ทำยังไงให้สนุกกับการแก้ปัญหา

Pawz Arts Gallery of Thoughts
Master of Emotion
Published in
2 min readJan 11, 2024

ปัญหาคืออะไร

ในชีวิตการทำงาน เราต้องเจอกับเรื่องที่ไม่เป็นดั่งใจและควบคุมไม่ได้อยู่ตลอดเวลา คนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ มักจะต่อต้านธรรมชาติข้อนี้โดยพยายามบีบเค้นตัวเองและคนรอบข้างอย่างมึนๆ งงๆ ด้วยความกลัวหรือความคาดหวังที่คลุมเคลือ เพื่อรักษาพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง

ภายใต้กรอบความคิดแบบนั้น เรามักจะหลงเชื่อไปว่า “ปัญหาคืออะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเรา” และคือสาเหตุของความทุกข์ในใจเรา เราจึงต้องทำบางอย่างเพื่อเปลี่ยนทุกคนหรือทุกสิ่งให้เป็นไปตามความคาดหวัง เพื่อหวังว่าความทุกข์จะหายไป

แต่มันไม่ใช่เลย…

ปัญหาคือ “ความต้องการที่แท้จริง” บางอย่างของเราที่ไม่ได้รับการเติมเต็ม

ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับความคาดหวังและความจริงที่เกิดขึ้น ตัวเอย่างเช่น ความหิวข้าว คือปัญหา และวิธีแก้คือหาอะไรกิน… แต่เราไม่เคยทุกข์เพราะหิวข้าว! เราทุกข์เพราะเราคาดหวังว่าจะได้กินบางอย่าง แต่ความจริงไม่ได้กินต่างหาก

ความทุกข์คือระยะห่างของธรรมชาติกับความคาดหวังของเรา

นี่คือนิยามของความทุกข์ในมิติปัจจุบัน variant ของความทุกข์ที่อยู่ในมิติของอนาคตเราเรียกมันว่า

ความวิตกกังวล คือระยะห่างของ “สิ่งที่เราคาดเดาว่าจะเกิดในอนาคต” กับ “สิ่งที่เราอยากให้มันเป็น”

แยกความทุกข์ออกจากปัญหา

ขั้นตอนแรกของการแก้ปัญหาใดๆ คือเราต้องแยกความทุกข์ออกจากปัญหาให้ได้เสียก่อน อย่าใช้ตัวเราที่กำลังเป็นทุกข์ไปแก้ปัญหา มันจะยิ่งเละ ลองคิดดู สมมุติเราจะจ้างคนมาทำความสะอาดบ้าน เราจะจ้างคนที่อมทุกข์มาทำไหม? เราจะได้บ้านแบบไหนกันหล่ะ?

วิธีการสกัดความทุกข์ออกจากปัญหาก็คือการจัดการกับความคาดหวังของเรานั่นเอง ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้และทำความเข้าใจธรรมชาติ และปล่อยวางความยึดติดต่างๆ ในใจเรา

ตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังทุกข์เพราะทำงานไม่เสร็จ พรุ่งนี้จะต้องส่งงานลูกค้าแล้ว

ความทุกข์ในปัจจุบัน

ความคาดหวัง: เราหวังว่าจะทำงานเสร็จ
ธรรมชาติ: เราไม่มีทางทำงานเสร็จ เวลาไม่พอ
วิธีดันทุรัง: พยายามอดหลับอดนอนทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าทำยังไงก็ไม่เสร็จ

ความวิตกกังวล

สิ่งที่เราอยากให้เกิด: ลูกค้าและเพื่อนร่วมงานชมเชย
สิ่งที่เราเดาว่าจะเกิด: ลูกค้าและเพื่อนร่วมงานผิดหวังในตัวเรา
วิธีดันทุรัง: พยายามหาข้อแก้ตัว

ปัญหา

ความต้องการที่แท้จริง: เราไม่อยากรู้สึกผิดต่อลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน
วิธีเติมเต็มความต้องการ: ลองวิเคราะห์ว่าใครบ้างจะเดือดร้อนจากการที่เราทำงานไม่เสร็จ และเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อบรรเทาสิ่งนั้น

พอเขียนออกมาแบบนี้จะเห็นชัดเลยว่าปัญหากับควาทุกข์และความวิตกกังวลมันเป็นคนละเรื่อง ถ้าเราแยกมันออกจากกันได้เราจะพบวิธีแก้ปัญหามากมาย สาเหตุที่หลายคนแก้ปัญหาไม่ได้เพราะเข้าใจผิดว่าความทุกข์และความวิตกกังวลคือปัญหา และหาทางแก้ด้วยการดันทุรัง

แก้ใจ

จะเห็นได้ว่า ไอ้ที่เราเรียกันว่าการ “แก้ปัญหา” แท้จริงแล้วขั้นตอนหลักๆ ที่ยากๆ มันไม่ใช่ว่าต้องทำอะไรหนึ่งสองสามสี่ที่โลกภายนอก แต่มันเกี่ยวกับโลกภายในจิตใจของเราล้วนๆ เลยต่างหาก

  1. ทำความเข้าใจธรรมชาติ และปล่อยวางลดระยะห่างของความคาดหวังลง
  2. ค้นหาความต้องการที่แท้จริง ความต้องการซื่อๆ ที่ไม่ขึ้นอยู่กับ “คนอื่น” สิ่งใดที่ต้องรอให้คนอื่นมาเต็มเติม นั่นมันเรียกว่าความ “คาด”​ หวัง ไม่ใช่ความต้องการ — ความต้องการที่แท้จริง คือสิ่งที่จิตใต้สำนึก หรือตัวตนภายในของเรากำลังสื่อสารให้เราดำเนินการ

เติบโตไปเรื่อยๆ

ชีวิตจริงมันง่ายแค่ตอนที่เราเข้าใจมันแล้วเท่านั้นแหละ ตอนที่เรายังจมอยู่มันสุดจะซับซ้อน เราต้องพยายามค้นหาแก้ไขมันไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราจัดการมันอย่างถูกวิธีมันจะสนุกมาก ต่อไปนี้เป็น 6 คำแนะนำที่อาจช่วยได้

  1. เป็นเพื่อนกับความวิตกกังวลของตัวเอง — ความยากของความวิตกกังวลคือเรามักไม่รู้หรอกว่าเรากำลังวิตกกังวลเรื่องอะไร และถึงแม้จะรู้มันก็จะมึนๆ งงๆ ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราคาดเดามันจะเกิดขึ้นจริง หรือเราแค่หลอนไปเองกันแน่ คนส่วนใหญ่มักวิ่งหนีจากความวิตกกังวลของตัวเองด้วยการผลัดวันประกันพรุ่ง หรือไม่ก็บีบเค้นคนอื่นแบบบ๊องๆ เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยโดยที่ไม่ได้แก้ปัญหาใดๆ ทางเดียวที่จะเข้าใจความวิตกกังวลของตัวเองได้คือจับมือเดินไปพร้อมกับมัน อดทนทำสิ่งที่ต้องทำแม้จะอึดอัดโดยที่ยังไม่ต้องรีบร้อนลนลานไปบีบเค้นใคร รับผิดชอบและอดทนกับความรู้สึกของตัวเอง ถ้าเราไม่ยอมเดินไปกับความกังวล เราจะไม่มีวันโต เมื่อเราอดทนทำในสิ่งที่เรากังวลไปเรื่อยๆ จิตใต้สำนึกเค้าจะค่อยๆ “reveal itself through our action” เมื่อถึงจุดนึงเราก็จะรู้แจ้งว่าเค้าพยายามจะบอกอะไรเรา
  2. อย่ามองลงไปข้างล่าง (อย่าหาทางออกที่ทางเข้า) — เวลาที่เรากำลังปีนขึ้นที่สูง ทุกคนรู้ดีว่าการมองลงไปข้างล่างมันจะหวาดเสียว และทำให้เราไม่กล้าปีนขึ้นไปต่อ เปรียบกับเวลามีปัญหา คนทั่วไปมักจะเอาแต่หาสาเหตุว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง การทำแบบนั้นมันเป็นกับดักทางความคิด มันจะทำให้เราคิดวนอยู่กับการกล่าวโทษ และปฏิเสธสถานการณ์ เราจะเอาแต่คิดว่าทำไมเราจึงไม่ควรมาอยู่ในสถานการณ์นี้ บางคนอาจเถียงว่าเราต้องรู้สาเหตุก่อน เราจึงรู้วิธีแก้ไข ความจริงมันไม่ใช่แบบนั้น เราแค่ต้องรู้เท่าที่จำเป็น ทุกปัญหามีทางออกแต่มันไม่ได้อยู่ที่ทางเข้า เราแค่ต้องมองไปข้างหน้า เอาไว้เราปีนขึ้นไปถึงยอดเขา หลุดพ้นจากปัญหาแล้วจึงค่อยมองกลับลงมาพิจารณา ตอนที่เรายังติดอยู่ในปัญหายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม มันรังแต่จะทำให้เราสับสน เราจะไม่ได้เรียนรู้อะไรทั้งสิ้นจากการมองลงไปข้างล่างตอนนั้น
  3. รู้ทันความอยากกล่าวโทษ — จงสังเกตตัวเองให้ดี ทุกครั้งเวลาที่เราคิดกล่าวโทษใครวนไปวนมา ที่แท้แล้วคือเรากำลังรู้สึกผิดต่อตัวเองในบางเรื่อง และ pride ในตัวเราเค้าไม่อยากให้เรายอมรับ การยอมรับมันขมแต่มันจบ เมื่อเราคิดถูกเราจะไม่คิดวน เมื่อเรายอมรับเราจะรู้แจ้งว่าที่จริงเราต้องทำอะไรเพื่อแก้ไข ถ้ามันเป็นสิ่งที่แก้ไขอะไรไม่ได้ ให้เรามองหาโอกาสที่จะช่วยเหลือคนอื่นแทน ที่จริงความรู้สึกผิดเค้าไม่ใช่อะไรมากไปกว่าความน่ารักในตัวเราที่ไม่อยากเห็นใครต้องเดือดร้อนเพราะเรา จงดีกับเค้าให้มากๆ
  4. มองหาวิธีแก้ปัญหาแบบ creative และภูมิใจกับมัน — ความ creative มันสนุก ไม่ว่าปัญหามันจะขมขื่นหรือน่าเบื่อ ลองดูว่าเรามีวิธีใหม่ๆ ที่น่าสนุกไปแก้ไขมันได้อย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องทนทำงานที่รู้อยู่แล้วว่าไม่คุ้ม ขาดทุน เสียเวลา แต่หนีไม่ได้ ยังไงก็ต้องทำ ก็ให้หาทางทำให้มันเป็นโอกาสในการลองท่าแปลกๆ ที่ปกติไม่กล้าลอง คิดซะว่าเป็น side project ทดลองเล่นๆ
  5. อย่าฝากเงื่อนไขความสุขไว้ที่คนอื่น — ทุก solution ให้ cut off ที่ตัวเองให้ได้ เช่นถ้าได้งานที่ scope บานปลาย ก็ไม่ต้องไปบีบเค้นให้ใครจัดการ scope ให้เรา ไม่ต้องคิดว่ามันเป็นหน้าที่ใคร เราต้องจัดการตัวเอง หาทางทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเราจะทำแค่ไหน และถ้าเค้าต้องการเพิ่มต้องทำยังไง มีอะไรมาแลกเปลี่ยน
  6. ฝึก mindset ของ collaboration over process — ในหลายๆ บริบท เราใช้ process เป็นข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงที่จะคุยเรื่องยากๆ กับคนอื่น แต่ผลของการทำอย่างนั้นมันทำให้เราเป็นง่อยทางมนุษยสัมพันธ์ เราจะมีความอดทนต่ำเวลาที่คนอื่นทำอะไรไม่เป็นดั่งใจ — collaboration คือความกล้าที่จะเดินเข้าไปคุยตรงๆ กับทุกคน อ่อนโยนที่จะรับฟังและปรับตัวเพื่อ balance ความต้องการของกันและกัน ใจกว้างที่จะให้โอกาสตัวเองและคนอื่นได้พูดผิดทำผิดเพื่อเติบโต ทุกครั้งที่เรามองหาการแก้ปัญหาด้วยวิธี collaboration กล้ามเนื้อแห่งสติปัญญาและความเข้าในมนุษย์ของเรามันจะเติบโต อย่าแหนงหน่ายต่อโอกาสที่จะได้เติบโต

--

--