Project Manager และ Scrum Master สองคนในร่างเดียว

Werachart Ratanatharathorn
MAQE
Published in
4 min readJul 12, 2022
Project Manager & Scrum Master — two minds in one body

“Project Manager ต้องไม่ใช่คนเดียวกันกับ Scrum Master”

นี่คือคำพูดของผมประมาณปี 2019-2020 สมัยที่ผมเพิ่งเริ่มศึกษา SCRUM อย่างจริงๆจังๆ จากเดิมที่ทำงานในตำแหน่ง Project Manager มาหลายปี ความคิดฝังหัวนี้เกิดขึ้นจากความเข้าใจว่า มันทำหน้าที่คนละอย่างกัน รวมถึงมี Mindset คนละแบบเลย มันจะทำให้ทั้งคนที่ทำตำแหน่งนี้และทีม งง กันไปหมด

“เราสามารถเป็นทั้ง Project Manager และ Scrum Master ได้”

และนี่คือคำพูดผมอีกเช่นกันหลังจากที่ผมพูดประโยคแรกผ่านมาไม่ถึงหนึ่งปีดี และผมหมายถึงในโครงการเดียวกัน กับทีมเดียวกันได้เลย บทความนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่าน เข้าใจหน้าที่ความรับผิดชอบของทั้งสองบทบาท และข้อดี ข้อเสีย ของการนำแนวทางนี้มาใช้ รวมถึงสถานการณ์ที่เราควรพิจารณาทางเลือกดังกล่าวนี้

ความจริงของโลก

สำหรับสถาบันหนึ่งๆ สมาชิกหลายๆคนถือมากกว่าหนึ่งบทบาท

บทบาท (Role) คือ คำแทนตำแหน่งบุคลากร ที่ปฏิบัติ หน้าที่ กิจกรรม (Responsibility [Action]) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ถือไว้ (Accountability [Outcome]) ตัวอย่างง่ายๆ เช่น

  • ตำรวจ ทำหน้าที่ ในการช่วยเหลือประชาชน จับกุมคนร้าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และ เกิดความสงบสุขในสถาบัน
  • นักเรียน ทำหน้าที่ ในการศึกษาความรู้ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิต และ ประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
  • พ่อ/แม่ ทำหน้าที่ ในการเลี้ยงดูลูกให้เติบโต สนับสนุนความต้องการ และสอนวิธีการในการดำรงชีวิต การเข้าสังคม ธรรมเนียม ปฏิบัติ เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เมื่อเติบโต
  • Programmer ทำหน้าที่ ในการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ Software สามารถปฏิบัติงานแทนผู้ใช้ และได้ Output ตามความต้องการของผู้ใช้
A person is commonly holding multiple roles.

จากรายการด้านบน สิ่งที่อยากให้เป็นข้อสังเกตคือ คนหนึ่งคนสามารถถือบทบาทได้มากกว่าหนึ่งบทบาทอยู่แล้ว เช่น นาย A อาจจะเป็นทั้งตำรวจ และเป็นพ่อ และเป็นนักเรียน (และอาจจะเป็น Programmer ก็ได้นะ) แต่อาจจะมีคนแย้งผมว่า “ก็มันคนละสถาบัน มันก็ได้สิ” ซึ่งผมขอตอบว่า ผมพยายามยกตัวอย่างให้สังเกตได้ง่าย แต่แม้กระทั่งในสถาบันเดียวกันคนเราก็ถือหลายบทบาทโดยอาจจะรู้หรือไม่รู้ตัวอยู่ดี ตัวอย่าง เช่น Programmer หนึ่งคน หน้าที่หลักของเขาก็ตามที่ผมยกตัวอย่างไป คือ ผู้เขียนโปรแกรม ถ้ายึดกันตามนิยามตรงๆแบบนี้ ผมว่าหลายๆบริษัทที่มีบุคลากรนี้ คงต้องเจอปัญหาแน่นอน เพราะหลายครั้งเกินบรรยายที่ผมเจอ Programmer ที่ทำเรื่องเหล่านี้ด้วย

  • เข้าไปเก็บความต้องการจากลูกค้า
  • ออกแบบระบบ ออกแบบโครงสร้างฐานข้อมูล
  • ทดสอบการทำงานของโปรแกรมในมุมมองลูกค้า
  • วางแผนการทำงานในการส่งมอบ
  • ให้คำแนะนำคนอื่นๆในทีม
  • และอื่นๆอีกมากมาย

พูดมาทั้งหมดนี้ เพื่อจะบอกว่า คนเราถือหลายบทบาทอยู่แล้ว แค่เรามีหน้าที่หลักหนึ่งๆ และ ระดับในการทำบทบาทหน้าที่ของอื่นๆของเราอาจจะแตกต่างกันตามแต่ละบุคคลและองค์กร ชื่อตำแหน่งเหมือนกัน คนละองค์กร หน้าที่และระดับความรับผิดชอบก็อาจจะต่างกัน

Project Manager และ Scrum Master คือ 2 บทบาท (Roles)

เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า มันทำอะไรกันบ้าง (Responsibility) ในนิยามสากรรจ์ เอ้ย สากล

Project Manager

หน้าที่ของ Project Manager (แค่หลักๆ กว้างๆนะ)

  • กำหนดบทบาทหน้าที่ของทีมงาน และ ผู้ที่เกี่ยวข้อง
  • วางแผนร่วมกันกับทีมงาน (ข้อนี้ครอบจักรวาล)
  • เรียงลำดับความจำเป็น และ ความสำคัญในโครงการ
  • ตรวจสอบวัดผลความก้าวหน้าของโครงการ
  • สื่อสารสถานะของโครงการให้ลูกค้าและผู้สนับสนุนโครงการ
  • ควบคุม Change Request
  • ประยุกต์บทเรียนจากโครงการเก่าๆมาใช้ในโครงการ
  • จัดการกับปัญหาในโครงการอย่างเป็นระบบ
  • ควบคุมและจัดการความเสี่ยง
  • นำ Best Practices มาใช้ในโครงการ
  • ให้คำแนะนำบุคลากรภายในทีม
  • สร้างสังคมในการทำงานที่ดี
  • สร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้าในโครงการ

อีกเป็นสิบๆข้อ (ถ้าไม่ร้อย) ถ้าจะเอาให้ครบละเอียดกันจริงๆ

Scrum Master

หน้าที่ของ Scrum Master

  • ให้คำแนะนำทีมในการ self-manage และการทำงานแบบเป็นทีม cross-functional
  • ช่วยให้ทีมมี focus กับการสร้างผลลัพธ์ที่ให้คุณค่าสูงสุดตาม Definition of Done
  • กำจัดสิ่งกีดขวาง และอุปสรรคในการสร้างความก้าวหน้าของทีม
  • เดินกิจกรรมของ Scrum อย่างเหมาะสม ได้ประโยชน์ และภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน
  • ช่วย Product Owner ในการหาเทคนิคสำหรับการกำหนด Product Goal และจัดการกับ Product Backlog
  • สร้างความเข้าใจในความสำคัญของ Product Backlog ที่มีความชัดเจนและกระชับ
  • แนะนำแนวทางการวางแผน Product โดยพิจารณาจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์
  • สนับสนุนการทำงานร่วมกันกับ Stakeholder ตามความจำเป็น
  • อบรม และ ให้ความรู้ บุคลากรในองค์กรในการทำงานของ Scrum
  • วางแผนและให้คำปรึกษาเมื่อมีการนำ Scrum ไปใช้ในองค์กร
  • สร้างความเข้าใจในองค์กรถึงแนวทางการทำงานที่ยืดหยุ่นตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทางสำหรับโครงการที่มีความซับซ้อน
  • กำจัดอุปสรรคในการทำงานและสื่อสารร่วมกันระหว่าง Stakeholder และทีม Scrum

ถ้าหน้าที่ของทั้งสองบทบาทมันเยอะไป เรามาลองดูเป้าหมายของทั้งคู่กันบ้าง

เป้าหมายของ Project Manager

  • ส่งมอบโครงการให้ได้ตามที่วางแผนไว้ (Scope, Time, Cost)

เป้าหมายของ Scrum Master

  • สร้างกระบวนการและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ SCRUM Framework ตามที่ระบุใน SCRUM Guide
  • พัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพของ Scrum Team

สาเหตุที่องค์กรเลือกให้ Project Manager และ Scrum Master เป็นคนเดียวกัน

พอกันทีกับทฤษฎี มาเข้าเรื่องกัน น่าจะเห็นแล้วว่า หน้าที่ของทั้งสองบทบาทนั้น น่าจะกินเวลาการทำงานไปมากแล้ว เป้าหมายก็คนละเรื่องเลย ยิ่งถ้าจะทำหน้าที่เหล่านั้นให้ดีแล้ว เราคงจะละทิ้งความคิดที่ว่าให้คนๆหนึ่งทำทั้งสองบทบาทได้เลย แต่ๆๆๆๆ ทำไมเราถึงเห็นหลายบริษัทมีการปฏิบัติแบบนี้อยู่ละ เรามาเข้าใจสาเหตุต่างๆกัน

  1. องค์กรมีความเข้าใจผิดว่า Scrum Master เป็นแค่คำเก๋ๆ ในการเรียก Project Manager ที่ทำงานในรูปแบบใหม่เท่านั้น แต่หน้าที่ยังคงเดิม
  2. ความคล้ายคลึงของลักษณะการทำงานทั้ง Project Manager และ Scrum Master ในการทำงานร่วมกับทุกคนในทีม เห็นภาพรวม และให้คำแนะนำ (ไม่ได้สั่งนะ) ทำให้องค์กรรู้สึกว่า บทบาททั้งสองนี้ควรจะเป็นคนเดียวกัน
  3. บทบาททั้งสองต้องการบุคลากรที่มีความเป็น Leadership สูง และบุคลากรเหล่านี้มีสัดส่วนที่น้อย องค์กรจึงรู้สึกมีประสิทธิภาพกว่าในการกระจายคนเหล่านี้ไปในหลายๆโครงการที่มี และให้บุคลากรเหล่านี้ทำสองบทบาทเลยในโครงการหนึ่ง
  4. หลายๆโครงการไม่ได้มีขนาดใหญ่ถึงขนาดที่ต้องการบทบาททั้งสองแบบเต็มเวลา เช่น แทนที่จะให้ PM และ SM ทำงานสองโครงการในบทบาทหลักของตัวเอง สู้ให้คนนึงทำสองบทบาทโครงการเดียว เพื่อลดภาระของการ Context Switching จะดีกว่า
  5. Project Manager และ Scrum Master หลายๆคน มีความต้องการอยากจะช่วยองค์กรและเชื่อมั่นว่าสามารถเรียนรู้และดำเนินสองบทบาทได้ในโครงการหนึ่งๆ
  6. องค์กรอาจจะทราบข้อจำกัดด้านบนทั้งหมดแต่ต้องการเสริมสร้างทักษะใหม่ให้กับ Project Manager และ Scrum Master เพื่อให้รองรับกับความต้องการที่ยากขึ้นในอนาคตได้

สาเหตุด้านบนอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด หลายๆองค์กรอาจตัดสินใจด้วยปัจจัยอื่นๆ อย่างไรก็ตามสาเหตุต่างๆนั้นเป็นที่เข้าใจได้ แค่เรารู้สึกว่ามันอาจจะทำได้ไม่ดีนะ เพราะหน้าที่มันจะเยอะมาก และ Mindset ของทั้งสองบทบาทก็ค่อนข้างแตกต่าง แต่ก็อยากให้ผู้อ่านเข้าใจองค์กรเช่นกันว่า

  • หลายๆองค์กรเข้าใจในขีดจำกัด และเคารพใน work-life balance ของบุคลากร เพราะฉะนั้นหน้าที่ต่างๆเหล่านั้น ถ้าคุณทำได้ทั้งหมด คงจะดีกับองค์กรมาก แต่ถ้าทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่เต็มที่ องค์กรนั้นก็เข้าใจและพร้อมสนับสนุนในมุมอื่นๆ
  • หน้าที่ต่างๆของ Project Manager เป็นหน้าที่กว้างๆ ที่สามารถปรับแต่ง ตัดออกตามความเหมาะสมในแต่ละองค์กร โครงการ และทีมได้ ยิ่งเมื่อมาทำโครงการที่ใช้ SCRUM Framework หลายๆหน้าที่เช่น การวางแผน, การกำหนดบทบาท, การควบคุม Change Request จะแทบไม่มีหรือทำผ่าน Framework ไปได้เลย
  • เป้าหมายของทั้งสองบทบาท ไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้ง ยิ่งถ้าเราทำได้ทั้งคู่มันก็จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย

ปัญหาในการทำงาน

เมื่อต้องเป็นสองคนในร่างเดียว PM/SM ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้กับปัญหาที่ตามมากับกลุ่มคนต่างๆเหล่านี้

Disadvantage of appointing PM/SM to a person
  1. องค์กร
    - บุคลากรคนนั้นจะไม่สามารถทำผลงานด้านใดด้านหนึ่งได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากต้องแบ่งเวลาไปทำสองอย่าง ทำให้ไม่ได้ผลลัพธ์สูงสุดจากบทบาททั้งคู่
    - การวัดความสำเร็จของบุคลากรจะซับซ้อนขึ้น เช่น ในบางโครงการ อาจจะมีต้นทุนสูงกว่าที่วางแผนไว้ (PM) แต่ทีมโดยรวมเก่งขึ้น เรียนรู้มากขึ้น (SM) แล้วองค์กรจะประเมิน บุคลากรคนนี้อย่างไร
  2. ทีมงาน
    - อาจจะงงว่าต้องทำตัวอย่างไร เพราะบางครั้งก็รู้สึกว่าอยากให้ PM ชี้นำมาเลยว่าจะให้ทำอะไร อย่างไร แต่บางครั้งก็รู้สึกว่าด้วย Scrum แล้วพวกเราควรตัดสินใจเองสิ
  3. ลูกค้า
    - อาจจะไขว้เขวในบทบาทและสร้าง conflict of interest ในหลายๆรูปแบบให้กับคนนี้ได้ เช่น เพื่อให้จำนวน Sprint ลดลง อาจจะขอให้ PM เพิ่มบุคลากรเข้าไปในทีม หรือ ขอให้ PM ช่วยประเมินระยะเวลาของการพัฒนา 3 Releases จาก Stories ที่ไม่ได้มีการ Refined มาอย่างเพียงพอ
  4. ตัว PM/SM เอง
    - คนที่เป็น Perfectionist อาจจะลำบากกับการถือสองบทบาทนี้เพราะอยากทำให้ดีทั้งคู่ และอาจส่งผลต่อ work-life balance ได้เลย
    - อาจจะขัดแย้งใน Constraint ที่ตัวเองต้องควบคุม ระหว่าง Iron Triangle (Scope, Time, Cost) และ Iron Vase (Time, Cost)
    - อาจจะขัดแย้งในแนวทางของตนเอง ระหว่าง Directing (PM) และ Coaching (SM)
    - การเติบโตในสายอาชีพ เนื่องจากต้องแบ่งเวลาไปทำทั้งสองอย่าง ก็อาจจะไม่ Deep ในด้านใดด้านหนึ่ง

ประโยชน์ก็มี

เหรียญยังมีสองด้าน การที่มีสองคนในร่างเดียวก็มีสองด้านเช่นกัน มาดูด้านสว่างกันบ้าง

Advantage of appointing PM/SM to a person
  1. องค์กร
    - สามารถวางแผนบุคลากรสำหรับหลายๆโครงการง่ายขึ้น
    - สื่อสารง่ายขึ้น เนื่องจาก PM รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับโครงการ SM รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับทีมงาน คนเดียวครบจบในที่เดียว
  2. ทีมงาน
    - การแก้ปัญหาให้ทีมงานจะมีความเหมาะสมมากขึ้น เพราะว่า PM/SM จะรู้นอก รู้ใน และแก้ Block ให้กับทีมได้อย่างเหมาะสม
  3. ลูกค้า
    - ได้ประโยชน์จากการที่คนนี้เป็น SM เพราะ Agile Manifesto สนับสนุนการทำงานร่วมกับลูกค้าเป็นอย่างดี
    - ได้ประโยชน์จากการที่คนนี้เป็น PM ด้วยการจัดการอย่างเป็นระบบ สำหรับเรื่องอื่นๆนอก Scrum Team ที่มีเนื้อหาและรายละเอียดในตัวของมันเอง (และเยอะด้วย)
    - และด้วยการที่เป็นคนเดียวกัน ทำให้การจัดการทุกอย่างจะสอดคล้องและลดปัญหาในทีมพัฒนาลงได้
  4. ตัวเอง
    - เพิ่มมุมมอง และความสามารถ ให้กับตัวเอง เป็น T-Skill ที่น่าสนใจ
    - ลดจำนวน Communication ลงหนึ่งคน (และเป็นหนึ่งคนสำคัญด้วย) เพราะคุณเป็นคนๆนั้นแล้ว

ข้อแนะนำสำหรับผู้ร่วมชะตากรรม

ในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่งที่ถือสองบทบาทในหลายๆโครงการจึงอยากมาแชร์คำแนะนำเล็กๆน้อยๆในชะตากรรมนี้

  • Be gentle to yourself — ต้องเข้าใจก่อนว่า ขนาดคนๆนึงทำบทบาทเดียวอาจจะเจอปัญหาเลย เพราะฉะนั้นหากคุณต้องทำสองบทบาท ก็ให้เข้าใจว่าต้องให้อภัยกับความผิดพลาดของตัวเองที่อาจเกิดขึ้น
  • Manage expectation — แจ้งกับทุกฝ่ายให้เข้าใจในสองบทบาทที่เราถืออยู่ตั้งแต่เริ่ม พูดไม่ใช่เพื่อเป็นข้ออ้างทำผิดอะไรก็ได้ แต่ให้ทุกฝ่ายเข้าใจความซับซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นและให้โอกาสเราในการปรับปรุง
  • Don’t go to dark side — คุณได้รับความไว้วางใจ และได้รับอภิสิทธิ์ในหลายๆอย่างจากการถือสองบทบาท คุณถือข้อมูล และเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ มากกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นอยากให้ใช้ประโยชน์จากมันอย่างถูกวิธี คิดเพื่อทีม คิดเพื่อลูกค้า คิดเพื่อองค์กร

Reference:

Author Biography

Werachart Ratanatharathorn (Yim) [PfMP, PMP, A-CSM, CSPO] is the Head of Projects at MAQE. He has a strong passion for organizational project delivery and team psychology.

--

--

Werachart Ratanatharathorn
MAQE
Writer for

PfMP, PMP, A-CSM, CSPO certificate holder. 15+ years in Project Management. Head of Projects at MAQE. Passionate in Organizational Delivery & Team Psychology.