What is Career Management?

Pantilachaosuan
MFEC
Published in
2 min readJul 25, 2024

สวัสดีประชากรชาว Medium ทุกคน ขออนุญาตแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ เฟื่องนะคะ Talent Acquisition Partner จากบริษัท MFEC วันนี้เฟื่องมีหัวข้อเรื่องที่น่าสนใจอยากมาแชร์กัน แต่ก่อนจะเข้าเรื่อง เฟื่องอยากชวนให้ทุกคนคิดถึงเรื่องเส้นทางอาชีพในปัจจุบันของตัวเอง อยากให้ทุกคนลองนึกตามว่าตอนนี้ทุกคนกำลังอยู่ในจุดไหนขององค์กร มีหน้าที่อะไรในองค์กร มีจุดแข็งจุดอ่อนอะไร และคิดว่ายังขาดทักษะอะไรที่สำคัญต่อการทำงานในอนาคตบ้าง รวมถึงมองว่าตัวเองจะไปยืนอยู่ที่ตรงจุดไหนในอนาคตได้บ้าง

ไม่ว่าตอนนี้ทุกคนจะเพิ่งเริ่มต้นการทำงาน เป็น First jobber หรือได้ก้าวเข้าสู่โลกการทำงานมาสักระยะนึงแล้ว หากยังมองภาพตัวเองในอนาคตไม่ออกก็ไม่เป็นไรค่ะ เพราะในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเครื่องมือที่น่าสนใจตัวนึงที่จะเข้ามาช่วยแก้ไข จัดการปัญหาเรื่องเส้นทางอาชีพของทุกๆคนกัน นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า “Career Management” ค่ะ

แล้ว Career Management มันคืออะไร แล้วมันสำคัญอย่างไรล่ะ

Career Management คือ การบริหารจัดการเส้นทางความก้าวหน้าทางสายอาชีพ ซึ่งจะทำอย่างเป็นระบบและมีแบบแผนที่ชัดเจน โดยจะทำได้ผ่านการกำหนดเป้าหมายและวางแผนเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพ รวมถึงการปฏิบัติตามแผนที่วางไว้เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางสายอาชีพได้ตามที่คาดหวังไว้ โดยที่กระบวนการทั้งหมดนี้ต้องผ่านการร่วมมือกันทั้งฝ่ายพนักงานและองค์กร

ปกติการที่พนักงานแต่ละคนจะสามารถเติบโตขึ้นในสายอาชีพของตนเองนั้น พื้นฐานก็จะเกิดขึ้นได้ผ่านประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะหล่อหลอมเป็นทักษะและความรู้ใหม่ๆที่จำเป็นในการทำงานในอนาคต แต่เราจะรู้ได้ไงล่ะว่าพนักงานแต่ละคนมีเป้าหมายในเส้นทางอาชีพของตัวเองแล้วหรือไม่ หรือถ้ามีแล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าประสบการณ์การทำงานของพนักงานแต่ละคนได้สร้างทักษะในการทำงานที่สอดคล้องและสามารถทำให้พนักงานคนนั้นเติบโตไปตามเป้าหมายทางสายอาชีพที่พวกเขาต้องการจริงๆ

ดังนั้นสิ่งที่จะมาช่วยปิดช่องว่างตรงนี้ก็คือการทำ Career Management นั่นเอง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 มุม ได้แก่

1.Individual

ในมุมของพนักงาน การจะเติบโตในสายอาชีพได้ แน่นอนว่าอย่างแรกคือต้องรู้เป้าหมายว่าจะเติบโตไปในทิศทางไหน ในขั้นตอนตรงนี้จะเกิดได้จากการคิดทบทวนและตั้งเป้าหมายของพนักงานเอง อาจเริ่มต้นจากการศึกษา หาข้อมูลเกี่ยวกับ Career Path ของอาชีพที่ทำอยู่ปัจจุบันว่าสามารถเติบโตขยับขยายไปอย่างไรได้บ้าง ทั้งผ่านเพื่อนร่วมงานในสายเดียวกันหรือหัวหน้างานปัจจุบัน เพื่อให้มีข้อมูลอยู่ในมือและสามารถพิจารณาต่อได้ในอนาคต เช่น นาย A เป็น Programmer ในปัจจุบันและมีความลังเลว่าอยากเติบโตไปเป็น Programmer Specialist ที่เน้นการพัฒนาทักษะการทำโปรแกรมอย่างเชี่ยวชาญ หรือไปในสาย System Analyst ที่ต้องผสานความรู้ทางด้านสาย IT และ Business เข้าด้วยกัน แน่นอนว่าการเติบโตในสายอาชีพอาจเป็นไปได้หลายทาง ดังนั้นควรมีการทบทวน หาข้อมูล เช่นการพูดคุยกับผู้มีประสบการณ์ในสายงานนั้นๆเพื่อเก็บข้อมูล หาจุดแตกต่าง จุดร่วม ทำให้ได้เส้นทางที่ตอบโจทย์กับตัวเองมากที่สุด

2.Organization

ในมุมขององค์กรเอง ก็ต้องเป็นจุดตั้งต้นในการกำหมดเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากให้องค์กรเติบโตไปในทิศทางไหน เพราะแน่นอนว่าหากมีแค่พนักงานฝ่ายเดียวที่มีเป้าหมายในการเติบโตเป็นของตัวเอง แต่องค์กรไม่ได้มีเส้นทางให้พวกเขาเติบโต นี่ก็เป็นจุดที่ทำให้องค์กรอาจเสียพนักงานที่มีคุณภาพไปได้ เพราะ “การไม่มีเส้นทางให้เติบโต” ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลของการตัดสินใจลาออกของพนักงาน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Career Management จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่องค์กรควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

องค์กรควรมีส่วนช่วยในการวางเส้นทางการเติบโตในแต่ละสายอาชีพของพนักงานในองค์กร รวมถึงช่วยส่งเสริมเป้าหมายของพนักงานให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันกับองค์กรได้ เช่น หากในอนาคต องค์กรจะมุ่งเน้นการนำ AI มาใช้ร่วมกับการทำงานอย่างจริงจัง นอกจากจะส่งเสริมการสร้างทักษะ ที่จำเป็นสำหรับการเติบโตในแต่ละสายงานแล้วก็ควรมีการส่งเสริมการสร้างทักษะในด้าน AI ให้แก่พนักงาน เพื่อให้พนักงานเติบโตตามเป้าหมายและสอดคล้องไปกับองค์กร

แล้ว HR มีบทบาทอย่างไรในการทำ Career Management?

การจะผสานความต้องการของทั้งสองฝ่ายนี้ให้มาบรรจบกัน สอดคล้อง และไปในทิศทางเดียวกัน อาจต้องอาศัยคนกลางในการจัดการและช่วยอำนวยความสะดวก ซึ่งก็คือทีม HR นี่เอง แน่นอนว่าเราเป็นทีมที่เข้าใจถึงเป้าหมายขององค์กรและใกล้ชิดกับพนักงาน ดังนั้นเราจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยกระตุ้นให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญของการตั้งเป้าหมาย เช่น การจัด Session เพื่อให้พนักงานเรียนรู้และทำความเข้าใจความชอบความถนัดของตนเอง ไปจนถึงการส่งเสริมการสร้าง ทักษะต่างๆที่จำเป็นต่อการเติบโตของพนักงานเพื่อให้เติบโตไปได้ตามเป้าหมาย โดยอาจต้องอาศัยความร่วมมือจากฝั่งหัวหน้างานผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสายงานต่างๆของตนเองได้ดีกว่า เพื่อให้ได้ภาพเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

แน่นอนว่าประสบการณ์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ทันที แต่สิ่งที่สามารถสร้างและส่งเสริมได้คือทักษะของพนักงาน เพราะนอกจากจะช่วยเสริมให้เกิดประสบกาณ์การทำงานที่เหมาะสมในการเติบโตแล้วการโฟกัสไปที่ทักษะของพนักงานก็เป็นการยอมรับพนักงานจากทักษะที่เขามีจริงๆ ไม่ใช่การตัดสินจากหน้าตา อายุ หรือเชื้อชาติ ซึ่งช่วยส่งเสริมความรู้สึกที่ดีของพนักงานที่มีต่อองค์กร การเน้นมองที่ทักษะของพนักงานนี้ก็เป็นเกณฑ์วัดที่ทำได้ตั้งแต่กระบวนการสรรหาพนักงานเข้ามาในองค์กรแล้ว หรือ Skill Based Hiring ที่เราเคยพูดถึงกันไปในบทความก่อนหน้า ถ้าใครยังไม่รู้ว่า Skill Base Hiring คืออะไร สามารถย้อนกลับไปอ่านในบทความก่อนหน้าได้เลย (click)

ในมุมของเฟื่องเอง การที่เราโฟกัสไปที่ทักษะที่จำเป็นในการเติบโตในสายงานมันก็จะช่วยให้เฟื่องเห็นภาพสิ่งที่ต้องทำมากขึ้น รู้ว่าตัวเองควรจะพัฒนาอะไรบ้าง ทำให้เป้าหมายมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น เฟื่องเองที่เริ่มงานในตำแหน่ง Talent Acquisition ในบริษัทสายIT แน่นอนว่าทักษะที่จำเป็นคือการสรรหาและต้องมีความรู้ในสายงาน IT ในปัจจุบันเฟื่องก็จะเน้นสะสมความรู้และพัฒนาทักษะในส่วนนี้ นอกจากนี้ก็จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทักษะเรื่องการต่อรอง การบริหารทีมซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการเติบโตขึ้นในสายงาน

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว การให้ความสำคัญกับ Career Management นอกจากจะทำให้พนักงานแต่ละคนได้เติบโตไปในเส้นทางที่ตนเองต้องการแล้ว ในแง่มุมขององค์กร เราก็ยังสามารถรักษาพนักงานที่มีศักยภาพให้อยู่กับองค์กรได้ในอนาคต เมื่อเราเข้าใจโดยคร่าวแล้วว่าการจัดการเส้นทางสายอาชีพมันคืออะไรแล้วมันสำคัญอย่างไร อีกคำสำคัญที่เราเห็นได้บ่อยๆคือ Career Path หรือเส้นทางสายอาชีพ เป็นคำที่มีความแพร่หลายอย่างมาก แต่จริงๆมันคืออะไรล่ะ ไว้เราจะพูดถึงมันกันในบทความต่อไป

--

--