กฎแม่บทสำหรับการเทรด

วิเคราะห์หนังสือ Definitive Guide to Position Sizing Strategies: ตอนที่ 1

Tanakorn Numrubporn
Machine Reading
2 min readMay 23, 2018

--

เหตุการณ์ต่อไปนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2505

ชายคนหนึ่งชื่อ แวน ธาร์พ ตอนอายุ 16 ตั้งใจเก็บเงินเพื่อนำไปลงทุนในหุ้น ก่อนจะเริ่มก็มีการวิจัยมาบ้าง โดยไปหาพวกหุ้นตัวท๊อปๆ จากแมกกาซีนทั้งหลาย แล้วเด็กชาย ธาร์พ ก็ได้หุ้นตัวแรกในชีวิตมาชื่อว่า Poloron ซึ่งเป็นบริษัททำโทรศัพท์บ้าน

ตอนนั้นหุ้นขายอยู่ที่ 8 เหรียญ/หุ้น เด็กชายจึงกัดฟันนำเงินเก็บจำนวน 800 เหรียญมาซื้อ Poloron จำนวน 100 หุ้น และภายในไม่ถึงปี ราคาหุ้นพุ่งขึ้นจาก 8 เหรียญ ไปเป็น 20 เหรียญ

เด็กชาย ธาร์พ รู้สึกมีความสุขยิ่งนัก เพราะแค่ลงทุนครั้งแรก ก็ได้ผลตอบแทนเกิน 100% แล้ว

แต่เรื่องมันไม่ได้จบง่ายๆ แบบนั้น เพราะเมื่อเด็กชายซื้อหุ้นด้วยความไร้เดียงสา เขาก็ถือหุ้นด้วยความไร้เดียงสาเช่นกัน ไม่เคยย้อนกลับมาตรวจสอบพื้นฐานหุ้น ค่า P/E ยังดีอยู่เหมือนเดิมมั๊ย นับตั้งแต่วันแรกที่เขาซื้อมา แล้วกำไรต่อหุ้นล่ะ มันเพิ่มขึ้นหรือเปล่า

ทั้งหมดนี้ เด็กชาย ธาร์พไม่เคยกลับไปดูเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะเด็กชายมองว่า เขาทำทุกอย่างที่ควรทำแล้ว ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มอีก

ผลคือ หุ้นร่วงไปที่ 4 เหรียญ แต่เด็กชายก็รู้สึกว่าต้องซื้อเพิ่มเพราะเด็กชายรู้สึกว่าจะได้หุ้นเพิ่มเป็นสองเท่าจากเงินเท่าเดิมจำนวน 800 เหรียญ แล้วจากนั้นราคาหุ้นก็ร่วงลงไปที่ 2 เหรียญ ซึ่งเด็กชายก็ซื้อเพิ่มอีก

สุดท้าย เด็กชายลงเงินไปทั้งสิ้น 1,400 เหรียญ เพื่อแลกกับหุ้น Poloron จำนวน 300 หุ้น

ท้ายที่สุด บริษัท Poloron เกิดล้มละลาย หุ้นทั้งหมดมีมูลค่าเหลือแค่ 0 เหรียญ

เรามาวิเคราะห์ความผิดพลาดของเด็กชาย แวน ธาร์พกันดีกว่า

ก่อนจะอ่านต่อ คุณคิดว่าเด็กชายทำพลาดตรงไหนครับ (โปรดตอบภายในใจก่อนอ่านต่อนะครับ เพื่ออรรถรสในการอ่าน)

บางคนอาจจะบอกว่า เด็กชายเลือกหุ้นผิด

แต่บอกเลยว่า การเลือกหุ้นผิดน่ะ มันคือปรกติอยู่แล้ว และบริษัทที่ทำตัวแบบ Poloron นั้นก็มีอยู่มากในตลาดหุ้น ดังนั้น โอกาสจะเลือกหุ้นให้ถูกนั้น มันน้อยมาก

หากใครที่คิดว่า การลงทุนคือการเลือกหุ้นให้ถูกตัว แล้วอยู่กับมันไปนานๆ บอกเลยว่า คุณมีโอกาสเจอหุ้นล้มละลายมากกว่าหุ้นที่จะทำเงินให้คุณอย่างแน่นอน

ย้อนกลับไปดูในตอนเริ่มต้น

ราคาหุ้นมันวิ่งจาก 8 เหรียญ ไปที่ 20 เหรียญ คิดง่ายๆ ว่า นี่คือการลงทุนที่ได้ผลตอบแทน 150% ภายในปีเดียว ซึ่งฟังดูแล้วมันเหมือนจะเป็นการลงทุนที่ดีด้วยซ้ำไป แต่ความผิดพลาดมันมีอยู่ 3จุด ดังนี้

จุดแรก เด็กชายธาร์พไม่ได้กำหนดไว้ก่อนว่า จะยอมเสี่ยงที่สุดแค่ไหน ซึ่งหมายความว่า หากทิศทางราคาไม่ได้วิ่งไปในทางที่ตนเองคาดหวัง (ขาขึ้น) เขาจะออกจากการลงทุนเมื่อไหร่ หากผมกำหนดว่า จะออกจากการลงทุนเมื่อขาดทุน 2 เหรียญต่อหุ้น นั่นแปลว่า ผมจะต้องออกจากการลงทุนที่ 6 เหรียญ เป็นต้น

จุดที่สอง เด็กชายไม่ได้วางแผนในการทำกำไร เช่น บอกกับตัวเองว่า “หากหุ้นวิ่งขึ้นไปสองเท่า ผมจะขายหุ้นทั้งหมด” หรือจะทำ trailing stop ที่ 25% แปลเป็นภาษาคนได้ว่า หากเมื่อไหร่ที่ราคาหุ้นมันร่วงจากราคาสูงสุดเป็นจำนวน 25% จะขายหุ้น ให้ดูตัวอย่างจากรูปต่อไปนี้

การทำ Trailing Stop 25% กับหุ้น Poloron

จะเห็นได้ว่า วันแรกที่เริ่มลงทุนที่ราคา 8 เหรียญต่อหุ้น ตัว Trailing Stop จะอยู่ที่ 6 เหรียญ หมายความว่า หากราคามันลงมาที่ 6 เหรียญเมื่อไหร่ จะออกทันที แต่เมื่อราคาเพิ่มขึ้นไปจนถึง 20 เหรียญ ในวันที่ 7 ค่าของ Trailing Stop จะยกระดับตามขึ้นไปด้วย โดยจะอยู่ที่ 15 เหรียญ

จุดสำคัญมันอยู่ตรงนี้ เมื่อ Trailing Stop มันอยู่ที่ 15 เหรียญ หมายความว่า หากราคาตกลงมา ถึง 15 เมื่อไหร่จะออกทันที ดังนั้น ในวันที่ 8–9 ที่ราคามันเริ่มลง แต่ยังไม่ถึง 15 เหรียญ จะยังไม่ออก แต่จะออกวันที่ 10 เพราะราคามันวิ่งไปแตะที่ 15 แล้วลงต่ำไปถึง 14

หากทำตามนี้ เด็กชายธาร์พจะได้ผลตอบแทน 87.5% เพราะได้กำไร 7 เหรียญ ($15-$8) เมื่อไม่มีจุดออก (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Stop) เด็กชายจึงถือหุ้นไปเรื่อยๆ จนเลยจุดที่เหมาะสม และถือจนไม่เหลือมูลค่า

จุดที่สาม เด็กชายธาร์พไม่รู้จักคำว่าความเสี่ยง และไม่รู้วิธีบริหาร สมมติว่า เด็กชายเลือกใช้วิธี Trailing Stop 25%จากตัวอย่างที่แล้ว นั่นแปลว่า เขาจะเลือกเสี่ยงด้วยเงินจำนวน $200 (20% ของ $800) แทนที่จะเสี่ยงเต็มจำนวน $800 เหมือนตอนแรก

สรุป เด็กชายธาร์พในตอนนั้น ไม่มีแผนการ ไม่มีกฎ และไม่มีวิธีการใดๆ เลย (มั่วล้วนๆ)

จากความผิดพลาดที่กล่าวมา เด็กชายแวน ธาร์พในวันนี้ ได้กลายเป็น ดร. แวน ธาร์พ ที่ใครๆ ในวงการก็รู้จัก (Van K. Tharp) ท่านได้ตั้งกฎการเทรดอันเป็นกฎแม่บทไว้ 8 ข้อดังนี้

  1. อย่าเพิ่งลงเทรดในหุ้นตัวไหนก่อนที่จะรู้ว่าความเสี่ยงอยู่ที่เท่าไหร่ โดยความเสี่ยงก่อนลงทุนนี้ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Initial Risk มีหน้าที่ในการปกป้องเงินทุนบนหน้าตักของคุณ ซึ่งมันก็คือ Stop Loss ที่คุณตั้งไว้ตั้งแต่แรก สมมติว่าหากคุณจะลงหุ้นราคา $8 แล้วคุณตั้งใจว่าจะออกเมื่อราคาตกไปที่ $6 แปลว่า Initial Risk หรือ R ของคุณจะอยู่ที่ $2 ต่อหุ้น
  2. เวลามองผลตอบแทน (หรือการขาดทุน) ให้มองเป็นสัดส่วนกับความเสี่ยง (ไม่ใช่ % ผลตอบแทนแบบที่ชอบๆ คิดกัน) หากคุณเสี่ยงที่ $100 แล้วได้ผลตอบแทนกลับมา $200 แปลว่าคุณได้กำไร 2R หากคุณเสี่ยง $100 แล้วขาดทุน $150 แปลว่าขาดทุน 1.5R นี่คือวิธีคิดที่ถูกต้อง และเป็นการฝึกให้คุณคิดถึงผลตอบแทนให้อยู่ในรูปของ “ผลตอบแทนต่อความเสี่ยง” แทนที่จะเป็นผลตอบแทนลอยๆ แบบดั้งเดิม
  3. จำกัดความเสี่ยงของคุณให้อยู่ที่ระดับ 1R หรือต่ำกว่าเท่านั้น หมายความว่า หากราคามันตกลงมาถึงจุด Stop ของคุณแล้ว ห้ามเสียดาย ต้องขายออกสถานเดียว เพราะหากมันลงไปต่ำกว่าจุดนั้น หายนะจะบังเกิด เพราะแทนที่คุณจะขาดทุนแค่ 1R ตามที่ตั้งไว้ อาจจะเลยเถิดไปถึงระดับ 4R เลยก็ได้
  4. และต้องมั่นใจว่า กำไรโดยเฉลี่ยแล้วต้องสูงกว่า 1R เพราะจะมีประโยชน์อะไรที่เราสู้อุตส่าห์เสี่ยงแทบตาย สุดท้ายได้กำไรมาในระดับเท่าๆ กับความเสี่ยง (หรือต่ำกว่า) ดังนั้น ตัวเลขที่พอเหมาะก็คือ การลงทุนแต่ละตัวโดยเฉลี่ยควรจะได้กำไร 3R
  5. มองระบบการลงทุนของคุณในรูปของค่าเฉลี่ย R และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน R เพราะมันจะทำให้คุณรู้ว่าแต่ละการเทรด คุณจะคาดหวังผลตอบแทนได้แค่ไหน และมีโอกาสที่จะ “เพี้ยน” ไปจากค่าเฉลี่ยได้มากน้อยแค่ไหน (ซึ่งก็คือค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานนั่นเอง)
  6. ออกแบบเป้าหมายการเทรดของคุณขึ้นมา โดยหยาบๆ เป้าหมายการเทรดที่ดีต้องมีอย่างน้อยก็เป้าหมายของการเทรด และจุดที่คุณจะต้องหยุดเทรด
  7. ฝึกเรื่อง Position Sizing หรือการจัดขนาดจำนวนเงินว่าจะลงแต่ละรอบเท่าไหร่ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของบทความชุดนี้ทั้งหมด ดังนั้น ขอติดรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ก่อน
  8. ใช้ค่าทางสถิติในการคำนวน Position sizing และการเลือกระบบการลงทุน (ซึ่งจะมีการกล่าวถึงในเนื้อหาในส่วนถัดๆ ไป)
  9. มองภาพรวมให้ออกว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่มีอิทธิพลต่อตลาด จากนั้นหาวิธีวัดอย่างเป็นรูปธรรมว่าปัจจัยพวกนั้นเกิดขึ้นหรือยัง และมีความรุนแรงแค่ไหน และสุดท้าย นำข้อมูลทั้งหมดมาเขียนเป็นแผนการเทรดเพื่อช่วยให้คุณระวัง หรือฉกฉวยโอกาสจากปัจจัยเหล่านี้ได้

รายละเอียดการประยุกต์ใช้กฎทั้งหมดนั้น ผมจะกล่าวถึงอย่างละเอียดในตอนต่อๆ ไปครับ

--

--