ฝึกเป็นคนพูดตรง — ทักษะในการสื่อสารความต้องการของตัวเอง

Pawz Arts Gallery of Thoughts
Master of Emotion
Published in
1 min readSep 23, 2023

เรามักเข้าใจผิดว่าการพูดตรงมีข้อเสียคือมันอาจทำร้ายจิตใจคนอื่นได้ แต่ที่จริงแล้ว การพูดตรงเป็นวิธีพูดที่ทำร้ายคนอื่นน้อยที่สุดต่างหาก

แต่มันอาจไม่ใช่อย่างที่คุณเข้าใจ

คนมักคิดว่าการพูดตรงคือ “คิด” ยังไงก็พูดออกมาอย่างนั้น นั่นไม่ใช่การพูดตรง มันคือการพูดจากความคิด และปัญหาคือความคิดของเรามันคือสิ่งที่ “ไม่ตรง” มากที่สุดในโลกเลย

คนเราอ้าปากพูดเพราะเรามีความต้องการที่แท้จริง (needs) บางอย่างเสมอ ส่วนความคิดคือกระบวนการแปรรูปความต้องการออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกปรุงด้วยความกลัวหรือทิฐิเกี่ยวกับความถูกผิดต่างๆ ที่เราได้รับฝังหัวมา

ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าผมทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ ในระหว่างที่คุยงานกับทีม ผมพบว่าคนส่วนใหญ่ในทีมกำลังคาดหวังให้ผมทำงานบางอย่างที่ผมไม่อยากทำ ถ้าผมพูดตรง ผมจะตรวจสอบความต้องการที่แท้จริงในใจของตัวเองแล้วอาจพูดประมาณว่า

“ผมรู้สึกไม่อยากทำงานนี้เลย เพราะมันมีหลายประเด็นที่ผมต้องไปถามจากคนอื่นและผมก็ไม่ได้อยากรู้เลย มันจะต้องใช้เวลาและสมาธิมาก อาจจะใช้เวลาเป็นเดือนโดยไม่ได้คุณค่าอะไรเลย และผมกลัวว่าจะไม่ได้ใช้ความรู้ของตัวเองไปทำงานที่ถนัดและสร้างคุณค่าต่อตัวเองได้มากกว่า”

แต่ถ้าผมพูดสิ่งที่ตัวเองคิดโดยไม่ได้ไตร่ตรองความต้องการของตัวเอง ผมจะพูดว่า

“ผมคิดว่านี่ไม่น่าจะใช่หน้าที่ของโปรแกรมเมอร์นะครับ”

ความแตกต่างระหว่างคำพูดทั้งสองแบบคือ ในแบบแรก ผมพูดความต้องการที่แท้จริงของตัวเองโดยไม่ชี้ถูกชี้ผิด ส่วนแบบที่สอง แม้จะดูสั้นกระชับกว่า แต่มันแฝงไปด้วยความเชื่อถูกผิดเกี่ยวกับหน้าที่ของโปรแกรมเมอร์ที่เรามักคิดไปเอง และความกลัวที่แสดงออกมาในรูปของการกล่าวโทษ (ว่าคนอื่นบกพร่องที่ไม่รู้จักหน้าที่)

คำพูดทั้งสองแบบอาจนำไปสู่ข้อพิพาทได้เหมือนกัน แต่การพูดจากความคิดมักนำไปสู่ข้อพิพาทที่ดึงเราออกห่างจากความต้องการที่แท้จริงของทุกฝ่าย เช่นเราจะวนอยู่กับประเด็นเรื่องหน้าที่ของโปรแกรมเมอร์ หรือการปกป้องตัวเองจากการเป็นคนผิด แทนที่จะเถียงเพื่อเรียนรู้และ tradeoff ความต้องการของกันและกัน … ซึ่งน่าเศร้า ทว่าที่จริงยังมีคำพูดอีกแบบนึงที่น่าเศร้ายิ่งกว่า

“ได้ครับ”

มันเป็นทางเลือกที่ไม่แม้แต่จะสื่อสารเป็นอย่างน้อยให้คนอื่นได้รู้ว่าเราไม่โอเค จากนั้นเราก็ไปนั่งเก็บกด บ่นด่า หรือนินทาคนอื่นอยู่ในใจ เรากลัวการขัดแย้งกับคนอื่นมากเสียจนยอมสละความต้องการในชีวิตของตัวเอง แต่เราจะทำแบบนั้นไปได้นานสักแค่ไหนกัน มันเป็นระเบิดเวลาที่ไม่มีคำเตือนล่วงหน้าให้แก่ผู้ใด เมื่อถึงเวลามันระเบิด คนก็ตายเรียบ และจะไม่มีใครได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น แม้แต่ตัวเราเอง

ค้นหาความต้องการที่แท้จริง

การพูดตรง หมายถึง พูดให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง แต่การรู้ความต้องการของตัวเองกลับเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน อาจเพราะเราเคยชินกับการใช้ความคิดปรุงแต่งก่อนแสดงออกในทุกสิ่งจนเหมือนมันเป็นเรื่องธรรมดา

ก่อนอื่นเราต้องรู้และยอมรับเสียก่อนว่าเราไม่โอเค และมันเป็นเรื่องที่โอเคมากๆ ที่จะรู้สึกไม่โอเค อย่าปฏิเสธหรือหนีความรู้สึกตัวเอง จากนั้นให้เรามองไปที่ความคิดของตัวเอง เราจะพบความคิดที่เต็มไปด้วยการปรุงแต่ง สิ่งที่เราต้องทำก็คือตัดสิ่งปรุงแต่งออกไปให้หมด — แล้วสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือความต้องการที่แท้จริง … มีอยู่ 3 อย่างที่เราต้องตัดออก

1. คนอื่น

คือการไปคิดแทนความต้องการของคนอื่น ทึกทักเอาเองว่าเขาต้องการหรือไม่ต้องการอะไร และเมื่อมันขัดกับความต้องการของเรา เราก็โทษเขาซะงั้น แบบนี้เรียกว่าอาการหลอน

2. ทิฐิ

คือความเชื่อฝังหัวเกี่ยวกับความถูกผิด ความดีชั่ว หน้าที่ กฎเกณฑ์ต่างๆ

3. ความกลัวฝังหัว

เรามีความกลัวอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือความกลัวตามสัญชาตญาณ อีกแบบคือความกลัวที่ถูกฝังหัวมาจากสิ่งแวดล้อมที่เราเติบโต โดยเฉพาะจากสังคมอำนาจนิยม เราถูกลงโทษ ถูกทำให้รู้สึกผิดและอับอายเมื่อเราทำอะไรบางอย่างที่ขัดต่อทิฐิของผู้มีอำนาจเหนือเรา เราได้รับรางวัลและการชมเชยเมื่อทำถูก

แท้ที่จริงแล้วมนุษย์เราไม่ควรจะต้องถูกลงโทษ หรือชมเชยเพื่อให้กลายเป็นสิ่งใดๆ มากไปกว่าการเป็นตัวของตัวเอง — การเป็นตัวเองคือของขวัญที่จริงใจที่สุดที่เรามอบให้แก่โลกนี้ได้ — คนที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง จะพิพาทกับคนอื่นอย่างไม่รู้จบเพื่อสิ่งที่เขาไม่ได้ต้องการ เราทะเลาะกับ “คนอื่น”​ในจินตนาการของตัวเอง และความกลัวที่มีมากล้นในใจทำให้เราไม่กล้ายอมรับและแสดงความต้องการของตัวเองออกมาตรงๆ ได้แต่สรรหาคำพูดและหลักการที่ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับได้มากกว่าและแสดงออกมาแทน

จนในที่สุด แม้แต่เราเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร

กลับสู่ธรรมชาติ

เรามักมีความเชื่อฝังหัวว่าการเป็นตัวของตัวเองมันเป็นความก้าวร้าว เห็นแก่ตัว และเป็นการเอาเปรียบผู้อื่น … นั่นเป็นเพราะเราเข้าใจความหมายของการเป็นตัวเองผิดไป

ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์คือตัวตนที่เชื่อมโยงกันและกันผ่านการเห็นอกเห็นใจ เพราะเราเผชิญความยากลำบากแบบเดียวกัน และผ่านพ้นมันมาได้ด้วยการจับมือของคนข้างหน้า เราจึงยืนมืออีกข้างไปข้างหลัง

เวลาเราเห็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือแบบเดียวกับที่เราเคยเผชิญ ความรู้สึกที่อยากจะเข้าไปช่วยมันเกิดขึ้นก่อนที่เราจะ “คิด” และสิ่งที่เราได้รับหลังจากนั้นก็คือความอิ่มฟูในใจ

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเราเป็นผู้ได้รับการช่วยเหลือ เราไม่ได้รู้สึกผิด ติดค้าง หรือรู้สึกว่าต้องตอบแทนตามมารยาทหรือความคาดหวังใดๆ แท้จริงเราเพียงซาบซึ้ง และอิ่มฟูไม่น้อยไปกว่าผู้ที่ช่วยเหลือเรา

แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเราเอาความคิดมาคั่นกลางระหว่างธรรมชาติอันนั้นกับการแสดงออก เพราะเราไม่ไว้ใจธรรมชาติของตัวเอง

ตัวอย่างเช่นตอนเรายังเด็ก พวกผู้ใหญ่สอนเราว่าเราต้องเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนที่ขาดแคลน แต่เพราะเรายังเด็ก เรายังไม่เคยเผชิญปัญหาความขาดแคลน และยังไม่เคยได้เรียนรู้ความซาบซึ้งใจจากการถูกช่วยเหลือ เราจึงไม่เกิดความรู้สึกอยากเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่…​ แต่ผู้มีอำนาจเหนือเรา (เช่นพ่อแม่และครู) ต่างตัดสินคุณค่า และแสดงออกว่าเราจะไม่ได้รับการยอมรับถ้าเราไม่เป็นคนที่เอื้อเฟื้อ เราจึงพยายามแสดงออกความเอื้อเฟื้อผ่านการ “คิดเอา” และยึดติดว่ามันคือ “ความดีที่ต้องเป็นโดยธรรมชาติ” — คือ “คุณธรรม” — และเมื่อเราโตขึ้น เราก็ไปตัดสินคนอื่นที่ไม่มีสิ่งนั้นแบบเดียวกับที่เราเคยถูกตัดสิน และปิดตาตัวเองจากเงามืดของตัวเองในอดีตที่ไม่ได้มีสิ่งนั้นโดยธรรมชาติ

เรากลายเป็นคนที่เอื้อเฟื้อโดยทิฐิ… และให้บนพื้นฐานของความกลัว (ว่าจะไม่ถูกยอมรับ)

เราเป็นเช่นนี้กับหลายๆ เรื่อง และกลายเป็นคนที่ไม่ไว้ใจตัวเอง เราถูกสอนให้ยื่นมือไปข้างหลังอย่างผิดธรรมชาติ เหมือนดอกไม้ที่ถูกแกะก่อนที่จะเบ่งบานด้วยตัวเอง เรารู้สึกว่าการช่วยเหลือคนอื่นมันเป็นภาระมากกว่าจะรู้สึกอิ่มฟู และดังนั้น

เราจึงกลายเป็นคนที่ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ และแสดงความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง

เพราะเรารู้สึกไม่อยากเป็นภาระของคนอื่นนั่นเอง

เราไม่จำเป็นต้องเอื้อเฟื้อ ถ้าเราไม่ได้รู้สึก และเราก็ไม่ได้ผิดอะไร การเป็นตัวของตัวเอง คือการปลดปล่อยตัวเองออกจากโซ่ตรวนทางจิตใจเหล่านั้น ซึ่งได้แก่ทิฐิ และความกลัว คือการละทิ้งความยึดติดใน “คุณธรรม” และกลับมาเชื่อมั่นในเส้นทางของ “การเห็นอกเห็นใจ” ยอมรับความไม่สมบูรณ์ในตัวเองและคนอื่น เลิกตัดสินและเบือนหน้าหนีจากธรรมชาติของตัวเอง ยอมรับว่าเราเป็นมนุษย์ เป็นญาติกับลิงเจี๊ยกๆ และไม่ได้เป็นเทพ… แต่ความไม่สมบูรณ์นี้เองกลับเป็นโอกาสที่ให้เราได้เผชิญความยากลำบากแบบเดียวกัน เราจึงมีธรรมชาติที่อยากจะเติมเต็มความต้องการที่แท้จริงของคนอื่นอยู่ในตัวเอง

และการยื่นมือไปข้างหน้าเพื่อสื่อสารความต้องการที่แท้จริงของเรา มันไม่ได้สร้างภาระให้ใคร แต่มันคือการให้โอกาสพวกเราได้เชื่อมถึงกัน

--

--