[Technology] “RPA” เทคโนโลยีดี ๆ ที่จะช่วยทำให้ชีวิตของคุณง่ายขึ้น

Tonson Praphabkul
MFEC
Published in
2 min readMar 19, 2021

“The advance of technology is based on making it fit in so that you don’t really even notice it, so it’s part of everyday life.” Bill Gates, Co-founder of Microsoft.

ในปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีมีผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว หรือชีวิตการทำงาน ดังนั้นวันนี้ผมจึงขอมาแนะนำเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า “Robotics Process Automation” เรียกสั้น ๆ ว่า “RPA” หรือ “Robot” (หุ่นยนต์) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตการทำงานที่ซ้ำซาก และทำให้ชีวิตของคุณดีขึ้น

แล้ว “RPA” คืออะไรล่ะ

“RPA” เป็นโปรแกรม (Software) บนคอมพิวเตอร์ที่สามารถเลียนแบบการกระทำของมนุษย์ที่ทำกับคอมพิวเตอร์ได้ โดยผ่านชุดคำสั่งที่ถูกกำหนดมาโดยผู้ใช้งาน แต่การใช้ “RPA” จะดีกว่าการใช้คนทำแบบงานแบบเดิมหรือไม่ ? คำตอบก็คือ ดีกว่า ซึ่งอ้างอิงจากงานวิจัยของคุณ “Santiago” จากมหาวิทยาลัย “Pontificia Universidad Javeriana” ที่ได้ศึกษาเรื่องการนำ “RPA” เข้าไปช่วยในกระบวนการการออกใบเสร็จ แล้วพบว่าการใช้ “RPA” เข้าไปช่วยในกระบวนการนี้ช่วยเพิ่มผลลัพธ์ของงาน ถึง 20% เมื่อเทียบกับการออกใบเสร็จโดยใช้พนักงานตามขั้นตอนปกติ (Automation of a Business Process Using Robotic Process Automation (RPA): A Case Study)

ซึ่ง 20% ที่ว่ามานั้นเกิดจากการเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันนะครับ แต่เพื่อน ๆ อย่าลืมว่า “RPA” นั้นเป็นโปรแกรม (Software) ซึ่งนั่นหมายความว่ามันสามารถทำงานได้ตลอดเวลา และทุก ๆ วันนะครับ (ถ้าคอมพิวเตอร์หรือเซิฟเวอร์ไม่พังไปซะก่อน)

ตัวอย่าง Business Process ที่สามารถใช้ “RPA” เข้าไปช่วยได้

แล้วตัวของ “RPA” หรือ “Robot” นั้นมีทั้งหมดกี่ประเภท ?

เราสามารถแบ่งประเภทของ “Robot” ใน “RPA” ได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกันคือ “Attended Robot” ซึ่งเป็น “Robot” ประเภทที่ทำงานร่วมกับผู้ใช้ได้ และ “Unattended Robot” ซึ่งสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง แต่ว่าก่อนที่ “Robot” จะสามารถทำงานได้ ก็จะต้องมีการตั้งค่าผ่าน เครื่องมือ RPA (Tools RPA) ซึ่งการตั้งค่าเปรียบเสมือนการสอนให้ “Robot” ของเราทำงานตามขั้นตอน และกระบวนการที่เราต้องการ ซึ่งการตั้งค่าหรือสอนนั้นก็ไม่ได้ยากอย่างที่ทุกท่านคิด ซึ่งเครื่องมือ RPA ที่จะแนะนำในครั้งนี้ก็คือ “UiPath” ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ ด้าน “RPA” ที่เป็นที่นิยมอย่างมาก และมีวิธีการใช้งานที่ง่าย โดยจะมีลักษณะเป็น “Drag and Drop” หรือก็คือการลาก และวางนั่นเอง โดยตัว “UiPath” สามารถแบ่งได้ สองแบบหลัก ๆ คือ

UiPath Studio Community Edition ซึ่งเป็นประเภทที่สามารถใช้งานได้ฟรี ! แต่มีข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน เช่น ไม่มีการ Support จากทาง UiPath และขาดความสามารถในการทำงานสำคัญ ๆ บางอย่าง และที่สำคัญแบบดังกล่าวเป็นการใช้งานแบบส่วนบุคคล (Personal Use) เท่านั้นนะครับ (UiPath Legal Term cited on 09/03/2021)

UiPath Enterprise Edition ซึ่งเป็นตัวที่เสียเงิน แต่ว่าจะมีความสามารถสำคัญหลาย ๆ อย่าง หรือการทำงานหลายอย่างที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ความสามารถในการใช้ระบบ “Unattended Robots” หรือการทำงานโดยไม่ต้องมีคนควบคุม หรือ ระบบการจัดการผู้ใช้งาน (Users) ที่เหนือกว่า เป็นต้น

ตัวอย่างหน้าตาของโปรแกรม UiPath ซึ่งเราสามารถลากคำสั่งที่เราต้องการทางด้านซ้าย มาวางที่ตรงกลางต่อกัน จนกลายเป็นกระบวนการ

แล้วจำเป็นต้องเขียนโปรแกรมเป็นไหม ?

ซึ่งการใช้ “UiPath” ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ความสามารถในการเขียนโปรแกรมเลย โดยสามารถใช้งานได้ง่าย ๆ เพียงแค่ลาก และวางเท่านั้น แต่หากต้องการ ก็ยังสามารถใช้การเขียนโปรแกรมภาษาต่าง ๆ เข้ามาช่วย เช่น “Visual Basic” เพื่อให้ “Robots” ของเราสามารถทำงานได้ดีขึ้น หรือเก่งขึ้นนั่นเองครับ

ซึ่งถ้าหากเพื่อน ๆ สนใจในการนำ “RPA” เข้ามาใช้งาน ก็สามารถดาวน์โหลด “UiPath Studio Community Edition” ได้ที่ลิงก์นี้ www.uipath.com/developers/community-edition-download โดยเราต้องทำการสมัครสมาชิกก่อนถึงจะดาวน์โหลดได้นะครับ

หากเพื่อน ๆ สนใจในตัวเทคโนโลยี “RPA” ก็สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.uipath.com/product/studio หรือหากสนใจที่จะศึกษาการใช้ “RPA” เพื่อที่จะทำให้ชีวิตของคุณง่ายขึ้นก็สามารถเข้าไปได้ที่ https://academy.uipath.com/ และอย่าลืมเข้ามาหาความรู้จาก Contents สาระดี ๆ เกี่ยวกับ “RPA” จากเราได้ทุก 2 สัปดาห์ สำหรับวันนี้ขอตัวลาไปก่อน สวัสดีครับ

Reference : ขอขอบคุณรูปภาพจาก Business Process in which RPA can use

--

--