อริยสัจ 4 ไม่ได้อยู่ที่พระไตรปิฎก

samphan r.
Modern Buddhism
Published in
Jul 26, 2021

เขียน 26 กรกฎาคม 2016 ใน Facebook

ไปเห็นว่าเด็กมัธยมอเมริกันได้เรียนพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งกว่าเด็กไทยเสียอีก ในหลักสูตรของเรา อริยสัจ 4 คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบ มันอยู่ไหน? มันอยู่ในพระไตรปิฎก

แต่เด็กอเมริกันได้เข้าใจว่าอริยสัจ 4 คือกระบวนการที่เกิดขึ้นในใจเรา ในใจของเด็กที่กำลังนั่งเรียนอยู่นั่นแหละ

ทุกข์ในอริยสัจ 4 ไม่ใช่คำอธิบายว่าทุกข์คืออะไรในตำรา ที่ต้องท่องจำเพื่อเอาไปสอบ แต่คือความทุกข์ที่เรารู้สึกอยู่ตอนนี้

คนไทยไม่เชื่อพระพุทธเจ้า

การเป็นพุทธศาสนิกชนเริ่มต้นด้วยการเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่เชื่อก็ไม่ใช่พุทธศาสนิกชน นิยามมีแค่นี้ พระพุทธเจ้าค้นพบว่าสาเหตุของความทุกข์คือ “ความอยาก” ของเราเอง ไม่ใช่เกิดจากคนอื่น

ชาวพุทธเชื่อกันไหม? หรือเชื่อว่าทุกข์เกิดคนทำร้ายเรา เกิดจากโชคชะตา หรือพรหมลิขิต หรือแรนดอมไม่มีเหตุผล

พระพุทธเจ้าบอกว่า ความทุกข์นี้ไม่จำเป็นเลย เพราะความปราศจากทุกข์มีอยู่ มนุษย์เลิกทุกข์ได้ ชาวพุทธเชื่อกันไหม? ดูเหมือนหลายคนไม่เชื่อเรื่องนี้ ไม่เชื่อว่ามีใครชนะความทุกข์ได้ หรือมองเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งๆที่ความทุกข์เข้ามาหาทุกทุกนาที เดี๋ยวโกรธนั่น ไม่พอใจนี่ เดี๋ยวอยากได้โน้นนี้ เดี๋ยวเสียใจนั่น อยากได้นี่คืนมา เดี๋ยวอยากให้คนโน้นฉิบหาย อยากให้คนนี้ชอบ ฯลฯ

คำถามสำคัญของศาสนาพุทธคือ “ความไม่ทุกข์มีอยู่ จะเอาไหม?” เท่านั้นเอง

เมื่อเริ่มเชื่อพระพุทธเจ้า

ใครที่เชื่อว่าความทุกข์เกิดจากคนอื่น ก็จะไปจัดการคนนั้น แต่เมื่อเชื่อว่าความทุกข์เกิดจากตัวเอง ทุกครั้งที่ทุกข์ก็จะอยากแก้ปัญหา เพราะเมื่อสาเหตุอยู่ที่ตัวเองก็แปลว่าจะต้องแก้ได้ ไม่ได้อับจนหนทาง ไม่ได้เอาแต่โกรธแค้น

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ความไม่ทุกข์เป็นไปได้นะ” ทำให้เรามั่นใจขึ้นมาว่า มีคนเคยทำได้แล้ว แล้วท่านก็ได้ปิดบังเก็บไว้คนเดียว ท่านบอกว่า “ถ้าอยากทำได้ ให้ทำตามนี้” เราก็เลยเริ่มทำตามที่ท่านบอก ด้วยก้าวแรกคือฝึกสติ เดี๋ยวนี้โชคดียังมีโค้ชที่ฝึกต่อเนื่องกันมาจากท่านอีกด้วย ไม่ต้องอ่านเอง คลำทางเอง

เมื่อเป็นพุทธศาสนิกชนแล้ว ทุกครั้งที่ทุกข์ เราก็จะ “รู้สึก” มัน แทนที่จะหันหลังหนี เพราะความไม่รู้คือต้นเหตุของต้นเหตุของทุกข์ และเนื่องจากเราเชื่อพระพุทธเจ้า ว่าความไม่ทุกข์มีอยู่ เราจึงรู้สึกว่าความทุกข์ที่เผชิญอยู่นี้ไม่ได้จำเป็น ไม่ได้เหมาะสมควรกับเรา เป็นส่วนเกินของชีวิต

บ่อยเข้าจึงเกิดความรู้สึกว่า เรามีงานค้างอยู่ คือการเอาส่วนเกินนี้ออก ความผิดหวัง ความอยาก ความไม่พอใจ เข้ามาเมื่อไหร่เกิดความทุกข์ ก็จะย้ำเตือนงานชิ้นนี้ที่ยังค้างอยู่ ว่ายังไม่เสร็จ ยังเหลือที่ต้องทำให้มากกว่านี้ เพราะความทุกข์ที่ร้อนในใจตอนนี้มันไม่จำเป็นต้องมี

มันเป็นความย้อนแย้งเวลาพูดเรื่องนี้ เพราะชาวพุทธบอกว่าจะเอาชนะความทุกข์ ไม่เอากับมันแล้ว แต่ขณะเดียวกัน พอมีความทุกข์ก็ยอมรับมันเต็มที่ เปิดใจรู้สึกมันอย่างที่มันเป็น ไม่เกลียดไม่ชอบมัน ชาวพุทธไม่ได้เกลียดความทุกข์ ตรงข้าม โอเคที่มันจะมาเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ได้เลือกว่าเหตุการณ์นี้ (ขายได้ ถูกหวย) ฉันเอา เหตุการณ์นี้ (สอบตก หมาตาย) ฉันไม่เอา

ความรู้สึกต่อความทุกข์คือเบื่อ ไม่ใช่เบื่อแบบไม่เอาแล้ว แต่เบื่อแบบตระหนักว่ามันไม่จำเป็นเท่านั้นเอง

สอนเด็ก

น่าเสียดายที่เราไม่ได้เรียนเรื่องนี้ตอนเด็กๆ อย่างน้อยเรียนเท่าที่เด็กอเมริกันเรียนก็ยังดี หลักสูตรของเราตอนนี้เรียนแล้วได้ผลออกมาสองอย่าง คือเป็นคนไทยที่ (1) งมงาย หรือ (2) เลิกถือศาสนาพุทธ

ความจริงในด้านศาสนาไม่ได้สำคัญอะไร แต่ความรู้ที่พระพุทธเจ้าสอนมีประโยชน์กับทุกคน อย่างน้อยเด็กๆควรได้รู้ว่า “ความทุกข์เกิดจากตัวเองเสมอ” แค่นี้ก็พอแล้ว จะถือหรือไม่ถือศาสนาอะไรก็ไม่สำคัญ

--

--