ศีลธรรมในพุทธไม่ได้เป็นไม้บรรทัดตัดสินอะไรถูกผิดจากเบื้องบน

samphan r.
Modern Buddhism
Published in
Jul 13, 2022

เป็นอีกประเด็นที่หลักสูตรสอนให้เด็กๆเข้าใจผิดกันหมด คนไทยพุทธเลยมักจะเข้าใจศีลธรรมประมาณว่าเป็นกฎเหนือธรรมชาติที่กำหนดว่าอะไรถูกผิด เป็นบุญเป็นบาป เพื่อฟ้าดินจะให้คุณให้โทษตามกฎนั้น

แต่จริงๆพุทธธรรม (คือที่พระพุทธเจ้าสอน) เป็นเรื่องการดูแลชีวิตจิตใจเราเองล้วนๆ ไม่ได้มีเรื่องพระเจ้า พรหมลิขิต หรือฟ้าดินอะไร ศีลธรรมของเราจึงไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ กำหนดมาจากเบื้องบนอย่างนั้น

ศีลธรรมในพุทธเป็นเรื่องทางเลือกตัดสินใจของเรา จะทำหรือไม่ทำอะไร ให้เราสนใจว่าการกระทำ (aka กรรม) อันนี้จะมีผลต่อเรายังไง ทั้งชีวิตภายนอกและภายในจิตใจ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ถ้ามันมีผลดีทำให้สบายใจสงบเย็นก็เรียกว่าดี เป็นบุญ เป็นกุศล ถ้ามัน(จะ)ทำให้เดือดร้อนใจ(ในที่สุด)ก็เรียกว่าเลว เป็นบาป เป็นอกุศล

เราทำอะไรแม้ได้ประโยชน์แต่ถ้าเสียคุณภาพจิต เสียความเคารพตัวเอง ต้องปกปิดเพราะน่าอับอาย มีผลเสียในระยะยาว อย่างนี้ก็เรียกว่าผิดบาปอกุศล มันมีผลเสียทั้งแต่วินาทีที่ทำแล้ว ไม่ต้องสนใจว่าศีลข้อนั้นข้อนี้ขีดเส้นตัดสินไว้ยังไง ดูใจตัวเองตอนทำก็ตัดสินกระทำของตัวเองได้ทันที

พอดีเจอ พอจ.ชยสาโรอธิบายประเด็นนี้ไว ้เข้าใจง่ายมากๆเลย

ถ้าเราพูดแบบนินทาลับหลัง ดูจิตใจก่อน(พูด) จิตใจหลัง(พูด) มันเปลี่ยนไปไหม

หลายครั้งถ้าเราพูดแล้ว จะสังเกตว่าจิตใจมันหยาบลง มันขุ่นมัว มันสกปรก มันรู้สึกเหมือนมันเปื้อน เหมือนผ้าถ้าเราไปหกล้ม ผ้ามันเปื้อน มันยังใช้ได้อยู่ แต่ว่ามันดูไม่งาม ถ้าเราพูดในทางโกหกบ้าง นินทาใส่ร้ายบ้าง พอพูดไปแล้วถ้าเราสังเกตดู เห็นเมื่อจิตใจหยาบลง

ทีนี้ถ้าเราพูดอะไรแล้วจิตใจเราหยาบลง ทางพุทธศาสนาเรียกว่าเบียดเบียนตัวเอง

คือคำพูดก็เบียดเบียนคนอื่นอยู่แล้ว แต่ว่าพร้อมกับการเบียดเบียนคนอื่น ก็เบียดเบียนตัวเอง ก็ทำให้คุณภาพจิตของตัวเองลดน้อยลง สุขภาพจิตลดน้อยลง

คือบางครั้งเราพูดหรือทำอะไรบางอย่าง มีกำไรไหม? ได้กำไร กำไรก็คือความรู้สึกสะใจ แต่ความสะใจนี้มันอายุสั้นมาก แป๊บเดียวก็หาย แต่ความรู้สึกเศร้าหมอง ความรู้สึกอายที่พูดอย่างนั้น แล้วรู้สึกจิตมันเปื้อน มันอยู่ได้นานกว่านั้น

ดังนั้นถ้าเราเทียบสิ่งที่ได้เป็นกำไร คือความรู้สึกสุขสะใจชั่วแวบ กับความรู้สึกไม่ดีอยู่ในใจชั่วยาว ก็ถือว่าไม่คุ้มค่า ไม่พูดดีกว่า

อันนี้ก็คือฐานที่ตั้งของศีลธรรมในพุทธศาสนา

ไม่ใช่เรื่องข้อห้าม ไม่มีใครห้ามหรอก แต่มันเกิดจากการสังเกตว่าการกระทำมีผลต่อจิตใจเราอย่างไรบ้าง และก็มีผลต่อความเป็นอยู่ในชุมชนด้วย

ข้อสังเกตในชุมชนง่ายๆก็คือ ถ้าเรามีความเคารพซึ่งกันและกัน มันจะสบายกว่าการไม่เคารพซึ่งกันและกัน ถ้ามีการให้อภัยกัน มันมีความสุขความสบายยิ่งกว่าไม่ให้อภัยซึ่งกันและกัน ถ้าเรายอมรับในความหลากหลายของสมาชิกของชุมชนทุกคน มันรู้สึกดีกว่าการที่ชอบว่าคนหรือล้อเลียนคนที่ไม่เหมือนกัน
— รู้ทันอนิจจัง โดย พระอาจารย์ชยสาโร — https://youtu.be/XGcmGNGB5CE?t=801

--

--