สัมภาษณ์ทีม PETTO ผู้ชนะการแข่งขัน LINE HACK 2019 ประเภท Student

Maneewan Boontamthan
LINE Developers Thailand
3 min readSep 18, 2019

“ ทำไมไม่ชวนสัตว์เลี้ยงเข้ากลุ่มไลน์ล่ะ เพราะสัตว์เลี้ยงก็เป็นเหมือนพี่น้องของเราเหมือนกัน”

นี่คือแนวคิดของทีม PETTO นิสิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ชนะการแข่งขัน LINE HACK 2019 ประเภท Student พวกเขาได้ไอเดียมาจากปัญหาของคนรักสัตว์เลี้ยง เพราะสมาชิกในทีมทุกคนเลี้ยงสุนัขและแมวแต่บางครั้งต้องมาเรียนเลยไม่มีเวลาดูแล จึงกลายมาเป็นไอเดียของทีม PETTO: LINE for pets ที่สามารถตรวจสอบได้ว่าสัตว์เลี้ยงของเราทำอะไรอยู่ ให้อาหารอัตโนมัติ รวมไปถึงสามารถติดตามสัตว์เลี้ยงเมื่อสัตว์สูญหายได้โดยนำ LINE Messaging API และ LINE Things มาใช้งาน

แนะนำตัวหน่อยว่าเป็นใคร เรียนที่ไหนอยู่?

นัทโตะ: ชื่อนัท เป็น Dev ทำเกี่ยวกับ LINE Things อยู่วิทยาการฯคอมค่ะ เรียกนัทโตะก็ได้ค่ะ ชื่อทีมก็มาจากชื่อหนูนี่แหละค่ะ (หัวเราะ)

ฟรองซ์: สวัสดีครับชื่อฟรองซ์ครับ อยู่ปี 4 Computer science เป็น Dev Andriod

เปิ้ล: ชื่อเปิ้ลค่ะ วิทยาการฯคอม ปี 4 เป็น Dev ทำ Flex message

เกรซ: เกรซ อยู่ปี 3 วิทยาลัยนานาชาติ NUIC ทำเป็น Business Consultant

มาสด้า: ชื่อมาสด้า ปี 2 วิทยาลัยนานาชาติเอกภาษาอังกฤษ เป็น Business Consultant และ Presenter ค่ะ

จุดเริ่มต้นในการรวมตัวกันเพื่อส่งผลงานเข้าประกวด เล่าให้ฟังถึง Journey ที่มาที่ไปคร่าวๆหน่อย?

นัทโตะ: จุดเริ่มต้นมาจากหนูเองแหละค่ะ หนูชอบแข่ง Hackaton และตอนที่พวกพี่ๆจาก LINE มาทำ Workshop ที่มหาวิทยาลัย และประกาศว่าจะมีงาน Hackaton ก็เลยรู้สึกว่าต้องไปละ เลยชวนฟรองส์ก่อนเลย คนนี้เค้าเก่งด้าน Tech แล้วก็ชวนเปิ้ลมาด้วย ตอนแรกไอเดียของเราไม่ใช่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เป็นเรื่องการขายของ แต่สุดท้ายก็มาจบที่สัตว์เลี้ยงได้ แต่ก็มีสิ่งที่ทีมยังขาดอยู่คือเรื่อง Business ก็เลยปรึกษากับอาจารย์ Antony Harfield (เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการและผู้ชนะ LINE HACK 2018) ว่าต้องการให้มีคนที่มาช่วยพรีเซนต์กับคณะกรรมการ ก็เลยชวนมาสด้า กับเกรซมาร่วมทีมด้วยค่ะ

นัทโตะ —จากทีม Petto

เบื้องหลังแนวคิดในการทำ PETTO? ทำไมถึงเลือกทำอันนี้?

นัทโตะ: อาจารย์ Antony อยากให้นิสิตไปสมัครโครงการกันเยอะๆ เราเลยคิดว่าจะทำอะไรดี อย่างตอนแรกที่จะทำซื้อ-ขายของ ก็รู้สึกว่ามันใช้งานยาก แล้วก็ไปสะดุดกับคำว่า “ทำไมไม่ชวนสัตว์เลี้ยงเข้ากลุ่มไลน์ล่ะ เพราะสัตว์เลี้ยงก็เป็นเหมือนพี่น้องของเราเหมือนกัน” พอเราได้ไอเดียนี้มาแล้วสิ่งที่คิดต่อก็คือ “ทำยังไงให้เหมือนสัตว์เลี้ยงมาอยู่กลุ่มไลน์ของเราจริงๆ” เปิ้ลกับมาสด้าก็เลยมีความคิดว่า “ทำไมไม่ลองให้มันส่งเสียง หรือให้มันมาอยู่หน้ากล้องล่ะ? จะได้ Communicate กันได้” ส่วนอีกฟีเจอร์ก็เป็นเรื่องอาหาร ที่บ้านของมาสด้ามีเครื่องให้อาหารอัตโนมัติ เลยเอามาใช้งานด้วย

เกรซ: ส่วนมากพวกเราจะเลี้ยงสัตว์กัน ​โดยเฉพาะที่ ม.น.(มหาวิทยาลัยนเรศวร) เนี่ยค่ะ แต่เราไม่มีเวลา ก็เลยคิดว่าโปรเจ็คนี้น่าจะเวิร์ค

อาจารย์ Antony ผู้ปลุกปั้นทีม PETTO

แล้วจุดต่างอย่างชัดเจนของ PETTO คืออะไร? เมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ

นัทโตะ: ที่เคยได้ยินมาจากพี่ที่แข่ง LINE HACK ด้วยกัน ก็รู้ว่ามีเซอร์วิสคล้ายๆแบบนี้คือ อัดเสียงไว้ พอถึงเวลาก็เล่นเสียงอัตโนมัติแล้วให้หมาแมวเดินไปกินอาหาร แต่มันยังไม่ Realtime ยังไม่มีการอัดเสียงส่งกลับมาคุยกับเจ้าของก็เลยคิดว่าของเราไม่ซ้ำใคร

อุปสรรคและปัญหาที่พบระหว่างทางมีอะไรบ้าง?

ทุกคน: โห….ตอนแรกทีมเกือบล่มค่ะ

นัทโตะ: อุปสรรคแรก คือที่มหาวิทยาลัยพวกเรากำลังจะทำโปรเจคจบของตัวเองเพื่อส่งอาจารย์อยู่ ก็คิดอยู่สักพักว่าจะไปแข่งดีไหม แต่อาจารย์ Antony ก็พยายาม Build พยายามกระตุ้นให้เราไปด้วยกันให้ได้ อุปสรรคที่สองคือตอนเทสก็ไม่เป็นไร แต่ตอนก่อนจะขึ้นเวทีมี Error ต้องแก้ก่อนขึ้นเวทีประมาณ 10 นาที เกือบจะไม่ได้ Demo แล้วค่ะ

ฟรองซ์: ใช่ครับ คือเราติดตัว LINE Beacon ไว้ที่สัตว์ แล้วจะให้แอพไป Detect ดูว่ามี Beacon อยู่ไหม ที่คิดไว้คือมี Beacon อันเดียวแต่ตอนจะขึ้นเวที พอไปเช็ค Log ดูปรากฎว่ามี Beacon โผล่มาหลายอันเลย (ของทีมอื่น) ก็ต้องไปนั่งไล่แก้

นัทโตะ: ก็เลยได้ความรู้ใหม่ว่า LINE Beacon ได้ถูกต่อยอดมาจาก iBeacon ด้วย

ความท้าทายการแข่งขันที่เจอมีอะไรบ้าง?

นัทโตะ: ของหนูคือเรื่อง LINE Things เป็นค่อนข้างใหม่สำหรับหนู ก็เริ่มจากไปดูโค้ดของ LINE Things Starter แต่มันก็ค่อนข้างซับซ้อน พอสร้าง LIFF เสร็จแล้วจะไปเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ก็ผิด ก็เลยต้องไปพยายามแก้โค้ดแล้วไปเชื่อมต่อใหม่ ก็ค่อนข้างยากค่ะ

ฟรองซ์: ของผมคือจะทำแอพ Andriod ไปเชื่อม LINE ทีนี้ผมก้ต้องเขียนตัว LINE เพื่อให้มันสร้างข้อมูลใน Firestore ก็ค่อนข้างยุ่งยากและเทสนาน กว่าจะออกมาอย่างที่เห็น

เปิ้ล: การดีไซน์ Flex Message ไม่มีปัญหาอะไร ก็อ่านตาม Blog ของพี่ตี๋ แต่จะมีปัญหาตอนดีไซน์ LIFF เนื่องจากว่า LIFF มัน Cache ค่าไว้ ทำให้บางทีมันแสดงผลในเครื่องแต่ละคนไม่เหมือนกัน แก้โค้ดไปแล้ว แต่มันยังขึ้นแบบเดิมอยู่ วิธีแก้ของพวกหนูคือต้องรอเวลา (เพิ่งจะรู้วิธีแก้หลังจากจบงานแล้ว 55+)

มาสด้า: พวกหนูสองคนถ้าเป็นความท้าทายนี่คือ ไม่รู้ด้านเทคโนโลยีเลยค่ะ พวกหนูเรียนภาษาศาสตร์มา (หัวเราะ) แค่มองในด้าน Business ค่ะว่าจะทำยังไง คุ้มค่าไหม จะต่อยอดได้ยังไงได้บ้าง ก็นั่งดูของตัวเองไป

เกรซ: โปรดักส์ของเราจะต่อยอดกับภาครัฐได้ไหม เพราะมีปัญหาสัตว์หายบ่อยในประเทศไทย แต่เจ้าของไม่รู้จะตามหาจากที่ไหน ก็ใช้ LINE Beacon ในการตามได้ และถ้าเราได้ร่วมมือกับภาครัฐ ด้านธุรกิจก็จะได้ต่อยอดได้ ก็คิดแค่ด้านธุรกิจอย่างเดียวค่ะ

สิ่งได้เรียนรู้ระหว่างการแข่งขันจากงานนี้มีอะไรบ้าง?

นัทโตะ: Teamwork ค่ะ ตรงไหนที่หนูทำไม่ได้ ก็จะให้เพื่อนในทีมช่วยอุดรอยรั่วตรงนั้นค่ะ ส่วนอีกเรื่องคือการที่ได้พบ Mentor ทำให้ความคิดเราเปิดกว้างมากขึ้น ได้ไอเดียใหม่ๆ เช่น Mentor แนะนำว่าลองใช้ Cron Jobs มั้ย หรือใช้ Laser เพื่อเรียกแมวมั้ย ก็เป็นไอเดียที่แปลกดีค่ะ อย่าง LINE Things ก็สามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่างเลย นอกจากนี้ยังมีไอเดียจากทีมอื่นๆด้วย ทำให้เรารู้ว่ามันทำแบบนี้ได้ด้วย ก็เรียกว่าเปิดโลกมากๆเลย

คิดว่าตัวเองมีจุดเด่นด้านไหนเป็นพิเศษที่ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ?

นัทโตะ: หนูคิดไปร้อยแปดพันเก้าเลยค่ะ (หัวเราะ) หนูคิดว่าสิ่งที่แต่ละทีมเค้าคิดกันมาเราน่าจะเคยเห็นกันแล้ว แต่การเอาสัตว์เลี้ยงมาไว้ในกลุ่มของเรามันยังไม่เคยมีมาก่อน แล้วก็คิดว่ารูปส่วนที่แสดง Architecture ของเราสวยที่สุดเลยค่ะ เพราะแก้แล้วแก้อีก และกรรมการน่าจะเอนเอียงเรื่องหมาแมว เพราะน่าจะชอบสัตว์เหมือนกัน 55+

ฟรองซ์: คิดว่าทีมเราใช้ Technology ค่อนข้างเยอะ และอีกเรื่องก็คือการนำเสนอ เราจะอธิบายโปรเจ็คค่อนข้างน้อยและเน้นไปที่ Demo เลยทำให้ทันเวลา และกรรมการเห็นฟีเจอร์ได้ครบ

สงสัยนิดนึงว่าตอนที่ทีม Present ทำไมถึงเลือกเป็นภาษาอังกฤษ​?

เกรซ: ภาษาอังกฤษกระชับกว่าภาษาไทย และเข้าใจง่ายกว่า ตัดเวลาได้ดีกว่าเพราะเราต้องแข่งขันกับเวลา เราซ้อมกันหลายรอบมากและอีกอย่างอาจารย์เราก็เป็นต่างชาติด้วย

ความรู้สึกตอนที่รู้ตัวว่าได้รับรางวัลเป็นอย่างไร?

ทุกคน: ตอนแรกคิดว่าไม่ได้ละค่ะ บอกอาจารย์แล้วว่ากลับบ้านกันเถอะ พอประกาศที่ 3 และที่ 2 ก็คิดว่าไม่ได้ละแน่ๆ แต่ในใจก็แอบหวังอยู่ เพราะเราก็พรีเซ้นท์ครบทุกส่วน แต่ก็กังวลนิดนึง เพราะว่ากรรมการถามคำถามน้อย เวลา Q&A ก็เหลือ เวลาพรีเซ้นท์ก็เหลือ แต่พวกเราก็เตรียมคำตอบกันมาเยอะมากค่ะ พอรู้ว่าได้รางวัลคือดีใจมากกกก มีคนร้องไห้ด้วย

ฟรองซ์: ตอนนี้ก็ยังไม่เชื่อตัวเองว่าเราชนะ เพราะทีมอื่นเก่งมาก ทำได้ดีเหมือนกัน พวกดีไซน์ก็สวยมาก

ฝากถึงน้องๆเพื่อนๆ หน่อย? มีคำแนะนำอะไรสำหรับคนที่อยากมาแข่งปีหน้าบ้างครับ เค้าควรจะเตรียมตัวยังไงบ้าง

นัทโตะ: หนูคิดว่าน่าจะเป็นข้อจำกัดของเด็กไทยที่ไม่ค่อยกล้าเอาสิ่งที่เรามีมาแสดง ก็อยากให้น้องๆไม่ต้องกลัว อย่างงาน LINE HACK นี่สนุกมากค่ะ ได้ที่เท่าไรไม่สำคัญหรอกค่ะ อยู่ที่ว่าเราได้เรียนรู้อะไรกลับไปหรือเปล่า

เกรซ: บางทีเราก็มีความถนัดต่างกัน เราต้องรับความคิดจากหลายๆด้าน อย่างบางคนเก่งด้านคอมฯ ก็ต้องมีคนเก่งเรื่องค้าขาย ก็ต้องช่วยๆกันทำค่ะ เป็น Teamwork อย่างพวกหนูก็ไม่คิดว่าจะมาอยู่จุดนี้ แค่ข้ามวันอยู่ดีๆก็มีบอร์ดติด Congratulations ที่มหาวิทยาลัยด้วย (หัวเราะ)

cr. https://www.facebook.com/AjahnCharles

เปิ้ล: อย่างแรกต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองก่อน อย่างพวกหนูที่ตอนแรกจะไม่มาแข่งเพราะติดโปรเจคจบ แต่พอเราตัดสินใจให้โอกาสตัวเองมาแข่งก็พักการทำโปรเจคที่มหาวิทยาลัยก่อน แล้วมามุ่งไปที่การแข่งขัน LINE HACK เลย แค่เราเปิดให้โอกาสให้ตัวเอง เราก็จะมีอะไรดีๆให้ตัวเอง หรืออาจจะไปร่วมทีมกับคนอื่น ยิ่งเราคุยกันมากขึ้นไอเดียมันก็ยิ่งกว้างขึ้น ก็ทำให้เราก้าวข้ามข้อจำกัดของเราไปได้ด้วย

นัทโตะ: ต้องเป็นคนไม่กลัวเจ็บ กล้าเผชิญหน้าไม่กลัวความล้มเหลว จะได้รู้ว่าสิ่งที่เราขาด ที่ต้องพัฒนามันคืออะไร

--

--