เมื่อทีมของฉันได้ร่วมงาน Google Hackfair ในฐานะ “Exhibitor”

Tanitphon Paniwan
Mikelopster Blog
Published in
4 min readDec 20, 2015

ขอเล่าถึงงานนี้ก่อนว่า Google Hackfair เป็นงานแนวๆจัดแสดงเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งทั้งตัวงานก็จะมีตั้งแต่บรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยี Workshop รวมถึงการจัดแสดงเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วมจัดแสดงในงานด้วย โดยจะต้องสมัครและผ่านการคัดเลือกจากทางผู้จัดงานมาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าทีมของพวกผม(ที่มีผมและเพื่อนอีก 2 หน่อ) ก็ได้รับคัดเลือกให้ไปจัดแสดงในงานครั้งนี้ด้วย (ไม่งั้นผมก็คงไม่มานั่งเขียนบล็อกอันนี้หร้อก)

ผมขอแบ่งเล่าเป็น 4 ส่วนคือ ผลงานของพวกผม, อุปสรรคช่วงทำงาน, ความประทับใจในวันแสดงงาน และความรู้สึกต่องานครั้งนี้นะครับ

Military Board — AR Multiplayer TD Game with cardboard

ผลงานที่เราใช้เข้าร่วมครั้งนี้ชื่อ Military Board เป็นเกมแนว Tower Defense ที่จะเปลี่ยนมิติการเล่นเกมจากปกติที่เล่นกันบนจอคอมหรือมือถือ ไปสู่การเล่นบนโลกเสมือนด้วยเทคโนโลยี AR(Auctmented Reality) กล่าวคือ เราจะมีกระดานที่เป็นกระดาษจริงๆอยู่ 1 อัน​ (ดูตามภาพคือกระดาษลายขาวดำ) ตัวเกมจะแสดงผลเมื่อเรามองไปที่ตัวกระดาน ออกมาเป็นวัตถุเสมือนจริงขึ้นมาตรงหน้าเรานั่นเอง (วัตถุเสมือนจริง คือ วัตถุที่ไม่มีอยู่จริงบนโลกที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเทคโนโลยี)

กระดานลายขาวดำและ google cardboard
เกมที่เราจะเห็นหน้าจอปกติ

แล้ว Cardboard มาเกี่ยวอะไรกัน ?

โดยปกติ Application ที่เกี่ยวกับ AR ที่แสดงผลบนมือถือจะเล่นกันบนจอมือถือตรงๆ มันจะเหมือนกับเราต้องเล็งมือถือให้ตรงกับกระดานเพื่อให้เกมโลกเสมือนแสดงผลออกมา พร้อมกับต้องมาเล็งตรงจอจิ้มให้ดีอีก ไหนจะต้องระวังไม่ให้จอหลุดออกจากกระดานอีก ซึ่งส่วนตัวผมว่าเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างขัดกันพอสมควร ผมอยากให้การเล่นเกมบนวัตถุเสมือนคือ เราเห็นและเล่นไปพร้อมกันได้ และ Cardboard ก็ตรงกับคอนเซปต์ที่ว่านั้น เราสามารถใช้มือถือร่วมกับ Cardboard มองไปที่กระดานให้วัตถุเสมือนจริงเกิดขึ้น และสามารถกดเล่นจากบน Cardboard ขณะมองได้ทันที

ข้อดีอีกอย่างของ Cardboard คือ Cardboard เป็นอุปกรณ์แสดงภาพเสมือนจริงแบบสวมหัว โดยที่เลนส์ใช้กับอุปกรณ์(เลนส์แบบ stereoscopic) จะสามารถแสดงภาพที่สมจริงมากกว่าการดูบนโทรศัพท์ ทำให้วัตถุที่ออกมาดูสมจริงมากขึ้น ทั้งการมองเห็น และความลึกของภาพ (เหมือนว่าวัตถุเสมือนที่อยู่ตรงหน้าของเรานั้นมีอยู่จริงๆ และเราสามารถเข้าไปดูได้เลย)

หน้าจอที่เห็นผ่าน Cardboard โดยตัวเกมจะลอยเป็นวัตถุเสมือนอยู่บนแผ่นกระดานที่เป็นกระดาษจริง

แล้วทำไมต้องเป็น AR ไม่ทำโลกเสมือนทั้งหมดแบบ VR(Virtual Reality) ไปเลย ?

โจทย์ที่พวกเราสร้างขึ้นคือ เราต้องการสร้างเกมบนโลกเสมือนที่สามารถเล่นร่วมพร้อมกันหลายคนได้ ในเวลาเดียวกัน ที่เดียวกัน และมีความรู้สึกบนโลกจริงร่วมกันได้ นั่นคือมันจะเหมือนกับเรากำลังนั่งล้อมเล่นเกมกระดานสักเกมร่วมกัน ไม่ใช่ เราที่กำลังเล่นเกม online ที่มีประสบการณ์ร่วมกันแค่ในเกมเพียงอย่างเดียว และ AR ก็ตอบโจทย์ข้อนี้ ฉะนั้นอารมณ์เกมนี้ จะเหมือนเรากำลังเล่นเกมกระดานร่วมกันสักเกม แต่แทนที่จะเล่นกันบนกระดานจริง จะเล่นกันบนกระดานโลกเสมือนจริงแทน และเล่นร่วมกันได้ (เกมของเราควรถูกเรียกว่า เกมบนโลกจริงส่วนขยายน่าจะถูกกว่าเพราะเกมนี้ถูกสร้างขึ้นมาเสริมโลกจริงๆของเรา ไม่ใช่ย้ายเราไปอยู่ในโลกเสมือนแทน)

สรุปคือ ผลงานของเรารวมของ 4 อย่างไว้คือ Tower Defense Game+ Aumented Reality + Cardboard + Multiplayer = Military Board

สารภาพตามตรงเรื่องคอนเซปต์เกมว่า เกิดจากการสุ่มเกม 1 เกมที่พวกเราสนใจขึ้นมาแค่นั้นเอง 555 (แต่เราก็อิงนะว่ามันต้องเหมาะสมที่จะเล่นร่วมกันได้) รวมถึงเรื่องชื่อด้วย จริงๆ พวกเราอยากทำให้อารมณ์เป็น Military จริงๆ (หมายถึง อารมณ์สงครามนะครับ แปลเป็นอีกอย่างนี่ผมอาจจะโดนเรียกตัวได้เลยนะ) แต่เนื่องด้วยเวลาที่จำกัด ตัวเกมเลยทำออกมาได้แค่ระดับ Prototype ให้ลองเล่นคร่าวๆได้แค่นั้น

ใช้เวลาทำกันนานเท่าไหร่ ?

ถ้าช่วงเวลาทำกันจริงๆก็คือ 1 สัปดาห์หลังจากประกาศผลว่าได้เข้าไปจัดแสดงคือวันที่ 9 แต่เนื่องจากผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่ถูกหยิบมาจากส่วนหนึ่งของโปรเจคจบของผมกับเพื่อนอีกคน(ที่อยู่ในทีมด้วยนี่แหละ) อย่าง AR หรือ Cardboard ที่ได้เคยศึกษาและพัฒนากันมาบ้างแล้ว ผมเลยบอกคนในงานไปว่า 2 สัปดาห์ น่าจะเป็นเวลาที่ถือว่าใกล้เคียงกับความจริงกว่า

ใครใคร่สงสัยเกี่ยวกับ Cardboard ก็ไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.google.com/get/cardboard/

หรือใคร่ซื้อ Cardboard ปัจจุบันในไทยเองก็เริ่มมีขายแล้วนะ http://wi.th/cardboard360/ (ไม่ใช่ของผมนะ มีคนฝากผมขายอีกที 555)

ก่อนวันงาน — อุปสรรคช่วงพัฒนา

ถ้าให้เขียนถึงการทำงานเต็มๆ คาดว่าเขียนทั้งวันก็คงไม่จบแน่ๆ เลยขอเล่าถึงอุปสรรคและปัญหาที่ผมเจอมาละกัน

  1. ช่วงเวลาการทำงาน วันสำหรับจัดแสดงคือ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ม.เกษตรศาสตร์แห่งนี้กำลังจัดสอบพอดี โดยที่แค่ลำพังตัวผมก็มีสอบ 3 วันติดก่อนวันจัดงานแล้ว รวมถึงงานหลายๆอย่างที่ถาโถมมาช่วงนั้น กลายเป็นว่าวันที่ได้เริ่มพัฒนาจริงจังคือวันที่ทางผู้จัดงานประกาศผู้เข้ารอบก็คือวันที่ 9 นั่นแหละ แปลเป็นไทยได้ว่า ผมมีเวลาทำงานเพียง 1 สัปดาห์เศษๆ (ที่มีสอบไปด้วย) ถือเป็นเวลาที่เสี่ยงกับการไม่เสร็จเอามากๆ ยิ่งเป็นงานจัดแสดงออกบูธ หมายถึง เราต้องมีผลงานไปให้ผู้คนทดสอบด้วย เท่ากับว่าต้องเสร็จอย่างน้อยในระดับ prototype ให้ได้ เล่นเอาวันสุดท้ายก่อนวันงานทั้งทีมไม่ได้นอนกันทั้งคืนเลย 555
  2. เทคโนโลยีที่ใหม่ก็มาพร้อมกับข้อมูลที่น้อย ถึงเราจะไม่ใช่คนกลุ่มแรกของโลกที่ทำ AR Game ร่วมกับ Cardboard แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่มีผู้พัฒนาส่วนใหญ่ทำกันไว้เหมือนกันถึงแม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีมานานพอสมควรแล้วก็ตาม ดังนั้นการมีปัญหาระหว่างพัฒนาอย่างการใช้ เทคโนโลยี Vuforia ทำ AR , Cardboard SDK ร่วมกับ Unity จึงต้องใช้เวลาหาข้อมูลกันพอสมควร ปัญหาส่วนนี้ที่ผมถือว่าพีคที่สุดในการทำงานของทีมครั้งนี้คือ ในทีม 3 คนมีคนใช้ Mac 2 คน(ผมกับเพื่อนผม) และ Windows อีก 1 คน ตัวเทคโนโลยี Vuforia นั้นผมกับเพื่อนผมที่ใช้ Mac นำไปใช้งานร่วมกับ Unity ได้อย่างไม่มีปัญหา แต่กลับมีปัญหาเมื่อไปใช้บน Windows พวกผมไม่รอช้าที่จะหาคำตอบบน Google โดยใช้ทั้งข้อมูลที่ Unity แสดง Error ออกมาและสัญชาตญาณดูแล้ว กลับมีคำตอบน้อยมาก ได้คำตอบลางๆว่าใช้ร่วมกันได้แค่กับ unity แบบ 32-bit บน Windows เท่านั้น แต่เพื่อนผมลองทำแล้วยัง error อีกแถมยังไปเกิดกับอีก library ต่างหาก กลายเป็นว่าแก้ไปแก้มา หมดเวลาไปวันหนึ่งเต็มๆ กว่าเพื่อนคนนั้นจะหาวิธีใช้งานบน Windows ได้ ด้วยวิธีแก้แค่ “ลง unity 32-bit แบบติ๊กทุกอย่างตอนลงให้หมดแค่นั้นก็ใช้ได้แล้ว” นับเป็นปัญหาที่เล็กน้อยและเสียเวลามากที่สุดของการทำงานนี้เลย (ถ้าอ่านแล้วงง ก็ช่างมันเถอะนะ ถือว่าผมอินอยู่คนเดียวละกัน 555)
  3. การประเมินเวลาผิดพลาดเนื่องจากเป็นมีสิ่งที่ไม่เคยทำกันมาก่อนหลายอย่าง ปกติทีมผมเน้นพัฒนาที่เว็บ หรือไม่ก็แอพพลิเคชันบ้าง แต่กับเกมนั้นถือว่าทีมมีประสบการณ์น้อยมากๆ ส่งผลให้การประเมินเวลางานในการทำเกมนั้นผิดพลาดไปด้วย ทั้งเรื่องการพัฒนาเกม, การตกแต่งตัวเกม, การนำไปใช้งานบน AR รวมถึงเรื่องของ Multiplayer กับแนวเกมอย่าง Tower Defense ทำให้ต้องลดขนาดงานในช่วงเวลาใกล้เสร็จกันพอสมควร และพวกเราก็มีกันแค่ 3 คน ผมจึงแบ่งงาน 3 คนตามส่วนของเกมไปเลยเป็น คนทำเกม(ผม), คนทำส่วนควบคุม Cardbard บน AR และตกแต่งเกม(เอิท) และคนทำ AR และ Server สำหรับ Multiplayer(เป้) แล้วค่อยนำมารวมกันตอนที่ทุกคนทำเสร็จ รวมถึงครั้งนี้ไม่ใช้เทคโนโลยีอย่าง git กลายเป็นว่าตอนรวม code กันก็ถือว่าเละไม่ใช่น้อย ชนิดที่พัฒนาต่อคงทำยากแน่ๆ และเอาเข้าจริงเวลาที่รวมกันแล้วเสร็จจริงๆ คือราวๆ ตี 5 ของวันจัดงานนั่นเอง (แล้วไป publish project กันในงานเลย) ปัญหาที่ถือว่าพีคสุดของส่วนนี้คือ การที่เอิทนั่งตกแต่งแผนที่กว่า 5 ชั่วโมง แต่ตอนนำมาใช้จริงกลับแสดงผลไม่ได้เข้า ส่งผลให้ต้องมานั่งทำกันใหม่กันหมดเลย แถมทำมาอีกรอบก็ดั้นใช้กับ AR ไม่ได้อีก แผนที่นี่เลยเสร็จเอาจริงๆก็ตอนตี 5 นี่แหละ

ที่เหลือก็เป็นปัญหาเล็กๆน้อยๆที่เราเจอกันปกติเวลาทำงานเช่น การสื่อสารในทีม, การเห็นภาพเดียวกันของทีม ซึ่งจริงๆอีกวิธีแก้ปัญหาหนึ่งที่พวกเราใช้(และขอแนะนำ) คือพวกเรามักจะหยุดนิ่งกันสักครู่ ยกมือไหว้ ลองปิดแล้วเปิดใหม่ดู บางครั้งก็สามารถใช้แก้ปัญหามาได้ไม่น้อยเหมือนกันนะะ

วันงาน — ช่วงจัดแสดง

เมื่องานเสร็จทันเท่ากับว่าเราก็สามารถจัดแสดงได้แล้วนั่นเอง พวกผมเดินทางไปถึงสถานที่จัดงานเวลา 7 โมงกว่าๆ (หลังจากงานเสร็จประมาณ 2 ชม. เรียกว่า งานในเครื่องกำลังร้อนเลย) หลังจากที่ผมเข้าไปสอบถามกับทางเจ้าหน้าที่ บอกชื่อทีมกับเขา คำแรกที่พวกเราได้รับจากทางเจ้าหน้าที่คือ

“ไม่มีรายชื่อทีมนี้อยู่ในระบบนะคะ”

โอ้ว ก๊อตต ตอนนั้นเขาถามผมว่า “เป็น Exhibitor หรือผู้เข้าร่วมงานเฉยๆ” บอกตามตรงนะ ตอนนั้นไม่รู้เลยว่า Exhibitor เนี่ยมันแปลว่าอะไร เห็นพูดกันแนวๆบริษัท เลยเข้าใจไปเองว่าคงเป็นผู้จัดบูธมั้ง ผมก็เลยตอบไปว่า “ใช่ ชื่อทีม Military Board มาจากม.เกษตรครับ” แต่เขาก็บอกว่า ผู้จัดงานให้รายชื่อมาแค่นี้ไม่มีจริงๆ เขาบอก “หรือเราเป็นผู้ร่วมงาน” ผมก็เดินไปดูรายชื่อผู้เข้าร่วมงาน ก็ยังไม่มีอีกต่างหาก

สภาพพวกเราตอนนั้นคือ แต่งตัวมาพร้อม อุปกรณ์ทุกอย่างพร้อม แถมยังแบกหน้าจอแยกขนาด 22 นิ้วสำหรับจัดแสดงมาแล้ว แล้วยังไง… เรามากันผิดงานเหรอ… คนที่ผมโทรคุยนัดหมายผมเมื่อวานเขาคือใครกัน… แล้วไอที่พยายามมาถึงเช้านี่คืออัลไล… ผมนี่ยืนอึ้งอยู่สักครู่ ทางเจ้าหน้าที่เขาเลยบอกว่า “เอางี้ ไปถามจากคนในงานที่เป็นผู้จัดงานจริงๆเลยดีกว่า จะได้ชัวร์” ผมก็โอเค เพื่อคลายข้อสงสัย ผมจึงเดินเข้างานเข้าไปโดยไม่ได้ลงชื่ออะไรเอาไว้ พอเข้าไปในงานเท่านั้นแหละ… มีโต๊ะชื่อทีมพวกเราอยู่! โอเค เรามาไม่ผิดงาน และเราไม่ได้ฝันไป!! สอบถามจากคนในงานที่จัดบูธเหมือนกันกับผู้จัดงานก็บรรลุว่า จริงๆเขามีลงทะเบียนยืนยันกันอีกรอบซึ่งส่งมาทางอีเมล์ ผมคงลืมอ่านจากในนั้นเลยกลายเป็นว่าผมไม่ได้ลงทะเบียนไป(ถือว่าเป็นความผิดพลาดของผมเอง) สุดท้ายผู้จัดงานก็เลยพาผมไปยืนยันกับเจ้าหน้าที่ด้านหน้างาน และได้รับการเลื่อนยศเป็น “Exhibitor” ในที่สุด

เข้าสู่ตัวงานเวลา 8 โมงกว่าติดตั้งอุปกรณ์ นำแอพพลิเคชันเข้ามือถือ ตอนนี้ทุกอย่างก็พร้อมและ และงานก็เริ่มขึ้นเวลา 9 โมง คนเริ่มทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ช่วงเริ่มงานคนน้อยพอสมควร มีคนเข้ามาถามบ้างนิดๆหน่อยๆ ตอนนั้นผมคิดว่า ในงานมันมีเวิร์คชอพกับบรรยายด้วยคนเดินบูธคงไม่เยอะหรอกมั้ง เท่านั้นแหละฮะประมาณ 10 โมงมาจากไหนกันไม่รู้เต็มไปหมด และก็เป็นอย่างงี้ยาวจนถึงประมาณ 4 โมงเย็นเลย

ขอบคุณภาพจาก techsauce.co

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมออกบูธ ผมเลยคิดว่าวันนี้ก็คงไม่มีอะไรมากหรอกมั้ง กลัวตัวเองจะเบื่อๆด้วยซ้ำ เพราะปกติเวลาออกบูธจะต้องพูดประโยคแนวๆเดิมซ้ำๆ ทำแบบเดิมซ้ำๆกับทุกๆคนที่เข้ามา แต่กลายเป็นว่าสนุกกว่าที่คิด ลืมอาการง่วงที่มีอยู่ของตัวเองไปเลย เลยอยากเขียนแชร์ประสบการณ์ที่รู้สึกประทับใจเป็นข้อๆไปนะครับ

  1. คนสนใจเรื่อง AR มากกว่าที่คิด เนื่องด้วยเทคโนโลยี AR มีมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ผมตอนที่เริ่มคิดไอเดียสำหรับงานนี้ยังคิดว่า “พวกเขาอาจจะไม่สนใจก็ได้” “เขาอาจจะเคยเห็นมาแล้ว” ผมจึงโฟกัสที่การทำเกมให้สนุกที่สุดเท่าที่จะทำได้แทน แต่กลับกลายว่าคนในงานสนใจ AR มากกว่าตัวเกมเสียอีก หลายคนตื่นเต้นกับเพียงแค่เห็นเกมลอยออกมาจากกระดาษ ซูมเข้าซูมออก เห็นตัวละครตัวเองเดินเล่นได้ โดยไม่สนใจเสียด้วยซ้ำว่าผลงานจริงๆแล้วมันคืออะไร ตอนหลัง ผมเลยเรียงลำดับการพูดใหม่ให้เรื่อง AR กับ Cardboard ขึ้นต้นแล้วให้เขาทดลองใส่เล่นทันที จึงค่อยตามด้วยอธิบายตัวเกมแทน ซึ่งผลลัพธ์ถือว่าโอเคกว่าตอนที่ผมพยายามอธิบายตัวเกมก่อนมาก
  2. ชาวต่างชาติที่พยายามเข้าใจพวกเรา ปกติเวลาผมไปออกงานที่รู้แน่ๆว่าต้องใช้ภาษาอังกฤษ ผมจะพกเพื่อนในทีมที่พอสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ไปด้วย แต่เนื่องด้วยงานครั้งนี้มีแค่พวกเรา 3 คน และภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของพวกเรานี่ก็จัดได้ว่า เอิ่ม… (บรรยายไม่ถูกเลยทีเดียว) การที่ชาวต่างชาติมาที่บูธจึงถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของพวกเราเลย เราจะอธิบายผลงานพวกเราอย่างไรดี ? เขาจะเข้าใจกับสิ่งที่เราทำมานี่ไหม ? หนึ่งในตัวอย่างบทสนทนาที่ผมถือว่าผมประทับใจชาวต่างชาติมากๆ
    ชาวต่างชาติ : “Umm.. What…. (เขาถามประมาณว่าโปรเจคคุณคืออะไรมั้ง)”
    พวกเรา : … (เงียบ หันมาถามกันเองว่าเขาถามอะไร)
    ชาวต่างชาติ : “What… (เหมือนเขาจะถามคำถามเดิมซ้ำ)”
    พวกเรา : … (เงียบ)
    ชาวต่างชาติ : “มันคืออะไรครับ ผลงานของพวกคุณ”
    พวกเรา : อ่อ มันคือเทคโนโลยี บลาๆๆ (คิดในใจ: โอ้ว สวรรค์เขาพูดไทยได้ 555)
    แน่นอน จะมีฝรั่งสักกี่คนที่พูดไทยได้กันเชียว ทางออกที่ดีที่สุดที่พวกเราใช้คือ ในเมื่อพวกเราอธิบายว่ามันคืออะไรไม่ได้ในอังกฤษ เราก็ให้เขาลองเล่นซะเลย (ใช้ภาษากายนั่นเอง) ถ้าฝรั่งมา เราจะส่ง Cardboard ให้เขาใส่ดูทันทีโดยอธิบายจากสิ่งที่เขาเห็น “You see a game in cardboard, right? ” “You see a yellow point ?” “click it to move player in the game” “It’s a tower defense game!” ที่เหลือสงสัยไรก็ให้เขาถามเอาเอง ตอบเท่าที่เราจะพูดได้เป็นคำๆไป ซึ่งก็ถือว่าได้ผล ชาวต่างชาติสนใจที่จะดูและเล่นผลงานพวกเรา ถึงแม้หลายคนจะจากบูธไปด้วยสีหน้างงๆก็ตาม ผมจำได้ว่ามีชาวต่างชาติคนหนึ่งเขาบอกว่า “Hi, I’m speaker from google. Your project is so great!” แล้วก็เข้ามาจับมือผมกับเพื่อน ยืนดูคนอื่นเล่นอยู่สักครู่ แล้วก็ยกนิ้วให้พวกเรา ถึงผมจะงงกับสิ่งที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ทำให้ผมรู้สึกดีอย่างไม่น่าเชื่อ ผลงานชิ้นนี้จึงถือว่าเป็นชิ้นแรกที่ผมได้รับคำชมจากภาษาต่างประเทศครั้งแรกว่า “Great” เลยก็ว่าได้
  3. พวกเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้คนรู้จัก Cardboard มากขึ้น มีคนถามพวกเราเรื่อง Cardboard กันพอสมควร สารพัดคำถามมาตั้งแต่ว่า อุปกรณ์นี้พวกคุณสร้างกันเองใช่ไหม ? อ้าว มันต้องใช้กับมือถือด้วยเหรอ ? ทำไมตัวนี้ไม่เห็นเหมือนกับที่แจกอยู่ในงานเลยอะ ? พวกคุณได้มันมาจากที่ไหน ? (จำได้ว่าตอนที่ตอบคำถามนี้ มีคนกำลังแจกอยู่พอดีด้วย) Your game play with google glass right ? ทำไมต้องใช้อะ มันแตกต่างกับเล่นในมือถือนี้ยังไง ? (คำตอบนี้อยู่ด้านบน บทความนี้แล้ว) พวกผมยินดีอยู่แล้วที่จะให้ข้อมูลเท่าที่พวกผมรู้กันจากการพัฒนาเกมนี้มา ผมก็ยังมีความเชื่อว่า ในอนาคตมันอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผู้คนอาจจะมีติดตัวกันทุกคก็เป็นได้
  4. มีคนกำลังมองหานักพัฒนาด้านนี้อยู่ด้วย งานนี้จริงๆแล้ว พวกผมส่งด้วยเหตุผลแค่ เราก็มีโปรเจคจบที่เป็นลักษณะประมาณนี้อยู่เลยอยากลองส่งดูเผื่อว่าจะช่วยกระตุ้นกับตัวโปรเจ็คจบไปด้วย แต่เท่าที่คุยกับคนในงานหลายคน หลายคนก็อยากให้มีแอพพลิเคชันเกิดขึ้นเป็นของจริง ใช้งานได้จริง สอบถามเราว่ามันทำอะไรอย่างอื่นนอกจากเกมได้ไหม ? ซึ่งแน่นอนว่ามันทำได้ แต่ด้วยข้อจำกัดที่ยังมีอยู่มากโดยเฉพาะตัวมือถือเอง เรื่องการพัฒนาขึ้นมาใช้จริงนั้น อาจจะต้องมีอะไรที่ดีกว่ามือถือที่พวกเราใช้กันอยู่ก็เป็นได้ บางคนก็ขอวิธีติดต่อของพวกเราไป เผื่อมีโอกาสได้พัฒนาด้านนี้จะให้พวกเราลองไปทำดู มันทำให้ผมได้รู้ว่า จริงๆก็มีคนที่อยากมีสิ่งที่สามารถทำสิ่งแบบนี้ได้เหมือนกันที่ไม่ใช่แค่กับเกม แต่เป็นสื่อที่จะทำให้เกิดประโยชน์จริงบนโลกใบนี้ของเราได้
  5. มีคนหนึ่งจะขอ “ซื้อ” เกมนี้ เป็นอะไรที่ผมตกใจที่สุดในงานแล้ว เพราะตัวเกมนั้นผมยังทำไม่เสร็จเลยด้วยซ้ำ แสดงผลออกมาชนิดที่ป้อมยังสามารถลอยฟ้าได้อยู่เลย แต่คนนั้นเขาเล่นแล้ว เขาบอกว่าเขาชอบมาก ราคาเท่าไหร่ว่ามา เขาจะซื้อ ซึ่งผมก็บอกกับทางเขาไปว่ายังพัฒนาไม่เสร็จ เขาก็บอกว่า “เห้ย ผมว่ามันเล่นได้แล้วนะ โอเคเลยนะ เอางี้ผมชอบเล่นเกม Moba ถ้าคุณทายเกมที่ผมเล่นถูก ให้ผมซื้อเท่าไหร่ว่ามาได้เลย” ไม่รู้ว่าควรจะโล่งใจหรือเสียใจดี ที่ผมทายเกมของเขาผิดกันนะ 555 (แต่ดีใจมากๆนะครับที่ชอบ ถ้ามีโอกาสได้พัฒนาจนเสร็จ ถึงวันนั้นก็ซื้อด้วยนะครับ)

โดยรวมถึงจะมีปัญหาแค่ไหนก็ตาม แต่ความประทับใจเหล่านี้เพียงพอให้ผมหายเหนื่อยกับความทุ่มเทที่ทำไปแล้วละครับ :D

ความรู้สึกงาน Google Hackfair

ผมชอบแนวงานจัดแสดงอยู่แล้ว ยิ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ยิ่งเป็นเนื้อหาที่ผมสนใจด้วย งานถือว่าคึกคักดีครับ คนมาเดินงานตั้งแต่เด็กมัธยมจนถึงผู้ใหญ่วัยกลายคน สถานที่จัดงานก็โอเคครับ ดูดีทีเดียว แต่อันนี้ความรู้สึกส่วนตัวจริงๆคือ รู้สึกว่าของกินที่แจกในงานน้อย ที่ผมได้มีแค่น้ำกับข้าวเอง (หรือผมพลาดอะไรไปหรือป่าว/เห็นแก่กินนะเนี่ย) ส่วนเรื่องบรรยายกับ Workshop ผมไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมเลยเพราะติดจัดบูธ รู้สึกเสียดายเหมือนกัน โดยรวมงานถือว่าโอเคครับ สนุกดี ถ้ามีครั้งหน้าและผมยังหาทีมได้ก็อาจจะไปร่วมในฐานะ Exhibitor อีกนะครับ :D

ขอบคุณ 2 หน่อนี่ด้วยที่ช่วยกันทำงานจนสำเร็จนะครับ

--

--