MFes Soluitons บริษัทจำลอง ที่ไม่จำลอง

Nattapat Pruangpharch
MFess Experiences
Published in
2 min readJul 8, 2017

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ ! นี่เป็นบทความแรกของผม(เกิดมาไม่เคยเขียน blog หรือ content อะไรเยี่ยงนี้มาก่อน) หวังว่าผมคงจะไม่เขียนจนน่าเบื่อเกินไปนะครับ ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่า ผมเป็นนักศึกษาที่ได้รับโอกาสเข้ามาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและบริหารโครงการ “บริษัทจำลอง” ของนักศึกษาสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อ๊ะ หลายๆท่านคงเริ่มที่จะสงสัยกันแล้วว่า บริษัทจำลองแล้วมันจะยังไง วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังถึงแนวทาง และผลที่ได้ดำเนินงานมาเป็นเวลาซักพัก (ใหญ่ๆ) แล้วนะครับ ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลยดีกว่า !

“ผลิตบัณฑิตพร้อมใช้” เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง การที่เราจะมีบัณฑิตที่พร้อมใช้งานได้นั้น ย่อมหมายถึงจะต้องเพิ่มพูนประสบการณ์ให้นักศึกษา ซึ่งประสบการณ์นั้นจะมาจากไหนได้ นอกเสียจากการให้นักศึกษาได้ทดลองทำงานจริง โครงการบริษัทจำลองได้กำเนิดขึ้นจากแนวคิดนี้ อีกทั้งยังได้ความอนุเคราะห์จากท่านอาจารย์ภายในสาขาวิชา สำนักวิชา มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ที่ร่วมกันสละเวลาให้คำแนะนำ อีกทั้งยังมีความช่วยเหลือในด้านต่างๆ โดยเมื่อตอนเริ่มโครงการนั้นผมยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 อยู่ นอกจากตัวผมเองแล้วก็ยังมีน้องๆซึ่งขณะนั้นอยู่ปี 2 มีความสนใจเช่นเดียวกัน ซึ่งก็โชคดี (หรือโชคร้ายก็ไม่ทราบได้ 55+) ผมได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าทีมในการบริหารจัดการทั้งหมด ราวๆว่าเป็น CEO อะไรเทือกนั้น

หลังจากมีผู้บริหารแล้วมีทีมพัฒนาแล้ว ก็มาเริ่มลุยรับงานกัน โดยช่วงแรกๆนั้น เรารับกันแบบเป็นการจ้างรายบุคคล เนื่องจากว่าตัวโครงการนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ แต่ไม่เป็นไรทีมเราเลือดร้อน ก็เลยรับกันเลย โดยงานแรกเปิดประเดิมด้วยการพัฒนาระบบเลือกตั้งแบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งก็ผ่านไปได้อย่างทุลักทุเลพอสมควร แต่สิ่งที่ทีมได้รับนั้นไม่ใช่แค่การ “ทำงานให้เสร็จ” เหมือนการทำ “โปรเจคส่งอาจารย์” แต่ยังต้องเรียนรู้ถึงการทำงานเป็นทีม การประสานงานภายในทีม และการประสานงานกับลูกค้า หรือผู้ใช้งานระบบนั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ค่อนข้างยากในการทำงานภายในห้องเรียน (อย่างที่รู้ๆกันว่าบางทีงานกลุ่มก็ทำคนเดียว) แต่การทำงานภายใต้กรอบการทำงานแบบทีมนั้น ทุกคนจะต้องรู้หน้าที่ของตนเองชัดเจน ใครเป็นคนประสานงานกับลูกค้า จะมาประสานงานกับทีมอย่างไรให้เข้าใจตรงกัน ใครจะเป็นคนออกแบบระบบ จะบอกให้คนที่ dev อย่างไรให้เข้าใจ

หน้าตาระบบเลือกตั้งที่สำเร็จ เสร็จสิ้น แต่ว่าหาหน้าอื่นไม่เจอแล้ว TT

หลังจากสำเร็จงานแรกไปแล้ว ก็ยังมีอีกหลายๆงานที่ได้เข้ามา จากทั้งภายนอก และภายในมหาวิทยาลัย โดยที่โครงการของตัวบริษัทจำลองก็ได้เป็นแนวทางชัดเจน โดยผมและทีมอาจารย์ได้เห็นพ้องต้องกันว่า อย่างไรก็คงต้องมีบริษัทจริงๆ ขึ้นมาเพื่อ support ในการรับงานและบริหารจัดการด้วย จึงได้เกิดเป็นแนวทางที่ว่า งานไหนที่จะต้องจ้างผ่านมหาวิทยาลัย อาจจะเพราะความเชื่อมั่นหรืออะไรก็ตาม เราจะรับงานผ่านมหาวิทยาลัยผ่านตัวโครงการบริษัทจำลอง หลังจากนั้นก็เหมือนมหาวิทยาลัยมาจ้างเราอีกทีนึง ส่วนงานไหนที่หามาได้ภายนอกก็รับผ่านบริษัทจริงๆไป เกิดเป็นแนวทางที่ชัดเจนในการรับงาน

ซึ่งหลังจากทำงานกันมาได้ซักพัก ก็ถึงตอนที่จะรับผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการมาใหม่ ซึ่งก็คือน้องๆ ที่เข้ามาใหม่นั่นแหละ โดยอาจารย์ก็จะพยายามผนวกงานที่ทำให้เข้ากับวิชาเรียน หรือที่เรียกแบบเท่ๆว่า Work integrated learning ซึ่งน้องๆที่เข้ามาใหม่ก็จะได้รับทั้งการสอนจากพี่ๆ ถึงกระบวนการการพัฒนา software รวมถึงเทคนิคและเครื่องมือต่างๆ ที่พี่ๆใช้กัน โดยช่วงเริ่มต้นนั้นน้องๆจะเข้าไปช่วยงานง่ายๆ ในทีมพี่ๆ แต่ในอนาคตน้องๆกลุ่มนี้ก็จะต้องเป็นผู้รับช่วงต่อของงาน หรือรับงานชิ้นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในบริษัทอีกด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับประสบการณ์การก่อตั้งบริษัทจำลอง (ซึ่งกำลังจะเป็นบริษัทจริงๆด้วยในอนาคตอันใกล้นี้) หวังว่าจะมีน้องๆ สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ หลงเข้ามาอ่านกันบ้าง และอาจจะสนใจน้องๆสามารถมาเข้าร่วมได้นะครับ พวกพี่ๆยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้น้องๆเข้ามาร่วมรับประสบการณ์ สำหรับวันนี้เขียนไปเขียนมา ก็ยาวพอดูอยู่เหมือนกัน 55+ หลังจากนี้ก็อาจจะมีบทความมาเพิ่มเรื่อยๆ อาจจะเป็นประสบการณ์เทคนิคบ้าง บริหารทีมบ้าง (ซึ่งก็ไม่เค๊ยไม่เคยมาก่อนเหมือนกัน) หรือเรื่องเล่าจากน้องๆในบริษัทบ้าง บทความแรกก็เขียนตามความคิด อาจจะอ่านไม่ลื่นซักเท่าไหร่ก็ต้องขออภัยด้วยครับ

--

--