ควรแสดงอะไรบน Dashboard: Theory of Problem-Reason-Action

หน้าที่สำคัญของ Dashboard คือ การแสดงข้อมูลเพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ

ย้อนกันกลับไปนิดหนึ่งก่อน ก็คือ เราต้องเข้าใจก่อนว่า การตัดสินใจ คืออะไร การตัดสินใจ คือ การเลือกทางเลือก ถ้าเราอยากออกแบบ dashboard มาเพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจจริงๆ ก็ควรจะต้องมีการแสดงทางเลือกให้เห็น ให้คนใช้สามารถเปรียบเทียบได้ว่า ทางเลือกไหนดีที่สุด ตัวอย่าง การออกแบบที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ คือ Google Map เพราะ App จะเลือกทางเลือกที่คำนวณมาว่าดีที่สุด แต่ยังเสนอทางเลือกอื่นให้ผู้ใช้ ถ้าไม่ชอบทางเลือกที่เลือกมาให้

แต่ถ้ามาย้อนคิดดูอีกรอบ การทำงานในองค์กรนั้น จริงอยู่ที่ส่วนมากเป็นการตัดสินใจ แต่ถ้าคิดดูจริงๆ เวลาถามทุกคน ก็จะบอกว่า มันจะก้ำกึ่ง ระหว่างการตัดสินใจ กับ การแก้ปัญหา ถ้าไปอ่านพวกทฤษฎี Decision-Making กับ Problem-Solving ก็จะใกล้ๆ กันมาก คือ Problem-Solving จะมีขอบเขตที่มากกว่า Decision-Making ตรงที่ เราต้องรู้ก่อนว่า ปัญหา คืออะไร แล้วมาพัฒนาแนวทางแก้ปัญหา แล้วค่อยตัดสินใจเลือกวิธีที่ดีที่สุด

การออกแบบ Dashboard ให้คนเอาไปใช้งานได้จริง จึงต้องคิดถึงหัวอกหัวใจของผู้ใช้ หรือ ที่เราเรียกว่ากระบวนการ User Empathy ผมเลยพยายามสรุปให้ง่ายที่สุดออกมาเป็นแนวคิดว่า ถ้าอยากจะออกแบบ Dashboard ให้คนสามารถนำไปใช้ในงานได้จริง จะต้องมี องค์ประกอบดังนี้

Problems — Reasons — Actions

  1. Problems คือ การฉายให้เห็นถึงปัญหาก่อนว่า เรามีปัญหาอยู่หรือไม่ ปัญหาเราอยู่ที่ไหน ปัญหาเรารุนแรงขนาดไหน ซึ่ง คำว่า ปัญหา ก็หมายถึง สถานการณ์ปัจจุบันของเราที่มันแย่กว่าสถานะที่เราต้องการ เช่น ยอดขายเทียบกับเป้า หรือ งบประมาณที่ตั้งไว้ เป็นต้น ใน Dashboard ก็ควรจะ highlight จุดนี้ให้ชัด แบบ ตกเป้าสีแดง ผ่านเป้าสีเขียว
  2. Reasons คือ สาเหตุของปัญหา เมื่อเราสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาแล้ว เราก็ควรบอกคนอ่านรู้ต่อไปว่า สาเหตุของปัญหาคืออะไร เช่น ยอดขายไม่ถึงเป้า เกิดจาก จำนวนลูกค้าน้อยลง หรือ จำนวนยอดสั่งซื้อน้อยลง พวกนี้ จะเหมือนเป็น lead indicators หรือ ตัวชี้วัดต้นทาง สาเหตุของปัญหา อาจจะเป็นการแสดงผลของปัญหาแล้วแตกรายละเอียดใน Dimension ต่างๆ เช่น ยอดขายแยกตามพื้นที่ หรือ ยอดขายแยกตามผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เห็นสาเหตุในรายละเอียด
  3. Actions คือ หนทางแก้ปัญหา Dashboard ที่ช่วยให้คนสามารถนำข้อมูลไปใช้ในงานได้จริง ก็ควรที่จะชี้ให้เห็นถึงทางแก้ปัญหาด้วย ในส่วนของการแสดงผลก็ต้องชี้ให้เห็นถึง จุดที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ เช่น เมื่อยอดขายตก จะกระตุ้นยอดขายด้วยโปรโมชันในสินค้าใดดี ก็ต้องแสดงให้เห็นว่า สินค้าตัวไหน สามารถนำมาช่วยกระตุ้นยอดได้ หรือ จะลงไปกระตุ้นยอดขายในลูกค้ากลุ่มไหน Dashboard ก็ควรต้องแสดงรายละเอียดของข้อมูลให้ถึงระดับที่จะไปลงมือทำได้ครับ

ใครสนใจเรื่อง Dashboard ตามไปอ่านอีกบทความนึงได้นะครับ

4 Principles of Dashboard Design: หัวใจ 4 ข้อสำหรับการออกแบบ Dashboard

--

--

Thanachart Ritbumroong
MADT and BADS @ NIDA

Lecturer at Management of Analytics and Data Science Program, National Institute of Development Administration, Thailand and Data Analytics Consultant