทั่วโลกช่วยกันประมวลผล ยืนยันความถูกต้อง และเก็บบันทึกข้อมูลที่ตรงกันเสมอ (Public Blockchain ปัจจุบันยังไม่ 100% finality แต่ได้ที่ 99.99% ถ้ารอระยะ confirm เพียงพอ)

Liquidity Provider

1) Uniswap — Providing Liquidity Flow

ด้วยความที่ Uniswap เป็น Instance exchange ทำให้ระบบต้องมี Maker หรือผู้เสนอราคาซื้อ / ขาย ตลอดเวลา จึงได้มีระบบ “Liquidity provider (LP)” เข้ามา ซึ่งมันคือกองทุน (Reserve) ที่มี Smart contract เป็นตัวจัดการ ทำหน้าที่ถือเหรียญของผู้ลงทุนเอาไว้ เช่น เหรียญ ETH-UNI (ถือเป็นคู่) ถ้าหาก user ต้องการแลกจาก ETH -> UNI ระบบก็จะเก็บ ETH ของ user เพิ่มเข้าไปใน Reserve และนำเหรียญ UNI ออกจาก Reserve ส่งไปให้ user

ด้วยหลักการง่าย ๆ นี้ ทำให้สามารถเขียนเป็นสมการคณิตศาสตร์ x * y = kเพื่อใช้ในการควบคุมราคาด้วย Smart contract ที่เขียนด้วยภาษาคอมพิวเตอร์สุดพิเศษชื่อ Solidity นั้นเอง

ใคร ๆ ก็สามารถเป็น Liquidity provider ด้วยการเชื่อมกระเป๋าเงินดิจิทัล และนำเงินทั้งสองฝั่ง เช่น ETH-UNI ในมูลค่าที่เท่ากัน (ณ เวลานั้น) ฝากเข้าไปใน Reserve และผู้ฝากจะได้เหรียญ LP กลับมา เปรียบเสมือนตัวแทนหน่วยลงทุน ที่สามารถนำมา claim เงินคืนได้ทุกเมื่อ และเต็มจำนวน เพราะระบบไม่ได้นำเงินดิจิทัลเราไปลงทุนที่ไหนต่อนั้นเอง

จากภาพจะเห็นว่าตอนแรกใน Reserve มี ETH-UNI อยู่ก่อนแล้วที่ 15 / 1,000 พอ User ต้องการลงทุนใน Reserve นี้ด้วย เราก็จำเป็นต้องลงในอัตราส่วนเดียวกัน นั้นก็คือ 15 : 1,000 จากในภาพ User จึงเพิ่มเข้าไป 10: 666.66 นั้นเอง และ User ก็จะได้รับเหรียญ LP กลับมา คิดเป็นหุ้นส่วนที่ 40% ของจำนวนเหรียญ LP ทั้งหมดของ Reserve นี้

การถอนเงินออกจาก Reserve ระบบจะทำการคำนวณยอดเงินใน Pool ณ ตอนถอนที่เป็นส่วนของเรา ซึ่งจะรวมค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่เราได้ส่วนแบ่งเอาไว้ให้แล้ว ทำให้ ณ ตอนถอนเราจะได้เงินต้น + กำไรออกมาด้วย (แต่ก็สามารถขาดทุนได้ หากราคาเหรียญลง ณ ตอนถอน)

สมการ x * y = k

2) x * y = k : Trade

สมการนี้ถูกนำเสนอโดยนาย Vitalik Buterin และ Hayden Adams (Uniswap) นำมาพัฒนาจริงโดยสมการคณิตศาสตร์นี้มีหลักการออกแบบโดยคำนึงถึง ผู้ลงทุน ‘’Liquidity provider” เป็นสำคัญ และการันตีว่า ผู้ลงทุนจะไม่เสียหายในทุกกรณี กล่าวคือหากระบบมีการขึ้นลงของราคาเหรียญ และสุดท้ายกลับมา ณ จุดราคาเดิม ระบบจะไม่มีทางสูญเสียเงินต้นเด็ดขาด จะมีแต่ได้ค่าธรรมเนียมการเทรดส่วนเพิ่มเข้ามา

อย่างไรก็ตาม Liquidity provider จะมีความเสี่ยงเรื่อง Impermanent loss หากราคาขึ้นลงมากเกินไป

ประวัติ Hayden Adams น่าสนใจมากครับ ถ้ามีโอกาสผมอาจได้เขียนถึงในบทความอื่น

การซื้อขายทำให้ราคาเปลี่ยนอัตโนมัติ

ตามภาพที่ 2) จะเห็นว่า User ต้องการแลกเปลี่ยน Token A ไปเป็น Token B และหลังจากแลกเปลี่ยนแล้ว สมการ x * y = k ก็จะทำการคำนวนราคาใหม่ถัดไปทันที ทำให้ราคาเหรียญ B แพงขึ้นเมื่อเทียบกับ A (เป็นไปตามหลัก Supply and Demand) เพราะ Token A เพิ่มขึ้น และ Token B ลดลงใน Reserve นั้นเอง

ตัวสมการ x * y = k จากภาพ 2) เราจะแทนสมการนี้ด้วย “จำนวน Token A *จำนวน Token B = k” และพอมีการเทรดเกิดขึ้น ระบบจะคำนวณราคาซื้อขายอัตโนมัติ โดยที่ค่า k หลังจากซื้อขายต้องมากกว่าเดิม 0.3% เสมอ (รายได้ของ LP) ซึ่งจากข้อมูลนี้ ทำให้ราคาขึ้นกับปริมาณที่ต้องการขายด้วย ยิ่งขายเยอะ เรทจะยิ่งแย่นั้นเอง

3) x * y = k : LP

Reserve ยิ่งใหญ่ ราคายิ่งดี

ด้วยสมการ x * y = k นี้เอง ทำให้เราสามารถ Proof ทางคณิตศาสตร์ได้ว่า ยอดฝากใน Reserve ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ราคา ณ ตอนซื้อขายก็จะยิ่งดีเท่านั้น เพราะเป็นการลด ช่วงราคา (Price Spread) ลงนั้นเอง

หากใครสนใจเพิ่มเติม แนะนำให้อ่าน White paper ตาม ref ด้านล่างได้เลยครับ

ระบบ Smart contract

Smart contract ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบ DeFi เพราะเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถอ่าน Source code ของระบบได้อย่างเปิดเผย และตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมด ที่ทุกคนกระทำกับระบบได้ ทำให้มีความโปร่งใส (Transparency) ตรวจสอบได้ และที่สำคัญคือไม่ต้องใช้คนประมวลผลเลย ทำให้ต้นทุนระบบลดไปได้อย่างมหาศาลทั้งในแง่ Fix cost และ Operation cost (เข้าใกล้ศูนย์) และในอีกทางหนึ่ง ต้นทุนธุรกรรม user เป็นคนจ่ายเอง ตามหลักการออกแบบ Public Blockchain ในปัจจุบัน

ด้วยต้นทุนธุรกรรมมีวิธีการคำนวณที่ผิดแปลกไปจากธุรกิจเดิม ๆ ที่ผู้ประกอบการเป็นคนจ่ายต้นทุน และหาวิธีสร้างรายได้จากการเก็บเงินจาก user โดยตรง หรือคู่ค้า ไปเป็น user เป็นคนออกค่าใช้จ่ายเอง และจ่ายเป็นรายธุรกรรม ทำให้ระบบนี้ถูกเรียกว่า Decentralized Finance ที่ผู้ใช้ไม่ต้องกังวลว่าผู้ให้บริการจะปิดระบบเมื่อไหร่ เพราะหาก user มีเงินจ่ายค่าธรรมเนียม ก็สามารถทำธุรกรรมได้ตลอดเวลาที่ต้องการ หรือสรุปได้ว่าหากตัว Smart contract ไม่มีคำสั่งปิดการใช้งาน ระบบนี้ก็ไม่มีใครสั่งปิดได้ แม้กระทั้งผู้สร้างเองก็ทำไม่ได้

การ Listing

ตัวระบบ Uniswap ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน (ในระดับ mass ขนาดนี้) ก็คืออนุญาตให้ใครก็ได้สามารถ List เหรียญอะไรก็ได้ ได้อย่างอิสระเสรี โดยหากเป็นการ List ครั้งแรก จะนับเป็นการเปิด Pool ใหม่ด้วยราคาที่เรากำหนด และหลังจากนั้นหากใครต้องการลง Pool นี้ด้วยก็สามารถทำได้ตามที่อธิบายไปข้างต้น โดยมีข้อสังเกตคือ หากคนที่เปิด Pool คนแรกกำหนดราคาไม่เป็นไปตามตลาด ก็จะมี Arbitragers มาทำการ ซื้อ / ขาย จนราคาเท่ากับตลาดนั้นเอง (Arbitrager ได้กำไรจากส่วนต่างราคาไป)

แม้ว่าการ List จะทำได้อิสระในระดับ Smart contract แต่ในการขึ้นหน้าเว็บ app.uniswap.org ต้องขอความเห็นชอบจาก Community ก่อนเสมอ เพื่อป้องกันการ List เหรียญ Scam เข้ามาในระบบนั้นเอง

แต่หากผู้ใช้เป็น Smart Contract developer / DApp อื่นที่ต้องการใช้งานระบบ Uniswap จะไม่เจอข้อจำกัดด้านความเห็นชอบจาก Community นี้ สามารถ List และใช้งานได้เลยทันที (เช่น Lending / Margin trading)

การใช้งานจาก User

สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการซื้อขาย และแลกเปลี่ยนถือว่ามีขั้นตอนที่ง่ายมาก ๆ เพียงแค่ผู้ใช้มีกระเป๋าเงินดิจิทัล เช่น Metamask / Ledger / Trezor และมีเงินดิจิทัลที่ต้องการขายรอไว้ก่อนแล้ว ก็เปิดเว็บ app.uniswap.org และเลือกเหรียญที่ต้องการซื้อได้เลย ตรงนี้สมการ x * y = k จะทำการคำนวนราคาให้อัตโนมัติในทุกครั้งที่มีการซื้อขาย (ยิ่งขายมาก ราคาจะยิ่งแย่ ลองสังเกตุดูกันได้ครับ) และระบบจะหักค่าธรรมเนียม 0.3% ให้กับ LP ครับ

Revenue Sharing

จากตรงนี้เราจะเห็นว่าระบบ Uniswap จะประกอบไปด้วย Stakeholder 2 ส่วนคือ

  1. Liquidity provider (LP)
  2. Trader

โดยในส่วนของ LP นั้นจะได้ 0.3% ของปริมาณการซื้อขายทุกครั้ง ทำให้คนเริ่มนิยมนำเหรียญดิจิทัลของตัวเอง มาวางลงใน Pool เพื่อรับรายได้ส่วนนี้นั้นเอง สำหรับผลตอบแทนสามารถดูได้ที่ Uniswap.info ครับ

ตรงส่วน Revenue sharing นี้เองที่ผมมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบการเงินในโลกยุคใหม่ เพราะแต่เดิมรายได้ส่วนของผู้ให้บริการ คนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งได้เลย สามารถทำได้จากการถือหุ้นของกิจการเท่านั้น ซึ่งก็เข้าถึงได้ในวงจำกัด (ง่ายสุดก็คือบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์) แต่ระบบ LP นี้ ทำให้บุคคล หรือองค์กรทั่วไป สามารถมีส่วนแบ่งได้อย่างเสรี และลงในจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ และด้วยตัว Uniswap แบ่งออกเป็นหลาย Pool (เช่น USDC-USDT, ETH-MKR, ETH-UNI) ทำให้เราสามารถเลือกลงตามใจชอบใน Pool ที่เรารับความเสี่ยงได้

ค่าธรรมเนียม (Fee)

ค่าธรรมเนียมเป็นสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย เพราะเป็นต้นทุนที่ user ทุกคนต้องจ่าย ในทุกธุรกรรม โดยค่า fee นี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1) ค่าธรรมเนียมการเทรด ตรงนี้ง่าย ๆ ตรง ๆ ก็คือ 0.3% ของมูลค่าการซื้อขาย ในระบบ app.uniswap.org ราคาที่แสดงเป็นราคาที่รวมค่าธรรมเนียมตรงนี้ให้แล้ว

2) ค่าธรรมเนียม Blockchain อันนี้เป็นค่าธรรมเนียมที่ไม่ตายตัว และเป็นไปตามสภาพตลาด ตามความหนาแน่นของธุรกรรมที่รอการ confirm ณ ขณะนั้น หากมีปริมาณมากก็จะแพงมากเช่นกัน ตรงนี้ตัวกระเป๋าเงินดิจิทัลของเราจะคำนวนให้อัตโนมัติก่อน confirm ทุกครั้ง

ค่าธรรมเนียมในข้อสองต้องใส่ใจมาก ๆ เพราะบางช่วงเวลาส่วนนี้แพงมาก ๆ จนทำให้อาจไม่คุ้มที่จะทำธุรกรรมเลยด้วยซ้ำ เช่น 100–1,000 บาทต่อธุรกรรม แต่ข้อสังเกตุคือ ค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ไม่ว่าจะทำธุรกรรมมูลค่ามากหรือน้อย ค่าธรรมเนียมก็จะเท่ากัน ทำให้ผู้ที่ซื้อขายปริมาณมากก็จะคุ้มมาก ๆ นั้นเอง

Impermanent loss

หากใครที่ต้องการฝากเงินใน LP เพื่อรับรายได้ ประเด็น Impermanent loss ถือว่าสำคัญ และไม่รู้ไม่ได้เลยครับ เพราะหากไม่คำนวณความเสี่ยงตรงนี้เข้าไปด้วย อาจทำให้ขาดทุน หรือขาดทุนกำไรโดยไม่รู้ตัวครับ

4) Impermanent loss

Impermanent loss จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงราคา จะทำให้เราขาดทุนเมื่อเทียบกับการถือเอาไว้เฉย ๆ เช่น ถ้าผมฝาก ETH-USDT มูลค่ารวม $1,000 (500+500) เข้าไปใน Reserve แล้วปรากฎว่าราคาสูง ETH ขึ้น 500% แทนที่มูลค่าใน Reserve จะเป็น $3,000 (2,500+500) แต่จะได้ $2,250 แทน ได้ต่ำกว่าถือไว้เฉย ๆ 25% (เป็นตัวเลขตัวอย่างของจริงจะต่างจากนี้) โดยสมการ Impermanent loss คือ

impermanent_loss = 2 * sqrt(price_ratio) / (1+price_ratio) – 1

แต่ถ้าหากราคากลับมา ณ จุดเดิม คือ 100% (ไม่เพิ่มไม่ลด) มูลค่าของเราใน Reserve จะกลับมาจุดเดิมที่ $1,000

ตาราง Impermanent loss

“a 1.25x price change results in a 0.6% loss relative to HODL”

“a 1.50x price change results in a 2.0% loss relative to HODL”

“a 1.75x price change results in a 3.8% loss relative to HODL”

“a 2x price change results in a 5.7% loss relative to HODL”

“a 3x price change results in a 13.4% loss relative to HODL”

“a 4x price change results in a 20.0% loss relative to HODL”

“a 5x price change results in a 25.5% loss relative to HODL”

UNI Token

UNI Token หรือเหรียญของ Uniswap เป็นเหรียญที่มีจุดหมายในการ “แสดงสิทธิ” ในการบริหารจัดการ กำหนดความเป็นไป กำหนดค่า Parmeters ต่าง ๆ ในระบบ กำหนดการแจกจ่ายปันผล กำหนดการนำเงินกองทุนไปใช้ ซึ่งทุกกระบวนการที่กล่าวมานั้น กระทำผ่าน On-chain governance (ระบบการ vote ผ่าน Smart contract) ที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดย 1 เหรียญมีค่าเท่ากับ 1 เสียง

5) UNI — Genesis Allocation

การดำเนินการใด ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบ จะกระทำผ่าน Smart contract อีกชุด ที่ถูกนำเสนอเข้ามาพร้อมกับ Proposal เพื่อให้ทุกคนได้โหวตกัน และเมื่อผ่านการโหวต (Win) ระบบจะ Execute คำสั่ง Smart contract นั้น ๆ ทำให้การันตีได้ว่า ผลลัพธ์ในเชิงปฏิบัติจะเป็นไปตามการโหวตจริง ๆ

วิธีการได้รับเหรียญ UNI Token (ที่ไม่ใช่การซื้อ)

1) Airdrop

ในขั้นแรกตอน UNI Token เปิดตัว มีการแจกเหรียญ (Airdrop) ให้กับคนที่เคยใช้ระบบอย่างน้อย 1 ธุรกรรม เช่นการเทรด และคนที่ให้สภาพคล่อง (LP) โดยในส่วนคนที่เคยใช้ระบบ จะได้ 400 UNI ทุก address ส่วนคนที่ให้สภาพคล่องจะเป็นไปตามการคำนวน “มูลค่า * ระยะเวลาที่ฝาก”

ข้อนี้ได้เฉพาะคนที่ทำตามเงื่อนไขก่อน September 1, 2020, at 12:00 am UTC. เท่านั้น

2) Farming

อีกวิธีคือการนำเหรียญ LP ไป Stake (ล็อคไว้ในระบบ) เพื่อรับเหรียญ UNI ตามปริมาณที่เราฝากไว้ โดยจะแจกจ่ายเป็นราย 15 วินาที (1 block) โดยผู้ใช้สามารถ ฝาก / ถอน ได้ตลอดเวลา วิธีนี้เรียกกันทั่วไปว่าการ Farming

คู่เหรียญที่เข้าร่วมการ Farming ปัจจุบันดังภาพนี้ครับ

6) UNI — Farming

UNI Token Detail

  • Total Supply: 1,000,000,000 UNI
  • Price: ~$5.5 (ราคา ณ 21 กันยายน 2020)
  • Inflation: 2% ต่อปี
  • Governance: 1 เสียง 1 โหวต

Architecture

8) Uniswap Architect

Smart contract ของ Uniswap หลัก ๆ จะมี 3 Components ประกอบด้วย Factory, Pair (Reserve) และ Router

1. Pair

ทำ 3 ฟังก์ชั่นหลักของระบบ ก็คือ Trade, Deposit และ Withdraw กับตัว Reserve และเป็น Smart contract ที่ทำหน้าที่ถือสินทรัยพ์ดิจิทัลแทนทุกคน และออกเหรียญ​ LP แทนหน่วยลงทุนให้กับทุกคน

2. Factory

เป็น Component หลัก ที่ทำหน้าที่ “โรงงานผลิต” ตัว Reserve หรือคู่ Pair อีกที โดยระบบมีการกำหนด Blueprint (bytecode) สำหรับใช้ในการสร้าง Pair เอาไว้แล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่าทุก Reserve มีการทำงานเหมือนกันทุกอย่าง

3. Router

ทำหน้าที่ “อำนวยความสะดวก” ให้กับ Reserve อีกที เพราะด้วยการออกแบบ Source code ของระบบ Reserve ที่เน้นความเรียบง่าย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดช่องโหว่ในระบบ ทำให้ตัว Reserve ขาดฟังก์ชั่นงานสำคัญเช่น Price discovery ตรงนี้ Router จะทำตรงนี้ให้

และที่สำคัญ หาก User ต้องการแลกเปลี่ยน แต่ไม่มีในคู่เหรียญ (Reserve) ไหนเลย เช่นดังภาพที่ 8) User ต้องการแลก DAI -> MKR สิ่งที่ Router ทำให้คือแลก DAI -> ETH ก่อน หลังจากนั้นนำ ETH -> MKR อีกที ซึ่งทั้งสองคำสั่งนี้ทำเสร็จภายใน 1 transaction บน Blockchain

Factory และ Pair นับเป็น Core components เนื่องจากเกี่ยวกับระบบงานสำคัญเช่น ซื้อ / ขาย และ ถือสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วน Router ถือเป็น Optional มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ User ที่มาเรียกใช้

จนถึงปัจจุบัน Router มีการออกมา 2 version แล้ว และอนาคตก็จะมีการอัพเดตได้เรื่อย ๆ ส่วน Factory และ Pair หากมีการออก version ใหม่ ผู้ใช้มีสิทธิเลือกจะใช้ระบบเดิมต่อไปก็ได้ (คือย้ายหรือไม่ย้าย user เป็นคนเลือก)

IPFS

ด้วยความที่ Uniswap เป็นระบบที่ขับเคลื่อนส่วนงานสำคัญทั้งระบบด้วย Smart contract แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งมีความ Centralized (รวมศูนย์) อยู่ นั้นก็คือเว็บไซต์ https://app.uniswap.org/ ถึงแม้ว่าตัวเว็บไซต์จะไม่สามารถจัดการเงินของ User ได้โดยตรง แต่ก็สามารถถูกโจมตีหรือ Censor ระบบได้

ทำให้ Uniswap ได้เอาระบบเว็บไซต์ อัพโหลดเอาไว้ในระบบ IPFS ที่เป็น Distributed File Storage Systems ที่มีการออกแบบระบบตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา และตัวเว็บไซต์กระจายตัวอยู่ตาม Nodes ต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้เพิ่มขีดความสามารถด้าน Avaibility และ Censorship resistance ไปในตัว ใครสนใจก็เข้าใช้งานได้ที่ https://uniswap.eth.link/ ครับ

ในอนาคต Browser จะเริ่มรองรับ ipfs:// ทำให้ลดการรวมศูนย์ของ TLD Manager (ระบบจัดการ Domain) ลงไปอีก และเพิ่มการตรวจสอบที่เข้นข้นกว่า https://

Smart contract audit

มีการ Audit ตัว Smart contracts ของระบบ ที่เขียนด้วยภาษา Solidity ด้วย Engineer จำนวน 6 คน จากทีม klab (ไม่ใช่ KULAP นะครับ lol) สามารถดู Audit report ได้ทีนี้ครับ https://uniswap.org/audit.html#orgbd4e765

ส่วนตัวผมได้อ่าน Source code ทุกบรรทัด เทียบระหว่าง version 1 ที่เขียนด้วยภาษา Vyper กับ version 2 (ปัจจุบัน) ที่เขียนด้วยภาษา Solidity ผมค่อนข้างชอบความ Lean ใน Style การเขียน และสัมผัสได้ถึงความใส่ใจในความปลอดภัย ที่มีมากขึ้นใน version 2 อย่างชัดเจนครับ

Regulation

ปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแลจากหน่วยงานใด ๆ ณ จุดนี้หากใครใช้งานก็ให้พึงระวังว่าจะไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ จากหน่วยงาน

ในมุมมองส่วนตัว คิดว่า Regulator ทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจตัว Uniswap หรือโปรเจคที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น เนื่องด้วยปริมาณสินทรัพย์ และปริมาณการซื้อขาย ที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และด้วยอัตราเร่งนี้เอง ทำให้เงินทุน หรือ Productivity จะเริ่ม Adopt การใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ และปัจจุบันก็ได้พิสูจน์แล้วว่า สามารถเป็นจุดซื้อขายแลกเปลี่ยนได้จริง (สำหรับ Volume ที่สูงจนคุ้มค่า Fee)

Risk ความเสี่ยง และการบริหารความเสี่ยง

ความเสี่ยงในการใช้งานระบบ Uniswap ถ้าให้พูดเทียบกับระบบอื่น ๆ ในโลก DeFi ผมก็จะบอกว่าปลอดภัยมาก แต่หากเทียบกับระบบการเงินเดิม (tradiational finance) ก็ถือว่ามีความเสี่ยงกว่ามาก อาทิเช่น ไม่มีใครกำกับดูแลตลาด (ไม่มี regulator) ไม่มีการประกันความเสี่ยง ไม่มีการดำรงกองทุน รวมไปถึงอัตราผันผวนที่สูงมากในหลายสินทรัพย์ดิจิทัล และที่สำคัญ User จำเป็นต้องบริหารจัดการ Crypto Wallet ด้วยตัวเอง

หากเรารับความเสี่ยงตามที่บอกข้างต้นได้แล้ว อีกจุดที่ควรระวังก็คือตัวเหรียญที่เราถือ และเอามาลงใน Reserve นั้น ๆ ว่าเหรียญมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน เพราะทุกเหรียญก็ล้วนสร้างด้วย Smart contract กันหมด หากมีความเสี่ยงเรื่อง Technical หรือ Business ก็จะกระทบมูลค่ามหาศาลได้ครับ

อีก 1 ความเสี่ยงที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือตัว Uniswap เอง ว่าหากวันนึงมี Attacker สามารถหาช่องโหว่ของระบบ Smart contract ได้ ก็อาจโจมตีระบบจน LP สูญเสียเงินต้นได้

Crypto wallet ที่แนะนำ

หากต้องการแค่ทดสอบ ผมมองว่า Metamask ทั้งบนคอม และมือถือ ก็เพียงพอ แต่หากต้องการลงทุนจริงจัง (แนะนำให้เป็น % ที่น้อย หรือเป็นเงินเย็นนะครับ) ต้องใช้ Hardware wallet เท่านั้น ไม่งั้นวันนึงอาจตื่นมาแล้วเงินหายได้ครับ

ที่ผมเน้นว่าเงินเยอะให้ใช้ Hardware wallet เท่านั้น เพราะความเสี่ยงในตัว Software wallet มีสูงมาก มีหลายจุดที่ป้องกันยาก และที่สำคัญตัว Hardware wallet ก็ราคาไม่แพงมากนัก เช่น Trezor, Ledger ราคาไม่ถึง 5,000 บาท

มูลค่าตลาด

ณ กันยายน 2020 มูลค่าสินทรัพย์ที่ Lock เอาไว้ในระบบ (LP) $2.15 พันล้านดอลล่าร์ หรือราว 6 หมื่นกว่าล้านบาท มีปริมาณการซื้อขายต่อวันมากกว่า $300 ล้านดอลล่าร์ หรือราว 9 พันล้านบาท

Liquidity: $2,150,000,000

Trading volume per day : $300,000,000

Reserve: 10,042 คู่เหรียญ

การเติบโตค่อนข้างหวือหวา ทั้งในแง่ Liquidity และ Trading volume เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องจับตากันต่อไป หากยังรักษาการเติบโตเช่นนี้เอาไว้ได้ อนาคตตลาดการเงินโดยภาพรวมคงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันใกล้

ref: https://uniswap.info/home

ทิศทางในอนาคต

ในอนาคตอันใกล้ เราจะเริ่มเห็น Productivity อื่น ๆ เริ่มนำ Uniswap protocol ไปใช้ ถ้าพูดให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็มองว่า Uniswap คือ ตลาดหลักทรัพย์ดิจิทัล ที่ใครต้องการระบบนี้ไป Plug & Play ก็ทำได้เลย เช่นระบบ Ecommerce ที่ให้ลูกค้าชำระด้วยเหรียญอะไรก็ได้ ระบบ E-Salary ที่ให้ลูกจ้างต่างประเทศเลือกรับเป็นสกุลตัวเอง (ระบบแปลงเรทอัตโนมัติ ณ วันจ่าย) ระบบ Real Estate ที่ให้ผู้ซื้อ / เช่า วางเงินประกัน และชำระด้วยสกุลที่ต้องการ ในขณะที่ผู้ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ก็รับเป็นเงินที่ตัวเองเลือกได้

สรุป

บทความนี้ผมต้องการให้ผู้อ่านได้ตระหนักรู้ ถึงศักยภาพ และความสามารถในเทคโนโลยีใหม่นี้ ที่เริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวัน ๆ โดยเฉพาะในธุรกิจการเงิน ที่ตัวเทคโนโลยีใหม่นี้มา Disrupt โดยตรง แม้จะพึ่งเริ่มต้น แต่จากที่ผมติดตามการเติบโตอย่างใกล้ชิดในอุตสาหกรรมนี้ บอกได้เลยว่า ณ วันที่ทุกอย่างพร้อม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และรวดเร็วมากครับ

สำหรับ Innovator นับเป็นจังหวะดี ที่จะเริ่มศึกษา ทั้งความเป็นไปได้ในแง่ Technology และในมุม Business เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ในยุคใหม่ที่กำลังมา ที่ผมเองก็ตื่นเต้นกับมันมาก ๆ ครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน

ผมโต๊ด นัฐพล นิมากุล เป็น CTO ของ KULAP.io ที่ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลน้องใหม่ ที่ได้ใบอนุญาติจาก ก.ล.ต. ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง ปัจจุบันผมเป็น Researcher ที่ศึกษา Blockchain ทั้ง Bitcoin, Ethereum, Libra และอื่น ๆ แบบ Full time หากใครสนใจด้านนี้ ทักมาคุยกับผมได้ครับ ถ้าเรื่อง Blockchain นี้คุยได้ทั้งวัน ^_^

https://www.facebook.com/totiz

KULAP Skill

สนใจศึกษาการทำงานของระบบ Ethereum Blockchain หลักการทำงานของ Smart Contract และการเขียนโปรแกรมภาษา Solidity สามารถติดตาม Course ของทาง KULAP Skill ได้ที่นี้ครับ https://www.kulapskill.com/

ref: https://uniswap.org/docs/v2/core-concepts/pools/

ref2: https://m.youtube.com/watch?v=b2qRD1cm57s

ref3: https://uniswap.org/whitepaper.pdf

ref4: https://uniswap.org/blog/uni/

ref5: https://tokenlists.org/

ref6: https://uniswap.org/docs/v2/advanced-topics/understanding-returns

--

--