เราทำ Retrospective ครั้งล่าสุดกันเมื่อไรน่ะ?
หลายคนอาจจะยังมีคำถามว่า Retrospective คืออะไร แต่ก็เชื่อว่ามีอีกหลายคนที่รู้จักกิจกรรมนี้เป็นอย่างดี แต่หลงลืมกันไปแล้วว่า ทีมของเรามีการทำ Retrospective กันครั้งล่าสุดคือเมื่อไร และ อะไรคือสิ่งที่ได้จากการทำ?
บทความนี้จะแบ่งปันมุมมองของกิจกรรม Retrospective ในหัวข้อต่อไปนี้
- Retrospective คืออะไร? ส่วนนี้เป็นการแนะนำให้กับคนที่ยังไม่คุ้นเคยคำนี้ หรือ อาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่ามันคืออะไร ส่งผลดีต่อเรา และ ทีมงานอย่างไรกันบ้าง
- หลักการและรูปแบบของกิจกรรม Retrospective มันมีโครงสร้างยังไงบ้าง? เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงที่มา และ รูปแบบกิจกรรมประเภทนี้
- กิจกรรม Retrospective มีอะไรบ้าง แต่ละแบบเหมาะกับใคร
- เทคนิคการรันกิจกรรม Retrospective อะไรคือสิ่งที่ควรทำ และ ไม่ควรทำบ้าง
โดยบทความนี้จะช่วยให้ทั้งคนที่ยังไม่มีกิจกรรม Retrospective ร่วมกันกับทีมมาก่อน หรือ อาจจะเคยทำแล้วได้มีโอกาสในการมาย้อนดูกิจกรรมที่เคยทำไป ว่ามีตกหล่นตรงไหนหรือเปล่า
Part 1 — Retrospective คืออะไร?
TLDR; Part นี้เหมาะกับคนที่ยังไม่เคยได้ยินกิจกรรมนี้มาก่อน ถ้าใครคุ้นเคยแล้วสามารถอ่านข้ามไปยัง Part ถัดไปได้เลย ซึ่งคร่าว ๆ มันคือ กิจกรรมที่จะช่วยให้ทีม และ ตัวเราเอง สามารถมองย้อนกลับไปได้ว่าอะไรคือจุดที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นในอนาคต
เราย้อนอดีตเพื่อไปแก้สิ่งที่ “ผิดพลาด” ไม่ได้ แต่เราสามารถ “แก้ไข” อนาคตได้
ถ้าเปรียบเทียบกิจกรรม Retrospective ที่ใกล้ตัวเราที่สุด ให้ลองนึกดูครับว่า
อะไรคือ new year resolution ปีนี้ของคุณ?
- บางคนอยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น เลยออกกำลังกาย เลือกทานอาหารที่มีคุณภาพ
- บางคนอยากผจญภัย ได้พบเจอสิ่งใหม่ ๆ เลยหาทริปเพื่อท่องโลกกว้าง
จะเห็นว่าทุกคนเลือกที่จะมองหาสิ่งที่อยากปรับปรุงจากเหตุการณ์ หรือ สถานการณ์ในปัจจุบัน/อดีต เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่เราคาดว่ามันต้องดีขึ้นกว่าเดิมใน อนาคต
สมมติ ว่าตัวเราในเวอร์ชั่นที่ดีอยู่คือ B เราก็ต้องมองย้อนไปถึงเหตุการณ์ในช่วง A -> B ว่ามีจุดไหนที่เราอยากปรับปรุงให้ตัวเราในเวอร์ชั่น C ดียิ่งขึ้น
ซึ่งคำว่า Retrospective มาจากรากคำของภาษาละติน นั้นคือ “การมองย้อนกลับไป” เราจะไม่สามารถทำให้ดีขึ้นเลย ถ้าเรายังไม่รู้ว่าตอนนี้สถานการณ์ในปัจจุบัน และ อดีต ของเราเป็นอย่างไร?
ดังนั้นวันนี้ผมจะพาให้ทุกคนรู้จักกับกิจกรรม Retrospective มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
กิจกรรม Retrospective คือการที่เราสามารถ ใส่ไอเดีย/ปัญหา/ส่ิงที่อยากปรับปรุง จากนั้นเราจะได้สิ่งที่ต้องทำเพื่อปรับปรุง และ ทดลองในอนาคต
คำว่า Retrospective ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ครับ เราอาจจะเคยเจอกิจกรรมแนว ๆ นี้ในชื่อที่แตกต่างกันออกไป อาทิ post mortem หรือ lessons learned ที่เรามักจะทำกันหลังจากจบ Project หรือเจอปัญหาบางอย่าง แต่ด้วย term นี้เริ่มเป็นที่นิยมจากการทำงานแบบ Scrum ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ทำให้คำนี้ได้ถูกกระจาย และ นำเอาไปใช้ในการเรียกกิจกรรมลักษณะนี้ในที่ต่าง ๆ ออกไป
แต่ไม่ว่ากิจกรรมนี้จะชื่ออะไรใน working process ต่าง ๆ แต่ผมมองว่าอยากให้ทุกคนเข้าใจแก่นหลักของมัน เพื่อที่จะสามารถนำไปปรับใช้กับเรื่องอื่น ๆ ได้ครับ
Part 2 — โครงสร้างของ Retrospective
กิจกรรม Retrospective ในมุมของผมมันมีหัวใจหลักอยู่ 2 เรื่องด้วยกันนั่นก็คือ
- Inspect — คือการที่เราสามารถย้อนไปดูได้เหตุการณ์ในตอนนี้จนถึงช่วงเวลาในอดีตที่เราสนใจ มีจุดไหนบ้างที่ถูกปรับปรุง หรือ อยากหยิบเอาเหตุการณ์ไหนมาปรับปรุง
- Adapt- คือการที่เรานำเอาสิ่งที่ได้ลงมือทำมาปฏิบัติ และ เก็บการวัดผล เพื่อที่เราจะได้นำมาประเมินต่อได้ว่า จุดที่เราปรับปรุงมีการแก้ไข หรือ พัฒนาให้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง
จากสิ่งที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะพบว่ากิจกรรม Retrospective เป็นหัวใจหลักเลยก็ว่าได้กับการทำงานในรูปแบบ itterative & incremental อาทิ Scrum ที่เป็นที่นิยม เพราะมันช่วยทำให้เราได้ทราบกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นยันจบ ได้ว่าสิ่งไหนที่ดีแล้ว หรือ สิ่งไหนที่ควรต้องปรับปรุง ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นในรอบต่อ ๆ ไป
โครงสร้างกิจกรรม Retrospective
กิจกรรม Retrospective นั้นถ้าอ้างอิงจากหนังสือ Agile Retrospectives: Making Good Teams Great (Pragmatic Programmers) จะประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ซึ่งค่อนข้างตรงไปตรงมามาก เหมาะแกการผู้ที่เพิ่งเริ่มรันกิจกรรมนี้ หรือ รันมานานแล้วและต้องการใช้หลักการนี้เพื่อเป็น check list กันการตกหล่นได้ค่อนข้างดีทีเดียวเลยครับ
- Set the stage — เป็นขั้นตอนแรกสุดของการเริ่มกิจกรรม เปรียบเสมือนการปรับ mood and tone ของคนร่วมกิจกรรม ในขั้นตอนแรกนี้เราจะเน้นการพูดคุย แลกเปลี่ยนกัน ในมุมผู้จัดกิจกรรมนี้อาจจะเริ่มจากหากิจกรรมที่เป็นรูปแบบ ice breaking หรือ check-in format มาก็ได้ เดี๋ยวขอลงในรายละเอียดใน Part ถัดไปครับ แต่นึกภาพมันคือการทำให้บรรยากาศของกิจกรรม เริ่มอุ่นเครื่องที่จะลงลึกถึงสิ่งที่เราต้องการปรับปรุงแก้ไข
- Gather data- ขั้นตอนนี้คือการที่ผู้เข้าร่วมจะเริ่มแชร์สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดนในขั้นตอนนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองต่าง ๆ ในการมองถึงปัญหาและสิ่งที่อยากปรับปรุง
3. Generate insight-ขั้นตอนนี้ผู้เข้าร่วมมีการแชร์เนื้อหาต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้ทุกคนประกอบการตัดสินใจ ว่าจะพูดคุยในประเด็นไหนต่อ ตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญอย่างมาก เสมือนกับการแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร แต่ละคนมีมุมมองที่ตรงกันไหม บางเรื่องอาจจะไม่เป็นปัญหาเลย เพียงแค่มันอาจจะมองไม่ครบทุกด้านในภาพที่ใหญ่ขึ้น หรือ มุมมองอื่น ๆ ประกอบ
4. Decide what to do- แน่นอนว่าเราเลือกที่จะปรับหรือแก้ไขทุกเรื่องไม่ได้ ดังนั้นผู้เข้าร่วมจะต้องมีการประเมินความหนักเบาของเรื่องนี้ หรือ ผลกระทบแค่ไหน เพื่อที่จะได้เลือก สิ่งที่ต้องการแก้ไขต่อไป
5. Close the retro-ส่วนท้ายสุด คือการสรุปข้อตกลงร่วมกัน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละเรื่องที่ตกลงกันไว้ เพื่อที่จะได้นำเอาสิ่งที่ตกลงกันนำไปทดลองปรับปรุงต่อไป
จาก 5 ขั้นตอนที่ได้กล่าวไป จะพบว่าหากเรามาเปรียบเทียบกับหลักการ Diverge และ converge ใน Design thinking ในกระบวนการคิดจะพบว่าคือสิ่งเดียวกัน ซึ่งขั้นตอนข้อ 1, 2, 3 คือช่วงของการ Diverge มีการนำเอาไอเดียและข้อมูล ต่าง ๆ จากผู้เข้าร่วมให้ได้มาประมาณนึง จากนั้น ในขั้นตอนที่ 4 และ 5 คือการ Converge หรือคือการขมวดปมออกมา ให้ได้ว่าอะไรคือส่ิงที่เราจะแก้ไข และ เราจะทดลองแก้ไขมันอย่างไรได้บ้าง
Part 3 — กิจกรรม Retrospective มีอะไรบ้าง
Mad sad glad หรือ Good bad try — กิจกรรม ที่คลาสสิคสุด ๆ แต่ก็เหมาะมากกับทีมที่ค่อนข้างใหม่ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจมากนัก
หลักการคือ เราจะค่อย ๆ พาทุกคนในทีมไล่ไปทีละ Column ของตาราง บางครั้งก็เริ่มจาก Glad คือเรื่องที่ดี ที่ผ่านมาอดีต (เปรียบเสมือนการ check-in ปรับ mood ของคนเข้าร่วมว่า กิจกรรมนี้กำลังจะเริ่มพูดคุยทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดีของช่วงที่ผ่านมาแล้วน่ะ) จากนั้นก็ให้ใส่ Sad/Mad เรื่องที่ไม่ค่อยดี โดยอาจจะใส่เป็น post-it แล้วแปะตามหัวข้อที่ scope ไปเบื้องต้น แต่ถ้าอย่างปัจจุบันก็สามารถใช้ online whiteboard เช่น Miro ก็ได้ครับ
หลังจากที่ทุกคนได้ใส่เรื่องราวที่ตัวเองอยากแลกเปลี่ยนแล้ว เราก็จะให้แต่ละคนแชร์สิ่งที่ตนเองเขียนมา จากนั้นก็จะมีการนำเอาเรื่องราวที่มีความคล้ายคลึงกันมาร่วมกลุ่มกัน เพื่อที่จะนำเอาประเด็นตรงนี้มาพูดคุยและหาแนวทางแก้ไขต่อไป
4L — Liked (สิ่งที่ชอบ), Learned (สิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่), Lacked (สิ่งที่เป็นอุปสรรค), Longed for (สิ่งที่ปรารถนา)
เป็นอีกรูปแบบของกิจกรรม ที่ก็นิยมกันมาก เหมาะกับทีมที่ทำงานด้วยกันมาซักระยะ และคุ้นเคยในเรื่องการทำ retrospective หลักการรันกิจกรรมก็จะมีความคล้ายกันกับกิจกรรมด้านบนครับ
Sail boat, rocker — อะไรคือตัวรั้งทีมเรา? อะไรคือตัวที่ทำให้ทีมเราไปได้เร็วขึ้น? บางครั้งการทำกิจกรรมรูปแบบเดิม ๆ บ่อย ๆ กับกลุ่มคนทำงานเดิม ก็อาจจะสร้างความเบื่อหน่ายได้ ดังนั้นรูปแบบกิจกรรมแนวนี้คือการเปรียบเทียบสิ่งต่าง ๆ อย่างสิ่งที่เราคุ้นเคย เช่น สมมติ ว่าทีมเราล่องเรือกันอยู่ เป็นเรือใบด้วย ทีนี้อะไรคือตัวที่รั้งทีมไว้ (สมอ) อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราไปได้เร็วขึ้น (ลม) กิจกรรมแนวนี้จะสนุกมากยิ่งขึ้นถ้าผู้เข้าร่วมได้วาดรูป ขีดเขียนสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่จะได้ทำกันโดยทั่วไป เป็นการดึงให้ผู้เข้าร่วมมีความอินกับกิจกรรมมากขึ้นครับ
สำหรับกิจกรรม Retrospective อื่น ๆ อยากจะขอแนะนำเว็บเหล่านี้ เอาไว้หยิบเลือกใช้งานได้ตามสะดวกเลยครับ
หรือถ้าผู้อ่านคนไหนมีลิงค์เด็ด ๆ ก็สามารถ comment มาได้ครับ เดี๋ยวผมทยอยแก้ไขเพิ่มให้ครับผม
Part 4 — ถ้าเราอยากให้กิจกรรม Retrospective มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าเวลาของทุกคนที่สุดอะไรคือสิ่งที่ควรทำ และ ควรหลีกเลี่ยง
Do — สิ่งที่ควรทำ
- ในมุมคนจัดกิจกรรม เราต้องแจ้งเป้าหมายของกิจกรรม กรอบเวลา และ ผลลัพธ์ให้กับผู้เข้าร่วมอย่างชัดเจน เพื่อให้คนที่เข้าร่วมได้เตรียมตัวว่าจะต้องเจอกับกิจกรรมแบบไหน โดยทั่วไปเพื่อให้เกิดเป้าหมายร่วมกัน scope ที่เราจะพูดคุยจะอยู่ใน 3 เรื่องดังรูปด้านล่าง People (คนและปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน), Process (กรอบการทำงาน วิธีการทำงาน) และ Tool (เครื่องมือ)
- เวลาเป็นส่ิงสำคัญ กิจกรรมที่ดีควรใช้เวลาอยู่ที่ 1–2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าเราทำ Retrospective บ่อยแค่ไหน ถ้ายิ่งไม่บ่อยอาจจะมีประเด็นให้พูดคุยเยอะ แต่ก็แนะนำว่าควรจัดบ่อย ๆ ดีกว่า ยิ่งเว้นนานหลายประเด็นก็หายไปแล้ว
- เช็คให้ชัวว่าทีมเรารู้สึกปลอดภัยไหมกับกิจกรรมนี้ ทีมกังวลที่จะแชร์แบบเปิดเผยชื่อ เราก็ต้องหารูปแบบกิจกรรมที่ปิดบังชื่อผู้นำเสนอประเด็น เป็นต้น
- ในมุมผู้จัด สิ่งที่เราควรทำคือให้ทุกคนเห็นว่าปัญหา หรือ อุปสรรคที่กำลังพูดคุยกันสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้
- พยายามหากิจกรรมที่เรียบง่ายที่สุด ยิ่งสำหรับผู้เข้าร่วมที่ยังไม่คุ้นเคยมากนัก การที่เราพยายามใช้รูปแบบกิจกรรมที่ซับซ้อนเกินไป ก็อาจจะทำให้เสียเวลาในจุดที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา
- ความสนุกเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่ว่ากิจกรรมต้องตลกแบบไปเรื่อย แต่ผู้จัดต้องคอยดูบรรยากาศของกิจกกรรมเรื่อย ๆ สามารถคุยตึงเครียดได้ แต่ก็ต้องมีจังหวะพักหรือเบรคให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหา
- บางครั้งเราเตรียมมาแบบนึง แต่ในบางประเด็นอาจจะต้องปรับแผนในการทำกิจกรรม เช่น คุณจะทำอย่างไร ถ้าเกิดมีคนนึงร้องไห้ขึ้นมากลางกิจกรรม คุณจะรันต่อไปตามแผนที่วางมาไว้ไหม หรือ จะปรับแผนแต่ให้ได้ผลลัพธ์ออกมา ดังนั้นพยายามยืดหยุ่นเข้าไว้ครับ อะไรก็เกิดขึ้นได้ในกิจกรรมนี
- สิ่งนึงที่เราควรทำหลังจบกิจกรรม คือการทำแบบสอบถาม feedback กิจกรรมนี้ ว่าตอบโจทย์แค่ไหน เพื่อที่เราจะได้นำเอาตรงนี้มาปรับปรุงเช่นเดียวกัน
Don’t— สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
- การมานั่งบ่น หรือ เบลม กันโดยไม่มีทางออก ดังนั้นในขั้นตอนแลกเปลี่ยนข้อมูลเราต้องแยก Fact (ข้อเท็จจริง) ออกมาจาก “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” ให้ได้
- แน่นอนว่าความปลอดภัยของข้อมูลที่เกิดการแชร์ในกิจกรรมนี้ควรจะไม่หลุดออกไป หากผู้ร่วมกิจกรรมไม่ยินยอนที่จะให้แชร์ออกไป อย่าลืมที่จะเช็คก่อนว่าข้อมูลไหนจำเป็นต้องแชร์ออกไปข้างนอกบ้าง แต่ถ้าสวยงามที่สุดคือเราควรแชร์ได้หมดถ้าทุกอย่างเป็นข้อเท็จจริงจากข้อ 1.
- ตรวจสอบให้ดีว่ากิจกรรมนี้ใครควรเข้าบ้าง ใครมีส่วนเกี่ยวข้อง ใครไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย เพื่อเป็นการประหยัดเวลา และ การแชร์ข้อมูลที่ตรงไปตรงมา กลุ่มคนที่อยู่ในกิจกรรมนี้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด
- ไม่มีสิ่งที่จะแก้ไข/ปรับปรุง ออกไปจากกิจกรรมนี้ ทุกคนคาดหวังอยากเห็นสิ่งที่ดีขึ้น ดังนั้นควรมีการวัดผล ตรวจสอบ ติดตาม สิ่งที่จะนำไปแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้สิ่งที่เรายอมใช้เวลาตรงนี้ร่วมกันเกิดผลที่ดีที่สุดตามมา
- อยากแก้ไขปรับปรุง หลายอย่าง เหตุการณ์นี้มักจะเกิดกับผู้ที่ร่วมทำกิจกรรมเป็นครั้งแรก ๆ ดังนั้นแนะนำว่าเลือกทำไม่ต้องเยอะ แต่มีการนำเอาผลมาแสดงกันเรื่อย ๆ และลดระยะเวลาที่จะทำกิจกรรม Retrospective ให้ถี่มากขึ้นจะดีกว่า
- หลายคนมักจะลืมว่าจะวัดผลของความสำเร็จสิ่งที่เรากำลังปรับปรุงอยู่ อย่าลืมว่าเราต้องมีการวัดผลด้วยว่าอะไรคือตัวชี้วัดของปัญหา หรือ สิ่งนี้ได้ถูกแก้ไขที่มันดีขึ้นแล้ว เพื่อที่เราจะได้มาย้อนดูกันกับทีมว่าสถานการณ์มันเป็นอย่างไรบ้าง
จบไปแล้วกันกับบทความที่เกี่ยวกับกิจกรรม Retrospective ทีนี้ลองย้อนกลับมาตอบคำถามแรกที่ผมได้ถามไปในช่วงแรกสุดเลย นั่นคือ
เราทำ Retrospective ครั้งล่าสุดกันเมื่อไรน่ะ?
ถ้าหากใครยังไม่เคยทำก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากครับ ที่เราจะได้รู้จักกัน เข้าใจปัญหา สิ่งที่อยากปรับปรุงได้มากยิ่งขึ้น ส่วนถ้าใครเคยทำแล้ว แต่นาน ๆ ทำทีลองกลับไปมองย้อนดูกิจกรรมว่าทำไมกัน “เราถึงทำมันไม่บ่อยยิ่งขึ้นน่ะ?”
Reference
ว่าแต่ใครอ่านถึงตรงนี้ หากคุณเป็นคนนึงที่…
- ชื่นชอบการมองหา Working process ใหม่ ๆ ไม่หยุดที่จะศึกษาและเรียนรู้ใน Methodlogy อาทิ Agile, Kanban หรือ Framework อย่าง Scrum เพื่อนำมาใช้ในการทำ Product delivery ได้อย่างสวยงาม
- ชอบการทำงานร่วมกันกับทีม Developer, UX และ Biz อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการทำงานที่ smooth สุด ๆ
- เราอยากให้คุณ จิ้มตรงนี้ แบบเบา ๆ ครับ
สำหรับบทความอื่น ๆ ติดตามกันไว้ในช่องทางนี้น่ะครับ ผมจะทยอยมาแบ่งปันกันอีกในครั้งถัดไป ถ้ามีส่วนไหนในเนื้อหาผิดพลาด คลาดเคลื่อน สามารถ Feedback เพื่อทำการแก้ไขให้ถูกต้องได้ครับผม