🎭 ตรงกลาง (มัก) หลอกลวง

Piyorot
Life As I Feel It
Published in
Oct 31, 2021

ประโยคคลาสสิกมีอยู่ว่า “อะไรที่ถูกวัดผลก็จะถูกพัฒนาให้ดีขึ้นได้”

จริงแท้แน่นอน … ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะเลือกวัดผลอะไร?

ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์แบ่งการวัดผลออกเป็นสามส่วน ขอข้ามมาพูดถึงส่วนที่สองก่อนเลย … การวัดผลที่ตรงกลาง

การวัดผลที่ตรงกลางเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเพราะมันง่าย รวดเร็ว และสเกลได้ไม่จำกัด … การวัดผลประเภทนี้จะเป็นไปตามทฤษฎีหรือกระบวนการที่แต่ละองค์กรยึดถือ เช่น

  • จำนวนบรรทัดของโค๊ด
  • จำนวนชั่วโมงในการทำงาน
  • จำนวนเทสเคสที่เขียนขึ้น
  • จำนวนบั๊กที่ตรวจพบและแก้ไข
  • อายุโดยเฉลี่ยของบั๊ก
  • จำนวนฟีเจอร์ที่ทำเสร็จในแต่ละรอบการทำงาน
  • ความเบี่ยงเบนของงบประมาณที่ใช้จริงต่องบประมาณที่คาดคะเนไว้
  • และอื่นๆอีกมาก

เมื่อเราตั้งใจวัดผลเรื่องเหล่านี้ เราจะได้แนวทางในการพัฒนามัน … เช่นนี้

  • จำนวนบรรทัดของโค๊ดมากขึ้นด้วยการบีบเวลาให้น้อยลง
  • จำนวนการทำงานที่มากขึ้นของพนักงานแต่ละคน
  • จำนวนเทสเคสที่เขียนขึ้นจะเพิ่มเป็นทวีคูณตามแรงจูงใจเรื่องการขึ้นเงินเดือนและโบนัสที่จะได้
  • อายุเฉลี่ยของบั๊กจะสั้นลงเพราะทุกคนจะขยันจัดการงานในส่วนนี้อย่างเป็นบ้าเป็นหลัง
  • และอื่นๆอีกมาก

ประโยชน์ของการพัฒนาพวกนี้คืออะไร? มันคือภาพลวงตาและความหลอกลวงทั้งนั้น

การวัดผลที่ต้นทางและปลายทางต่างหากที่สำคัญแต่มักจะถูกมองข้ามเพราะเมื่อมองอย่างผิวเผินมันไม่ง่ายและมันลึกซึ้งกว่ามาก

การวัดผลที่ต้นทาง … คือพฤติกรรมที่มีส่วนส่งเสริมให้ทีมงานเปิดโอกาสให้ตัวเองทำงานที่ดีมีคุณภาพออกมา

  • ทีมเวิร์ค
  • ความรู้และทักษะที่ต้องใช้ในงาน
  • ความรับผิดชอบ
  • ความกล้าหาญในการคิดและแสดงออก
  • ความทุ่มเทในการค้นหาความจริง
  • การลองผิดลองถูกอย่างไม่ย่อท้อ
  • ความอดทนต่อความผิดพลาดและล้มเหลว
  • และอื่นๆอีกมาก

มันวัดผลยากกว่า? มันค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่มันคือขุมทรัพย์

การวัดผลที่ปลายทาง … เป้าหมายสูงสุดของทุกอย่างที่ทำอยู่คืออะไร เรากำลังเดินเข้าใกล้หรือออกห่างจากมัน

  • เรากำลังแก้ปัญหาที่แท้จริงให้ผู้ใช้หรือไม่
  • เรากำลังแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ดีแค่ไหน
  • มีกี่คนที่โปรดักท์ของเราทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น และจำนวนนี้มันเพิ่มจากการวัดผลครั้งที่แล้วหรือไม่
  • เราสร้างโปรดักท์ที่ยั่งยืนและจะเติบโตอย่างมั่นคงหรือไม่
  • เรามีความสุขกับความเป็นอยู่และเป็นไปของโปรดักท์ องค์กร ทีมงาน และตัวเองมากแค่ไหน
  • เราสร้างรายได้ตามสมควรตามแผนที่ตั้งไว้หรือไม่
  • และอื่นๆอีกมาก

มันวัดผลยากกว่า? มันเป็นเรื่องที่มีขอบเขตกว้าง แต่มันคือของจริง

การวัดผลที่ต้นทาง (พฤติกรรม) และปลายทาง (ผลลัพธ์) คือเรื่องจริงที่ยากต่อการหลอกลวง ถ้าเราใส่ใจในการวัดผลที่ต้นทางบวกกับปลายทางแล้วละก็ … การวัดผลตรงกลางจะกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็นไปเลย — ยุ่งยาก วุ่นวาย ไร้ประโยชน์

ที่น่าสนใจที่สุดหลายคนคิดว่าการวัดผลอะไรที่เป็นนามธรรมนั้นยาก ไม่จริงเสมอไป สำหรับเรื่องพฤติกรรม การเข้าไปมีส่วนร่วมในชีวิตการทำงานประจำวันของใครสักคนนึงเราก็จะได้รับรู้อะไรมากมายจนนับไม่ถ้วนแล้ว บรรยากาศ แนวคิด การร่วมมือ เป้าหมาย และทัศนคติ

สำหรับเรื่องผลลัพธ์ ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองออกไปรับรู้เรื่องราวจากโลกภายนอกดูบ้าง ลืมรายงาน การประชุม อีเมลแล้วออกไปพูดคุยกับผู้ใช้ตัวจริง กับพาร์ทเนอร์ที่ทำงานร่วมกันมา … ที่สำคัญเปิดโอกาสพูดคุยกับตัวเองอย่างซื่อสัตย์ดูบ้าง มองไปรอบตัวแล้วถามตัวเองว่านี่คือสิ่งที่ฉันอยากให้เป็นจริงหรือ?

ตราบใดที่เราใส่ใจสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อการพัฒนา พร้อมกับการกำหนดผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์และติดตามดูแลพวกมันอย่างใกล้ชิด เราจะก้าวหน้าไปอย่างมั่นคงโดยไม่ต้องพึ่งพาการวัดผลที่ตรงกลางซึ่งเป็นเรื่องหลอกลวงเลยแม้แต่นิดเดียว

--

--

Piyorot
Life As I Feel It

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com