เทคนิคการฝึกพูด present และ public speaking สำหรับมือใหม่

Burasakorn Sabyeying
Mils’ Blog
Published in
4 min readApr 14, 2024

มีใครขี้อายบ้างคะ 🙋‍♀️ มีใครกังวลเวลาพูดต่อหน้าคนอื่นบ้าง 🙋‍♀️

ใช่ค่ะ เราเอง เราก็เป็น

เวลาที่เราต้องอยู่ต่อหน้าคนอื่นเยอะๆ ทุกสายตาจดจ้องมาที่เรา เรามักจะประหม่ามากๆ เหงื่อออก มือสั่น ขาสั่น 😨 แม้จะเป็น online ที่ไม่เห็นหน้าตรงๆก็ตาม

เราคิดว่าเราผ่านทุกความล้มเหลวมาหมดแล้ว เลยอยากแนะนำเทคนิคให้ทุกคน เผื่อจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยค่ะ (หรือเป็นเพื่อนที่เผชิญเรื่องเดียวกัน ฉันเข้าใจเธอ 😂)

ขอแบ่งออกเป็น 2 พาร์ทค่ะ

พาร์ทแรก — เราจะพูดถึงความกลัวกันก่อน เหมาะกับคนที่ยังกลัวว่าจะออกมาพูดดีไหม

พาร์ทที่ 2 — ทริคและเทคนิคในทางปฏิบัติ สามารถฝึกเองได้ก่อนขึ้นเวที

1. ความกลัว

การก้าวข้ามความกลัว = ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

เราขอแนะนำรูป ‘The Comfort Zone’

สีเทาคือวงกลมที่เราเคยอยู่หรือตอนนี้กำลังอยู่ นั่นคือ Comfort zone

เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่เรารู้สึกปลอดภัย และมั่นใจ

ถัดออกไปจาก Comfort Zone คือ Fear zone

พื้นที่สีเทาที่สีเข้มขึ้น น่ากลัว ไม่น่าเดินเข้าไป

หลายครั้งความกลัวเกิดจากสิ่งที่เราไม่รู้ ความกลัวทำให้เราไม่มั่นใจ กลัวผิดพลาด กลัวคนอื่นจะมองเราไม่ดี

เป็นภูเขาสูงที่กั้นเราอยู่ระหว่าง Learning zone

บ่อยครั้งการก้าวข้ามความกลัวได้ ต้องใช้ความรู้ ต้องใช้ความกล้าเพื่อลองดู

เพราะเมื่อเรารู้มากขึ้น เราก็ไม่กลัวแล้ว ในทางกลับกันเราก็จะรับสิ่งใหม่ๆได้ดีขึ้น

เมื่อเราก้าวข้ามความกลัวไปได้ comfort zone วงเทาอ่อนของเราก็จะกว้างขึ้น

เรื่องราวของเราอาจจะมีประโยชน์กับใครสักคน ใครบางคนที่กำลังเจอปัญหาเดียวเรา เหมือนที่เราเคยเผชิญมาก

การออกมาพูดต้องใช้ความกล้า และเมื่อเราตัดสินใจจะขึ้นมาบนเวทีแล้ว ภูเขาความกลัวเราจะเตี้ยลงและเตี้ยลง

ยินดีด้วย คุณกำลังก้าวข้าม Fear zone ไปสู่ Learning zone แล้ว

มันโอเคที่ยอมรับว่าไม่รู้ และเรียนรู้คำว่าไม่เป็นไร

หลายคนมักคิดว่า เรื่องที่เราจะมาพูด เราต้องรู้ลึก รู้ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ

(นั่นเป็นเรื่องดีค่ะ แต่ต้องระวัง)

หลายครั้งมันสร้างความกลัวว่า ‘ฉันจะดูแย่ในสายตาคนอื่น’

เวลาคนอื่นถามคำถาม หรือพูดอะไรผิด จนเราไม่กล้าสร้างความผิดพลาดนั้น

การ present มีระยะเวลา 20–50 นาทีเท่านั้น เราเล่าความรู้ที่เราตื่นเต้นกับมันให้คนอื่นฟัง ซึ่งมันคือความรู้ที่จำเพาะเจาะจงมากๆ หากเราไม่รู้เรื่องไหน ก็ยังเป็นสิ่งที่พัฒนาต่อได้

เราก็พูดตรงๆว่า “ตรงนี้เราไม่แน่ใจ เพราะไม่เคยทำ” หรือ “ยังไม่เคยลองอันนั้นเลย แต่น่าสนใจมากๆ เดี๋ยวจะไปลองรอบหน้า”

เราไม่ได้สำคัญขนาดนั้น อ้าว

ใช่แล้วค่ะ สุดท้ายแล้วไม่มีใครสนใจเราขนาดนั้น ดังนั้นสบายใจได้ ฮ่าๆ

ดังนั้นอย่าไปกลัวสิ่งที่คนอื่นคิดกับเรา ดังนั้นปล่อยวางและทำใจสบายๆได้เลย

ถ้าผ่าน 3 ข้อนี้ได้ เราก็ไปลุยกันต่อภาคปฏิบัติค่ะ

2. ทริคและเทคนิคปฏิบัติ

1) ลองสนาม Online ก่อนได้

สำหรับเราสนามที่ง่ายที่สุด คือสนาม Online ค่ะ

ข้อดี: เราจะมีสมาธิมากและโฟกัสในสิ่งที่พูดได้ง่าย ไม่วอกแวก เวลามีคนขยับตัวหรือทำหน้างง5555

ข้อเสีย (ที่อาจจะเป็นข้อดี): พอเราพูดจบแล้วไม่รู้ว่าคนฟังรู้สึกยังไง อันนี้เราต้องพยายาม catch up คนฟังด้วยนะ

ถ้าเป็นการ present ในที่ทำงาน พยายามแบ่งพาร์ทเบรคบ้าง ถามคนฟังว่า

“ถึงตรงนี้มีใครมีข้อสงสัยไหม?”

เพื่อให้ผู้ฟังได้พักคิดทบทวนและไม่หลุดสมาธิต่อในพาร์ทถัดไปค่ะ

เทคนิคที่เราเห็นบ่อยจากพี่ทอย DataRockie speaker ขั้นเทพ สอนบนแพลตฟอร์ม online

“ใครตามทันบ้าง พิมพ์ ok ในแชทหน่อย”

เพื่อจะดูคร่าวๆว่าทุกคนยังอยู่ และเรียก attention กลับมา

2) Belly breathing

เคยไหมคะ พูดแล้วหายใจไม่ทัน พอพูดใกล้จบแล้วแรงตก ไม่มีแรงพูด เสียงพูดเริ่มไม่หนักแน่นเหมือนตอนเริ่ม

วิธี Belly Breathing เป็นอีกเทคนิคที่ช่วยได้ คือการหายใจทางปาก ช่วยให้ oxygen เข้าร่างกายทำให้แรงไม่ตก

อย่าง MC ที่ต้องพูดเร็วๆ มักใช้วิธีนี้ในการพูดประโยคที่ยาวมากๆ แบ่งช่วงการหายใจเพื่อให้หายใจทัน

สามารถฝึกได้ตาม Youtube ด้านล่างเลย

3) ระวังพูดเร็วเกินไป

Belly breathing ทำให้เราพูดเร็วได้มีประสิทธิภาพก็จริง แต่ต้องระวัง pace ของเราด้วย

หลายครั้งเราตื่นเต้น ก็จะเผลอพูดเร็ว

หรือคนที่ซ้อมพูดมาเยอะๆ สมองเราดันไปคิดถึงเรื่องที่จะพูดล่วงหน้าแล้ว เลยเผลอพูดเรื่องปัจจุบันเร็วฉับๆไม่รู้ตัว

ข้อนี้ต้องระวัง หากเป็นเนื้อหาที่หนักๆแล้ว การพูดช้าอาจให้ข้อดีมากกว่าพูดเร็ว เพราะคนฟังจะมีเวลาได้คิดทบทวนสิ่งที่คนพูดกำลังสื่อสารด้วย (แต่ระวังเรื่องน้ำเสียง monotone ด้วย เดี๋ยวคนหลับ)

อีกเรื่องคือบางคนจะรีบๆๆพูด เพราะกลัวคนอื่นจะเสียเวลาฟัง

เอาเข้าจริง ถ้าเขาฟังไม่ทันและหลุดโฟกัสไป อาจจะเสียหายกว่า ดังนั้นใจเย็นๆเวลาพูดดีกว่า

เราอาจจะเว้นพักหายใจบ้าง เหมือนคนพูดไปวิ่ง คนฟังก็วิ่งตาม555 ให้คนฟังได้พักตามบ้าง

ซึ่งมันจะไปสู่ระดับที่ advance ขึ้น คือข้อถัดไปค่ะ

cr https://www.toastmasters.org/magazine/magazine-issues/2021/sept/quit-talking-quickly

4) ช้าให้เป็น เร็วให้เป็น

แต่ถึงอย่างนั้นบนโลกนี้ก็มีคนพูดเร็วที่ประสบความสำเร็จ เช่น John F. Kennedy

John F. Kennedy เป็นคนที่พูดเร็วมาก

มีเก็บสถิติว่า Speech ในปี 1961 เขาพูด 327 คำต่อนาที ซึ่งเร็วเป็น 3 เท่าของความเร็วการพูดปกติ

แต่ขณะเดียวกัน บาง speech ที่เขาอยากเน้น เขากลับพูดด้วยความเร็ว 96.5 คำต่อนาที

เราควรพูดช้าเมื่อเนื้อหา..

  • เน้นใจความ ท่อนคำพูดสำคัญๆ
  • มีความเศร้า
  • มีความสงสัย
  • มีจุดประกายไอเดีย (เพื่อให้คนคิดตามทัน)

เราควรพูดเร็วเมื่อเนื้อหา..

  • แสดงถึง passion
  • ความตื่นเต้น

fact พวกนี้อ้างอิงจาก https://speakerhubhq.medium.com/your-speech-pace-guide-to-speeding-and-slowing-down-be150dcb9cd7

ซึ่งเป็นบทความที่ดีมากๆค่ะ

5) Eye-contact สำคัญมาก

การสบสายตาเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการสื่อสาร แม้ว่าจะพูดในที่สาธารณะก็ตาม

  • เพิ่มความมั่นใจให้คนฟัง
  • สื่อความรู้สึกของผู้พูดให้คนฟังได้มากกว่า
  • สร้าง engagement ให้เขาสามารถโฟกัสเราง่ายขึ้น

วิธีฝึก EYE-CONTACT

เวทีแรกช่วงหลังโควิดเป็นเวทีที่เราประหม่ามาก เพราะชีวิตช่วงนั้นอยู่แต่บ้าน ไม่ค่อยได้เจอคน

เวลาที่คนจดจ้องมาที่เรา ทำให้เราสติหลุดด้วยความไม่เคยชิน

เวทีนั้นเราเลยคิดว่าทำได้ไม่ค่อยดี เลยกลับมาฝึกที่บ้านใหม่

ก่อนถึงเวทีถัดไปเราเลยปรับปรุงและฝึก eye-contact เพิ่ม โดยเอาตุ๊กตามาวางไว้ จ้องหน้าเราตอนเราพูด และเราพยายามจ้องกลับ

อีกเรื่องที่ต้องระวังคือระหว่างที่เราพูด audience อาจจะซุบซิบคุยกัน เราต้องพยายามชิน อย่าไปวอกแวก (คือเขาอาจจะไม่ได้พูดถึงเราหรอก เขาอาจจะบ่นว่าแอร์ร้อน หรือนึกเรื่องสำคัญได้เลยเม้าท์กับเพื่อนข้างๆ 5555) พยายามไปโฟกัสกับคนที่จ้องเราอยู่ดีกว่า

6) Body Language สำคัญมาก

ใช้ร่างกายสื่อสารไปหาผู้คน

  • การใช้มือช่วยอธิบาย — เช่น เน้นว่ายอดขายเติบโตขึ้นมาก เราก็วาดมือเป็นวง หรือเล่าเปรียบเทียบอะไรสักอย่างก็ใช้มือเล่าไปซ้ายที ขวาที — และใช้มือให้อยู่ในกรอบของช่วงตัวเรา
  • การสบสายตา — เสริมจากข้อก่อนหน้า พยายามนึกว่าเราไม่ได้ present อยู่ แต่เรากำลัง make conversation กับใครสักคน แล้วสลับๆไปอีกคนและอีกคน
  • การยืนทิ้งน้ำหนักขาทั้ง 2 ข้างเท่าๆกัน — เพื่อแสดงความ stable ของเรา

คลิปนี้อธิบายได้ดีมากๆ แนะนำให้ไปรับชมค่ะ

7) กลัวเสียงตัวเองเวลาออกไมโครโฟน

มันมีคนกลัวเสียงตัวเองจริงๆนะ 😂 เกิดในเวที offline

วิธีแก้คือ ให้ไปสนามจริงก่อนเวลาเพื่อเทสไมโครโฟน กันตกใจ ช่วยได้เยอะเลยค่ะ

8) อุปกรณ์เสริม

เหมาะสำหรับคนที่เริ่มพูดบ่อยขึ้นหรือมีเนื้อหา slide ที่มีรายละเอียดเยอะ ต้องการชี้จุด

Laser remote หรือ pointer เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากค่ะ

ข้อดี: มี laser ไว้ช่วย point เนื้อหา และสามารถกด next slide ได้

และจะทำให้เราเดินออกจาก podium ได้ ทำให้คนเห็นร่างกายเราได้มากกว่า ก็จะมีโอกาสใช้ body language ได้มากขึ้นค่ะ

ข้อเสีย: ถ้าจอที่ present เป็นทีวี digital จะมองไม่เห็น

หาก present online ใช้พวก Google Slides หรือ Powerpoint ก็ใช้ฟีเจอร์ pointer ได้

9) เริ่มจากวงเล็กๆ

อีกเทคนิคที่อยากแชร์คือเราสามารถเริ่มเล่าจากวงเล็กๆ 4–5 คนก่อนได้นะ

จุดเริ่มต้นของเราก็เริ่มพูดจากวงทีม Data Engineer ที่ทำงาน มีชั่วโมง knowledge sharing ทุกวันปิด sprint แชร์ความรู้เกี่ยวกับงานหรือความรู้ทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับงานก็ได้

ทีมยังมีจำนวนแค่ 4–5 คน เมื่อก่อนเราพรีเซนท์ให้คนฟังแค่จำนวนนี้ก็ตื่นเต้นแล้ว5555

เราใช้เวลาเตรียมตัวนานมาก แต่ด้วยเหตุที่วงเล็ก ก็มีเวลาสำหรับพี่ๆในการ feedback เพื่อปรับปรุงเรื่องว่าเราควรไปดูอะไรมาเพิ่ม หรือขอบเขตการ research ควรประมาณไหนเพื่อจะตอบโจทย์

ซึ่งพอเริ่มจากวงเล็กๆ และได้รับฟีดแบ็คแล้ว เรารู้แล้วว่า เห้ย เนื้อหามันก็น่าจะโอเคนะ

ทีมจะมีหัวข้อไว้ว่าใครจะลงทะเบียนพูดตอนไหนบ้าง ในรูปเป็นของปี 2022, 2023 ที่เราแชร์

แล้วเราก็เอาเรื่องเดียวกันที่พรีเซนท์ไปเล่าในวง Project Showcase, หรือ knowledge sharing ที่ขยับวงใหญ่ขึ้น 20–30 คน จนมากสุดที่ 50 คน เป็นทีม BU ที่เราอยู่ มีคนหลายๆ role โดยปรับวิธีการเล่านิดหน่อยให้เหมาะสมกับคนฟัง

พอพรีเซนท์จบถึงจุดนี้ เราเริ่มเสียดายการเตรียมตัวที่ทำมา ใช้เวลาและตั้งใจกับมันมาก

เราก็เลยนำความรู้เคยเล่านั้นมาเขียนเป็นบทความ ตัดทอนข้อมูลที่ sensitive บางอย่าง มาสู่ version ที่คนทั่วไปสามารถเรียนรู้ตามได้ ทำเป็น tutorial บ้าง, concept ความรู้ใหม่ๆที่อยากแชร์บ้าง

สิ่งที่เราได้เรียนรู้เลยคือ

เมื่อพูดบ่อยขึ้นหรือเขียนมากขึ้น ระยะหลังการเตรียมตัวใช้เวลาน้อยลงมาก เหมือนสมองเราเริ่มชินกับการใช้ storytelling เราเริ่มมีสัญชาตญาณว่าควรเล่าจากจุดไหนไปจุดไหน

ที่สำคัญเลย เราจดจำเรื่องราวที่เราเคยเล่าได้แบบมหัศจรรย์ และเมื่อมีความรู้ใหม่ๆเข้ามา เราก็สามารถต่อยอดได้รวดเร็วขึ้น เสมือนว่า comfort zone เรากว้างขึ้น

ซึ่งมันจะไม่ได้มาถึงจุดนี้ได้เลย ถ้าหากเราไม่เริ่มต้นจากวงเล็กๆในวันนั้น

10) อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

Que sera, sera — whatever will be, will be

‘อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด บางครั้งเราก็ควบคุมหรือแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้’

เป็นเรื่องที่เราได้เรียนรู้ตอนจัดงาน Conference ปีนึง สถานที่จัดเป็น open space ซึ่งไม่เก็บเสียงเท่าไร หากมีเสียงดังมากๆจากข้างนอก ก็เข้ามา interupt งานพอสมควร

วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ใกล้สิ้นปี มีคอนเสิร์ตข้างๆเพราะมีศิลปินดารามาก เสียงกรี๊ดดังระงม

Thu Ya Kyaw เป็น Senior Developer Relations Engineer ของ Google และได้รับเชิญเป็น speaker ของงาน หนึ่งในงานของ Thu Ya นั้นคือการสอนและให้ความรู้ด้าน data และ AI ให้กับ community ดังนั้น Thu ya มีประสบการณ์พูดค่อนข้างเยอะทีเดียว

Thu Ya หันมาคุยกับมิวและบอกว่า “บางครั้งเราก็ควบคุมสิ่งที่จะเกิดไม่ได้” (พูดเป็นภ.อังกฤษ) พูดไม่ทันจบ เสียงกรี๊ดดังเข้าแทรก55555

แล้ว session ของ Thu ya ก็มีเสียงกรี๊ดมาเป็นระยะๆ เสมือนมีคนกรี๊ดให้ Thu ya 5555

สิ่งที่เราจะสื่อคือ พอถึงสถานการณ์จริง เราไม่สามารถควบคุมให้ทุกอย่าง perfect ได้

ส่งท้าย

เทคนิคที่แชร์ไปเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้และพยายามฝึกฝนทำบ่อยๆเพื่อให้ตัวเองชิน จนทำให้การเล่าเรื่องในวงเล็กไม่เกร็งอีกต่อไปแล้ว

และเมื่อมี challenge ในวงที่ใหญ่ขึ้น เราเริ่มคลายความกังวลได้ดีขึ้น และเล่าลื่นไหลได้มากขึ้นกว่าเดิม

ถึงแม้ว่าวง 200–300 คนจะยังตื่นเต้น มือสั่นอยู่บ้าง

มีบางครั้งอยากถอนตัว ไม่พูดแล้วได้ไหม55555 แต่เราก็จะกลับมา remind กับตัวเองทุกครั้งว่า มันจะดีกว่าไหมถ้าเราได้แชร์สิ่งนี้ให้กับทุกคน หากมีคนฟังที่ได้ประโยชน์สักคนก็ยังดี

เราเลยเลือกที่จะเดินทางนี้ต่อไป

และหวังว่าทุกคนจะสนุกกับเส้นทางนี้เหมือนกัน

ใครเคยเจอประสบการณ์ยังไง ใช้อันไหนประจำ คอมเมนท์แชร์ได้นะคะ

--

--

Burasakorn Sabyeying
Mils’ Blog

Data engineer at CJ Express. Women Techmakers Ambassador. GDG Cloud Bangkok team. Moved to Mesodiar.com