แชร์ประสบการณ์โหดมันฮา การเป็นอาจารย์สอนออนไลน์ ( Coding ) ผ่าน Zoom

Burasakorn Sabyeying
Mils’ Blog
Published in
3 min readAug 5, 2020

ในยุคโควิดระบาดแบบนี้ การสอนแบบออนไลน์จึงกลายเป็นที่นิยมขึ้นมาทันที

วันนี้เลยจะมาเล่าประสบการณ์ค่ะ ล่าสุดแปลงร่างเป็นอาจารย์มา ซึ่งคราวนี้พิเศษตรงได้เป็นอาจารย์แบบระยะไกลค่ะ ได้รับโจทย์เป็นการสอนออนไลน์ผ่าน Zoom !

ตอนแรกถึงกับคิดหนักเลยค่ะ การสอน coding หรือจะทำเป็น workshop เนี้ย แค่การเจอกันแบบ face-to-face ก็ว่ายากแล้วนะ จากประสบการณ์การเคยเป็น TA มาก่อน บางทีเราจะต้องเจอ bug หรือ error ในจอของผู้เรียน จนทำให้ผู้เรียนตามผู้สอนหลักไม่ทันก็เป็นปัญหาหนักเหมือนกัน
พอมาคราวนี้จะต้องไม่เห็นหน้า + ไม่เห็นเครื่องผู้เรียนโดยตรง ก็สร้างความยากได้เหมือนกัน

เราได้มีโอกาสสอนคอร์ส Bootcamp With Python And Django Framework คือปูพื้นฐานและมาลองสร้าง Website Application สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์เขียนโค้ดมาก่อนเลย โดยมีอาจารย์ร่วมสอนอีก 2 ท่าน สอนทั้งหมด 12 ครั้ง

พอจบการสอนแล้ว เลยจะมาแชร์ประสบการณ์การสอนแบบโหดมันฮามาสักหน่อย

1. ผู้เรียนหลุดจากห้อง

หลุด หลุดโดยไม่มีอะไรกั้น..

ความเจ็บปวดรวดร้าวของการสอนก็ว่าได้ ฝันร้ายของผู้เรียนและผู้สอน อยู่ๆนักเรียนเน็ตหลุดค่ะ พอกลับมาก็ตามไม่ทันแล้ว !

วิธีแก้ :
ในการสอน เราต้องมีการสอนแบบแบ่งเป็น steps พอจบ step นึง แล้วอาจจะรอแปบนึง และพยายามสอนให้นักเรียนไปพร้อมๆกัน
พยายามถามตลอดว่า มีใครไม่ทันบ้าง
หรือถามเป็นระยะๆตลอด เพิ่มช่องว่างให้นักเรียนส่งเสียงออกมาว่าถ้าใครตามไม่ทันบ้างไหม

ถ้าทันก็ให้กดใส่ reaction ก็ได้เพื่อเป็นการกระตุ้นผู้เรียนไปในตัว และดูว่านักเรียนยังอยู่ไหม (เป็นฟีเจอร์ที่ดีมากๆ ของ Zoom)

มีเคสนึงคือนักเรียนหลุดไป แล้วอาจารย์ก็ย้ำตรงจุดนั้นใหม่อีกรอบ กลายเป็นว่านักเรียนคนนั้นก็ตามทันแถมสามารถตั้งคำถามตอนจบคาบด้วย บางทีแค่เวลาทวนเพียงนิดเดียวก็ช่วยไม่ให้หลุดยาวๆได้ ดังนั้นอย่ากลัวที่จะส่งเสียงเรียกอาจารย์เลยนะคะ (ทั้งนี้ถ้าดีไซน์การสอนมาให้เรียนไปพร้อมๆกันด้วย)

2. คนเรียนตามไม่ทัน เพราะพิมพ์ตามไม่ทัน !!!

นี่ก็เป็นโจทย์ท้าทายอีกข้อของผู้สอนเหมือนกัน เนื่องจากคนเรียนใหม่มากกับการเขียนโปรแกรม จะทำยังไงดีเพื่อให้เขาพิมพ์ตามทัน เพราะเขาจะต้องทั้งดูไปด้วย และเขียนโค้ดตามไปด้วย
แถมนักเรียนยังพิมพ์เร็ว พิมพ์ช้าไม่เหมือนกันอีกแหน่ะ

วิธีแก้ :
ในส่วนของการทำ workshop เราก็ทำเอกสารมาประกอบการสอนให้เรียบร้อย ที่มีการใส่โค้ดเข้ามาด้วย ถ้าเขาพิมพ์ไม่ทัน ซึ่งอาจจะเกิดจากการอาจารย์สลับจอไปมา เขาก็ยังสามารถดูเอกสารและโค้ดที่ถูกต้องได้
วิธีนี้อาจจะเหนื่อยสำหรับคนสอนนิดนึง แต่เราพบว่า เออ มันช่วยลดระยะเวลาการติดขัดของนักเรียนได้พอสมควร

3. Tools การสอนที่ช่วยชีวิต

ทั้งในส่วนของ Lecture และ Workhop เนี้ย บางครั้งเราอยากจะไฮไลท์ข้อความบางอย่าง หรือจะต้องชี้ให้นักเรียนดูว่า ต้องกดปุ่มไหน, เปิดแท็บอะไร บางทีมันเป็นเรื่องยากที่จะบอกปาวๆ

วิธีแก้ :
แอบเห็นอาจารย์ที่ร่วมสอนด้วย ใช้โปรแกรมที่ชื่อ ZoomIt ที่สามารถไฮไลท์หรือชี้ในการสอนได้ อันนี้สำหรับ Windows นะคะ

พอเห็นว่า เอ.. เราจะใช้อะไรดีนะ ZoomIt ใช้ได้แค่เฉพาะ Windows เท่านั้น แต่เราใช้ Mac นี่สิ ก็เลยลองไปหาข้อมูลดูค่ะ แล้วก็เจอ แอพที่ชื่อว่า ScreenBrush
(ไฮไลท์ตัวหนาๆ)
เราพบว่า มันช่วยชีวิตเรามากกกกกกกกกกกกกก
เราชอบมากๆค่ะ เวลาไฮไลท์หรือให้นักเรียนทำตามตรงไหนก็สามารถกด shortcut แล้ววาดตอน present ได้เลย
มีแบบทั้งฟรีและเสียตังนะคะ ราคาเต็มมันแค่ 129 ละมั้ง ไม่แน่ใจ มันจะ unlock บางอย่างได้ ซึ่งเราว่าค่อยข้างจะคุ้มอยู่ทีเดียว

Screen Brush ผู้มีพระคุณของเรา กราบสามทีแบบไม่แบมือ

4. Mouse ใหญ่ๆ กลัวนักเรียนไม่เห็น

กลัวนักเรียนไม่เห็น cursor ว่าชี้อะไรอยู่ เลยลง chrome extension ที่ชื่อ Custom Cursor ค่ะ

Cursor ใหญ่เหมาะแก่คน(และผู้สอน) ที่สายตาไม่ดี @-@

5. เรียน 2 จอ ชีวิตง่ายขึ้น

ก่อนจะเริ่มคอร์สนี้ก็ลองถามคนที่เคยสอนออนไลน์มาก่อน พี่ Gatuk S Chattanon เลยแนะนำว่า สำหรับการเรียนให้มี 2 จอเข้าไว้

คือมีหนึ่งจอไว้ใช้ดูการสอน กับอีกจอหนึ่งไว้ใช้เรียน/เขียนโค้ด
ไม่งั้นจะต้องสลับจอ หรือแบ่งหน้าจอ จะทำให้นักเรียนลำบากได้

เลยบอกนักเรียนตลอดเลยว่า ใครสะดวก 2 จอ รบกวนใช้เลยนะค้า

ในส่วนของตัวอาจารย์เอง มี 2 จอแล้วชีวิตก็ดีเหมือนกัน แบ่งจอหนึ่งไว้สอน อีกจอเอาไว้ดูว่านักเรียนมาครบหรือยัง / หรืออ่าน chat ที่เข้ามาถามเราบ้าง
แถมแอบดูโพยได้ด้วยว่าจะพูดอะไรล่วงหน้า แฮะๆ จะได้ไม่ลืมเน้นจุดสำคัญๆไป

5. การต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่กับ Curse of Knowledge

cr. https://medium.muz.li/ux-and-psychology-i-curse-of-knowledge-89b7ab431b04

ระหว่างการสอนได้รับฟีดแบ็คมาว่ามีการพูด technical term มากเกินไป ตอนแรกก็ตกใจ คิดว่าเตรียมตัวมาดีแล้ว

พอมารู้จริงๆก็ อ้อ เราจะแปลให้มันเบสิคกว่านี้(ไปอีก)

เช่น คำว่า Request กับ Response

เราอาจจะต้องแปลให้เป็นภาษาไทยเลย เป็น การร้องขอและการตอบกลับ เพราะนักเรียนบางคนไม่ได้มีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์/ภาษาอังกฤษอาจไม่ได้แข็งแรง สิ่งนี้เราต้องระวังเอามากๆ

อีกเรื่องคือ ตัวเราจะใช้โปรแกรม vscode ในส่วนของการ coding กับ iTerm ไว้รัน server หรือ รัน command
แต่พอมานึกว่านักเรียนจะต้องมาเจอหน้าจอดำๆและสลับจอไปมาก็น่าจะอ่วมอยู่

ความ Curse of Knowledge ตรงนี้ ที่ต้องมาเรียนรู้การใช้ feature ของ vscode ที่สามารถรัน Terminal ในตัวได้ก็กลับมา รวมถึงการใช้ Git ผ่าน vscode ด้วย

อีกอย่างคือเราจะชอบพิมพ์เร็ว พูดเร็ว เราต้องพยายามปรับ speed ลงมา เว้นระยะห่างระหว่างทีละ steps ให้มากขึ้น

6. พูดคนเดียว 2 ชม. แบบ non-stop

ชาเล้นจ์ที่ทำเรากลัวมากๆเลยก็ว่าได้ นั่นคือ เรากำลังคุยกับความเงียบ….

เพราะเวลาที่นักเรียนกำลังเรียน ทางที่ดีที่สุดคือไม่มีเสียงรบกวนอื่นนอกจากผู้สอน ทุกคนก็ mute เสียงยกเว้นคนสอนคนเดียว

คราวนี้ผู้สอนก็ต้อง solo เดี่ยวสิคะ…

ครั้งแรกๆเรารู้สึกว่ามัน awkward มากกกกกก ฉันคุยกับใครเนี้ย ไม่มีใครตอบ
พยายามบอกทุกคนว่า

“เอ่อ.. ส่งเสียงได้นะคะ”

หรือถ้าตามไม่ทันก็ส่งเสียงได้นะคะ นานๆทีก็จะมีนักเรียนที่ติด

เราก็จะดีใจ (ดีใจคนเดียว) ได้คุยกับชาวบ้านบ้าง แถมถ้ารู้ว่านักเรียนตามทันก็ดีใจละ
เพราะไม่รู้ว่าไม่พูดนี่หลับอยู่รึเปล่า5555555

แถมการพูดคนเดียวมันเหนื่อยมากกกกกกก เจ็บคอสุดๆ นี่ยิ่งไม่นับการซ้อมอีกนะ (เราซ้อมเสมือนจริง กลัวการสอนมันไม่ flow)

ทุกคน mute ไมโครโฟนหมด ยกเว้นคนสอนที่กำลังคุยกับความว่างเปล่า

7. พูดซ้ำๆ ย้ำบ่อยๆ

เผื่อนักเรียนหลุด และมองไม่ทัน5555 พูดซ้ำๆเพื่อให้นักเรียนจำได้ เรามองว่าระยะหลังเราไม่ได้เปิดกล้อง จะแชร์จออย่างเดียว การเรียนรู้จะมีแค่เสียงและภาพเข้ามา (คิดเอาเองว่า) ก็จะมาเติมเต็มในส่วนของ gesture ที่หายไป

8. ระวังการ Install program ให้ดี

ตั้งแต่เริ่มเป็น TA ตัวน้อยๆจนมาสอนด้วยตัวเอง ขั้นตอนที่นักเรียนจะติดมากที่สุดคือตอน install นี่แหล่ะค่ะ !!!!

คือต่อให้เราเขียนเอกสารในการลงโปรแกรมมาให้ลงล่วงหน้า (นอกการเรียน) แล้ว เราก็จะหนีไม่พ้นกับ environment แต่ละเครื่อง
อันนี้เป็นความพลาดของเราเอง เรามัวแต่ไปโฟกัสที่ตอนลง Python ใน Windows (เพราะตัวเองไม่ได้ใช้) และเผลอไปว่าการ install Python ใน Mac มันง่าย ซึ่งลืมคิดไปว่าจะต้องลง Homebrew ด้วยเนี้ย ทำเอาเราเสียเวลาไปเลย

เพราะมีนักเรียนคนนึงใช้ Mac เหมือนกันค่ะ ตอนนั้นก็เลยต้อง remote เข้าไปช่วยติดตั้งให้อีกที โดย default เครื่อง Mac ตอนนี้จะให้ version 2.7 มา แต่เขาเลิก support ไปกันตั้งแต่ Jan 1, 2020 แล้ว และให้ใช้ Python 3
ดังนั้นเราก็ต้องมาแก้ path การเรียก Python กันอีกที
ต้องอธิบายกันยกใหญ่เลยค่ะ และ ระวังคุณพี่ Curse of Knowledge ให้ดี

เพิ่มเติม

  • การสอนของเราอยู่ในช่วงเวลาที่ดึกมาก เวลา 20.00–22.00 น. ทำให้เราต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม เราเลยเปลี่ยนทามไลน์การนอน กลายเป็นคนนอนดึกไปเลย ถือว่าเป็นข้อเสียอย่างหนึ่ง แถมบางครั้งสอนเสร็จ ตาเบิกโพล่งเลยจ้า สอนเสร็จก็ยังอินอยู่ นอนไม่หลับไปเลยก็มี
  • อันที่จริงเราไม่อยากให้ผู้เรียนเรียกเราว่า “อาจารย์” เท่าไร แต่มันเกิดเหตุการณ์น่าอับอายขึ้น มีผู้เรียนที่ชื่อคล้ายๆเรา (นิว) เวลาอาจารย์สอนร่วมอีกท่านพูดว่า “คุณนิว” เราก็นึกว่าตัวเอง เลยตอบโต้กลับไปว่า “ ค่าาาาาา”
    เขินมากๆเลยพยายามให้ทุกคนเรียกว่า อาจารย์มิว 55555555555 จะได้แยกกันออก
  • ได้มีโอกาสใช้ iPad ในการ present กับโปรแกรม Keynote ค่ะ มันจะไฮไลท์ระหว่าง present ได้ แต่รู้สึกว่าหลุดบ่อยมากกกกกกกกกก สร้างความน่ารำคาญเหมือนกัน

สรุป

อันที่จริงเราว่าสิ่งที่หนักสุดของการสอนครั้งนี้คือการพูดคนเดียวนี่แหล่ะ เราเองอ่ะไม่ใช่อาจารย์ที่สอนเป็นปกติอยู่แล้ว ดังนั้นเราจะต้องเตรียมการสอนและเตรียมร่างกายให้ดี บางครั้งเราก็เผลอตะเบ็งเสียง (ที่ไม่รู้ว่าจะตะเบ็งทำไม ไมค์อยู่ที่ปาก 555555555)
พอสอนจบเสียงก็แหบอีก ตลกตัวเองมาก
แถมยังสอนดึกอีก เราเลยคิดทบทวนกับตัวเอง จะทำยังไงให้มันกระชับดี เพราะทุกคนต่างมีภารกิจในแต่ละวันมา และต้องมาเรียนอีก
เราซ้อมพูดเยอะมาก โดยเฉพาะครั้งแรก เราซ้อมพูด lecture 5 ครั้งเต็มๆด้วยกัน ถึงกับลากเพื่อนมาสอนด้วยนะ (จริงจังสุดๆ)
และพบว่า พอเข้า workshop ก็จะเริ่มสบายขึ้นหน่อยละ เพราะได้เล่าหลายๆอย่างไปแล้ว ศัพท์บางอย่างก็จะพูดแบบสบายๆมากขึ้น (นักเรียนเริ่มมีพื้นฐาน)

ส่วนตัวแล้วการสอนครั้งนี้เป็นการสอนที่เบสิคมากๆ เพราะปูพื้นฐานผู้เรียนที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนเลย เราเชื่อว่าในทุกการสอนมันจะทำให้เราเก่งขึ้นยิ่งไปอีก และเป็นการก้าวข้ามคำถามที่ถามตัวเองว่าตัวเองทำเว็บไซต์เป็นไหม ถ้าเป็น ก็ต้องเป็นชนิดที่ว่าเล่าตัวเองให้เข้าใจและสอนคนอื่นให้เข้าใจด้วยได้

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกคนไม่มากก็น้อยนะคะ

--

--

Burasakorn Sabyeying
Mils’ Blog

Data engineer at CJ Express. GDE in Cloud. Women Techmakers Ambassador. Co-lead GDG Cloud Bangkok. Other channel > Mesodiar.com