4 Principles of Dashboard Design: หัวใจ 4 ข้อสำหรับการออกแบบ Dashboard

การออกแบบ Dashboard นี่เป็นอะไรที่เหมือนง่ายนะครับ เอาข้อมูลมาเข้าพวก visualization tool แล้ว ลากวางๆ ได้กราฟมาหลายกราฟ แล้วจะได้เป็น Dashboard ที่เกิด insight

เทอมนี้ สอนวิชา Exploratory Data Analysis and Visualization ก็ให้นักศึกษาเอาข้อมูลมาลองทำ Dashboard กัน พบว่า ความพังของคนส่วนมากในการทำ Dashboard คือ ไม่มี Insight ในใจมาก่อน เริ่มจากการเอาข้อมูลมาสร้างกราฟแล้วหมุนไปมา หวังว่าจะได้ Dashboard ที่ปังๆ ส่วนมากก็จะพังกันซะเป็นส่วนใหญ่ ที่จริงแล้ว ควรเอาข้อมูลมาทำการวิเคราะห์เสียก่อน เพื่อให้เจอ insight แล้วค่อยมาคิดว่าจะนำเสนอ insight นั้นอย่างไรดี

การออกแบบ Dashboard ที่ดีนั้น จึงต้องมีระเบียบวิธีที่ถูกต้อง

หลังจากพยายามนั่งตกผลึกอยู่นานว่า หลักการในการออกแบบ Dashboard คืออะไร ก็ขอสรุปไว้เป็น 4 เรื่องหลัก ดังนี้เลยครับ

1) Users

ต้องเข้าใจผู้ใช้ก่อนเป็นอันดับแรก การเข้าใจผู้ใช้นั้น ให้ยึดตามหลักการของ Design Thinking เลยครับ ว่า จงหา Insight ของผู้ใช้ หรือ ตอบให้ได้ว่า ทำไมเขาถึงใช้

คำถามหลักของการออกแบบ Dashboard ก็คือ ผู้ใช้จะเอา Dashboard ไปใช้ทำอะไร

เช่น ช่วยตัดสินใจ ติดตามผลการดำเนินงาน ใช้เตือนเมื่อมีสิ่งผิดปกติ

ในอดีต เวลาส่งคนไปเก็บ Requirement กับผู้ใช้ ก็จะชอบไปถามว่า อยากดูข้อมูลอะไรบ้าง อยากดูเป็นกราฟไหน ซึ่งพอไปทำกราฟมาเสร็จเรียบร้อย ผู้ใช้มักจะบอกว่า ไม่เห็นตรงกับที่อยากได้เลย ! (แม้ว่าจะทำมาตรงกับที่เค้าบอกเป๊ะๆ) อันนี้เกิดจากการที่เราไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าเค้าอยากจะเอาไปใช้ทำอะไร ถ้าเราเข้าใจถึงรูปแบบว่าเค้าจะเอา Dashboard ไปใช้อย่างไร เราก็จะออกแบบได้ตรงใจมากขึ้นครับ

2) Content

เมื่อเข้าใจแล้วว่า ผู้ใช้อยากเอา Dashboard ไปใช้อย่างไร ก็ต้องมาคิดต่อว่า เนื้อหา หรือ สิ่งที่เค้าจะต้องเอาไปใช้นั้น มีอะไรบ้าง ซึ่งก็ขอแบ่งเป็น

  • measures หรือ ตัวเลขที่เราสนใจ เช่น ยอดขาย จำนวนลูกค้า
  • dimensions หรือ มุมมองที่เราอยากวิเคราะห์ข้อมูล เช่น ตามช่วงเวลา ตามกลุ่มสินค้า ตามพื้นที่

การเลือก measures นั้น ถ้าเราสามารถช่วยคิด ช่วยออกแบบให้การวัดผลนั้น มีความน่าสนใจ หรือ ตรงประเด็นมากขึ้น ก็จะทำให้ Dashboard นั้น มีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีก

คือ ถ้าวัดผลผิด นี่ก็ไปผิดทิศทางได้ไกลเหมือนกัน เวลาผมถามนักศึกษาว่า จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกค้าพึงพอใจเรา ชอบเรา

ส่วนมากก็จะตอบว่า ถ้าไม่วัดจาก Customer Satisfaction (ซึ่งต้องทำ Survey) ก็ไปวัดจากอัตราการซื้อซ้ำ เลยยกตัวอย่างว่า อัตราการซื้อซ้ำของรถไฟฟ้า BTS บ่งบอกถึงความพึงพอใจไหม … เด็กๆ ก็ฮาครืนนน

3) Presentation

หลังจากที่รู้แล้วว่า จะใช้ measures และ dimensions แบบไหน ก็ถึงเวลาที่มาเลือกกราฟให้ถูกต้องครับ พบว่า คนส่วนมากก็ยังเลือกกราฟกันได้ไม่ดีนัก

กราฟที่ถูกโหวตให้เป็นกราฟยอดแย่ ก็คือ Pie Graph ซึ่งเป็นกราฟที่หลายคนชื่นชอบ อารมณ์ว่า ใช้กราฟเส้น กราฟแท่งเบื่อแล้ว ขอใช้ Pie Graph ซักหน่อย

Pie Graph นี้ ก็ไม่ได้แย่อะไรมากมายนะครับ เพียงแต่ว่า พอ Slice มันเยอะ ก็จะดูไม่รู้เรื่อง แถมพอ Slice น้อยๆ ก็เป็นกราฟที่ใช้พื้นที่เยอะ แต่แสดงข้อมูลได้น้อยอีก

4) Navigation

สุดท้าย เมื่อมีหลายกราฟแล้ว จะเอามาประกอบกันเป็น Dashboard การจัดวางกราฟก็เป็นส่วนสำคัญ หลักง่ายๆ คือ กราฟที่เป็นเรื่องเดียวกัน ก็ควรวางไว้ใกล้ๆ กัน อย่าให้คนต้องอ่านกราฟนึงแล้วกระโดดข้ามไปอีกกราฟ แบบกระโดดไปมา

มันจะทำให้เสียเวลาในการไล่อ่าน ไม่เจอความเชื่อมโยง

นอกจากนั้น ก็ควรจัดวางกราฟให้มี visual hierarchy ด้วย คือ จากภาพใหญ่ ไปภาพย่อย

หลักการนี้ จะเป็นหลักการในภาพใหญ่สำหรับช่วยคนที่อยากพัฒนา Dashboard ให้สามารถนำไปใช้งานจริงได้ครับ การออกแบบ Dashboard จะต้องเน้นให้สามารถเอาไปใช้งานได้จริงนะครับ ไม่ใช่แค่ออกแบบให้สวยเฉยๆ

--

--

Thanachart Ritbumroong
MADT and BADS @ NIDA

Lecturer at Management of Analytics and Data Science Program, National Institute of Development Administration, Thailand and Data Analytics Consultant