ธุรกิจ DIY สร้างรายได้บนอินเทอร์เน็ต

Watchara Manisri
Leaderwings Blog
Published in
1 min readJul 9, 2016

เมื่อโลกไซเบอร์ทำเงิน ใคร ๆ ต่างก็มีไอเดียและสามารถปรากฏตัวบนสมาร์ทโฟน แท็บเลต หรือคอมพิวเตอร์ของคนทั่วโลกได้ เพราะการที่มีตลาดออนไลน์ถือกำเนิดเกิดขึ้นนั่นหมายความว่าทุกคนสามารถพลิกบทบาทเป็นพ่อค้าแม่ค้าและเป็นเจ้าของธุรกิจได้

ไม่ว่าจะเป็นมือสมัครเล่น มือใหม่ หรือมืออาชีพ เท่ากับว่าโลกได้เปิดกว้างให้กับคุณแล้ว จะรอช้าอยู่ไยในเมื่อโอกาสทองกำลังมาเยือนถึงหน้าประตูบ้าน สำหรับช่องทางสุดคลาสสิคที่เป็นทางลัดในการสร้างรายได้สำหรับคนที่ต้องการเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน

ธุรกิจที่เริ่มต้นง่ายและใกล้ตัวที่สุด ก็คงไม่พ้นการขายสินค้า DIY ที่เริ่มต้นทำเป็นรายได้เสริมและสามารถต่อยอดให้กลายเป็นรายได้หลัก

DIY เป็นชื่อย่อของคำว่า Do it youself ซึ่งแปลแบบตรงตัวได้ว่า “ทำมันด้วยตัวเอง” จากการนำสิ่งของเหลือใช้หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทั้งของเก่าและของใหม่ มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นผลงานชิ้นใหม่ด้วยมันสมองและสองมือของเราเอง

ซึ่งเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เมื่อทำสำเร็จก็เกิดความภาคภูมิใจ สามารถนำไปมอบเป็นของขวัญให้คนที่ได้รับเกิดความประทับใจ ช่วยลดภาวะโลกร้อน และเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

บันได 5 ขั้นสำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจ DIY

1. สินค้าดีมีความโดดเด่น

สินค้า DIY เป็นสินค้าแฮนด์เมดที่ผลิตขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ล้วน ๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงเป็นเรื่องของเอกลักษณ์และคุณภาพการใช้งานของสินค้าเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้แตกต่างจากคู่แข่ง แม้จะเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน หากมีคุณประโยชน์และรูปลักษณ์ที่เหนือกว่าย่อมสร้างแรงดึงดูดให้ลูกค้าพร้อมที่จะจ่ายเงินในราคาที่สูงเพื่อแลกกับการเป็นผู้นำเทรนด์ หรือตอบสนองความสุขทางใจ

2. มีราคาที่สมเหตุสมผล

ควรเป็นราคาที่เอื้อมถึงไม่ถูกหรือแพงจนเกินไป โดยเปรียบเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกัน ร่วมกับการประเมินราคาต้นทุน ค่าวัสดุ ค่าแรง ค่ามันสมอง เมื่อได้ระดับราคาที่ต้องการแล้ว ก็ลองทบทวนว่ามีจุดเด่นใดที่สามารถเพิ่มมูลค่าเป็นจุดขายที่สามารถเรียกราคาเพิ่มขึ้นได้

เช่น ผลิตจากหนังลูกวัวแท้นำเข้าจากต่างประเทศ 100% ให้ความนุ่มยืดหยุ่นและทนทาน หรือ เป็นผลิตภัณฑ์ดีไซน์เก๋ที่มากด้วยคุณประโยชน์

3. สร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จัก

ใช้เครื่องมือในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสม หมั่นลงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจุดเด่นหรือมีความสัมพันธ์กับสินค้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เป็นที่จดจำ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น อินสตาแกรม เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บไซด์ คิวอาร์โค๊ด และยูทูป เป็นต้น

4. หาไอเดียแปลกใหม่

ออกไปเปิดหูเปิดตาเปิดโลกทัศน์ดูงานแฮนด์เมดใหม่ ๆ ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า หรือบูธขายสินค้าตามงานต่าง ๆ เพื่อค้นหาไอเดียและมิตรภาพใหม่ ๆ กลับมาต่อยอดธุรกิจของตัวเอง

5. บริการหลังการขาย

การให้ความใส่ใจช่วยเหลือลูกค้าสามารถสร้างความประทับใจ รู้สึกว่าเป็นคนพิเศษ และสร้างความจงรักภักดีในตราสินค้าได้

เช่น การห่อของขวัญ การรับประกันสินค้า การมอบส่วนลดหรือสิทธิพิเศษ เมื่อซื้อสินค้าในครั้งต่อไปลูกค้าก็จะนึกถึงเราเป็นลำดับแรก

ตัวอย่างธุรกิจ DIY ที่มีรายได้น่าทึ่ง

1.) ธุรกิจถักตุ๊กตาไหมพรมขายตามงานเทศกาลต่าง ๆ

ปีใหม่เอย แต่งงานเอย รับปริญญาเอย ล้วนเป็นโอกาสทำเงินทั้งสิ้น สามารถทยอยถักตุ๊กตาเก็บไว้ได้เรื่อย ๆ เมื่อถึงเทศกาลก็ไปหาทำเลเหมาะ ๆ วางขาย เช่น นำไปขายในวันรับปริญญา ในราคาตัวละ 100 บาท วันนึงมีโอกาสขายได้ขั้นต่ำประมาณ 100 -200 ตัว หากมีงาน 3 วัน ก็จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 30,000–60,000 บาท แถมยังสามารถต่อยอดรับสั่งทำล่วงหน้าได้ในราคาที่สูงขึ้นอยู่กับขนาดและความละเอียดของชิ้นงาน

2.) ธุรกิจ DIY จากขวดเก่า

นับว่าสร้างความฮือฮาไม่น้อย เมื่ออดีตทหารอากาศวัยเกษียณจากจังหวัดสุรินทร์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากขวดแก้วที่ไปซื้อมาจากโรงรับของเก่า แล้วตบแต่งลวดลายขวดแก้วด้วยมือ กลายเป็นของใช้ต่าง ๆ เช่น เชิงเทียน โคมไฟ แก้ว ที่วางสบู่ ที่เขี่ยบุหรี่ ตลาดจนของที่ระลึก จนมีออเดอร์ล้นหลามจากชาวต่างชาติมากมายทำแทบไม่ทัน สร้างรายได้ต่อเดือนเกือบแสนบาท ปัจจุบัน สินค้าชนิดนี้ได้จดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สรุป

ปัจจุบันเกิด “ธุรกิจแนว DIY” ที่มาจากการต่อยอดของการขายสินค้าแนว DIY ที่ทางบริษัทจะให้ลูกค้าประกอบสิ่งที่ต้องการด้วยตัวเอง เช่น ลูกค้าต้องการชั้นวางหนังสือแบบติดบนกำแพง บริษัทก็จะส่งชิ้นส่วนที่ใช้ในการทำมาให้และลูกค้าก็จะเป็นผู้ออกแบบและประกอบด้วยตนเอง จุดเด่นของธุรกิจแนวนี้อยู่ที่ราคาถูกและการใช้จินตนาการในการสร้างชิ้นงาน

นอกจากนี้ยังเกิดธุรกิจแนว Design it yourself ที่แม้ลูกค้าจะไม่ได้แสดงฝีมือสร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเอง แต่ก็สนุกสนานกับการเลือก การออกแบบที่ไม่เหมือนใคร แถมยังผลิตโดยช่างผู้เชี่ยวชาญจากโรงงานมืออาชีพ เช่น

ร้านขายกระเป๋าออนไลน์ ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เลือกรุ่น วัสดุ รูปทรง และสี ด้วยตนเอง ข้อดีสำหรับธุรกิจชนิดนี้ก็คือ ลูกค้าจะได้สินค้าที่ไม่ซ้ำกับคนอื่น ตรงกับรสนิยมของผู้บริโภค มีความใกล้ชิดกับลูกค้า และมีความยืดหยุ่นมากกว่าบริษัทใหญ่

สินค้าและบริการที่มีอยู่ในท้องตลาดส่วนมากจะมีความคล้ายคลึงกัน หากต้องการจะตีตลาดการเลือกขายสินค้าแปลกใหม่ที่ตรงกับความต้องการของตลาดจะเป็นสิ่งที่ได้เปรียบกว่า

แต่เจ้าของธุรกิจก็ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในตัวสินค้าเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นก็อาจเสียโอกาสในการขายและขาดความน่าเชื่อถือได้ หากเราสามารถผลิตสินค้าที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาดอย่างสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบย่อมสร้างความได้เปรียบที่จะสามารถตั้งราคาขายได้ถูกกว่าคู่แข่ง

--

--