กล้าที่จะมีตัวตนและกล้าที่จะแตกสลาย

Pawz Arts Gallery of Thoughts
Master of Emotion
Published in
3 min readAug 1, 2024

ช่วงนี้ได้เรียนรู้ pattern ของธรรมชาติหลายอย่าง เลยอยากจะจับมาผสมกันเล่นๆ มั่วๆ เพื่อความสนุกสนานส่วนตัว โปรดใช้สัญชาตญาณในการอ่าน

ตัวตนและพื้นที่ (Self and Space)

สรรพสิ่งในโลกนี้ต่างมีความต้องการ “พื้นที่” หรือ Space ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม

ในเชิงรูปธรรม เช่น สมมุติเรากำลังเดินเข้าไปในรถไฟฟ้าที่มีคนแน่นเป็นปลากระป๋อง ทันที่เราเดินเข้าไปทุกคนต่างก็เขยิบสร้างที่ว่างให้เราโดยอัตโนมัต หรือไม่ก็เป็นเราที่แสดงออกถึงความต้องการพื้นที่โดยใช้การเบียด คนที่อยู่รอบเราเมื่อรับรู้ถึงความต้องการของเราก็เขยิบสร้างพื้นที่ให้เรา

ในเชิงนามธรรมเช่นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างมีความต้องการ “พื้นที่ทางสังคม” หรือ “การได้รับการยอมรับจากสังคม” หรือ “การมีตัวตนในสังคม” เวลาที่เราเห็นคนที่ขาดแคลนพื้นที่ทางสังคม (ถูกเมิน/ละเลย) เราจะมีความรู้สึก fulfilled ในใจเมื่อได้สละพื้นที่ให้แก่พวกเขา

Rule #1: ตัวตนคือสิ่งที่มีความต้องการครองพื้นที่ และความต้องการให้พื้นที่

ตัวตน (Self) คือสิ่งที่ต้องการพื้นที่ และกลุ่มก้อนของตัวตนชนิดเดียวกันมีแนวโน้มที่จะแบ่งปันพื้นที่แก่กันโดยธรรมชาติ (นึกถึงกฏเทอร์โมไดนามิกส์)

กระแสแห่งการแบ่งปันพื้นที่ (Flow of Space Movement)

บนรถไฟฟ้าปลากระป๋อง เมื่อมีคนเติมเข้าไปหนึ่งคน ดูเผินๆ เหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ที่จริงแล้วกลับส่งผลต่อทุกตัวตนในรถไฟขบวนนั้นไม่มีใครเลี่ยงได้ เนื่องจากธรรมชาติของความต้องการครองพื้นที่และความต้องการให้พื้นที่ ส่งผลให้เกิดการขยับจากตัวตนหนึ่งส่งไปยังตัวตนอื่นไปเป็นทอดๆ

ในเชิงนามธรรม การที่คนคนนึงรู้สึกได้รับพื้นที่หรือการยอมรับทางสังคม ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง เขาก็ส่งต่อการยอมรับนี้ต่อไปสู่คนอื่นๆ รอบตัวเขาไปเป็นทอดๆ

Rule #2: หนึ่งสิ่งกระทบทุกสิ่ง

เมื่อมีตัวตนเกิดขึ้นหรือตายลงแม้เพียงหนึ่ง ย่อมส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อทุกตัวตนชนิดเดียวกันโดยการส่งผ่านความต้องการครองและให้พื้นที่เป็นทอดๆ เกิดเป็นกระแส (flow) ของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีตัวตนใดๆ หลีกเลี่ยงได้

การขวางพื้นที่ (Space Blocking)

ถ้ามีใครสักคนในรถไฟฟ้าปลากระป๋องพยายามจะ “ขวาง” (Blocking) กระแสแห่งการเขยิบด้วยการแกล้งทำเป็นไม่รับรู้ไม่สนใจ เขาหรือเธอผู้นั้นย่อมต้องถูกกระแสบังคับให้ขยับในทางหนึ่งทางใดเสมอ

เช่นสมมุติมีคนลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ขึ้นมาบนรถไฟฟ้าและกำลังหาที่ยืน แต่เราแกล้งทำเป็นไม่เห็น ไม่สนใจ เขาก็ต้องไปเบียดพื้นที่จากใครสักคน และส่งผลมาถึงเราในสักทางอยู่ดี

ในเชิงนามธรรม ถ้าเราเห็นคนที่กำลังเดือดร้อนแล้วไม่ช่วยทั้งๆ ที่เราช่วยได้ เขาก็อาจจะไปมีผลกระทบต่อคนอื่นๆ และสะท้อนมาถึงเราในที่สุด

โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นคนที่อยู่ตรงนั้นและมี “พื้นที่” มาก แต่เราละเลยที่จะมอบพื้นที่ให้คนอื่นที่เขาต้องการ แบบนี้เรียกว่าเรา “ขวางแรง” กล่าวคือเราฝืนกระแสของ space ในระดับที่แรง ทำให้เกิดแรงอัดอั้นของกระแสในระดับรุนแรง และในที่สุดก็จะระเบิดใส่เรา (และคนอื่นๆ รอบตัว) ในแบบที่เราไม่รู้ตัวและหาที่มาที่ไปไม่เจอ

Rule #3: synchronicity

การเพิกเฉยต่อสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงของ space ส่งผลให้เกิดแรงอัดอั้นในระดับความรุนแรงเท่ากับขนาดของ space ที่ผู้เพิกเฉยพยายามขวางไว้ ผู้เพิกเฉยจะประสบกับความผิดปกติในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะไม่อาจขวางกระแสได้อีกต่อไป เมื่อนั้นกระแสก็จะพัดพาทุกตัวตนกลับไปสู่ที่ที่มันควรจะเป็น เกิดเป็นความบังเอิญที่เกี่ยวข้องกันน่าเหลือเชื่อ หรือ synchronicity

ความบังเอิญ (Coincidence)

นอกจากตัวอย่างเรื่องตัวตนทางสังคมแล้ว ตัวตนและพื้นที่ยังใช้ได้กับหลายปรากฏการณ์ทั้งในรูปธรรมและนามธรรม เช่น

  • ความต้องการครองและให้เงิน
  • ความต้องการครองและให้ความมั่งคง
  • ความต้องการครองและให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ เช่นเวลาไปปาร์ตี้แล้วทุกคนสนุกกัน แต่เราไม่ยอมปล่อยตัวให้สนุกไปตามกระแส ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการขวาง space
  • การพยายามปฏิเสธพื้นที่หรือโอกาสใดๆ ที่มันมีไว้เพื่อเรา (calling) ก็เป็นการขวาง space เช่น มีคนเอาของมาให้แล้วพยายามมากเกินไปที่จะไม่รับ

และอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ร้อยสานกับเป็นความบังเอิญที่ยากจะมองเห็นที่มาที่ไป แต่เมื่อเข้าใจในหลักการก็อนุมานได้ว่าทุกสิ่งล้วนเกี่ยวเนื่องกัน ความผิดปกติทั้งในทางดีและทางร้ายที่เรากำลังเผชิญอยู่ ล้วนคือผลจากการที่เรา (หรือคนใกล้ๆ เรา) เคยขวาง space ไว้ในรูปแบบหนึ่งๆ ใดๆ เช่นการที่เราละเลยไม่ช่วยเหลือใครบางคนในครั้งอดีต อาจเกี่ยวข้องการอาการป่วยบางอย่างของเราก็เป็นได้ทั้งสิ้น

อารมณ์และตัวตนพื้นฐานของมนุษย์

มนุษย์มีความต้องการ space ในทางนามธรรมหลักๆ อยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่

Body (Primal Self) เป็นตัวตนที่ต้องการ Boundary Space คือความต้องการที่จะได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และไม่ต้องถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่อยากทำ

Heart (Primate Self) เป็นตัวตนที่ต้องการ Social Identity Space คือความต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากสังคม

Head (Philosophical Self) เป็นตัวตนที่ต้องการ Sanity Space คือความต้องการที่จะเข้าใจ (สามารถคาดการณ์) ความโกลาหลต่างๆ

ตัวตนมีธรรมชาติที่ต้องการครองพื้นที่และให้พื้นที่ และอารมณ์ก็คือภาษาที่ธรรมชาติใช้สื่อสารความต้องการเหล่านี้ต่อสำนึกรู้คิดของเรา

Assertiveness คือประเภทของอารมณ์ที่ขับดันให้เราแสดงออกถึงความต้องการครองพื้นที่ มันคือผลจากการรับรู้โดยสัญชาตญาณว่าตัวเรากำลังขาดแคลนพื้นที่

Awareness คือประเภทของอารมณ์ที่บอกให้เราตระหนักในความต้องการครองพื้นที่ของผู้อื่น สัญชาตญาณกำลังบอกเราว่ามีใครบางคนกำลังต้องการพื้นที่จากเรา

ตัวอย่างเช่น Anger คืออารมณ์ที่ขับดันให้เราแสดงออกให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเราไม่อยากถูกบังคับให้ทำหรืออยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วน Sadness คืออารมณ์ที่บอกให้เราลดการบังคับกดดันคนอื่น และหลีกทางให้คนอื่น

ความกังวล และการไม่ไว้ใจสัญชาตญาณ (Anxiety and Intuition Disconnection)

เราทุกคนมีสัญชาตญานในการรับรู้พื้นที่ซึ่งอยู่เหนือสำนึกรู้คิดของเรา ถ้าเราเข้าใจความหมายของมัน เราก็จะสามารถเลือกทำสิ่งที่ไม่ไปขวาง space ได้

แต่คนมากมายในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้สัญชาตญาณตัวเอง เนื่องจากถูกกดดันอย่างมากให้กดทับหรือปฏิเสธตัวเอง สัญชาตญาณที่ถูกแยกแยะไม่ได้จึงกลายเป็นก้อนมวนๆ มึนๆ ปวดๆ อยู่ในหัว ในหัวใจ หรือตามตำแหน่งต่างๆ ตามร่างกาย ที่เราเรียกมันว่าความกังวล หรือ Anxiety

Anxiety คือการรับรู้การเคลื่อนไหวของ space ที่เราแปลความหมายไม่ออก เมื่อเราทำงานกับตัวเองไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มเข้าใจ anxiety ของตัวเองมากขึ้นว่าเค้ากำลังบอกให้เราทำอะไร

ถ้า anxiety อยู่ในหัว เป็นไปได้มากกว่าเรากำลังไม่เข้าใจอะไรบางอย่าง หรือมีใครบางคนอยากจะเข้าใจเรา

ถ้า anxiety อยู่ที่หัวใจ เป็นไปได้ว่าเรากำลังพื้นที่แสดงตัวตนทางสังคม หรือเราอาจกำลังเบียดบังพื้นที่ทางสังคมของใครอยู่

ถ้า anxiety อยู่ที่ร่างกาย เราอาจกำลังถูกรุกล้ำอธิปไตย หรือ เราอาจกำลังเบียดเบียนอธิปไตยของใครบางคนอยู่

การก่อรูปและแตกสลาย (Forming and Breaking)

เมื่อกล้าที่จะครอง จึงพร้อมที่จะให้

คนไทยมักคุ้นเคยกับคำสอนที่ให้ละทิ้งตัวตน (Altruism) ทว่าแนวทางนี้กลับก่อให้เกิดปัญหาพอๆ กับการยึดติดในตัวตน (Egotism) เพราะทั้งสองแนวทางคือการขวาง space

ในรถไฟฟ้าปลากระป๋องนั้น เรากระแทกกระทั้นกันอยู่ตลอดเวลา เราต่างพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะคงรูปและครองพื้นที่ที่สะดวกสำหรับเรา ทว่ากระแสแห่ง space ย่อมไม่ปล่อยให้ใครขวางมันได้ตลอดไป ไม่ว่าใครก็จะถูกพาไปสู่ที่ชอบบ้างไม่ชอบบ้าง แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ที่จะครองพื้นที่เท่าที่มี แบ่งปันพื้นที่เท่าที่ทำได้ เรายอมรับแต่ไม่ยอมแพ้ต่อกระแสแห่งความโกลาหลเพราะเราเชื่อมั่นว่ามันจะพาทุกตัวตนไปสู่ที่ที่คู่ควร

เราไม่ยอมแพ้ที่จะคงรูป และเรากล้าที่จะแตกสลาย

คนที่เชื่อมั่นในปรากฏการณ์แห่งพื้นที่ จะแท้จริงต่อความต้องการในพื้นที่ของตัวเอง พร้อมที่จะสละมันให้ผู้ที่ต้องการ และกล้าที่จะยอมรับการแตกสลายเมื่อกระแสแห่ง space ไม่อนุญาตให้คงรูปได้อีกต่อไป

ในทางกลับกัน คนที่มองไม่เห็นกระแสจะยืนขวาง space ด้วยความไม่รู้ใน 3 รูปแบบ

  1. การยึดติดในตัวตน — กลัวที่จะสูญเสียพื้นที่อันสะดวกสบายของตัวเองไป ตัวอย่างเช่นคนที่โกรธเกลียดโลกและกอบโกยกักตุนมากเกินจำเป็น ครอบครองพื้นที่มากเกินจำเป็นโดยละเลยผู้คนที่ต้องการมัน
  2. การไม่กล้าที่จะมีตัวตน — เช่น people-pleaser หรือคนที่มีความกลัวหรือความเชื่อฝังหัวบางอย่างทำให้ไม่กล้าที่จะแสดงออกว่าตัวเองต้องการพื้นที่ เมื่อไม่แสดงออกคนอื่นก็ไม่รู้จึงไม่สามารถที่จะมอบพื้นที่ให้ได้อย่างเหมาะสม
  3. การไม่จริงแท้ต่อตัวตน — คือคนที่โกหกว่าตัวเองต้องการพื้นที่นิดเดียว แต่ที่จริงแอบกินพื้นที่ส่วนอื่นที่ไม่มีใครเห็น เพื่อที่หลบหนีหรือลดความเสี่ยงจากการแตกสลาย หรือต้องแบ่งปันพื้นที่ให้คนอื่น

อันนี้ที่จริง ไม่มีใครสามารถที่จะครอบครองพื้นที่ได้มากหรือน้อยกว่าความเป็นจริงได้ ถ้าคนคนหนึ่งแสดงตัวตน Body Self ว่าเป็นคนไม่เบียดเบียนอธิไตยของคนอื่นอย่างสุดโต่งเกินไป อาจแปลว่าเค้าอาจกำลังพยายามครองพื้นที่ Heart Self มากจนเกินพอดีโดยการพยายามเป็นคนน่ารักอย่างสุดโต่ง โดยมีพื้นฐานจากความกลัวที่จะไม่เป็นที่รัก คนที่เข้าใจสมการนี้จะเห็นว่า การยึดติดในตัวตน การไม่กล้ามีตัวตน หรือการไม่จริงแท้ต่อตัวตนนั้น มันก็คือสิ่งเดียวกัน

คนที่ยึดติดในพื้นที่ของบางตัวตนก็เพราะเขาขาดแคลนพื้นที่ในอีกตัวตนหนึ่ง ส่วนคนที่ไม่กล้าครองพื้นที่แห่งตัวตนในบางด้าน ก็เพราะเขาหวงแหนยึดติดกับตัวตนในอีกด้านอยู่

เมื่อรับผิดชอบตัวตัวเอง จึงพร้อมที่จะให้เกียรติผู้อื่นแม้เขาไม่เป็นดั่งใจเรา
เมื่อกล้าเป็นตัวของตัวเอง จึงพร้อมยอมรับผู้อื่นอย่างที่เขาเป็น
เมื่อชัดเจนกับตัวเอง จึงพร้อมยืดหยุ่นกับผู้อื่น

I See You

วันแรกที่มองเห็น space เราโครตขนลุก เพราะตระหนักว่าที่ผ่านมาเราไม่เคย “มองเห็น”​ ใครเลย ก่อนหน้านั้นเรามองคนแล้วเห็นเป็นแค่หุ่นยนต์ชีวภาพ ไม่เคยสนใจว่าใครต้องการอะไร และคิดว่าเราเป็นคนไม่มีทักษะที่จะแบ่งปันหรือสนองความต้องการใครๆ

แต่ที่จริงคือเราไม่ได้ต้องการทักษะอะไรเลยในการ connect กับผู้คน เราเพียงแค่กลับมา connect กับสัญชาตญาณตัวเอง ใช้ดวงตาแห่งสัญชาตญาณมองคน แล้วเราจะรับรู้ “ตัวตน” ที่แท้จริงของเขาและของตัวเราเอง

เมื่อเรามีตัวตน เราจึงสามารถยอมรับตัวตนของผู้อื่น

--

--