ฝึกเอาสมาธิกับฝึกเอาสติต่างกันยังไง

samphan r.
Modern Buddhism
Published in
2 min readOct 18, 2017
ซุ้มไทร ลานเดินจงกรมที่ครุสติสถาน

ผมเพิ่งกลับมาจากคอร์สเจริญสติเลยจะบันทึกความเข้าใจไว้สักหน่อย อนึ่ง เวลาเขียนเรื่องธรรมะ ก็ไม่ใช่ว่าผมจะรู้เรื่องธรรมะเยอะ แต่คือผมชอบเล่าแค่นั้น ดังนั้น *คำเตือน* ห้ามนำไปใช้ตัดสินใจในทางจิตวิญญาณ

* นิยามคำว่าสติก่อน

คำว่า “สติ” ในภาษาไทยจะไม่เหมือนที่ใช้ในพุทธธรรม คำว่าสติในภาษาไทยหมายถึงรู้ตัวอยู่ ตรงข้ามกับสลบ ส่วนสติในพุทธธรรมหมายถึงการอยู่กับปัจจุบัน “อยู่ตรงนี้” รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในกายใจเฉยๆ ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร ตรงข้ามกับสภาพแบบใจลอย ฝันกลางวัน โหยหาอะไรในอดีตหรืออนาคต กังวล ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด เบื่อหน่าย หมดพลัง ลังเลตัดสินใจไม่ได้ ฯลฯ

เนื่องจากความกำกวมนี้ บางทีเราจะใช้คำว่า “ความรู้สึกตัว” แทน คำนี้หลวงพ่อเทียนใช้แทนคำบาลีคือ “สติสัมปชัญญะ” ซึ่งแปลเป็นไทยตามตำราและฟังไม่เข้าใจอยู่ดีคือ สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อม

* รูปแบบ vs ผลลัพธ์

บทความนี้กำลังพูดถึงรูปแบบการฝึก เพราะกระบวนการฝึกก็ไม่ต่างกัน นั่งสมาธิดูลมจะเอาสมาธิหรือสติก็ได้ นั่งเคลื่อนไหวมือจะเอาสติหรือสมาธิก็ได้ ต่างกันที่วางใจอย่างไร

* สมาธิ vs สติ

บทความนี้ไม่ได้เปรียบเทียบเรื่องผล เพราะทั้งสติและสมาธิก็จำเป็นทั้งคู่ มีสมาธิทำให้โฟกัสอย่างเดียวได้ทันที และทำให้ได้ความสุขที่ยิ่งกว่าความสุขจากวัตถุ มีสติทำให้จัดการ “ความคิดและความรู้สึก” ยามที่เราใช้ชีวิตประจำวันหรือเผชิญวิกฤติได้ เวลาทำงานเราต้องใช้สมาธิ แต่งานก็จะต้องมีอุปสรรคและความล้มเหลว สติทำให้เราไม่เครียดกับปัญหาเหล่านั้น มันทำให้เราเอาชนะความทุกข์ได้

สมาธิเป็นศาสตร์โบราณของศาสนาพราหมณ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะได้เรียนรู้จนชำนาญ ส่วนความจริงว่า “การรักษาความรู้สึกตัวต่อเนื่องเป็นทางเดียวที่จะเอาชนะความทุกข์” เป็นการค้นพบของพระพุทธเจ้าในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะเมื่อสองพันกว่าปีก่อน

* ฝึกเอาสมาธิ (concentration meditation)

เราฝึกเอาสมาธิ โดยการเพ่งอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่นลมหายใจ หรือวัตถุ หรือการเคลื่อนไหวของท้อง หรือมือที่กำลังเคลื่อนไหว หรือเท้าที่กำลังเดินก็ได้ แต่ต้องรู้แค่อย่างเดียว ถ้ากลัวใจมันจะคิดก็เพิ่มเสียงบริกรรมในหัวเข้าไปอีกอย่าง ถ้ากลัวว่าเห็นอะไรแล้วใจมันจะคิดก็หลับตา แต่บางแนวทาง (เช่นท่านพุทธทาส) ก็ไม่ได้ให้บริกรรม และจะลืมตาก็ได้

เป้าหมายที่เราตั้งใจคือ พาใจไปให้ถึง “ความสงบ” หยุดความคิดให้ได้ แล้วสมาธิก็จะพัฒนาลึกขึ้นไป พอได้สมาธิชั้นสูง แล้วนักปฏิบัติก็จะนำกำลังสมาธิไปเรียนรู้จิตใจจนเอาชนะความทุกข์ได้

แต่ชาวบ้านที่ต้องทำงานเลี้ยงครอบครัวจะลำบากที่จะได้สมาธิชั้นสูง เพราะมีเรื่องให้เครียดได้ทุกวัน ไม่เหมือนพระป่าที่ฝึกกันไม่กี่ปีก็ทำได้แล้ว เพราะท่านอยู่ในป่า และทำอย่างนี้อย่างเดียวทุกวันเกือบทั้งวัน

* ฝึกเอาสติ (mindfulness meditation)

การฝึกเพื่อเอาสติ วิธีการดูภายนอกอาจจะไม่ต่างจากฝึกเอาสมาธิเลยก็ได้ แต่เนื่องจากเป็นการฝึกเพื่อนำสติไปใช้ในชีวิตประจำวัน แนวทางหลวงพ่อเทียนจึงมีรูปแบบที่เหมือนชีวิตปกติ ลืมตา และไม่ได้บริกรรมอะไรอยู่ในใจ เพราะถ้าทำสองอย่างนี้ก็คงทำงานไม่ได้ แค่ออกจากห้องก็ไม่ได้แล้ว

แนวทางหลวงพ่อเทียนยังให้เคลื่อนไหวตลอดเวลา มีแพทเทิร์นในการเคลื่อนมือเวลานั่ง ความเคลื่อนไหวนั้นหยาบมาก เลยดูง่ายกว่าดูลมหายใจที่จมูกหรือท้อง การไม่หลับตาทำให้ไม่หลับง่าย และเปิดโอกาสให้สิ่งที่เราเห็นเข้ามาในใจได้ตามปกติ การไม่บริกรรมหรือนับ ทำให้เราได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในใจโดยตรง และเปิดโอกาสให้เราเผลอคิดได้ตามปกติ

เป้าหมายที่เราตั้งใจคือ “รับรู้ความรู้สึกตัวเฉยๆ” (ไม่ใช่มือเท้า) ไม่ได้ต้องการสภาวะไหน ไม่ได้ต้องการให้มันหยุดคิด จะสงบหรือจะเผลอคิดก็ไม่ใช่ประเด็น ที่สำคัญคือ “คิดก็รู้ เผลอก็รู้” ทำไมต้องสนใจดูความคิดด้วยสติ (แทนที่จะกำจัดมันด้วยสมาธิ) เพราะความทุกข์ใจมาจากความลักคิด (ที่เกิดเอง ไม่ได้เจตนาคิด) เสมอ

เวลาฝึกสติ ทุกครั้งที่เราเผลอแล้วรู้เราก็จะได้ความเข้าใจการทำงานของความคิด ทำไปก็จะเริ่มรู้สึกว่าเราไม่ต้องให้ราคามันก็ได้ เพราะมันทำงานของมันเองตลอดเวลา เราควบคุมมันไม่ได้เลย แล้วเราจะไปรับผิดชอบหรือซีเรียสกับเนื้อหาของมันทำไม

ระหว่างที่ฝึกสติเราจะไม่ได้เพ่งโฟกัสไปที่มือ เท้า ลมหายใจ ฯลฯ ถ้าทำแบบนั้นโลกจะเหลือแต่มือหรือเท้าหรือลม ฝึกสติคือการรู้ตัวเฉยๆ ไม่ได้ดูมือเท้าหรือลม ขณะนั้นมีอะไรเกิดขึ้นจะภาพ เสียง ความรู้สึก ฯลฯ เราก็จะรับรู้หมด ฟังคนพูดได้ สนทนาได้ และอาจารย์ก็มักจะสอนหรือคุยด้วย (สอบ) ขณะที่กำลังปฏิบัติอยู่ เพื่อเราจะได้ไม่เพ่งไปที่เดียว (ซึ่งจะทำให้ได้สมาธิ)

พอทำเป็นแล้ว เราก็ใช้ชีวิตแบบนั้นไปตลอดทั้งวัน จะเดินทาง ขับรถ ทำงาน กิน เที่ยว พักผ่อน ฯลฯ ก็ “รู้บ้าง เผลอบ้าง” ไม่เลิก ประคองความรู้สึกตัวไปตลอด มันจะค่อยๆติดเป็นนิสัย จนใจรู้ตัวเองได้โดยเราไม่ต้องประคอง แล้วความทุกข์ก็จะหายไปถาวรส่วนนึง จนความรู้สึกตัวกลายเป็นสันดาน ใจรู้ตัวเองตลอดเวลาไม่เผลอเลย ความทุกข์ก็จะหายไปหมดอย่างถาวร

* ประโยชน์ของการมีความรู้สึกตัวมากๆ

แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องรอจนความรู้สึกตัวเป็นนิสัย แล้วถึงจะได้ผลจากการฝึกสติ แค่กลับจากคอร์สก็จะเห็นว่าตัวเองใจเย็นมาก อะไรเกิดขึ้นมีเวลาเหลือเฟือที่จะคิดก่อนโต้ตอบทางกายวาจาหรือใจ สภาพแบบนั้นจะหายไปในไม่กี่วัน ถ้าไม่รักษาไว้ ดังนั้นคนที่ชอบตัวเองแบบนั้น ก็จะประคองมันไว้โดยการ “รู้บ้าง เผลอบ้าง” ไม่เลิก และจัดเวลาฝึกในรูปแบบ (เหมือนในคอร์ส) ทุกวัน

ประโยชน์ของการฝึกสติความรู้สึกตัว คือเวลาเจอเรื่องที่ไม่เป็นตามต้องการ แล้วเราจะจัดการความคิดได้ ไม่ต้องคิดวนเวียนอยู่ตรงนั้นเป็นนาที หรือชั่วโมง วัน ปี สมมุติโดนรถขับปาดหน้าก็โมโหไม่กี่วินาทีก็พอ เพราะนานกว่านั้นก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร เอาใจไปขับรถต่อไปดีกว่า

* สรุป

ตะวันตกกำลังเห่อการฝึกความรู้สึกตัว (mindfulness) กันมาก แม้ในระดับองค์กร (เช่นกูเกิ้ล) ก็เริ่มมีศูนย์ให้พนักงานฝึก แต่บ้านเราจะสอนให้เด็กๆฝึกสมาธิกัน ซึ่งฝึกในโรงเรียนแบบนั้นจะไม่ได้ทั้งสติและสมาธิ แต่จะได้เด็กที่เกลียดวิชาพุทธศาสนาแทน ดังที่ได้เห็นในคนรุ่นใหม่ยุคนี้ จะชวนมาฝึกสติก็ยากแล้ว เพราะนึกภาพโดนบังคับให้นั่งนิ่งๆตอนเด็กๆ

แต่ถ้าเบื่อความเครียดและความทุกข์ชนิดต่างๆ ก็ไม่มีวิธีอื่นที่จะเอาชนะมัน

--

--