รีวิวคอร์ส Presentation Design Principles จาก Skooldio หลักการออกแบบสไลด์ให้เข้าใจง่ายและสวยปัง!

Tan Warit
LINE Developers Thailand
4 min readJan 29, 2024

Disclaimer: ผมเอาแค่เนื้อหาบางส่วนมาแชร์ให้เพื่อนๆ ซึ่งเนื้อหาเต็มๆยังมีอะไรอีกเยอะมากสามารถตามไปเรียนกันเพิ่มเติมได้ครับ สอนโดยครูออย เจ้าของเพจ PresentX แต่พวกตัวอย่างรูปสไลด์ต่างๆผมหามาเสริมให้ครับ

ทำไมต้องออกแบบสไลด์?

ในแต่ละวันมีการสร้างสไลด์ขึ้นมาใหม่กว่า 35 ล้านสไลด์ OMG! แต่กว่า 90% มักเป็นสไลด์ที่ออกแบบมาไม่ดี ไม่สามารถสื่อสารได้เท่าที่ควรและผู้ฟังไม่สนใจ (เสียเวลาทั้งคู่) ดังนั้นเราควรตั้งใจออกแบบสไลด์เพื่อช่วยให้เนื้อหาที่เรานำเสนอมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเน้นให้มันเรียบง่าย (Minimal) และเป็นแค่ตัวช่วยประกอบการเล่าใน Present ให้คนฟังเค้ามา Focus เราพูดครับ

ออกแบบ vs ตกแต่ง

การออกแบบ ไม่เท่ากับ การตกแต่ง

ถ้าเราแค่เอาข้อมูลที่เรามีมาแปะลงในสไลด์ ใส่สี ใส่ Font เติมรูปเล็กน้อย อันนี้ครูออยบอกว่ามันคือการตกแต่งไม่ใช่การออกแบบ ถ้าเป็นการออกแบบมันจะต้องออกมาเป็นอีกรูปแบบ คนที่รับสารจะต้องดูง่ายขึ้นกว่าเดิม เห็นแล้วเข้าใจได้เลย มีการเน้นการใช้รูปภาพหรือ Visual ต่างๆให้ถูกต้อง

เราจะต้อง Focus ไปที่การออกแบบไม่ใช่การตกแต่ง เพราะว่าการ Present มันคือการสื่อสารทำให้คนรับสารเข้าใจได้ง่ายๆ ถ้าทำแต่ตกแต่งมันจะได้แค่ความสวยงามแต่อาจจะไม่ได้การสื่อสารด้วย

สไลด์ที่ดี?

สไลด์ที่ดี = สื่อสารให้เข้าใจได้ง่าย + สวยงาม

วิธีที่เราจะมั่นใจได้ว่ามันง่ายพอให้ทำตามกฎ 3 วิ จากหนังสือ Slide:ology® กฎนี้หมายความว่าสไลด์ต้องง่ายมากพอที่คนที่ดูสไลด์ต้องเข้าใจได้ในเนื้อหาที่เราจะสื่อสารได้เลยภายใน 3 วิ!

ตัวอย่างจากหนังสือ Made to stick ที่สมัยก่อนการทอด Popcorn ด้วยน้ำมันมะพรัาวจะมีไขมันอิ่มตัวสูงมาก ถ้าบอกแค่ว่ามันสูงนะแต่ผู้ฟังไม่เห็นภาพ เลยเทียบให้ดูว่าสูงขนาดเท่ากับเรากินทั้ง American breakfast+Steak+Hamburger รวมกันเลย

ส่วนเรื่องความสวยงาม ทุกๆคนชอบความสวยงามอยู่แล้ว มันช่วยเพิ่มความประทับใจให้ผู้ที่เห็นสไลด์ได้ด้วย ปัญหาของการออกแบบสไลด์ที่มักเจอกันบ่อยๆมี 5 ข้อหลักๆได้แก่

  1. อย่าใส่ข้อความมากเกินไป อันนี้ทุกคนคงพอทราบกันอยู่แล้ว ครูออยบอกว่าให้พยายามแปลงข้อความให้เป็นรูปภาพเพื่อสื่อสารให้เข้าใจง่ายขึ้น (ผมเสริมให้ว่า: ถ้ามีข้อความเยอะ เค้าจะอ่านนำเราไป และก็จะไม่มีคนฟังเรา)
  2. อย่าใช้ Bullet Point มากเกินไป เพราะปัญหาของ Bullet Point ไม่ได้บอกความสำคัญของข้อมูล ให้แปลง Bullet Point เป็นรูปภาพ หรือใช้ Icon เข้ามาช่วย
  3. ไม่ควรใช้ค่าเริ่มต้นที่โปรแกรมทำสไลด์ให้มา เช่น Smart Art หรือใช้ Font default แต่ให้สร้าง Visual ขึ้นมาใหม่หรือหา Font ข้างนอกมันจะช่วยให้น่าสนใจมากขึ้น
  4. อย่าใส่ทุกอย่าง “ไว้ในหน้าเดียว” เราควรจะทำ 1 สไลด์ -> 1 ประเด็นเท่านั้น เราไม่ได้ทำเอกสารให้คนอื่นอ่าน แต่เราจะทำ Present เพื่อให้เค้าฟังเรา เราก็ค่อยเล่าไปในแต่ละประเด็น (ยกเว้นสไลด์ประเภท Slide doc ที่เอาไว้ส่งให้อ่าน)
  5. อย่าออกแบบสไลด์แบบ “มั่วๆ” หมายความว่าสไลด์แรกจะใช้สีอะไรก็ใช้ อีกสไลด์ก็ใช้อีกสี Font อะไรก็เลือกมามั่วๆไม่ได้ Sync กันทั้งหมด และไม่ได้ดูว่ารวมๆมันเหมาะกับเนื้อหาในสไลด์เราไหม
ตัวอย่างสไลด์ที่ออกแบบให้เข้าใจง่ายและสวยงามโดดเด่นจาก https://www.presentationzen.com/

5 Keys Questions สำคัญก่อนไปออกแบบสไลด์

  1. Goal เป้าหมายในการนำเสนอครั้งนี้คืออะไร? เช่น ขายของ, Pitching ขายไอเดีย, ต้องการให้หัวหน้าอนุมัติ, สอนให้คนฟังมีความรู้ เป็นต้น
  2. Audience คนฟังคือใคร? เราจะได้สามารถเชื่อมโยงเนื้อหาของเรากับผู้ฟังได้ง่ายขึ้น เข้าใจปัญหาของเค้ามากขึ้น สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเค้าได้
  3. Where นำเสนอที่ไหน? ห้องมืดหรือสว่าง เราจะได้เตรียมสี Background ของสไลด์ได้ดีขึ้น เช่น ถ้าเป็น Hall มืดหน่อยเราอาจจะใช้ Background สีทึบจะได้ไม่แสบตาผู้ฟัง
  4. Challenge ความท้าทายคืออะไร? เช่น บางเนื้อหาของเรามันอาจจะยากเกินไป เราก็ต้องพยายามนำเสนอให้เค้าเข้าใจได้ง่ายที่สุด หรือมีประเด็นละเอียดอ่อนที่ต้องระวัง
  5. Key Message ประเด็นหลักในเนื้อหาของเราที่สรุปเป็น 1 ประโยคคืออะไร? ประโยคที่เราอยากจะให้ผู้ฟังจดจำได้

Design Principle

S.P.A.C.E เป็น Concept การออกแบบสไลด์ที่เราควรคำนึงถึงจากหนังสือ Slide:ology®

Simple — 1 สไลด์ = 1 ประเด็น (ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก หรือเอาไปพูดแทน)

Plan — เอาเนื้อหาที่คิดไว้ในข้อ Simple เอามาวาดแบบสไลด์ใน Post-it ก่อนที่จะไปทำสไลด์จริงๆ

Arrange — จัดเรียงวัตถุต่างๆให้สมดุลกัน ปรับขนาดให้เป็นระเบียบ หัวข้อใหญ่ต้องมีขนาดใหญ่กว่าหัวข้อย่อยๆ

Consistency — ในการออกแบบสไลด์ของเราให้เราเลือกโทนสี/Font/Icon ให้อยู่ในโทนเดียวกันทั้งหมดเลย เช่น Font ภาษาไทยเป็น Font นี้ ถ้าเป็น Font ภาษาอังกฤษจะใช้อีก Font แต่ปรับให้เหมือนกันทั้งสไลด์

Emphasis — คือการเน้นจุดสำคัญในสไลด์ ครูออยบอกว่าเรื่องนี้สำคัญมากๆ คือแทบจะบอกได้เลยว่าถ้าสไลด์ไหนไม่มีจุดสำคัญ อาจจะไม่มีความหมายในการสื่อสารเลยก็ว่าได้ เราต้องมีจุดโฟกัสสายตาให้มันเด่นๆด้วยรูป/สี/ขนาดที่แตกต่าง

https://www.presentationzen.com/

4 องค์ประกอบในการออกแบบสไลด์

1. ข้อความ

เลือก Font ให้สวยงามและอ่านง่าย ไม่ควรใช้ Font ที่มากับเครื่อง (เพราะมันไม่ค่อยน่าดึงดูด) แต่ไม่แนะนำให้ใช้ Font ที่เป็นพวกตัวเขียนเพราะมันอ่านยาก ให้ลองหา Download ได้มีหลายที่ฮะ เช่น LINE Seed ภาษาไทยก็มีครับ สวยด้วย!

การจัดวางข้อความ — เราต้องรู้ว่าเนื้อหาใน Slide อะไรเป็นส่วนที่สำคัญ แล้วดึงให้มันเด่นออกมาโดยใช้ตัวหนาบาง/สีมาช่วย แล้วเนื้อหารองลงมาก็ลดความเด่นลง

2. รูปภาพ

A picture is worth a thousand words ครูออยบอกว่าการใช้รูปภาพผู้ฟังจะสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ดีกว่าข้อความถึง 60,000 เท่า! ซึ่งในการใช้รูปภาพก็จะมีการใช้ภาพจริง (ช่วยโน้มน้าวใจผู้ฟังได้ดีกว่า) กับ ภาพกราฟิก (ช่วยอธิบายรายละเอียดยากๆได้ง่ายกว่า) ให้ลองหา Download ได้มีหลายที่ฮะ เช่น Freepik.com

3. สีสัน

เราจะต้องใช้สีอย่างมีเป้าหมาย เช่น เนื้อหานี้ควรสีอะไร (น้ำ=สีฟ้า, วิกฤต=สีแดง) หรือสีของแบรนด์ (LINE DEV=สีเขียว/สีน้ำเงิน, Skooldio=สีส้ม) หลักการคร่าวๆคือ

  • สีของ Background เราควรใช้สีจืดๆที่ดูสบายตาไม่แสบตา
  • สีของ Text กับ Background ควรจะต้องตัดกัน
  • ข้อความที่อยากจะเน้น สามารถใช้สีเจ็บ(สีเด่นๆ)ได้บ้างแต่ไม่ควรเยอะเกินไป

สามารถทดสอบการใช้สีด้วยเว็บไซต์ด้านล่างนี้ได้ฮะ (หรือใช้เทคนิค Color palette เข้ามาช่วยด้วยกฎ 60–30–10)

4. การจัดวาง

ให้วางองค์ประกอบที่อยู่ในสไลด์วางวัตถุเริ่มจาก “ซ้ายไปขวา” เพราะเราอ่านหนังสือจากซ้ายไปขวา วาง Alignment ให้ของวัตถุต่างๆให้มีขนาดสมดุลกัน, ใช้กฎ Rule of thirds มาช่วย (อาจจะใช้ไม้บรรทัดในโปรแกรมออกแบบมาช่วย)

Diagram Design

ตรงนี้จริงๆรายละเอียดเยอะครับเพราะใน Diagram ก็จะมีประเภทของกราฟต่างๆ วิธีเลือกใช้ก็จะแตกต่างกัน ผมสรุปเนื้อหาคร่าวๆมาให้ประมาณนี้นะครับ

  1. เราต้องสื่อสารความจริงให้ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นให้ระวังว่า Scale ขนาดกราฟ(ที่ผิดจากความเป็นจริง)ของเราอาจจะทำให้คนผู้ฟังเข้าใจผิดได้
  2. ใช้เครื่องมือประเภทกราฟต่างๆให้เหมาะสมกับข้อมูล พยายามเรียงข้อมูลให้เข้าใจง่ายๆ มองเห็น 3 วิแล้วเข้าใจได้
  3. ออกแบบให้เรียบง่าย มีจุด Focus ให้ชัดเจน (กราฟทุกประเภทรวมถึงตารางด้วยนะ) และเข้าใจง่ายตามกฎ S.P.A.C.E วางชื่อ/ข้อมูลในกราฟให้อ่านง่ายๆ ไม่ควรวางเอียงหรือต้องหมุนคออ่าน (ใจร้ายจัง 555+)
  4. ไม่แนะนำให้ใช้ 3D Diagram เพราะบางมุมตัวกราพ 3D มันมองแล้วผลของมันอาจจะทำให้ตีความผิดได้
  5. ไม่ควรใส่ข้อมูลในกราฟๆเดียวมากเกิน 3–5 อย่าง
  6. ใช้สีให้ดูสบายตา ไม่เอากราฟสีลูกกวาด Rainbow นะครับ 55+ ควรมีการเลือกสีว่าสีไหนเน้น สีไหนแค่เป็น Background (หลักการเดียวกันกับการออกแบบสไลด์ด้านบน)
https://www.presentationzen.com/

สรุปและแถม Reference & Tools

หวังว่าเพื่อนๆพี่ๆน้องๆน่าจะได้ประโยชน์จากบทความนี้เพื่อใช้ในการออกแบบสไลด์นะครับ ปัจจุบันนอกจาก Canva แล้วเรามีเครื่องมือที่ช่วยเราทำเยอะมากๆหรือแม้กระทั่ง AI ที่เราแค่มีแค่ Content แล้ว AI ช่วยออกแบบให้ทั้งหมด แต่ส่วนตัวผมยังชอบที่จะนั่งทำเองมากกว่า ผมเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจทำสไลด์ ความตั้งใจของเราจะสามารถสื่อไปหาผู้ฟังได้ครับผม ^^

--

--