บึงแห่งความคิดและกลไกของความเกลียดชัง

เวลาที่เราเกิดความรู้สึกลำบากใจที่จะยอมรับใครสักคน เราจะรู้สึกไม่สบายและมีสัญชาตญาณที่จะหาทางหลุดพ้นจากความไม่สบายนั้นด้วยการดำลงไปในบึงแห่งความคิด (และเหตุผล) เพราะเราเชื่อว่ายาแห่งคำตอบมันจมอยู่ลึกที่ตรงไหนสักแห่งในก้นบึงนั้น

ทว่าผลข้างเคียงของการดำอยู่ในบึงแห่งความคิดนานเกินไปมันกลับทำให้ความเกลียดชังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ความเกลียดชัง + ความคิด = ความเกลียดชังที่มากขึ้น

ถ้าเราดำอยู่นานและยังไม่พบยาแห่งคำตอบ แล้วยังฝืนดันทุรังอยู่อย่างนั้น ในที่สุดทั้งตัวตนของเราก็จะกลายเป็นความเกลียดชังนั้น และหลงลืมไปว่าที่จริงแล้วเราดำลงมาในบึงแต่แรกก็เพื่อหลุดพ้นจากความเกลียดชังมิใช่หรือ?

ตัวเราและคนอื่นๆ ที่จริงเราอาจเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เหมือนกับเป็นแขนคนละข้างของสิ่งเดียวกัน และเรามีธรรมชาติที่ไม่อยากเกลียดกันเองอยู่ในตัวเรา เราล้วนอยากอยู่ในสภาวะที่ยอมรับกันและกันได้อย่างสนิทใจ เพราะอย่างนั้นเราจึงรู้สึกถึงความบีบคั้นในสถานการณ์ที่กดดันให้เราเกลียดกัน

และเพื่อหลุดจากความบีบคั้นนั้น เราทำได้เพียงแค่ใช้เครื่องมือที่เราถนัดที่สุด – ความคิด

ทว่ามนุษย์มีข้อจำกัดในการรับและประมวลผลข้อมูล เราไม่สามารถมองเห็นทุกอย่างในบึงแห่งความคิด เราเห็นเฉพาะสิ่งที่ลอดผ่าน filter แห่งทิฐิของเราเท่านั้น เหมือนเราพยายามจับกุ้งด้วยแหที่กรองได้แต่ปลาหมึก

เราใช้ทิฐิแห่งความเกลียดชังลงไปกรองหาคำตอบแห่งการหลุดพ้นจากมันไม่ได้

เราต้องหัดใช้เครื่องมืออย่างอื่น!

เครื่องมือนี้เรียกว่า การยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Acceptance)

มันคือการยอมรับโดยไม่ต้องใช้ความคิด เหตุผล และคำอธิบายใดๆ คล้ายกับการที่เรายอมรับแขนขาของตัวเองโดยไม่เกี่ยวว่ามันจะต้องเป็นได้ดั่งใจเราหรือไม่

อุปสรรคตัวใหญ่ที่ขวางกั้นเราไว้จากเครื่องมือนี้ คือความเชื่อเกี่ยวกับคุณธรรมและการคาดหวัง เราโตมาในสังคมที่บีบคั้นเราด้วยสิ่งเหล่านี้

มันบีบคั้นให้เราเชื่อว่าโลกนี่มีสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อยู่

กลไกของสิ่งนี้ เริ่มจากมีคนอื่นมาบีบคั้นให้เราไม่ยอมรับบางอย่างในตัวเราเอง และส่งผลเป็นลูกโซ่ให้เราปฏิเสธสิ่งเดียวกันในตัวคนอื่น เราจึงเริ่มเรียนรู้ที่จะ “ประดิษฐ์” คุณธรรมขึ้นมาบีบคั้นคนอื่น และในทางกลับกัน

ทุกสิ่งที่เราไม่ยอมรับคนอื่น เรากำลังบีบคั้นตัวเองด้วยเรื่องเดียวกัน

การแก้ไขปรากฏการณ์นี้จะนำเราไปสู่ภาวะแห่งการยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข โดยเราต้องแก้ไขที่คนอื่น (มุมมองที่เรามีต่อคนอื่น) และตัวเราเองไปพร้อมๆ กัน

เรายอมรับข้อเสียในตัวคนอื่น ผ่านประสบการณ์ที่ทำให้เราศิโรราบในข้อเสียของตัวเอง ซึ่งหมายถึงการยอมรับและให้เวลาตัวเองได้เป็นสิ่งที่เราเคยไม่อยากยอมรับ

เป็นคนไม่เก่ง เป็นคนขี้เกียจ เป็นคนเห็นแก่ตัว เป็นคนอวดดี เป็นคนขี้อิจฉา … บอกตัวเอง “ไม่เป็นไรเลย” มันเป็นเรื่องธรรมชาติ

ยังไงฉันก็รักเธอ ฉันจะไม่โทษเธอ ไม่บีบคั้นเธออีกต่อไปแล้ว เธอดีพอแล้ว

เพียงแค่เธอยังมีชีวิตอยู่ ยังนอนหลับได้ ยังตื่นขึ้นมาได้ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว เธอดีพอแล้วจริงๆ

ลองสังเกตดูหน้าผากย่นๆ และคิ้วที่ขมวดเกร็งนั่นสิ ตัวเราเค้ากำลังหวาดกลัวบางอย่าง อันที่จริงเค้ากลัวตัวเราเองนี่แหละ ที่บีบคั้นว่าเค้าดีไม่พอ ต้องทำงานหนักให้มากกว่านี้สิ ต้องเป็นคนที่ดีกว่านี้

เราทุกคน (หรือส่วนใหญ่) ล้วนมีปมด้อยว่าตัวเองดีไม่พอ และพยายาม cope กับความเจ็บปวดนี้ด้วยการเฆี่ยนตีบีบคั้นดูแคลนคนอื่น และไล่ล่าหาหลักฐานมายืนยันว่าตัวเองนั่นไม่ได้ด้อยกว่าใครๆ

หนทางที่จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏนี้ เริ่มจากการรู้จักอดทนอยู่กับความเจ็บปวดและความไม่ได้ดั่งใจโดยไม่ต้องรีบร้อนแก้ไข

ถ้าดำลงไปในบึงแห่งความคิดแล้วหาคำตอบไม่พบ อย่าดื้ออยู่นาน ให้ขึ้นมาพักก่อน ปล่อยวางจากเหตุผลและทิฐิ อดทนกับสภาวะโดยไม่ต้องบีบคั้นใคร ให้บึงแห่งความคิดมันอยู่นิ่ง สักวันความเกลียดชังมันจะตกตะกอน และบางทีเมื่อบึงมันใสแจ๋ว เราจะเห็นคำตอบได้ชัดเจนโดยไม่ต้องดำลงไปเลย

--

--

Pawz Arts Gallery of Thoughts
Master of Emotion

I am writing for fun. Please don't believe it 100%. Just possibility. เขียนตามความรู้สึก ไม่มีถูกผิด ไม่ต้องใช้วิจารณญาณ เพียงใช้สัญชาติญาณ