พุทธพจน์ที่สรุปความเป็นพุทธศาสนิกชน

samphan r.
Modern Buddhism
Published in
1 min readOct 20, 2016

มนุษย์เป็นอันมากแล ถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขา ป่า อารามและรุกขเจดีย์ว่า เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งนั้นแลไม่เกษม ที่พึ่งนั้นไม่อุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง

ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อันให้ถึงความสงบระงับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ ที่พึ่งนั้นแลเป็นที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งนั้นอุดม

เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้นย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔

เป็นพุทธพจนที่ผมชอบพูดถึงบ่อย เพราะสรุปความเป็นพุทธศาสนิกชนได้กระชับตรงไปตรงมา

  • ย่อหน้าแรกบอกเราว่าการพึ่ง (ขอ) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (รวมทั้งวัด เจดีย์ พระพุทธรูป เทวรูป เทพเจ้า เทวดา ผี ต้นไม้ ฯลฯ) นั้นไม่ทำให้พ้นทุกข์ (ปัญหาชีวิต) ได้
  • ย่อหน้าสองคือสาระสำคัญของการเป็นพุทธศาสนิกชน คือถือ (เฉพาะ) พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง (ไม่พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์)
  • ย่อหน้าที่เหลือบอกผลของการถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

ไม่ใช่ว่าพระรัตนตรัยจะให้อะไรให้เราได้สมดังปรารถนา แต่พระพุทธ (ครูคนแรก) พระธรรม (ความรู้เกี่ยวกับตัวเอง) และพระสงฆ์ (ครูคนปัจจุบัน) จะช่วยให้เราผู้โง่เขลาได้รู้จักธาตุแท้ของความทุกข์ สาเหตุจริงๆของมัน แล้วรู้ว่าสภาพที่ไม่มีทุกข์ก็เป็นไปได้ และจะพัฒนาตัวเองไปถึงจุดนั้นอย่างไร

คำว่ารู้จักในที่นี้คือแบบที่เรียกว่า “เห็น” ด้วยตัวเอง เหมือนได้ไปเห็นปารีสด้วยตัวเอง ไม่ใช่ท่องจากตำราหรือวิเคราะห์ด้วยตรรกะ (ซึ่งจะไม่ช่วยอะไรเลย)

เมื่อเริ่มเห็นความจริงเกี่ยวกับตัวเอง เลิกทะเลาะกับความจริง เราก็จะเริ่มมีความทุกข์น้อยลงๆ จนเมื่อเห็นความจริงกระจ่างแจ้ง เราก็จะถึงเป้าหมาย คือไม่มีความทุกข์อีกเลย จะแก่ เจ็บ ตาย จะซวย สูญเสีย ล้มเหลว ก็มีแต่ความสบาย เป็นอะไรที่ทุกๆคนน่าจะชอบ แต่อาจจะเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้

แต่สาระของการเป็นพุทธศาสนิกชน ก็คือเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบ คือเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองไปถึงจุดนั้นได้ คำว่าเชื่อนั้นต่างจากรู้ คำว่าเชื่อคือไม่รู้หรอกว่ามันจริงหรือเปล่า แต่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ด้วยความที่เชื่อใจท่านก็เลยทดลองทำดู ถ้าไม่ได้ผลจริงๆก็เลิก

นั่นคือการเดินทางของพวกเรา พุทธศาสนิกชน

--

--