รีวิวหนังสือ “อ่านทะลุความคิด ด้วยจิตวิทยาแห่งการโกง”

Tanitphon Paniwan
Mikelopster Blog
Published in
1 min readJul 28, 2015

หนังสือ “อ่านทะลุความคิด ด้วยจิตวิทยาแห่งการโกง” เป็นหนังสือที่แปลมาจากหนังสือต่างประเทศชื่อ “The (Honest) truth about dishonesty” จากคุณ Dan Ariely ที่ได้ทางสำนักพิมพ์ Welearn นำมาแปลเป็นฉบับภาษาไทย โดยตัวคุณแดนเนี่ย เขาเคยเขียนหนังสือมาหลายเล่มแล้ว โดยที่ทาง Welearn นำมาแปลแล้วคือ “พฤติกรรมพยากรณ์” และ “เหตุผลที่ไม่ควรมีเหตุผล” (เชื่อว่าหลายคนคงเคยอ่าน ไม่ก็เคยเห็นผ่านๆตามร้านหนังสือแล้ว แต่บังเอิญว่าผมไม่เคยอ่านนี่สิ เลยชวนให้ไม่อินเวลาคุณแดนพูดถึงหนังสือเล่มเก่าของเขาเลย)

หนังสือนี้เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ชวนให้คิดตามไปตลอดทั้งเล่มเลย โดยตัวเนื้อหานั้นเขียนเกี่ยวกับเรื่องของการโกงที่เกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การโกงเพียงเล็กๆน้อยๆ การมีผลประโยชน์ทับซ้อนมาเกี่ยวข้อง การมีวัฒนธรรมที่ส่งเสริมต่อการโกง หรือแม้แต่การมีความคิดสร้างสรรค์ก็ยังส่งผลต่อการโกงได้เลย! โดยคุณแดนเขาเป็นอาจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมและเป็นนักจิตวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก เขาก็ได้ตั้งสมมุติฐานหลากหลายรูปแบบจากการพบเห็นในชีวิตประจำวันของเขาแล้วนำมาสร้างเป็นการทดลองเพื่อเปรียบเทียบว่า ในสถานการต่างๆมนุษย์เรามีวิธีการตัดสินใจโกงอย่างไรบ้าง เพื่อความเข้าใจที่ยิ่งขึ้นผมขอยกตัวอย่างสักช่วงของหนังสือเล่มนี้มาให้อ่านนะครับ

การทดลองสุดคลาสสิคของหนังสือนี้(เรียกได้ว่า กว่าครึ่งเล่มเลยก็ว่าได้) คือการแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม เข้าร่วมการทำข้อสอบคณิตศาสตร์ปรนัย โดยกลุ่มแรกที่เป็นกลุ่มควบคุมคือสอบเหมือนปกติ สอบเสร็จแล้วนำกระดาษคำตอบของตัวเองมาตรวจคำตอบจากกระดาษตรวจคำตอบที่ทางผู้คุมสอบเตรียมไว้พร้อมนับคะแนน แล้วส่งกระดาษคำตอบให้ผู้คุมสอบพร้อมบอกคะแนน กับอีกกลุ่มหนึ่ง สอบเสร็จ ตรวจคำตอบพร้อมนับคะแนน เสร็จแล้วให้ทำลายกระดาษคำตอบใบนั้นทิ้งลงถังขยะพร้อมกับเดินไปบอกคะแนนผู้คุมสอบ ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มที่ 2 สามารถโกหกว่าคะแนนตัวเองสูงกว่าความเป็นจริงได้เนื่องจากทำลายกระดาษสอบไปแล้ว แต่ประเด็นที่สำคัญคือ คะแนนสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ด้วย! โดยผู้คุมจะให้ค่าตอบแทน 10 เซนต์ต่อจำนวนข้อตามที่ผู้เข้าสอบบอกนั่นแหละ เรียกว่า จูงใจให้โกงกันแบบสุดๆไปเลย โดยคะแนนนั้นมาจากการเฉลี่ยของทุกคนในแต่ละกลุ่ม แล้วเทียบกันระหว่าง 2 กลุ่มว่า กลุ่มที่มีโอกาสโกงได้นั้น เลือกที่จะโกงหรือบอกมากกว่าตามความเป็นจริงอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ โดยเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มควบคุมนั่นเอง

ทีนี้คุณแดนเนี่ย เขาก็สร้างตัวแปรต่างๆมาเพื่อวัดผลการโกงจากการทดลองแนวๆนี้ เช่น ถ้าเปลี่ยนจากเงินเป็นสิ่งอื่นที่นำไปแลกเป็นเงินทีหลังได้(เช่น แสตมป์ อย่างงี้) จะทำให้คนโกงคะแนนเพิ่มขึ้นไหมนะ ? หรือถ้าให้ของคน 2 กลุ่มเป็นผู้หญิงทั้งหมด โดยกลุ่มหนึ่งได้กระเป๋าแบรนด์ของปลอม อีกคนได้กระเป๋าแบรนด์ของแท้ แล้วคน 2 กลุ่มนี้ใครจะโกงมากกว่ากันนะ ? หรือถ้าอยู่ๆมีผู้เข้าสอบ(ที่เตี๊ยมกับทางนักวิจัย)ใช้เวลา 5 นาทีทำข้อสอบเสร็จ (ทั้งๆที่มันควรจะใช้เวลานานเป็นชั่วโมง) คนเราจะโกงตอนบอกคะแนนมากขึ้นไหมนะ ?

อารมณ์หนังสือก็จะประมาณนี้ครับ จริงๆการทดลองมีอีกหลายรูปแบบและทุกรูปแบบถูกสร้างมาเพื่อดึงดูดให้ผู้เข้าร่วมโกงโดยเฉพาะ ที่สำคัญคือทุกการทดลองมีเงินมาล่อแทบจะทุกการทดลองเลยก็ว่าได้ (เรียกว่า นักวิจัยกลุ่มนี้ต้องมีทุนหนาเลยล่ะ)

หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนทั่วๆไปที่สนใจแนวจิตวิทยา อยากเข้าใจถึงแก่นของการคดโกงที่มีอยู่บนโลกมนุษย์ใบนี้ สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วๆไป (หนังสือเก่าแล้วแหละ แต่ผมเชื่อว่ายังมีอยู่นะครับ) พอดีเห็นว่าหนังสือสนุกดีเลยขอนำมารีวิวกับเล่าเก็บไว้เผื่อคนที่กำลังหาอะไรอ่านอยู่แล้วยังไม่เคยอ่าน จะได้มาลองชิมหนังสือเล่มนี้ดูนะครับ

สุดท้ายนี้ ขอทิ้งท้ายด้วย ข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งจากหนังสือเล่มนี้ และถ้าเหล่าผู้อ่านคิดว่ามันน่าสนใจและน่าตามไปพิสูจน์ละก็ จงไปติดตามเสพต่อในหนังสือโดยพลัน!

หลักการ SMORC ที่ว่าด้วยเรื่อง “มนุษย์เราจะโกงมากขึ้นเมื่อสิ่งนั้นทำให้เราได้รับเงินมากขึ้น โดยปราศจากความเสี่ยงที่จะจับได้หรือถูกลงโทษ” เชื่อไหมครับ หลักการนี้ใช้ไม่ได้จริงเลยกับการตัดสินใจในเรื่องการโกงของมนุษย์ของเรา!

เราเลือกที่จะโกงเพียงเล็กน้อยมากกว่า การโกงแบบเห็นได้ชัด แม้ว่า จะเพิ่มสิ่งล่อใจอย่างเงินมากแค่ไหนก็ตาม

แล้วยิ่งสิ่งนั้นห่างไกลจากเงินมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสโกงมากขึ้น แม้ว่าสิ่งนั้นจะเกี่ยวข้องกับเงินมากแค่ไหนก็ตาม

คนใช้สินค้าเลียนแบบ(ของปลอม) มีโอกาสโกงมากกว่า คนใช้สินค้าของแท้

ต่อให้องค์กรนั้นพยายามเปิดเผยข้อมูลกันอย่างโปร่งใส ทุกคนในองค์กรก็คิดหาวิธีโกงกันได้อยู่ดี!

แค่ท่องคำปฏิญาณ ระลึกถึงบาบบุญคุณโทษก็สามารถลดอัตราการโกงได้แล้วนะ

ยิ่งพลังใจเรากำลังจะหมดเมื่อไหร่ เรายิ่งมีโอกาสที่จะโกงมากขึ้นเท่านั้น

มนุษย์เราจะยอมโกงเพื่อผลประโยชน์ของคนอื่นแม้จะไม่รู้จักกันเลย

การทำงานกันเป็นทีมมีโอกาสโกงสูงกว่า การทำงานคนเดียว

หมอขาประจำของเรายื่นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อตัวหมอเองมากกว่า หมอที่เราพึ่งไปหาเป็นวันแรก

มนุษย์ยิ่งมีความคิดสร้างสรรค์ในตัวมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสโกงมากเท่านั้น

ขอฝากไว้เพียงเท่านี้ครับ จ๊บบ

เครดิตภาพจาก
http://www.welearnbook.com/images/catalog_images/1398412562.jpg

--

--