ความเสี่ยง R-Multiple และ Expectancy

วิเคราะห์หนังสือ Definitive Guide to Position Sizing Strategies: ตอนที่ 2

Tanakorn Numrubporn
Machine Reading
4 min readMay 25, 2018

--

ตอนนี้เราจะมาว่ากันด้วยกฎแม่บทของการเทรดข้อแรก อันว่าด้วยเรื่องของ การกำหนดจุดออกเพื่อรักษาเงินทุนหน้าตักของคุณไว้

ในที่นี้เราจะขอนิยามศัพท์บางคำกันก่อนนะครับ ความเสี่ยงที่เกิดจากการกำหนดตั้งแต่แรกก่อนการลงทุนใดๆ ก็ตาม เราจะเรียกกันว่า Initial Risk หรือ R และจากนี้ไปเราจะเรียกกันว่า R เฉยๆ

เวลาคิดคำนวณเรื่อง R นั้นเราจะมองที่จำนวนเงินที่เราพร้อมจะเสียไป เช่น หากหุ้นมีราคา 8 บาทและเราพร้อมจะออกที่ 6 บาทแปลว่าเราพร้อมจะเสียเงิน 2 บาทต่อหุ้น ซึ่งหากเราซื้อ 100 หุ้น แปลว่า เราพร้อมเสียเงินทั้งก้อนอยู่ที่ 200 บาท (แต่ลงทุน 800 บาท)

จุดที่อยากให้สังเกตก็คือ ความเสี่ยง ไม่ใช่จำนวนเงินที่ลงทุนนะครับ เพราะการซื้อหุ้นราคา 8 บาทจำนวน 100 หุ้น เราจ่ายเงินทั้งหมด 800 บาท (เพื่อความเรียบง่าย ขอตัดเรื่องค่าธรรมเนียมออกไปก่อน) แต่เรามีความเสี่ยงอยู่ที่ 200 บาท

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ เราจะไม่ยอมให้เงิน 800 บาทของเราเสียหายจนหมด เพราะเราจำกัดไว้ที่ 200 บาทไว้แต่แรก ดังนั้น ความเสี่ยงทั้งหมด (หรือ R รวม) ของตัวอย่างนี้จึงอยู่ที่ 200 บาท

เรามาดูตัวอย่างโจทย์กันดีกว่า เพื่อฝึกสมองให้คล่อง

ข้อแรก: ฮิมซื้อหุ้นที่ราคา 50 บาทต่อหุ้น แล้วตัดสินใจที่จะขายทิ้งหากราคามันตกลงมาที่ 45 บาท ค่า R หรือความเสี่ยงต่อหุ้นจะอยู่ที่เท่าไหร่ครับ?

ข้อสอง: เซ้งซื้อหุ้นตัวเดิมที่ราคา 50 บาท แต่ตัดสินใจว่า หากราคามันตกลงมาที่ 48 บาท จะขายทิ้งเพื่อตัดขาดทุน ค่า R ของเซ้งอยู่ที่เท่าไหร่

เฉลยข้อแรก: R ของฮิมอยู่ที่ 5 บาทต่อหุ้น หากฮิมซื้อ 100 หุ้น แปลว่า R รวมของเขาจะอยู่ที่ 50 บาท

เฉลยข้อสอง: R ของเซ้งจะอยู่ที่ 2 บาทต่อหุ้น

สังเกตมั๊ยครับ ฮิม กับเซ้งซื้อหุ้นตัวเดียวกัน ที่ราคาเดียวกัน แต่คิดไม่เหมือนกัน ฮิมกล้าเจ็บมากกว่า ในขณะที่เซ้งมีความอนุรักษ์นิยมมากกว่า

ข้อสาม: คุณตั้งใจจะซื้อหุ้นราคา 24 บาทต่อหุ้น แล้วตัดสินใจใช้วิธี Trailing Stop ที่ 25% ในการออกจากการลงทุน ซึ่งแปลว่า คุณจะออกจากการลงทุนเมื่อราคามันตกลงต่ำกว่าราคาเข้า (24 บาท) เป็นจำนวน 25% หรือต่ำกว่า 18 บาท คำถามคือค่า R สำหรับครั้งนี้อยู่ที่เท่าไหร่

ข้อสี่: คุณอยากจะเทรดค่าเงินโดยมีเงินอยู่ในมือ 300,000 บาท สมมติให้เป็นการเทรดค่าเงิน Euro โดยกำหนดไว้ว่า คุณจะต้องลงทุนขั้นต่ำ 300,000 บาท และคุณจะขายทิ้งทั้งหมดทันทีหากมูลค่ามันติดลบ 30,000 บาท คำถามคือความเสี่ยงของคุณอยู่ที่เท่าไหร่

เฉลยข้อสาม: ความเสี่ยงหรือ R อยู่ที่ 6 บาท หรือพูดเป็นทางการได้ว่า 1R ของการลงทุนนี้อยู่ที่ 6 บาทต่อหุ้น

เฉลยข้อสี่: ค่า R สำหรับการเทรดนี้อยู่ที่ 30,000 บาท พูดเป็นทางการได้ว่า 1R = 30,000 บาท

ทำความเข้าใจ R-Multiple

คำถามคือ เราจะรู้เรื่องความเสี่ยงไปทำไม? ทำไมถึงต้องยกเรื่องความเสี่ยงมาเป็นเรื่องแรก แทนที่จะเป็นเทคนิคการเลือกหุ้น หรือเทคนิคทำกำไร

ก็เพราะความเสี่ยงคือสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด และเป็นแกนกลางของทุกอย่าง เป็นจุดเริ่มต้นของการเทรด มือใหม่หัดเทรดจะคิดแต่เรื่องผลตอบแทน แต่มือเก๋าจะเอาเรื่องความเสี่ยงมาคุยกันเป็นหลัก

R-Multiple เป็นการนำความเสี่ยงตั้งต้น หรือค่า R ใช้เป็นหลักคิดในการคำนวนผลตอบแทน (หรือการขาดทุน) โดยนำผลตอบแทนมาเทียบกับ R ยกตัวอย่างเช่น หากคุณซื้อหุ้นที่ราคา 50 บาท แล้วตั้งใจจะออกหากราคามันตกลงมาที่ 40 บาท นั่นแปลว่า 1R จะอยู่ที่ 10 บาทต่อหุ้น แต่หากคุณดันไปออกตอนที่ราคาหุ้นมันตกลงมาอยู่ที่ 30 บาท แปลว่า คุณจะขาดทุนมากกว่า 1R แล้ว แต่เป็น 2R

ซึ่งหากยังจำกฎแม่การเทรดได้ล่ะก็ คุณต้องจำกัดการขาดทุนให้ไม่เกินระดับ 1R ให้ได้

ต่อไปนี้เป็นแบบฝึกหัดที่จะฝึกให้คุณคิดถึงผลลัพธ์การลงทุนในมุมของความเสี่ยง (เฉลยจะอยู่ถัดจากแบบฝึกหัด)

  1. หากคุณซื้อหุ้นที่ราคา 40 บาท แล้ววางแผนไว้ว่าจะออกเมื่อราคาตกลงมาที่ 38 บาท แต่ปัญหาคือเช้าวันถัดมา ราคาดันเปิดกระโดดลงข้างล่างไปอยู่ที่ 31 บาท เท่ากับว่าคุณขาดทุน 9 บาทต่อหุ้น คำถามก็คือ ผลตอบแทนของคุณเมื่อเทียบกับความเสี่ยงตั้งต้น (R) จะเป็นกี่เท่า?
  2. คุณซื้อหุ้นราคา 40 บาท/หุ้น แล้ววางแผนว่าจะหากราคามันร่วงลงไป 10% หรือ 36 บาท คุณจะออก และหากราคามันขึ้นไปที่ 80 บาท/หุ้น กำไรเมื่อเทียบกับความเสี่ยงจะเป็นเท่าไหร่ (R-Multiple)?
  3. คุณซื้อหุ้นที่ราคา 40 บาท/หุ้น แล้ววางแผนจะออกหากราคาตกไปที่ 36 บาท หากคุณขายหุ้นที่ราคา 45 บาท ตัวเลขกำไรของคุณในรูปของ R-Multiple จะเป็นเท่าไหร่?
  4. คุณซื้อหุ้นที่ราคา 60 บาท และตั้ง Stop Loss (ราคาที่คุณจะออก) ไว้ที่ 55 บาท แต่พอราคาตกไปถึง 55 บาทจริง คุณกลับทำใจขายไม่ได้ คุณหวังว่ามันจะกลับมา รอไปรอมา หนังสือพิมพ์ก็ตีข่าวอื้อฉาวของบริษัทจนทำให้หุ้นกลายเป็นขยะไปในชั่วพริบตา เพราะราคาหุ้นตกลงจนเหลือ 0 บาท คำถามคือ คุณขาดทุนเท่าไหร่ในรูปของ R-Multiple? (นี่คือตัวอย่างของการทนถือหุ้นแบบละเมิดกฎตัวเองจนเจอกับหายนะเข้า)
  5. คุณซื้อหุ้นราคา 50 บาท แล้วตั้ง Stop Loss ที่ 49 บาท จากนั้นราคาหุ้นก็พุ่งเป็นจรวด ภายใน 3 สัปดาห์ ราคาวิ่งไปแตะที่ 70 บาท/หุ้น กำไรในรูปของ R-Multiple ของการเทรดครั้งนี้เป็นเท่าไหร่?
  6. คุณซื้อหุ้นที่ราคา 50 บาท แล้ววางแผนจะออกโดยใช้ Trailing Stop ที่ 25% เมื่อหุ้นวิ่งขึ้นไปถึง 64 บาท แล้วจากนั้นราคาก็ตกลงมา 25% อยู่ที่ 48 บาท แล้วคุณก็ออกจากการเทรด ณ ตรงนั้น คุณขาดทุนเท่าไหร่ (ให้คิดในรูปแบบ R-Multiple)?
  7. คุณซื้อออพชั่นหุ้นที่ราคา 3 บาท แล้วตั้งไว้ว่า หากราคาออพชั่นตกลงมา 50% จะออก แต่ราคาหุ้นของออพชั่นตัวนี้วิ่งขึ้นไปที่ 10 บาท ทำให้ราคาออพชั่นวิ่งตามขึ้นไปที่ 12 บาท และคุณก็ขายออพชั่น ณ ราคานั้น กำไรแบบ R-Multiple เป็นเท่าไหร่?
  8. คุณซื้อออพชั่นหุ้นที่ราคา 4.50 บาท และตั้งไว้ว่าหากราคาออพชั่นมันตกลงมาอยู่ที่ 3 บาทก็จะขาย แต่อย่างไรก็ตาม ราคาของออพชั่นกลับร่วงแบบกระโดด (gap down) ลงไปอยู่ที่ 1.50 บาท คุณจึงตัดสินใจถือต่อแล้วหวังให้หุ้นมันวิ่งกลับ ซึ่งก็ไม่เกิดขึ้น รอจนออพชั่นหมดอายุทำให้ออพชั่นนั้นหมดราคา ครั้งนี้คุณขาดทุนกี่ R-Multiple?
  9. หุ้นตัวหนึ่งทำ break out จากกรอบราคาเดิมไปทำราคาที่ 40.35 บาท คุณตัดสินใจว่า หากราคาวกกลับมาอยู่ในกรอบที่ราคา 40 บาท คุณจะออก หรือหากหุ้นมันวิ่งขึ้น ไปทำกำไร จะใช้วิธี Trailing Stop ที่ 10% และแล้วหุ้นตัวนี้ก็วิ่งขึ้นไปที่ 57.20 บาท แล้วก็ตกลงมา ทำให้คุณต้องออกที่ 51.48 บาท คิดเป็นกำไรในรูปแบบของ R-Multiple เท่าไหร่?

เฉลย: โปรดทำความเข้าใจในคำตอบแต่ละข้อให้ดีก่อนไปต่อ

  1. 1R = 2 บาท คุณขาดทุน 9 บาท/หุ้น ดังนั้น เท่ากับคุณขาดทุน 4.5R
  2. 1R = 4 บาท คุณได้กำไร 40 บาท/หุ้น ดังนั้น เท่ากับคุณได้กำไร 10R
  3. 1R = 4 บาท คุณได้กำไร 5 บาท/หุ้น คิดเป็นกำไร 1.25R
  4. 1R = 5 บาท คุณขาดทุน 60 บาท/หุ้น คิดเป็นขาดทุน 12R ห้ามให้การลงทุนแบบนี้เกิดขึ้นกับคุณเด็ดขาด
  5. 1R = 1 บาท คุณมีกำไร 20 บาท/หุ้น คิดเป็นกำไร 20R นี่คือการลงทุนสุดยอดปรารถนา
  6. 1R = 12.50 บาท คุณขาดทุน 2 บาท/หุ้น คิดเป็นขาดทุน 0.16R ถือเป็นการลงทุนที่ดี (ถึงแม้จะขาดทุนก็ตาม) เพราะจุดสำคัญอยู่ตรงที่ คุณปฏิบัติตัวตามกฎตามระบบของคุณ
  7. 1R = 1.50 บาท (ครึ่งหนึ่งของมูลค่าออพชั่น) เมื่อคุณได้กำไร 9 บาท แปลว่าได้กำไร 6R
  8. 1R = 1.50 บาท เมื่อขาดทุน 4.50 บาท แปลว่าขาดทุน 3R
  9. 1R = 35 สตางค์ คุณได้กำไร 11.13 บาท (มาจาก 51.48 บาท - 40.35 บาท = 11.13) เมื่อนำ 11.13 บาท มาหารด้วย 35 สตางค์ แปลว่าคุณได้กำไร 31.8R นี่คือรูปกำไรที่พึงปรารถนา ถึงแม้ว่าพอคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะได้ 26% จากเงินทั้งก้อน แต่หากคิดจากระดับความเสี่ยง คุณได้ R-Multiple ก้อนใหญ่ แถมยังมีความเสี่ยงต่ำติดดินอีกด้วย

เวลาจะติดตามผลการลงทุน ให้คิดแบบยอดรวม

สมมติว่าคุณมีเงินในบัญชีค้าหุ้นที่ 1,000,000 บาท และคุณตั้งนโยบายส่วนตัวไว้ว่า ทุกครั้งที่เทรด จะเสี่ยงแค่ 1% ของเงินทุนเท่านั้น (10,000 บาท) ต่อไปนี้คือตัวอย่างของการเทรดในรูปแบบนี้

ตัวอย่างแรก:

คุณซื้อหุ้นราคา 40 บาท แล้ววาง Stop ไว้ที่ 38 บาท (1R = 2บาท) เท่ากับว่าคุณต้องซื้อหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น

วิธีคำนวนคือ เงินที่คุณเสี่ยงได้กับการลงทุนตัวนี้คือ 10,000 บาท คุณเสี่ยงได้ 2 บาทต่อหุ้น ดังนั้น หากคุณซื้อหุ้น 5,000 หุ้น ก็เท่ากับคุณเสี่ยงที่ 5,000 หุ้น * 2 บาท = 10,000 บาท

บางคนอาจจะสับสนระหว่างจำนวนเงินที่ซื้อหุ้น กับเงินที่เสี่ยง ในกรณีนี้ หากเราซื้อหุ้นนี้จำนวน 5,000 หุ้น เท่ากับเราต้องใช้เงิน 200,000 บาท แต่นี่ไม่ใช่เงินจำนวนที่คุณเสี่ยง เพราะคุณเสี่ยงเท่ากับ 10,000 บาทเท่านั้น จาก Initial Risk ที่ 2 บาทต่อหุ้น

(กลับมาที่ตัวอย่างกันต่อ) ในวันถัดมา ในจังหวะเปิดตลาด ราคาของหุ้นเปิดกระโดดลงไปที่ 31 บาท ทำให้คุณขาดทุนทันที 9 บาท/หุ้น เมื่อนำมาคูณด้วย 5,000 หุ้น เท่ากับว่าคุณขาดทุน 45,000 ในการเทรดคราวนี้มีค่าธรรมเนียมที่ 0.1688% (ค่าธรรมเนียมตามอัตราในเมืองไทยที่รวม VAT แล้ว) หรือคิดเป็น 337.60 บาท เบ็ดเสร็จแล้วเราขาดทุนไป 45,337.60 บาท

เมื่อ 1R ของคุณอยู่ที่ 10,000 บาท หากเราคิดแบบเดิมแบบไม่มีค่าธรรมเนียม เราจะขาดทุนเท่ากับ 4.5R (45,000/10,000) แต่ที่เราควรทำก็คือ ให้นำค่าธรรมเนียมเข้ามารวมด้วย แปลว่า เราจะขาดทุนเท่ากับ 4.53R ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่แม่นยำกว่า

ตัวอย่างที่ 2:

ตารางต่อไปนี้เป็นผลการเทรดจากเทรดเดอร์คนหนึ่ง ขอให้คุณผู้อ่านลองเติมข้อมูลในคอลัมน์ “R-Multiple” ทั้งหมด

แบบฝึกหัดคำนวน R-Multiple

(ให้ทำแบบฝึกหัดก่อนไปดูเฉลยในภาพถัดไปนะครับ)

เฉลยค่า R-Multiple ของทุกๆ การเทรด

จากการเทรดหุ้นทั้ง 10 ตัวข้างต้น จะเห็นว่าเทรดเดอร์คนนี้ได้กำไรเป็นจำนวนทั้งสิ้น 9,751 บาท คิดเป็น 9.66R

Expectancy

จากตารางข้างต้น คุณน่าจะได้เห็นตัวเลขกำไร (ขาดทุน) เฉลี่ยที่ 975.10 บาทไปแล้ว ซึ่งตรงนี้แหละครับที่เขาเรียกกันว่าค่าคาดหวัง หรือ Expectancy เป็นตัวเลขที่บอกให้รู้ว่าในแต่ละครั้งที่มีการเทรด เราจะคาดหวังกำไร (หรือขาดทุน) ได้เท่าไหร่ ซึ่งตัวเลข 975.10 บาทบอกเราว่า “หากเราเทรดในจำนวนครั้งมากพอ เราจะได้กำไรจากการเทรดแต่ละครั้งที่ 975.10 บาท)

แต่นั่นไม่ใช่ตัวเลขที่เราต้องการ แถมยังไม่ค่อยถูกต้องนัก (เพราะจริงๆ แล้วต้องคำนวนตามสูตรอีกแบบหนึ่ง แต่ยกมากล่าวเพื่อให้เข้าใจ concept เท่านั้น) เพราะอย่างที่บอกแล้วว่า เวลาเรามองผลตอบแทนการลงทุน ควรจะมองในรูปของ R (หรือในรูปของความเสี่ยง) ดังนั้น เราควรจะใช้ค่าเฉลี่ย R ซึ่งในที่นี้ บอกเราว่า ระบบเทรดของเทรดเดอร์ผู้นี้ มี Expectancy (ค่าคาดหวัง) อยู่ที่ 0.97R

ดังนั้น จำไว้เลยว่า เวลาจะคำนวณค่า Expectancy หรือค่าคาดหวังผลตอบแทนการเทรดแต่ละครั้งจะคำนวนจาก R เฉลี่ย

จากตัวอย่างข้างต้น แปลเป็นภาษาคนได้ว่า ทุกๆ การเทรด คุณจะได้ผลตอบแทนเท่ากับ 0.97R

วิธีนำไปใช้ก็ง่ายๆ ครับ แค่ดูว่า เราจะเทรดกี่ครั้ง ก็เอาจำนวนครั้งที่เทรดไปคูณกับค่า expectancy ก็จะได้ผลตอบแทนรวมที่เราพอจะคาดหวังได้

เช่น หากคุณใช้ระบบนี้ไปเทรด 10 ครั้ง คุณคาดหวังได้ว่าจะได้ผลตอบแทนจำนวน 9.7R และหากคุณเทรด 100 ครั้ง ผลตอบแทนที่จะได้ก็คือ 97R

นั่นแปลว่า หากคุณสามารถพัฒนาระบบเทรดจนมีค่าคาดหวังได้ระดับ 0.97 และหากคุณสามารถเทรดมันได้บ่อยมากเท่าไหร่ คุณก็จะได้ผลตอบแทนมากเท่านั้น เช่น หากระบบแรกมีค่า Expectancy เท่ากับ 0.97R แต่ปีหนึ่งเทรดแค่ 10 ครั้ง แปลว่า ผลตอบแทนทั้งปีจะอยู่ที่ 9.7R แต่หากอีกระบบหนึ่งที่ให้ค่า Expectancy เท่าๆ กัน แต่กับให้เราสามารถเทรดได้เดือนละ 100 ครั้ง นั่นเท่ากับเราจะสามารถทำกำไรได้ถึง 1,164R หรือ 1,164% ต่อปีเลยทีเดียว (คำนวณจากการที่เราให้ค่า 1R = 1% ของเงินทุน นั่นแปลว่า หากเราได้ 1,164R ก็จะเท่ากับ 1,164% นั่นเอง)

จบไปแล้วนะครับสำหรับตอนที่สองของบทความวิเคราะห์หนังสือ Definitive Guide to Position Sizing Strategies ในเรื่องของ R-Multiple และ Expectancy ซึ่งคือค่าพื้นฐานในการนำมาประเมินคุณภาพของระบบการเทรดที่เราจะต้องพัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเอง

ส่วนวิธีการพัฒนานั้น จะได้กล่าวในครั้งถัดๆ ไปครับ ไม่ต้องห่วง

--

--