สร้างร้านค้า LINE Chatbot ด้วย Stripe Payment APIs พร้อมเชื่อมต่อกับ Gemini : EP.0 EP.0 Introduction to Payment Gateway and Stripe Payment

Thepnatee Phojan
LINE Developers Thailand
4 min readApr 11, 2024

สวัสดีครับ บทความนี้จะพาไปรู้จัก Stripe Payment มาพร้อมกับ Use Case ง่ายๆ กับการสร้างร้านค้าผ่าน LINE Chatbot และซื้อสินค้าให้ชำระเงินผ่าน Stripe แต่..ยังไม่หมดแค่นั้น ผมจะทำให้ร้านเราน่าสนใจขึ้นอีกด้วยการใช้ Gemini มาแนะนำสินค้าให้กับร้านค้าของเรา

ในบทความผมจะค่อยๆ ปูพื้นฐานที่ละหัวข้อ ดังนี้

EP.0 Introduction to Payment Gateway and Stripe Payment

  • What is a Payment Gateway
  • What is a Stripe Payment

EP.1 Explore Stripe and Merchant onboarding (Normal Mode)

  • Register Stripe Account
  • Merchant onboarding
  • Manage products and prices
  • Payment by Promptpay
  • Report

EP.2 Explore Stripe Payment APIs (Developer Mode)

  • Explore Stripe Payment APIs
  • Stripe Payment APIs via Postman

EP.2 Integration LINE Chatbot and Gemini

  • Integration LINE Chatbot
  • Integration Gemini

ส่วนการเตรียมตัวของเพื่อนๆ จำเป็นต้องเตรียมตัวดังนี้

Services:

Software :

ในเนื้อหาของบทความนี้ สามารถให้คำแนะนำเพิ่มเติม หรือช่วยแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องได้ เพื่อเป็นประโยชน์แก้ผู้เริ่มต้นพัฒนาทุกท่าน

What is a Payment Gateway

Payment Gateway เปรียบเสมือน “ประตู” ที่เชื่อมต่อระหว่างร้านค้าออนไลน์, ลูกค้า, และธนาคาร ทำหน้าที่ในการประมวลผลข้อมูลการชำระเงิน ตรวจสอบความถูกต้อง และส่งต่อข้อมูลไปยังธนาคารของลูกค้าและร้านค้า เพื่อให้การทำธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์

ขั้นตอนการทำงานของ Payment Gateway

https://iq.opengenus.org/payment-gateway-system-design/
  1. ลูกค้าเลือกสินค้าและชำระเงิน: ลูกค้าเลือกสินค้าที่ต้องการและดำเนินการชำระเงินผ่านช่องทางที่ร้านค้ารองรับ เช่น บัตรเครดิต/เดบิต, พร้อมเพย์, โมบายแบงค์กิ้ง
  2. ส่งข้อมูลไปยัง Payment Gateway: ข้อมูลการชำระเงินจะถูกส่งไปยัง Payment Gateway เพื่อเข้ารหัสและตรวจสอบความถูกต้อง
  3. ตรวจสอบข้อมูลและส่งต่อ: Payment Gateway ตรวจสอบข้อมูลกับธนาคารผู้ออกบัตร หากข้อมูลถูกต้อง จะส่งต่อข้อมูลไปยังธนาคารของร้านค้า
  4. หักเงินและแจ้งผล: ธนาคารของลูกค้าหักเงินตามจำนวนธุรกรรม และแจ้งผลการทำรายการกลับมายัง Payment Gateway
  5. แจ้งผลการชำระเงิน: Payment Gateway แจ้งผลการทำรายการให้กับร้านค้าและลูกค้า กระบวนการชำระเงินเสร็จสมบูรณ์

ประเภทของ Payment Gateway แบ่งออกเป็น 2 ประเภทให้บริการ

  1. Payment Gateway Bank

Payment Gateway Bank คือ บริการช่องทางการชำระเงินออนไลน์ ที่พัฒนาและให้บริการโดยธนาคารพาณิชย์ ทำหน้าที่คล้ายกับ Payment Gateway Non-Bank แต่มีข้อแตกต่างบางประการ

จุดเด่นของ Payment Gateway Bank:

  • ความน่าเชื่อถือสูง: ได้รับการสนับสนุนจากธนาคาร มีความมั่นคงทางการเงิน และน่าเชื่อถือ
  • ความปลอดภัย: มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน และมีการตรวจสอบที่เข้มงวด
  • บริการครบวงจร: มักมีบริการเสริม เช่น ระบบบริหารจัดการความเสี่ยง ระบบป้องกันการทุจริต และบริการสินเชื่อ
  • เชื่อมต่อกับระบบธนาคาร: สะดวกในการบริหารจัดการเงิน และตรวจสอบยอดเงิน

ข้อจำกัดของ Payment Gateway Bank:

  • ค่าธรรมเนียมอาจสูงกว่า: โดยทั่วไป ค่าธรรมเนียมมักจะสูงกว่า Payment Gateway Non-Bank
  • กระบวนการสมัครอาจซับซ้อนกว่า: มีขั้นตอนการตรวจสอบที่เข้มงวด และอาจต้องใช้เอกสารประกอบการสมัครจำนวนมาก
  • ความยืดหยุ่นน้อยกว่า: อาจมีข้อจำกัดด้านประเภทธุรกิจที่รับรอง และอาจไม่รองรับธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง

ตัวอย่าง Payment Gateway Bank ในไทย:

  • K-Payment Gateway (ธนาคารกสิกรไทย)
  • Bualuang iPayment (ธนาคารกรุงเทพ)
  • SCB Payment Gateway (ธนาคารไทยพาณิชย์)
  • Krungsri Payment Gateway (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา)

2. Payment Gateway Non-Bank (ในบทความ ผมจะใช้ประเภทนี้)

Payment Gateway Non-Bank หรือ ช่องทางการชำระเงินออนไลน์ที่ไม่ใช่ธนาคาร กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและกลาง เนื่องจากมีความยืดหยุ่น ค่าธรรมเนียมที่แข่งขันได้ และกระบวนการสมัครที่รวดเร็วกว่าธนาคาร

จุดเด่นของ Payment Gateway Non-Bank:

  • สมัครง่าย อนุมัติเร็ว: กระบวนการสมัครมักจะง่ายและรวดเร็วกว่าธนาคาร เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการเริ่มต้นรับชำระเงินออนไลน์อย่างรวดเร็ว
  • ค่าธรรมเนียมที่แข่งขันได้: มักมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าธนาคาร ช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจ
  • ความยืดหยุ่น: รองรับธุรกิจหลากหลายประเภท รวมถึงธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เกมออนไลน์ หรือ ธุรกิจขายสินค้าสำหรับผู้ใหญ่
  • เทคโนโลยีทันสมัย: มักนำเสนอเทคโนโลยีและฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น การเชื่อมต่อกับ E-wallet หรือ ระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัส
  • บริการลูกค้า: มักให้ความสำคัญกับการบริการลูกค้า และมีทีมงานคอยให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหา

ข้อจำกัดของ Payment Gateway Non-Bank:

  • ความน่าเชื่อถือ: บางรายอาจมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าธนาคาร ควรเลือกผู้ให้บริการที่มีชื่อเสียงและได้รับใบอนุญาตถูกต้อง
  • ข้อจำกัดด้านวงเงิน: อาจมีข้อจำกัดด้านวงเงินการทำธุรกรรม ซึ่งอาจไม่เหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่
  • ฟีเจอร์: บางรายอาจมีฟีเจอร์ที่น้อยกว่าธนาคาร

ตารางเปรียบเทียบราคา :

จากตารางนี้ให้สังเกตตารางด้านล่าง ในส่วนของการให้บริการ QR PromptPay จะเห็นว่า Pay Solution ถูกที่สุด แต่ในบทความเราจะใช้กัน Stripe ค่าธรรมเนียม 1.65% เป็นอำดับ 2 ซึ่งไม่ว่ายังไงการเลือกใช้งาน ให้เพื่อน ๆ เลือกตัดสินใจจากองค์ประกอบหลายๆอย่าง มิใช่เพียงราคาอย่างเดียว

หมายเหตุ ราคาอาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้เสมอ เช่น หากติดต่อกับ Sale ก็มีความเป็นไปได้ ที่จะได้ราคาพันธมิตรที่ (ถูกลง หรือ อาจได้ Service พิเศษ แต่ราคาเท่าเดิม)

What is a Stripe Payment

Stripe Payment คือ ผู้ให้บริการ Payment Gateway ระดับโลก ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ E-commerce และ SaaS ด้วยระบบที่ทันสมัย มีความปลอดภัยสูง และรองรับธุรกิจระหว่างประเทศ ทำให้ Stripe กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจที่ต้องการเติบโตในตลาดโลก

ทำไม Stripe Payment ถึงน่าใช้?

  • ความน่าเชื่อถือและความปลอดภัย: Stripe เป็น Payment Gateway ที่ได้รับมาตรฐาน PCI DSS Level 1 ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดสำหรับการจัดการข้อมูลบัตรเครดิต นอกจากนี้ Stripe ยังมีระบบป้องกันการทุจริต และระบบตรวจสอบความเสี่ยง เพื่อความปลอดภัยของธุรกิจและลูกค้า
  • รองรับช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย: Stripe รองรับบัตรเครดิต/เดบิต หลากหลายประเภท รวมถึง Visa, Mastercard, American Express และรองรับการชำระเงินผ่าน E-Wallet ยอดนิยม เช่น Alipay, GrabPay, Apple Pay, Google Pay และยังรองรับ QR PromptPay ในประเทศไทย
  • รองรับธุรกิจระหว่างประเทศ: Stripe รองรับการชำระเงินจากทั่วโลก และรองรับสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งเหมาะสำหรับธุรกิจที่มีลูกค้าต่างชาติ
  • ฟีเจอร์ที่หลากหลาย: Stripe มีฟีเจอร์ที่ครอบคลุมความต้องการของธุรกิจ เช่น Recurring Payment, ระบบ Subscription, ระบบ Billing, ระบบ Invoicing, และอื่นๆ นอกจากนี้ Stripe ยังมี API ที่ยืดหยุ่น ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบต่างๆ ของธุรกิจได้ง่าย
  • ใช้งานง่าย: Stripe มี Dashboard ที่ใช้งานง่าย และมีเอกสารพร้อมตัวอย่างโค้ด ที่ช่วยให้สามารถเริ่มต้นใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
  • ทีมสนับสนุน: Stripe มีทีมสนับสนุนที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ ตลอด 24 ชั่วโมง

ข้อจำกัดของ Stripe:

  • ค่าธรรมเนียม: ค่าธรรมเนียมของ Stripe อาจสูงกว่า Payment Gateway บางรายในไทย โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต
  • ความซับซ้อน: Stripe มีฟีเจอร์ที่หลากหลาย ซึ่งอาจทำให้มีความซับซ้อนสำหรับผู้ใช้งานบางราย

Stripe Products:

https://stripe.com/th

บริการของ Stripe มีค่อนข้างมาก เราจึง ขอยกบริการที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ และมีการใช้งานอย่างมาก ดังนี้

  1. Payments (การชำระเงิน):
  • Stripe Payments: เป็นหัวใจหลักของ Stripe รองรับการรับชำระเงินผ่านช่องทางต่างๆ เช่น บัตรเครดิต/เดบิต, E-Wallet, QR Code, และการโอนเงินผ่านธนาคาร โดยมีความปลอดภัยสูง และรองรับธุรกิจระหว่างประเทศ
  • Checkout: หน้าต่างการชำระเงินสำเร็จรูป ที่สามารถฝังลงในเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน เพื่อให้ลูกค้าชำระเงินได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว
  • Payment Links: ลิงก์สำหรับการชำระเงิน ที่สามารถแชร์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อีเมล, โซเชียลมีเดีย, หรือแชท

2. Billing (การเรียกเก็บเงิน):

  • Subscriptions: ระบบจัดการการสมัครสมาชิก ที่ช่วยให้สามารถสร้างแผนการสมัครสมาชิกที่หลากหลาย พร้อมกำหนดราคา, ระยะเวลา, และสิทธิประโยชน์ รวมถึงจัดการการต่ออายุ, การยกเลิก, และการคืนเงิน
  • Invoices: ระบบออกใบแจ้งหนี้ แบบออนไลน์ ที่ช่วยให้สามารถสร้างและส่งใบแจ้งหนี้, ติดตามสถานะการชำระเงิน, และส่งการแจ้งเตือนการชำระเงิน
  • Billing: ระบบจัดการการเรียกเก็บเงินที่ยืดหยุ่น และปรับแต่งได้ รองรับการเรียกเก็บเงินแบบ metered billing (ตามการใช้งาน) และ proration (ตามสัดส่วนเวลา)

3. Connect (แพลตฟอร์ม):

  • Connect: แพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจ marketplace หรือธุรกิจที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ช่วยให้สามารถจัดการการชำระเงิน และการแบ่งรายได้ ระหว่างผู้ซื้อ, ผู้ขาย, และแพลตฟอร์ม
  • Express Accounts: ช่วยให้ผู้ขายบนแพลตฟอร์ม สามารถสร้างบัญชี Stripe และเริ่มรับชำระเงินได้อย่างรวดเร็ว

4. Business Operations (การดำเนินธุรกิจ):

  • Radar: ระบบป้องกันการทุจริต ที่ใช้ machine learning ช่วยลดความเสี่ยงในการถูกโกง และปกป้องธุรกิจจากการ chargeback
  • Sigma: เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล และสร้างรายงาน ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า และประสิทธิภาพของธุรกิจ
  • Tax: ระบบคำนวณและจัดเก็บภาษี อัตโนมัติ
  • Issuing: บริการออกบัตร สำหรับธุรกิจที่ต้องการออกบัตรให้กับลูกค้า หรือพนักงาน

5. Developer Tools (เครื่องมือสำหรับนักพัฒนา):

  • API Reference: เอกสารอ้างอิง API สำหรับนักพัฒนา ที่ต้องการเชื่อมต่อ Stripe กับระบบต่างๆ
  • Libraries: ไลบรารี่สำหรับภาษาโปรแกรมต่างๆ เช่น PHP, Ruby, Python, Node.js
  • Stripe CLI: เครื่องมือสำหรับการจัดการบัญชี Stripe ผ่าน command line

ซึ่งในบทความเราจะให้ความสำคัญกับการ เปิดร้านและเชื่อมต่อ Developer Mode ของทาง Stripe เป็นหลัก เพื่อน ๆ สามารถศึกษาฟีเจอร์อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ Link นี้

มาถึงตรงนี้แล้ว เพื่อน ๆ ก็ น่าจะเริ่มพอเข้าใจการทำงาน ของ Payment Gateway พอสังเขป และ Stripe Payment ที่จะมาเป็นพระเอกของบทความเราด้วยแล้วใช่ไหมครับ แต่ก่อนจะไปบทความถัดไป ให้เพื่อน ๆ สำรวจ สิ่งที่ต้องเตรียมจาก หัวข้อด้านบนสุดของบทความ ไว้ก่อนนะครับ เผื่อให้ สะดวกต่อการ ทำตามเนื้อหาใน EP 1–2 ครับ

--

--