วิวัฒนาการของอาชีพ (Career Evolution) และแนวคิดการปรับตัวในตลาดแรงงาน

Mark Pachara
MFEC
Published in
2 min readApr 23, 2024

ทุกคนคิดว่าการที่เราจะสมัครงานแล้วได้งานมันจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างครับ ความรู้ ความสามารถ ทักษะ นิสัย ทัศนคติ IQ หรือ EQ ปัจจัยที่บริษัทจะรับผู้สมัครเข้ามามันมีมากมายนับไม่ถ้วนเลยครับ ฉะนั้นในฐานะคนหางานจะต้องเตรียมตัวอย่างไรดีล่ะ ถ้านับวันบริษัทยิ่งต้องการคนที่เก่งขึ้น เป็นเป็ดที่แกร่งไปเรื่อย ๆ ทุกวัน

ผมอยากจะพาทุกคนมาดูวิวัฒนาการของอาชีพ (Career Evolution) ก่อนละกันครับทุกคนจะได้เห็นภาพมากขึ้นทุกคนคิดว่า HR ในอดีตเป็นยังไงครับแรกเริ่มเลย HR ยังไม่มีเลยครับองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดปานกลางค่อนเล็ก CEO ต้องทำหน้าที่ HR ควบไปด้วย แต่งานเริ่มเยอะขึ้นมา HR เลยเป็นตำแหน่งขึ้นมาจริง ๆ แต่ในสมัยนั้น HR ยังเป็นคนเช็กขาดลามาสาย เป็นเหมือนครูปกครองของบริษัท มองว่าองค์กรเหมือนเครื่องผลิตเงินขนาดใหญ่แล้วพนักงานคือฟันเฟืองตัวนึง ถ้าฟันเฟืองตัวนั้นเสียก็แค่เปลี่ยนใหม่

Money Machine

แล้วองค์กรก็เริ่มตระหนักได้ว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ต้องจริงจังกับมันมากขึ้น ฉะนั้น HR ก็จะต้องเพิ่มพูนสกิลขึ้น เก่งมากขึ้น และต้องโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น เลยมีการแบ่ง HR ออกเป็นหลาย ๆ สาย Recruitment/Learning and Development/Business Partner/Wellfare-Benefit/Organization Development เพื่อแยกกันดูแลเพราะแต่ละตำแหน่งก็ใช้องค์ความรู้เฉพาะทางที่แตกต่างกันออกไป จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ HR ควรที่จะมีทักษะการอ่านและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเพื่อใช้ในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ให้มีความแม่นยำมากขึ้น ล่าสุด GenAI ก็จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญของ HR

Evolution Of Human Resource

จากที่ผมเล่ามาทุกคนพอจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทักษะ ทั้ง ๆ ที่ยังทำตำแหน่งเดิมอยู่ไหมครับ ซึ่ง Career Evo มันเกิดขึ้นกับทุกอาชีพ ทุกสายงาน คนในรุ่นนี้ก็จะเก่งขึ้นกว่าคนในยุคก่อน คนในอนาคตก็จะเก่งกว่าคนในยุคปัจจุบัน ฉะนั้น Keyword สำคัญคือเราจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราหยุดพัฒนาตัวเองเราจะหลุดออกจากตลาดแรงงาน ซึ่งจากที่ผมสังเกตคนที่ผ่านการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่คนที่ผ่านจะเป็นบุคคลที่มีความรู้และทักษะในสิ่งที่ตัวเองทำเชิงลึกระดับหนึ่งและมีความรู้ที่กว้างออกไปทางอื่นด้วยเพื่อส่งเสริมความรู้หลักให้ดีขึ้น

และต้องคอยติดตามเทคโนโลยีใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานที่เราทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ ยิ่งเรารู้เร็วและลึกกับมันมากเท่าไร จะส่งผลเราจะเป็นผู้เลือกในตลาดได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเรา เพราะเราต้องเข้าใจว่าหลาย ๆ องค์กรมีแนวคิดในการจ้างงานคล้าย ๆ กัน ก็คือคนที่จะจ้างจะต้องทำงานได้ มีไอเดีย รับผิดชอบงานได้ สามารถส่งมอบผลงานให้กับองค์กรได้อย่างคุ้มค่า จริง ๆ ตลาดแรงงานก็คล้าย ๆ หลักเศรษฐศาสตร์มี Demand มี Supply ตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการในตลาด แต่มีคนที่ทำไม่มากก็จะมีค่าจ้างที่สูงกว่าตลาด

Demand / Supply

แต่หากเริ่มมีคนสนใจตำแหน่งนั้นเยอะแล้ว เหมือนในช่วง 5–7 ปีที่ผ่านมา Developer มีไม่เยอะเท่าปัจจุบัน แต่ปัจจุบัน Developer ให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรเฉพาะทางมากขึ้นที่จะโตขึ้นมาทำงานในสายงาน Software Development จึงทำให้คนที่ทำได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ อาจจะหางานได้ยากขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไรให้เราโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ ในตลาด เราจึงต้องพัฒนาตัวเอง หมั่นหาความรู้ และสร้างความแตกต่างออกจากคนอื่นในทางบวกครับ

สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกทุกคนว่าทุกตำแหน่งงานนั้นมีความสำคัญเท่ากัน แต่ก็มีความต้องการในตลาดแตกต่างกัน ใช้ทักษะความรู้เฉพาะทางไม่เหมือนกัน คนที่มีความรู้ในแต่ละสายงานไม่เท่ากัน ฉะนั้นทุกคนจะต้องสำรวจตลาดว่าการแข่งขันในสายงานเรา ธุรกิจเรามีความต้องการขนาดไหน แล้วเราต้องทำอย่างไรถึงจะเป็นผู้เลือกได้มากกว่าเป็นผู้ถูกเลือกครับ และนี่คงเป็น Part สุดท้ายของบทความ Skill Based Hiring แล้วครับ แต่ในอนาคตอาจจะมีบทความเรื่องอื่น ๆ มาใหม่ ฝากผู้อ่านทุกคนติดตามกันด้วยนะครับ

--

--