ศาสนาพุทธไทย คือศาสนาผี ปนพราหมณ์ เจือศัพท์พุทธธรรม

samphan r.
Modern Buddhism
Published in
Apr 1, 2018

นักประวัติศาสตร์อย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่า ศาสนาพุทธของเรา (ท่านเรียกว่า “ศาสนาไทย”) เป็นศาสนาผี ปนพราหมณ์ ในส่วนที่ไม่ขัดกับศาสนาผี แล้วเจือด้วยพุทธ ในส่วนที่ไม่ขัดกับสองศาสนาแรก

ศาสนาผี ชื่อฟังดูไม่ค่อยดี แต่มันหมายถึงศาสนาพื้นบ้านของสุวรรณภูมิ อันเป็นศาสนาแบบ Animism (มีวิญญาณในทุกสิ่ง) ซึ่งคนแถวนี้นับถืออยู่ ก่อนรับศาสนาพราหมณ์เข้ามาสมัยขอมเป็นใหญ่ แล้วภายหลังค่อยรับพุทธเถรวาทเข้ามาก่อนยุคสุโขทัย ลำดับความเข้มข้นของความเชื่อจึงเรียงแบบนี้

ผี > พราหมณ์ > พุทธ

คำอธิบายนี้ คนที่ไม่ได้สนใจศาสนาเปรียบเทียบอาจจะนึกภาพไม่ออก ผมเลยทำตารางมาให้ดูตัวอย่างว่า 4 ศาสนานี้มีความเชื่อต่างกันอย่างไร ในประเด็นสำคัญๆ เนื่องจากเราเกิดมาในยุคที่ทุกอย่างผสมกันสำเร็จพร้อมเชื่อแล้ว การแยกแยะที่มาแบบนี้ จะช่วยให้เราทำความเข้าใจได้ว่า ความเชื่อของตัวเราเอง ส่วนไหนมาจากศาสนาอะไร

ผีร้ายซึ่งมีอำนาจมาก

ปรากฏการณ์หนึ่งที่มาจากศาสนาผี และไม่มีในศาสนาใดๆ คือผีแบบไทย ผีของเราจะมีปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เช่นกระสือนอกจากจะมีในลาว เขมรแล้ว ยังมีในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ด้วย ผีของเรามาจากนิทานพื้นบ้านซึ่งเล่ากันมาปากต่อปาก แต่ละท้องถิ่นต่างกันเล็กน้อย จนเมื่อถูกทำเป็นหนังจึงเกิดนิยามชัดเจนขึ้นมา

ในศาสนาต่างๆไม่มีผีแบบนี้ คือผีที่เกิดมาจากคนตาย แต่กลับมีอำนาจเหนือธรรมชาติ

เพราะทุกศาสนาจะอธิบายชีวิตหลังความตายไว้ชัดเจนดีอยู่แล้ว (ช่วงฟื้นฟูอิสลามของมาเลเซียถึงกับห้ามทำหนังผีพื้นบ้าน) ความเชื่อเรื่องผีในประเทศต่างๆจึงมาจากนิทานพื้นบ้านของประเทศนั้นๆ ผีแบบเราจึงเหมือนกับผีของเพื่อนบ้านมาก แต่รายละเอียดจะต่างไป ตามความห่างไกลของประเทศนั้นๆ

ในทางกลับกัน จะสังเกตหนังผีตะวันตกส่วนมากจะเป็นปีศาจที่เก่าแก่ ไม่ใช่ผีคนตายเสมอไป ในขณะที่มุมมองพราหมณ์และพุทธ ผีเช่นเปรต เป็นสัตว์อีกภพภูมิหนึ่ง ซึ่งเรามองไม่เห็น และไม่ได้มีอำนาจอะไร ไม่มีผีคนตายที่สามารถฆ่าคนได้อย่างในหนังไทย หรือผีอย่างเจ้ากรรมนายเวร ซึ่งเป็นทั้งผีคนตายผสมกฎแห่งกรรม ซึ่งมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ทำให้เราโชคร้าย ป่วยร้ายแรง หรือฆ่าเราได้

ทำไมต้องสนใจที่มาของความเชื่อเหล่านี้? มันน่าสนใจเพราะ

มันเป็นอัตลักษณ์ของเรา

มันอยู่ในหัวของเราทุกคน เราจึงควรเข้าใจมัน เพื่อเข้าใจตัวเราเอง

ตารางข้างบนไม่ใช่บอกว่าความเชื่อส่วนไหนดีหรือไม่ดี เพราะทุกส่วนคืออัตลักษณ์ของคนไทย เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมไทย มันแทรกซึมอยู่ในทุกวิธีคิดของเรา ตารางนี้เป็นการอภิปรายเพื่อคิดวิเคราะห์แยกแยะ ทำความเข้าใจความเป็นมาของแต่ละส่วนอย่างตรงไปตรงมา.

--

--