สรุปว่าฝึกสติต่างจากฝึกสมาธิยังไง แล้วทำไมต้องฝึกสติ

samphan r.
Modern Buddhism
Published in
2 min readAug 26, 2022

ถ้าดูข้างนอกก็ทำเหมือนกันทุกอย่างจะนั่งหรือเดินแล้วแต่ ต่างที่ข้างในวางใจยังไง กับต่างที่เป้าหมายด้วย

— วางใจต่างกัน

เวลาฝึกสมาธิ (concentration meditation/สมถภาวนา)† เราสนใจความรู้สึกเดียว จะลมหายใจ คำบริกรรม หรือความเคลื่อนไหวแล้วแต่ เพ่งอย่างเดียวนั้นไว้เพื่อไม่ให้ใจคิด เวลานั้น “ทำ” แค่นี้อย่างเดียว

เวลาฝึกสติ (mindfulness meditation/วิปัสสนาภาวนา) เราแค่สนใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นบ้างในกายใจ เรา “ไม่ทำอะไรเลย” ไม่เจตนาคิด ไม่ห้ามความคิด ไม่แม้แต่เฝ้าดูความคิด แค่เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหว ความรู้สึก ความคิด ความอยาก ฯลฯ โดยไม่แทรกแซง ไม่ห้าม ไม่บ่นตัดสิน ไม่ทะเลาะขับไล่ ไม่เพลินหลงไหล ไม่อินเข้าไป

มันเหมือนนักวิทยาศาสตร์ทำ observational study มันเหมือนนักสัตววิทยาซ่อนกล้องสังเกตสัตว์ป่าในธรรมชาติ เพื่อไม่ให้พฤติกรรมมันต่างจากชีวิตปกติของมัน เพื่อได้เห็นธรรมชาติจริงๆ

— เป้าหมายต่างกัน

เป้าหมาย คือเจตนาตั้งแต่เริ่มก็ต่างกันคนละทาง ฝึกสมาธิก็อย่างที่รู้กันคือเราทำด้วยเจตนาเพื่อให้ใจสงบ ไม่คิดอะไร ฝึกสมาธิเป็นการทำเพื่อให้ใจอยู่นิ่งๆสักพักนึง มันได้ “พักผ่อน” สบายๆบ้าง

ส่วนฝึกสตินั้นเจตนาเพื่อทำความคุ้นเคยกับความรู้สึกตัวไปทีละนิด มันจะได้ติดตัวไปรู้สึกตัวในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น (ใจลอยน้อยลง) แล้วก็ได้เรียนรู้ไปด้วยว่าใจมันทำงานยังไง เช่นคิดอย่างนี้ทำให้เกิดความรู้สึกยังไง อะไรทำให้คิดอย่างนี้ ตอนรู้สึกตัวใจเป็นปกติยังไง ตอนไม่รู้สึกตัวใจไม่ปกติยังไง ฯลฯ

เจตนาต่างนี้มีผลมากที่สุด เหมือนเราอยู่กรุงเทพฯจะขับรถไปเที่ยว บางครั้งจะไปเชียงใหม่ บางครั้งจะไปขอนแก่น ตอนออกรถในหัวเราจะมีเจตนาอยู่ว่าจะไปเชียงใหม่หรือขอนแก่น แล้วก็ขับรถไป ถึงทุกแยกก็ตัดสินใจไปตามนั้น

สุดท้ายก็จะไปถึงปลายทาง อันที่ตั้งใจเลือกแต่แรกว่าเชียงใหม่หรือขอนแก่น ทั้งที่เราก็ขับรถหลายชั่วโมงเหมือนกัน แต่ที่ไปถึงปลายทางคนละที่นั้น เกิดจากเจตนาในแต่ละขณะที่ขับรถไป

— ฝึกสมาธิ vs ฝึกสติก็ต่างกันทำนองนี้

ฝึกสมาธิคือ “ทำ” ให้ใจได้อยู่นิ่งๆพักผ่อน เหมือนเหนื่อยนักก็ไปเที่ยวทะเลภูเขา สบายใจสดชื่น ได้พลังใจกลับมา

ฝึกสติคือ “เรียนรู้” ที่จะเปิดไฟฉาย (ความรู้สึกตัว) ให้ใจสามารถเห็นว่าข้างในมีอะไรบ้าง พอเปิดไฟนี้เป็นและพกไฟฉายนี้ติดตัว เราจะได้ดีลกับชีวิตประจำวันเป็นมากขึ้น

เช่นอะไรที่แย่กับตัวเอง ใจมันเห็นที่มาและผลเสีย มันก็ค่อยๆลดเลิกไปเอง ซึ่งปกติเราไม่มีทางบังคับให้ใจมันเปลี่ยนแปลงได้ จะสอนก็ไม่ฟัง มีทางเดียวคือส่องไฟฉายให้มันเห็นตัวเองทำอะไรและผลเป็นยังไง มันถึงจะเชื่อ

แต่ไม่ว่าจะฝึกสมาธิและฝึกสติก็ได้ทั้งสมาธิและสติแหละ ต่างกันที่เจตนาเน้นอะไร จะฝึกสติให้ชำนาญการโฟกัสจุดเดียว เป็นสมาธิที่เงียบสงัดจากทุกสิ่ง หรือจะฝึกสติให้ตื่นรู้ว่องไว เป็นสมาธิที่ตั้งมั่นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

— ฝึกสมาธิยาก ฝึกสติง่าย

จะเห็นว่าฝึกสมาธินั้นยากกว่ามาก (แต่กลับเอาไปสอนเด็กนักเรียน) เพราะมันคือการเข้าไปเปลี่ยนแปลงทำให้ใจหยุดคิด คนที่กำลังมีปัญหาชีวิตจะทำไม่ได้เลย ต่อให้เคยทำได้จนชำนาญมาก่อน

ส่วนฝึกสตินั้นง่ายมาก เพราะก็แค่สังเกตตัวเองอย่างที่เป็น แต่ที่มันจะยาก เพราะไม่เชื่อว่าทำง่ายๆแค่นี้ (คือไม่ทำอะไรเลย) ไปเชื่อว่าจะต้องพยายามทำให้หยุดคิด คือเผลอไปฝึกเอาสมาธิแทน ก็เลยกลายเป็นเรื่องยาก

และการทิ้งความเชื่อนี้ก็ยากมากด้วย เพราะทุกคนถูกฝังมาตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นคอมมอนเซนส์

— ทำไมต้องฝึกสติ

เพราะเราได้ชีวิตนี้มาแบบงงงง ไม่มีคู่มือติดมาด้วย ทางเดียวที่จะใช้ชีวิตเป็นก็คือมีไฟฉายนี้คือสติไว้ส่องให้เห็นข้างในว่าใจมันทำงานยังไง แล้วเราก็จะได้เรียนรู้ไปตลอดทาง เพราะตามธรรมชาติ ชีวิตจะมีปัญหาและความฉิบหายเข้ามาตลอด แต่ถ้าเราใช้ชีวิตเป็น เราก็จะเดือดร้อนน้อยที่สุด

ปล. ความหมายศัพท์
หลายคำที่ภาษาไทยใช้คนละความหมายกับพุทธธรรม มาเคลียร์ความหมายที่ใช้ในบทความนี้สักหน่อย

• สติ = สัมมาสติ = mindfulness
คำว่ามีสติในภาษาไทย หมายถึงมีสติสมปฤดี (consciousness) อยู่ คือไม่ได้สลบ หลับ หรือโคม่า เช่นขับรถแล้วใจคิดเรื่องงานไปด้วย อย่างนี้คนจะไม่นับว่าไม่มีสติ ส่วนคำว่าสติในบทความนี้หมายถึงสัมมาสติในพุทธธรรม ซึ่งฝรั่ง (Jon Kabat-Zinn) บัญญัติศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า mindfulness เป็นการอยู่กับขณะปัจจุบันโดยปราศจากการตัดสิน (พอใจ/ไม่พอใจ) และไม่อินไปกันมัน (แค่สักว่ารู้) อย่างที่หลวงพ่อเทียนใช้คำง่ายๆว่า “รู้ซื่อๆ”

• ภาวนา = meditation (to engage in mental exercise) ไม่ใช่อ้อนวอนขอ
meditation คือการที่เราจัดเวลาต่างหากมาเพื่อทำงานด้านในอะไรสักอย่าง เช่นฝึกสมาธิ หรือฝึกสติ คำว่า meditation เป็นคำกลางๆ ยังไม่ได้ระบุว่าเจตนาฝึกอะไร (สติ vs สมาธิ) ดังนั้นจึงควรแปลว่า “ฝึก” “ปฏิบัติ” หรือ “ภาวนา”

• ฝึกสติ = สติภาวนา/วิปัสสนาภาวนา = mindfulness meditation
• ฝึกสมาธิ = สมถภาวนา = concentration meditation/focused meditation

มีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า mindfulness ใช้ป้องกันและบำบัดความเครียด กังวล และอาการซึมเศร้าได้ผลดี จนมีการพัฒนาเป็นแนวทางจิตบำบัดหลายแขนง เช่น MBCT, ACT, DBT และของไทยเองก็มีเรียกว่า สติบำบัด

งานวิจัยและบทความของฝรั่งเหล่านี้พอแปลไทย แล้วผู้แปลมักแปลว่า “ฝึกสมาธิ” เพราะตลอดมาเราแปล meditation ว่าทำสมาธิ แต่งานวิจัยพวกนั้นวัดจากคนที่ผ่านการฝึกสติภาวนา ไม่ใช่สมถภาวนา เมื่อผู้แปลแปล mindfulness ว่าสมาธิ คนที่มีปัญหาจิตใจก็จะพากันไปฝึกสมาธิกันแทน ซึ่งมันก็จะมีผลดี แต่เป็นผลดีคนละแบบ ไม่ใช่อย่างที่เขียนในบทความนั้น

--

--