ความคิดคือฉัน?

samphan r.
Modern Buddhism
Published in
1 min readNov 1, 2016

เรามักจะรู้สึกว่า ”ความคิด” เป็นของเรา หรือขนาดว่าความคิดคือตัวเรา ไม่ว่าเราจะเชื่อว่าจิตเป็นต่างหากจากร่างกาย (dualism) หรือจิตเป็นแค่กระบวนการของร่างกาย (physicalism)

แต่ในพุทธธรรมไม่ได้เป็นแบบนั้น

เอาแค่ในทฤษฎีจิตวิทยาสมัยใหม่ก็เริ่มไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว อย่างจิตบำบัด CBT อยู่บนประเด็นว่ามนุษย์มี automatic thought คือความคิดที่เราไม่ได้เจตนา เกิดขึ้นตลอดเวลา และเป็นสาเหตุที่ทำให้เราทุกข์ (ฟังดูเหมือนพุทธธรรมเลย) แล้วเป้าหมายของ CBT คือเปลี่ยน (reprogram ไม่ใช่กำจัด) automatic thought ที่ร้ายๆ

ซึ่งต่างจากเป้าหมายของพุทธ ที่สุดท้ายแล้วคือกำจัด automatic thought เหลือ 0 ก็จะหมดความทุกข์ คือนิพพาน

ผมเพิ่งเข้าคอร์สเจริญสติเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน เลยได้เห็นว่าเวลามีสติมากพอ ก็จะเห็น automatic thought นี่ได้เหมือนความคิดที่ตั้งใจ

สติมาก?

สติคนก็มีมากน้อย เหมือนคุณสมบัติอื่นๆของมนุษย์ เช่นความแข็งแรงของแขนขา, สายตา หรือความอดทนต่อความร้อนหนาว และมันก็ฝึกได้โดยการทำบ่อยๆเหมือนทักษะอื่นๆ

เมื่อมีสติมากพอก็จะเห็น automatic thought แล้วมันก็จะหมดพิษสงไปเอง เสียดายแค่ออกมาจากห้องฝึก สติระดับนั้นก็จะหายไปแล้ว คือมันต้องประคองเอาไว้อย่างดีมากๆถึงจะเอาอยู่ พอจ.มหาดิเรกบอกว่า เมื่อฝึกมากพอถึงจุดนึงแล้วสติจะอยู่ด้วยตัวมันเอง เหมือนคนที่ขับรถเป็นแล้วก็จะไม่ต้องพยายามขับแล้ว พวกเราที่ปฏิบัติธรรมเจริญสติก็เพื่อไปให้ถึงจุดนั้น (สาธุ)

ความคิดคือ?

ความที่ผมเป็นคนไอทีก็เลยนึกภาพโมเดลการทำงานของความคิดขึ้นมา นึกภาพเวลาเราขับรถ ความจริงเราเจตนาอะไรน้อยมาก (เช่นแค่ เข้าเลนนี้ เลี้ยวซ้าย ระวังคันขวา…) การเคลื่อนไหวร่างกายเต็มไปหมดของเราควบคุมโดยออโต้ไพลอต ซึ่งเอาโปรแกรมมาจาก muscle memory ที่มาจากการหัดขับรถและประสบการณ์

เรานึกว่ามือเท้าเป็นของเราเพราะเราสั่งมันได้ แต่เอาเข้าจริงๆ มันใช้เวลาส่วนใหญ่เคลื่อนไหวไปเองโดยที่เราไม่ได้เจตนาสั่ง มีออโต้ไพลอตขับเคลื่อนให้อีกที บางทีออโต้ไพลอตเสีย (ชั่วคราวหรือถาวร) มือเท้าก็อาจจะหยุดทำงาน (เหน็บหรืออัมพาต) ตอนนั้นเรารู้สึกเหมือนมันเป็นก้อนเนื้อก้อนนึงที่ติดอยู่กับเราแค่นั้น (ตาสว่าง)

ความคิดก็เช่นเดียวกัน เรามีออโต้ไพลอตควบคุมความคิดให้ เราไม่ได้เจตนาคิดตลอดเวลา นี่ทำให้เกิด automatic thought ตาม CBT ส่วนเวลาเราเจตนาคิด เราก็เจตนากว้างๆเท่านั้น (เหมือนขับรถ) ส่วนรายละเอียดของความคิดแต่ละท่อน ออโต้ไพลอตมันไปจัดการเอง เหมือนขับรถ

ดังนั้น “ความคิดไม่ใช่เรา”

ไม่เชื่อตอนนี้คุณลองห้ามตัวเองไม่ให้คิดถึงสีน้ำเงินซิ ทำได้ไหม… นึกดูมือเท้าเรายังพอบังคับได้นะ แต่ความคิดเราบังคับได้น้อยมาก ได้แค่เจตนากว้างๆ อย่างจะคิดเรื่องงาน เสร็จแล้วมันจะอยู่เรื่องงานตลอดไหม เพลงเข้ามาในหัว เอาออกได้ไหม เกลียดใครสักคนก็ดันคิดถึงเขาอยู่นั่นแหละ เลิกได้ไหม

มีบางทีที่ออโต้ไพลอตเสีย เช่นความกังวล เศร้า โกรธ หรืออาการทางจิตเวช อย่างดีเพรส, แมเนีย, ไซโคซิส หรือแพนิค คราวนี้เหมือนเราจะคุมความคิดไม่ได้เลย ตอนนั้นถ้าเรายังคิดว่า “ฉันคือความคิด” ก็จะเชื่อทุกอย่างที่คิด แล้วเจ็บปวดมาก (been there) ดังนั้นความเข้าใจว่า “ความคิดไม่ใช่ฉัน” จึงมีประโยชน์มากสำหรับผู้ป่วยจิตเวช แล้วก็เป็นกุญแจในจิตบำบัดที่พัฒนาต่อจาก CBT คือ ACT ซึ่งจะมีการฝึกไม่ให้ราคาความคิด (เข้าใกล้พุทธธรรมเข้าไปอีก)

ความคิดเกิดจากสมอง

ผมว่า ในลักษณะเดียวกับที่มือเท้าคือกล้ามเนื้อที่สั่งโดยเส้นประสาท ความคิดก็คือการทำงานของสมอง (อย่างที่ physicalism เชื่อ) เท่านั้นเอง มันเหมือน “เรา” มี biological computer ไว้ประมวลผลจากสัมผัสทั้งห้าและความคิด เวลาที่เราสั่งมันทำงาน (เช่นกด Ctrl+V) มันก็รันคำสั่งอันนั้นไป แต่ก็มี background task ทำงานสลับไปด้วย แล้วเวลาที่เราไม่สั่ง มันก็ยังทำงาน background task อยู่ตลอดเวลา

สมองมีประโยชน์ ไม่งั้นเราคงสั่งงานแขนขาและคิดอะไรไม่ได้ แต่ background task ต่างหากที่ทำให้เกิดปัญหา ใน CBT/ACT เราจะเปลี่ยนให้เหลือแต่ background task ที่มีประโยชน์ ซึ่งแน่นอนเป็นไปไม่ได้ที่จะ 100% ในพุทธธรรม เราเลยฝึกสติเพื่อเลิกมี background task และจะใช้สมองคิดก็ต่อเมื่อเจตนาเท่านั้น นอกนั้นก็รับรู้เฉยๆ ซึ่งจะทำได้ก็ต้องมีสติมากพอ อย่างนี้ก็จะไม่มีความทุกข์เลย

และนั่นคือสาเหตุว่าทำไมเราชาวพุทธถึงปฏิบัติธรรม

--

--